NFT หรือ “Crypto Art” กำลังเป็นที่คึกคักของศิลปิน และนักศิลปะหลายคนที่นำภาพดิจิทัลจำหน่ายผ่านทางคริปโตอาร์ต เช่นเดียวกันกับ นิตยสารการ์ตูนไทย ‘ขายหัวเราะ’ ที่เป็นหนึ่งในวงการศิลปะการ์ตูนเองก็ได้ขยับเข้าสู่ตลาด เช่นกัน โดยผลงานชิ้นแรก คือภาพดิจิทัลปกขายหัวเราะฉบับแรก ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1973 และพร้อมลงนาม วิธิต อุตสาหจิต บรรณาธิการของขายหัวเราะ ซึ่งได้มีนักสะสมไม่ประสงค์ออกนาม ซื้อภาพดิจิทัลนี้แล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2021 โดยมีมูลค่า 17.3 ETH หรือ $34,492.74 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 1,060,000 บาท
นางสาวพิมพ์พิชา อุตสาหจิต กรรมการบริหาร บริษัทวิธิตากรุ๊ป จำกัดพูดถึงมุมมองต่อตลาดศิลปะ NFT ว่า ตลาดศิลปะ NFT เป็นโอกาสใหม่ที่น่าสนใจมาก เพราะลักษณะของ NFT เหมาะกับงานศิลปะ โดยเฉพาะงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความ limited edition ทำออกมามีชิ้นเดียวไม่ซ้ำกับชิ้นอื่น ๆ ในโลก อีกทั้งการเกิดขึ้นของตลาด NFT ทำให้การซื้อขายงานศิลปะที่หายากได้ง่ายขึ้นในโลกดิจิทัล สะดวก เข้าถึงง่าย ตรวจสอบได้ ในรูปแบบ CryptoArt ซึ่งช่วยสนับสนุน eco-system ทั้งในฝั่ง creator และ collector รวมถึง investor ด้วย
“ขายหัวเราะในฐานะแบรนด์ creator การ์ตูนไทย มีภารกิจที่จะผลักดันผลงานการ์ตูน และคาแรกเตอร์ให้เติบโตต่อยอดไปในทุกช่องทางที่ใกล้ชิดกับผู้คน และช่องทางตลาดใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งตลาด NFT ได้เปิดโอกาสใหม่หลายมิติให้วงการศิลปะ รวมถึงผลงาน ‘การ์ตูนและคาแรกเตอร์’ ต่างๆ ของขายหัวเราะ ไม่ใช่แค่ในเชิงของช่องทางการขาย แต่ยังรวมถึงลูกเล่นการนำเสนอผลงานและการจัดแสดงผลงาน และยังช่วยเพิ่มมูลค่าของผลงานศิลปะด้วย ต่อไปในอนาคตนอกจากผลงานศิลปะคลาสสิกหายากต่าง ๆ จากขายหัวเราะแล้ว แฟน ๆ ขายหัวเราะและนักสะสมอาจจะได้เห็น CryptoArt รูปแบบใหม่ๆ ที่สนุกและสร้างสรรค์กว่าเดิม เป็นอีกหนึ่งสีสันในวงการศิลปะและนักลงทุน รวมถึง Creative Economy ในประเทศไทย” พิมพ์พิชา อุตสาหจิตกล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส