ผ่านไปแล้วอย่างงดงามกับงานประกาศรางวัลทั้ง 23 รางวัล ในรูปแบบ Virtual Event เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมากับ “BIDC Awards 2022” งานประกาศรางวัลผลงานดีเด่นด้านดิจิทัลคอนเทนต์ประจำปี 2022 ในโครงการ “Bangkok International Digital Content Festival 2022” หรือ “BIDC 2022” ซึ่งจัดขึ้นโดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ผนึกกำลังร่วมกับเหล่าพันธมิตรทั้งภาครัฐ ได้แก่ TCEB , depa และ CEA และภาคอุตสาหกรรม 5 สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย TGA, BASA , DCAT , e-LAT และ TACGA โดยในการคัดเลือกและตัดสินผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ คณะกรรมการแต่ละสมาคมต้องทำงานอย่างหนัก เพราะผู้ส่งผลงานแต่ละสาขาล้วนมากฝีมือ โดยครั้งนี้จะพาไปชมผลงานของ 3 ทีมได้รับรางวัลจากทางสมาคม DCAT, TGA และ TACGA
สำหรับรางวัลแรก คือรางวัล Best NFT Character Award ซึ่งเป็นรางวัลในสาขาคาแรคเตอร์ โดย DCAT หรือ สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยที่มอบรางวัลให้กับผลงาน TEDDYBITS (เท็ดดี้บิทส์) โดย POPTODAY หรือ สุมิตร สีมากุล ที่เริ่มต้นทำ TEDDYBITS ด้วยความชอบล้วนๆ และเริ่มกระโดดมาสู่ NFT เมื่อเห็นโอกาสของตลาด โดยสุมิตรเล่าว่า “จริง ๆ จุดเริ่มต้นคือชอบพวก Art Toy แต่ด้วยความที่เราไม่ได้เป็น Pure Artist เลยเลือกทำสิ่งนี้ในลักษณะเหมือนของสะสม จึงดีไซน์ NFT ตัวนี้ให้สามารถเก็บสะสมเป็นคอลเลกชั่นได้ โดยเลือกคาแรคเตอร์ทำตัว Teddy Bear เพราะทุกคนรู้จักและเข้าใจง่ายอยู่แล้ว โดยสไตล์ลิ่งให้พรีเมียม มีความเป็น Pixel และทุกตัวจะมีความ Unique ไม่ซ้ำกัน และทำขึ้นเพียง 200 ตัว จะใช้ลูกเล่นในการเปลี่ยน Skin หรือเพิ่ม Element ใหม่ ๆ โดยส่วนตัวมองว่างานที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมา มันต้องมีความเป็น Universal ไม่ใช่เรารู้จักคนเดียว แต่คนอื่นเข้าไม่ถึง ฉะนั้นงานที่เราอยากให้เขาสามารถนำไปสะสมได้ ต้องไปนั่งอยู่ในใจเขาได้ ซึ่งการ ครีเอตแต่ละตัวต้องใช้เวลาและมานั่งคิด ปะติดปะต่อกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง อีกอย่างเราพยายามทำให้มี กิมมิคโดยใส่เพศเข้าไป ใครมีอยู่ทั้ง 2 เพศ พอถึงวันที่ 1 และ 16 จะได้ลุ้น ถ้าโชคดีก็จะได้รับตัวลูกไปอยู่ด้วย”
นอกจากนี้สุมิตรได้สร้างคอลเลกชั่นหนึ่งขึ้นมาเพื่อทำการกุศล โดยนำมาประมูลและมอบรายได้ทั้งหมดให้กับทั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, สถาบันมะเร็ง, มูลนิธิกระจกเงา และองค์กรเกี่ยวกับทะเล ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก สุมิตรยังแชร์ให้ฟังถึงคนที่อยากเริ่มต้นในเส้นทาง NFT ว่า “ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ เพราะสิ่งนี้เหมาะกับคนที่ชอบทำงานศิลปะ แต่สิ่งที่แตกต่างคือแพลตฟอร์ม ก่อนหน้านี้ทุกคนวาดและโพสต์ในช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อให้มีคนมากดไลค์ แต่ NFT เราวาดและนำไปลงในอีกที่ และไม่ใช่แค่กดไลค์ แต่สามารถซื้อขายสร้างรายได้ได้ทันที และเมื่อเราลงไปแล้วอย่าไปกดดันตัวเอง ว่าไม่มีคนมาซื้อ ต้องทำไปเรื่อยๆ เพราะงานของเรามันอาจมี Element อะไรที่ถูกใจใครบางคนในอนาคต โดยส่วนตัวมองว่า NFT ในด้านสายคาแรคเตอร์โตขึ้นอย่างมาก ซึ่งเราดีใจที่เห็นคนรุ่นใหม่มีผลงานที่ดีสู่ตลาด NFT มากยิ่งขึ้น” สามารถไปส่องผลงาน TEDDYBITS ทั้ง 242 ชิ้น ได้ทาง https://opensea.io/collection/teddybits
สำหรับรางวัลถัดมาที่จะพาไปชมกัน คือ ผลงานเกม JOOJEE’S JOURNEY (การผจญภัยของจู้จี้) โดย QUANTUM PEAKS ซึ่ง รวิศร์ มโนมัยวิบูลย์ เป็นตัวแทนบอกเล่าถึงที่มาของเกมนี้ ซึ่งสามารถคว้าถึง 5 จาก 6 รางวัลในสาขา Game & Interactive โดย TGA หรือ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย ทั้งรางวัล Game of The Year Award, Best of Story Telling Award, Best of Visual Art Award, Best of Sound Award และ Developer Choice Award โดยรวิศร์เผยว่า “ทีมทุกคนรู้สึกดีใจอย่างมากและเกินคาดมาก ๆ โดยจุดเริ่มต้นของเรา ตั้งเป้าหมายชัดเจนในการทำเกมลงใน Nintendo Switch และตั้งเป้าในการไปให้ถึงระดับโลก ซึ่งครั้งแรกที่เราได้พาเกมนี้ไปนอกประเทศไทยครั้งแรก คือ ที่โตเกียวเกมโชว์ 2019 เราอยากจะรู้ว่าตัวละคร มี Potential ที่จะอยู่บนเวทีโลกได้ขนาดไหน ตอนนั้นก็ได้ฟีดแบคมาค่อนข้างเยอะพอสมควร ทำให้รู้ว่ามีจุดที่เราต้องปรับและพัฒนาอีกเยอะ พอกลับมาเราก็มานั่งคิดกันว่าเนื้อเรื่องต้องมีความโดนให้มากยิ่งขึ้น เราจึงมีการปรับให้เป็นพล็อตเรื่องความจำเสื่อม ทำให้คนอยากรู้ ติดตามเกมเรื่อย ๆ จนไปสู่ปลายทาง”
รวิศร์ เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า “หลังจากนั้นเรามีเวลาปรับที่ค่อนข้างน้อยประมาณ 3-4 เดือน โดยที่ทุกคนช่วยกันและทุ่มเทมาก เพราะในวันที่เราตกลงกันว่าจะปรับจากฟีดแบคที่เราได้รับมา ค่อนข้างมีความเสี่ยงในการแก้ไขไม่เสร็จ แต่ท้ายที่สุดเราก็สามารถทำมันได้สำเร็จ ซึ่งมันเกินคาดของพวกเราไปมาก เพราะเราเคยเป็นคนหนึ่งที่ติดตามรางวัลนี้ เคยเห็นคนที่ได้รางวัล BIDC AWARDS และเรามองเขาเป็นแรงบันดาลใจมาตลอด วันนี้เรามีผลงานที่อยู่บนเวทีนี้ได้จริง เป้าหมายต่อไปของเราคือ เริ่มต้นทำเกมใหม่ที่ดีกว่าเดิม และอยากฝากถึงทุกคนที่เดินตามความฝันคือ อย่ายอมแพ้ เพราะเส้นทางของคนที่จะมาสร้างงานศิลปะ เป็นอะไรที่ยากลำบากอยู่แล้ว เป็นเรื่องของอาร์ต และผลตอบแทนนั้นอาจจะยังไม่ดี ถ้าเรายังไม่มีชื่อเสียง ทำให้บางคนยอมแพ้ไปก่อน แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราพัฒนาฝีมือ วันหนึ่งจะเป็นของทุกคนจริง ๆ อีกสิ่งที่อยากฝาก การทำเกม คือการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด ฉะนั้นเราต้องไม่หยุดทำ เรียนรู้จากข้อผิดพลาดนั้น ๆ และเอามาพัฒนา หมั่นหาประสบการณ์ใหม่ ไม่นั่งอยู่แค่ในห้อง ถ้าเราอยู่แต่ในห้องทำแต่สิ่งเดิม ๆ Creativity อาจจะไม่มา เพราะการทำเกม คือการมอบประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้เล่น” สามารถสนับสนุนผลงานเกมฝีมือคนไทย ได้ทาง https://www.facebook.com/QuantumPeaks
อีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นในสาขารางวัล Animation & Visual Effect โดย TACGA หรือ สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย ได้แก่ ผลงาน A TOWN WHERE WE LIVE – SKY OF LIGHT โดย IGLOO STUDIO ที่ได้รับรางวัล Best Animated Short Award โดย ณัฐ ยศวัฒนานนท์ เล่าให้ฟังว่า “งานชิ้นนี้เสร็จเมื่อปลายปี 2564 ใช้เวลาทำประมาณ 4 เดือนเต็ม คอนเซ็ปต์โดยรวม เราใช้คำว่าโฆษณาที่มีความเป็นหนังสั้น ประมาณ 2 นาที ซึ่งเป็นผลงานที่เราทำให้กับ PEA โดยแกนของเรื่องนั้นเล่าเรื่องราวประวัติการให้บริการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดำเนินเรื่องผ่านตัวละคร 2 ตัว และมีเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย จากปัจจุบันส่งต่อไปอนาคต โดยเรานำเอาเทคนิค Traditional Amination ที่ร่วมสมัยมากขึ้นมาใช้ แต่ใส่ความโมเดิร์นจากกราฟฟิคเข้ามาผสม โดยช่วงกลางของเรื่องอยากให้มีความตื่นเต้น จึงใส่พวกโมชั่นกราฟฟิกแฟนตาซีมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดก็ต้องการจะบอกว่าแต่ละยุคของ PEA เขาทำอะไรมาบ้าง ทำให้เข้าใจง่าย นอกจากนั้น ยังใช้ดนตรี City Pop เพลงมีความย้อนสมัยมาใช้ ทำให้ภาพดูสบายขึ้น รวมถึงเลือก Element หลายอย่างที่คนไทยชอบ ออกมาแล้วกลายเป็นเป็นอนิเมะแบบไทยๆ ซึ่งสิ่งนี้เอง คิดว่าน่าจะทำให้งานชิ้นนี้ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล”
ณัฐ เล่าถึงความรู้สึกว่า “ภูมิใจมากกับงานชิ้นนี้ ต้องยกเครดิตให้ทุกๆ ฝ่าย เพราะมีข้อจำกัดทั้งเวลาและงบประมาณ เราพยายามเล่นกับกรอบข้อจำกัด อีกหนึ่งความภูมิใจคือการทำงานร่วมกับ กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) เราทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยอมรับว่าการได้รางวัลในครั้งนี้ เกินคาดจริงๆ เพราะในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา มีบริษัทที่ทำ CG และ Animation มีผลงานดีๆ ออกมาเยอะมาก เรียกได้ว่าวงการคึกคักมาก เพราะแต่ละคนมีหมัดเด็ด การที่เราได้รางวัลนี้นับเป็นเกียรติทั้งเราและพาร์ทเนอร์ทุกคนที่ทำงานด้วย จึงเกินคาดพวกเรามากๆ ในฐานะคนไทยเอง เราก็พยายามและตั้งใจผลิตผลงานที่เรามองว่าจะเป็นหมัดเด็ดในปีนี้และปีหน้าอีกเช่นเคย ทั้ง Cinematic Game และ Product Game อยากฝากให้ทุกคนติดตาม”
นอกจากนี้ IGLOO STUDIO ยังได้รับรางวัล BEST ANIMATED CONTENT AWARD จากผลงาน THAILAND PAVILLION : MOBILITY OF FUTURE พ่วงอีก 1 รางวัลจากงาน BIDC AWARDS อีกด้วย สามารถติดตามผลงานของ IGLOO STUDIO ได้ทาง http://www.igloocg.com
การประกาศรางวัลผลงานดีเด่นด้านดิจิทัลคอนเทนต์ประจำปี BIDC Awards ในโครงการ BIDC 2022 จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติและเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการ ตลอดจนนักศึกษาในแวดวงดิจิทัลคอนเทนต์ให้มีกำลังใจในการผลิตผลงานที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ให้แก่สังคม เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในงาน BIDC ยังมีกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ และกิจกรรมเจรจาการค้า ติดตามรางวัลอื่นๆ และกิจกรรมในงาน BIDC 2022 เทศกาลดิจิทัลคอนเทนต์ที่ยิ่งใหญ่แห่งปี ได้ทาง www.facebook.com/bidc.fest