‘ฟิลเตอร์’ หรือ แว่นกรองแสง คืออุปกรณ์สำคัญที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป บางคนอาจจะมีคำถามว่าฟิลเตอร์มีไว้ทำอะไร ฟิลเตอร์มีแบบไหนบ้างแตกต่างกันอย่างไร ฟิลเตอร์ทำให้คุณภาพลดลงจริงไหม วันนี้เรามาไขข้อข้องใจไปด้วยกันครับ
ฟิลเตอร์มีไว้ทำอะไร?
ฟิลเตอร์แต่ละแบบจะมีจุดเด่นของมันอยู่ มีทั้งแบบธรรมดาทั่วไปที่ป้องกันหน้าเลนส์ให้ไม่เกิดรอยขีดข่วนโดยตรงที่ชิ้นเลนส์, ป้องกันแสง UV หรือแบบพิเศษอย่างฟิลเตอร์ที่ใช้ตัดแสงสะท้อน โดยจะมีประเภทที่นิยมใช้งานหลัก ๆ ดังนี้
1. Protector Filter
ฟิลเตอร์สำหรับปกป้องหน้าเลนส์ของเราจากรอยต่าง ๆ หรืออุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ สมมติว่าเราซื้อเลนส์มาราคาแพงจะให้ใช้งานแบบเพียว ๆ โดยไม่ใส่ฟิลเตอร์เลยก็อาจจะทำให้เกิดความไม่สบายใจได้
เพราะเราไม่รู้ว่าเลนส์ชิ้นหน้าของเราจะเป็นรอยขึ้นมาตอนไหน การสวมฟิลเตอร์ไว้ก่อนก็ช่วยลดความกังวล และโอกาสที่จะเกิดความเสียหายต่อเลนส์ในอนาคตได้
2. UV Filter
ในยุคของกล้องฟิล์ม ฟิลเตอร์ตัวนี้จะช่วยลดรังสีอุลตร้าไวโอเลตทำให้ภาพของเรามีสีที่เหมือนตามองเห็นมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันเซนเซอร์ของกล้องดิจิตอลมีตัวตัด UV ใส่ไว้แล้ว ทำให้ฟิลเตอร์ชนิดนี้มักใส่กันเพื่อปกป้องหน้าเลนส์มากกว่า
3. C-PL Filter
C-PL หรือ Circular Polarized ฟิลเตอร์สำหรับตัดแสงสะท้อน และเงา โดยหลักการทำงานของฟิลเตอร์ชนิดนี้จะใช้แผ่นกระจกสองชิ้นซึ่งเราต้องหมุนหามุมที่พอดีเพื่อลดแสงสะท้อนออกจากภาพ
ฟิลเตอร์ชนิดนี้เหมาะจะใช้ในจังหวะที่ต้องการถ่ายภาพผิวน้ำหรือท้องฟ้าให้มีความใสเคลียร์ลดแสงสะท้อนลงนั้นเอง
4. ND Filter
ND หรือ Neutral Density ฟิลเตอร์ชนิดนี้จะลดแสงที่เข้าไปยังกล้องของเราให้น้อยลง โดยมีตั้งแต่ลดแสง 1 stop จนถึง 10 stop ขึ้นไปซึ่งจะใช้ในกรณีที่เราต้องการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลงมาก ๆ
สมมติเราอยากถ่ายน้ำตกในเวลากลางวันแต่อยากได้น้ำฟุ้ง ๆ ด้วยการใช้การใช้สปีดต่ำ แต่การใช้สปีดต่ำมาก ๆ นั้นก็จะทำให้ภาพสว่างเกินไปถึงแม้เราจะใช้รูรับแสงแคบแล้วก็ตาม ฟิลเตอร์ ND จะมาช่วยลดแสงในสถานการณ์แบบนี้ได้
หรือจะใช้ในงานวิดีโอที่ต้องการปรับค่าชัตเตอร์สปีดให้สัมพันธ์กับเฟรมเรต ถ้าจะถ่ายวิดีโอตอนกลางวัน และต้องการใช้รูรับแสงกว้างแบบ f/1.4 หรือ f/2 ภาพคงจะสว่างเกินแน่ ๆ การใช้ฟิลเตอร์ ND ก็จะช่วยให้เราตั้งค่าชัตเตอร์สปีดที่ต้องการพร้อมกับรูรับแสงที่เราต้องการได้
5. Filter Graduated ND
ฟิลเตอร์ ND แบบครึ่งซีกที่จะไล่ระดับจากที่เป็นแบบใสไปจนถึงแบบที่เข้มขึ้น มักใช้ในสถานการณ์ที่มีความต่างแสงสูง ยกตัวอย่างการถ่ายทะเลที่มีท้องฟ้าสว่างกว่าส่วนผิวน้ำมาก ทำให้เราไม่สามารถเก็บ Dynamic range ได้ครบในภาพเดียว ทำให้ภาพที่ได้ไม่เห็นรายละเอียดในพื้นที่ส่วนที่สว่างสุดของภาพ
Tips : Dynamic range หรือความสามารถในการเก็บข้อมูลตั้งแต่ส่วนมืดไปจนถึงส่วนที่สว่างสุดของภาพ ซึ่งยิ่งกล้องมี Dynamic range กว้างมากเท่าไรก็ยิ่งสามารถเก็บค่าแสงได้ดี ทำให้ง่ายต่อการนำภาพ (RAW file) ไปตบแต่งต่อในโปรแกรมภายหลัง
การใช้ Graduated ND Filter จะทำให้เราสามารถเกลี่ยท้องฟ้าให้มีความสว่างลดลงมาเท่ากับผิวน้ำหรือชายหาดที่เราจะถ่าย ทำให้เราสามารถเก็บ Dynamic range ในส่วนสว่างได้ดีมากยิ่งขึ้น
ไขข้อข้องใจ “ใส่ฟิลเตอร์แล้วคุณภาพดรอปลงจริงไหม?”
สำหรับมือใหม่คงมีคำถามนี้อยู่ในหัวกันอยู่บ้างว่าควรใส่ฟิลเตอร์ดีไหมใช่ไหมล่ะครับ ฟิลเตอร์นอกจากแบบพิเศษที่ใช้เฉพาะงานแล้ว ฟิลเตอร์ที่นิยมใส่ไว้ตลอดเวลาอย่างฟิลเตอร์ป้องกันหน้าเลนส์นี่ควรใส่ไหม ใส่แล้วคุณภาพจะดรอปลงรึเปล่า
การใส่ฟิลเตอร์ก็เหมือนการเอากระจก 1 ชิ้น ไปวางเพิ่มที่หน้าเลนส์ ดังนั้นคุณภาพจะดรอปลงกว่าแบบไม่ใส่แน่นอนครับ ยิ่งเป็นฟิลเตอร์ที่มีราคาถูกคุณภาพก็อาจจะดรอปลงมากหน่อยตามราคา ดังนั้นถ้าอยากได้คุณภาพของภาพที่ดีที่สุดก็ควรจะซื้อฟิลเตอร์แบบคุณภาพดีไว้ก่อนครับ
สำหรับบางคนที่เขาซีเรียสมาก ๆ อาจเลือกที่จะไม่ใส่ฟิลเตอร์เลยก็ได้ แต่ถ้าไม่ใส่ฟิลเตอร์ก็อาจจะทำให้ชิ้นเลนส์ของเราเป็นรอยหรือสกปรกได้ง่ายขึ้นด้วยนั้นเอง อันนี้ต้องลองชั่งใจกันดูครับ
สรุป
ในการเลือกใช้ฟิลเตอร์นั้นเราจะต้องเลือกให้เหมาะกับความต้องการของตัวเอง ถ้าคิดจะใส่เพื่อปกป้องหน้าเลนส์อย่างเดียวฟิลเตอร์แบบ Protector หรือแบบ UV ก็อาจจะเพียงพอแล้ว
แต่ในส่วนฟิลเตอร์แบบ C-PL ,ND และ Graduated ND นั้นอาจจะต้องเลือกใช้ในงานที่มีความเฉพาะด้านซักหน่อย หวังว่าผู้ที่ได้อ่านบทความนี้จะสามารถตัดสินใจเลือกใช้งานฟิลเตอร์ได้ง่าย และตรงกับงานมากขึ้นครับ
ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพครับ ?
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส