เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านที่ติดตามวงการถ่ายภาพน่าจะจับเค้าลางกันมาได้สักพักแล้ว ว่า ‘ZEISS’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ Carl Zeiss อีก 1 แบรนด์ผู้ผลิตเลนส์จากเยอรมันที่มีประวัติยาวนานมากว่า 100 ปี และเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังเลนส์ในตำนานมากมายค่อย ๆ เฟดตัวหายไปจากอุตสาหกรรมถ่ายภาพ ไม่มีการเปิดตัวเลนส์รุ่นใหม่มานานหลายปีแล้ว

ZEISS

ครั้งล่าสุดที่ ZEISS ออกเลนส์มาก็ต้องย้อนไปถึงปี 2019 กับ ‘ZEISS Ventum’ ที่ออกแบบมาสำหรับกล้อง Sony E-mount เน้นน้ำหนักเบาไว้สำหรับติดกับโดรน ซึ่งก็เป็นเวลากว่า 4 ปีมาแล้ว แม้ในปี 2022 จะมีข่าวคราวของ ZEISS ออกมาบ้าง ถึงการประกาศว่าเลนส์ในตำนานจากผู้กำกับดัง สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ได้ถูกนำมาจัดแสดงที่ ZEISS Museum แล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงไร้วี่แววเลนส์ใหม่จนถึงกระทั่งปัจจุบัน

และแล้วเรื่องที่ไม่อยากให้เกิดก็เกิดขึ้นจนได้ ในเว็บบอร์ด Fred Miranda ได้มีรายงานอ้างอิงถึงตัวแทนจำหน่ายในออสเตรเลียระบุ ZEISS กำลังจะยุติการผลิตเลนส์ และฟิลเตอร์ภาพนิ่งทั้งหมด นั้นหมายความว่าจะไม่มีซีรีส์ Batis, Milvus, Otus, Loxia และซีรีส์ M-mount อีกต่อไป ซึ่งก็ไม่แปลกใจเลยที่ ZEISS เองก็ไม่ได้เป็นสมาชิกของ CIPA (Camera & Imaging Products Association) มานานหลายปีแล้วเช่นกัน

ZEISS
ZEISS Batis 85mm F1.8

แล้วอะไรที่ทำให้ ZEISS ตัดสินใจออกจากอุตสาหกรรมการถ่ายภาพล่ะ? แม้ว่า ZEISS จะทำเลนส์คุณภาพดีออกมามากมาย แต่ราคาของมันก็ยังคงเอื้อมถึงได้ยากสำหรับช่างภาพจำนวนมาก ยกตัวอย่างง่าย ๆ กับ Batis 85mm F1.8 ที่เพิ่มเงินอีกนิดหน่อยก็ไปจับ FE 85mm F1.4 GM ได้แล้ว ถ้าคนที่ไม่ชื่นชอบ character เลนส์ ZEISS จริง ๆ ก็อาจจะไปเลือกตัวเลือกที่คุ้มค่ากว่า รูรับแสงกว้างกว่า

และด้วยเหตุนี้กลายเป็นว่า ZEISS อาจต้องตัดสินใจออกจากตลาดภาพนิ่งไปในที่สุด ไปเน้นตลาด Cinema ที่ทำกำไรได้มากกว่าแทน ถ้แม้จะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าแต่วงการภาพถ่ายก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป แม้จะไม่มีเลนส์ภาพนิ่งจาก ZEISS อีกแล้วก็ตาม…

ZEISS
Contax G1 ติดกับเลนส์ Carl Zeiss Planar 46mm F2 T* // รูปจาก Wikimedia Commons

สำหรับ ZEISS ถือเป็นอีก 1 ผู้บุกเบิกวงการถ่ายภาพเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะสูตรโครงสร้างชิ้นเลนส์ที่เป็นพื้นฐานให้กับเลนส์อีกหลาย ๆ ตัว ยกตัวอย่างเป็นพื้นฐานเลยก็สูตร Planar โดย พอล รูดอล์ฟ (Paul Rudolph) ปี 1896 ที่เป็นการจัดวางชิ้นเลนส์แบบ ‘Symmetrical design’ เน้นความสมดุลกันระหว่างชิ้นเลนส์กลุ่มหน้า และกลุ่มหลัง รวมถึงเอกลักษณ์แบบ 3D Pop ที่ให้ความรู้สึกมิติภาพโดดเด้ง มีสีสันที่ดูสวยงาม ถ่ายแสงน้อยก็ยังสวยตามสไตล์เลนส์เยอรมัน รวมถึงคุณภาพ Optic เบอร์ต้น ๆ ในตลาดอย่างที่เห็นในซีรีส์ Otus เคยทำไว้

ที่มา: The Phoblographer

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส