DeepScribe ซึ่งเป็นสตาร์ตอัปแพลตฟอร์มเสียงและเทคโนโลยี AI ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรกในการดูแลสุขภาพ ได้ประกาศว่าล่าสุดบริษัทได้ระดมทุน 30 ล้านดอลลาร์ เพื่อเร่งการเติบโตของแพลตฟอร์มเนื่องจากบริษัทยังคงปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ ไม่เพียงแต่ผังการทำงานของเอกสารทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดูแลสุขภาพโดยรวมด้วย เพื่อช่วยลดภาระของแพทย์ อันจะช่วยลดภาวะหมดไฟของแพทย์ไปด้วย
ในช่วงที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้คนได้หันมามองปัญหาหมดไฟของแพทย์กันมากขึ้น และมองว่าโควิดเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้แพทย์หมดไฟ ซึ่งก็จริงที่โควิดนั้นเข้ามามีส่วนในการทำให้เกิดภาวะหมดไฟของแพทย์ เพราะแพทย์ต้องทำงานหนักขึ้น แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการแพทย์ ปัญหามันเริ่มมาตั้งแต่ที่กฎหมาย HITECH (Health Information Technology for Economic and Clinical Health Act) ถูกบังคับใช้เมื่อปี 2009 ที่สหรัฐอเมริกาแล้ว เนื่องจากกฎหมาย HITECH กำหนดให้แพทย์ต้องเก็บเอกสารดิจิทัลของผู้ป่วยทั้งหมดเอาไว้
อาคิเลช บาพู (Akilesh Bapu) ผู้ร่วมก่อตั้ง DeepScribe จดจำการเปลี่ยนแปลงหลังการบังคับใช้กฎหมายนี้ได้อย่างชัดเจน เพราะเมื่อตอนอายุ 12 ปี เขาได้เห็นพ่อของเขาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกวิทยา ต้องทำงานล่วงเวลาจนทำให้สมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตพังลง
ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานเอกสารจำนวนมากซ้ำซากจำเจไปเรื่อย ๆ ความหมดไฟในการทำงานก็เกิดขึ้น และความหมดไฟนั่นก็เป็นปัญหา เพราะความผิดพลาดในระบบเอกสารทางการแพทย์คือสิ่งที่ตามมาของอาการแพทย์หมดไฟนั่นเอง กล่าวคือแพทย์ที่หมดไฟมักจะบันทึกข้อมูลลงระบบดิจิทัลในหลายชั่วโมงต่อมาหลังการนัดหมายพูดคุยกับคนไข้ โดยใช้เพียงความทรงจำเท่าที่จำได้ ซึ่งนั่นทำให้ ผู้ร่วมก่อตั้ง DeepScirbe อย่างแมทธิว โค (Matthew Ko) ตกใจมาก
แมทธิวได้รับรู้ถึงปัญหาของเอกสารทางการแพทย์ ในตอนที่เขาต้องคอยประสานงานดูแลแม่ของเขาเมื่อเธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งเขาพบว่าสิ่งที่บันทึกลงดิจิทัลกับสิ่งที่แม่ของเขาได้ยินตอนคุยกับหมอนั้นไม่ตรงกัน
แมทธิวผิดหวังกับการดูแลที่แม่ของเขาได้รับ จึงหันไปหาอาคิเลชผู้เป็นเพื่อนเพื่อขอความช่วยเหลือ แล้วทั้งคู่ก็เริ่มเข้าใจถึงความสำคัญของเอกสารทางการแพทย์ และตระหนักได้ว่าความก้าวหน้าครั้งใหม่ในด้าน AI (ปัญญาประดิษฐ์) และ natural language processing (การประมวลผลภาษาธรรมชาติ) ยังไม่ได้ถูกนำมาแก้ไขสถานการณ์นี้ พวกเขาจึงตัดสินใจสร้างแพลตฟอร์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหานี้ โดยร่วมกันก่อตั้งสตาร์ตอัปขึ้นมาร่วมกับ ไคหรุย เซิง (Kairui Zeng) รวมเป็นผู้ก่อตั้ง 3 คน สำหรับสตาร์ตอัป “DeepScribe” เมื่อปี 2017
แพลตฟอร์ม DeepScribe ได้ใช้ AI เพื่อช่วยลดเวลาที่แพทย์ต้องใช้ในการแปลงบันทึกให้เป็นดิจิทัล และยังให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำยิ่งขึ้น “นับตั้งแต่เปิดตัวแพลตฟอร์มในเดือนมีนาคม 2020 บริษัทได้เติบโตขึ้นเหมือนไฟป่า” อาคิเลชกล่าว “แพลตฟอร์มโตขึ้น 30% เมื่อเทียบกันเดือนต่อเดือน และมีแพทย์จำนวนเกือบ 600 คนเริ่มใช้งานแล้ว”
ส่วนแมทธิวได้บอกว่า “สิ่งที่แพทย์ต้องการและเป็นสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้จริงคือ AI ที่สามารถเข้าใจและสรุปการสนทนาของคนไข้และหมอได้อย่างเป็นธรรมชาติและชาญฉลาด เราที่เข้าใความต้องการนี้จึงมุ่งมั่นที่จะสร้าง AI ตัวแรกของโลกที่สามารถถอดความและบันทึกบทสนทนาระหว่างแพทย์และคนไข้ ‘DeepScribe’ ขึ้น”
อาคิเลชมองว่าความก้าวหน้าในช่วง 18-20 เดือนที่ผ่านมา ได้เปลี่ยน DeepScribe ให้ก้าวมาสู่หนึ่งในบริษัทอาลักษณ์ด้านการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และแพลตฟอร์มยังสามารถช่วยแพทย์ลดเวลาทำงานลงเฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวัน โดยที่มีค่าใช้จ่ายเพียงประมาณ 1 ใน 6 ของค่าใช้จ่ายเสมียนมนุยษ์มืออาชีพด้านการแพทย์เท่านั้น
สุดท้ายนี้ DeepScribe ได้ตั้งเป้าที่จะปรับใช้เทคโนโลยีของตนในระบบสุขภาพขนาดใหญ่หลายระบบ และคาดหวังว่าจะก้าวไปสู่ขั้นที่แพลตฟอร์มสามารถเจาะจงตัวยา หรือสามารถเสนอการวินิจฉัยที่เป็นไปได้ เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ให้มากขึ้น
อ้างอิง: businesswire, Forbes, techcrunch
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส