เครือซีพี ผนึกพลังกลุ่มธุรกิจในเครือ สนับสนุน APEC 2022 เต็มกำลัง ชูโมเดล BCG ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมร่วมกิจกรรมคู่ขนานของภาคเอกชน APEC CEO Summit 2022 ระดมความคิดซีอีโอจากบริษัทชั้นนำทั่วโลกฝ่าคลื่นความท้าทายทางเศรษฐกิจ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ร่วมเป็น 1 ในตัวแทนซีอีโอจากประเทศไทย เจาะลึกประเด็นความท้าทายด้านความมั่นคงทางอาหาร ชวนเชิญคนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพสุดยอดการประชุมระดับโลกพร้อมกัน เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปด้วยกัน
นับถอยหลังสู่การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปี 2565 หรือ APEC 2022 ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก(เอเปค) 2565 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นอกจากนี้ยังมีการจัดงาน APEC CEO Summit 2022 หรือ การประชุมสุดยอดซีอีโอแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 2565 เป็นกิจกรรมคู่ขนานขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 18 พฤศจิกายน 2565 ณ ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี คอลเลคชั่น โฮเต็ล กรุงเทพฯ เพื่อร่วมผลักดันความมั่งคั่งและการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ผ่านความร่วมมือและมุ่งเสริมสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน
ในการนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำของประเทศไทยได้ผนึกกำลังบริษัทในเครือฯได้แก่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ บมจ.ซีพีออลล์ หรือ ซีพีออลล์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ ทรู เป็นต้น สนับสนุนภาครัฐและภาคเอกชนในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 และ APEC CEO Summit 2022 เพื่อที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาค โดยในส่วนของ APEC CEO Summit 2022 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ จะเป็น 1 ในตัวแทนซีอีโอจากประเทศไทยร่วมเจาะลึกประเด็นความท้าทายด้านความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายระดับโลกที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ เครือซีพีจึงขอชวนเชิญคนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ที่จะมาประชุม APEC 2022 และ APEC CEO Summit 2022 ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า การที่ประเทศไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 และ APEC CEO Summit 2022 ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 และเป็นโอกาสให้ 21 เขตเศรษฐกิจและประเทศไทยได้เชื่อมโยงเศรษฐกิจกับนานาชาติ โดยภาคธุรกิจอย่างเครือซีพีพร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทย โดยในส่วนของ APEC 2022 เครือซีพีและบริษัทในเครือ ได้แก่ ซีพีเอฟ ซีพีออลล์ และกลุ่มทรู จะร่วมนำเสนอการดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) หรือ BCG ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อแสดงให้ทั่วโลกเห็นถึงความมุ่งมั่นของเครือซีพีที่จะส่งเสริมการเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกมิติ
ซีพีเอฟจะนำเสนอเส้นทางสู่การเป็นครัวของโลกที่ยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ “Net Zero” ด้วยนวัตกรรมสินค้าที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Innovative Product) ผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช Meat Zero และผลิตภัณฑ์ Low Carbon Footprint และบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก รวมไปถึง กระบวนการผลิตที่ใช้นวัตกรรม (Innovative Process) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปอาหาร ด้วยการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล เลิกใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด และลด Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์อาหาร
ด้าน ซีพี ออลล์ นำเสนอนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วยการบริหารจัดการพลังงานที่ร้านสาขา เช่น การออกแบบร้าน การเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน การใช้ระบบ IoT ในการ Monitor และ Control อุปกรณ์ที่ร้านสาขา, การนำ Renewable Energy มาใช้งานที่ร้านสาขา เช่น Solar Rooftop, การส่งสินค้า Delivery ด้วยนวัตกรรมหุ่นยนต์ส่งสินค้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า, และ การนำนวัตกรรมจากกราฟีนมาประยุกต์ใช้งาน
ส่วน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำศักยภาพเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G และเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจร ที่ร่วมยกระดับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม สาธารณสุข และเกษตรกรรมด้วย Robocore Mini Robot หุ่นยนต์คลาวด์เอไอรุ่นใหม่ ที่สามารถนำเสนอสินค้าและโปรโมชันผ่านหน้าจอแสดงผล ทั้งยังเสริมความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ลดการสัมผัสระหว่างบุคคล สามารถนำทาง รวมถึงสื่อสารได้ทั้งระบบสัมผัสหน้าจอ และโต้ตอบด้วยเสียง, True HEALTH แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ เชื่อมโยงบริการด้านสุขภาพทั้งออนไลน์และออฟไลน์แบบไร้รอยต่อ, True Farm Drone โซลูชันที่ให้บริการโดรนสำหรับฉีดพ่นปุ๋ยหรือยา ซึ่งเป็นหนึ่งในโซลูชั่น “ทรู ฟาร์ม” เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะครบวงจร ที่ผสานเครือข่ายทรู 5G กับเทคโนโลยีดิจิทัลหลากหลายทั้ง ไอโอที บล็อกเชน และไซเบอร์ ซิเคียวริตี้
นอกจากนี้ บนเวที APEC CEO Summit 2022 ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนี้โดยจัดเป็นกิจกรรมคู่ขนานกับ APEC 2022 ซึ่งจะเป็นเวทีที่รวมสุดยอดผู้นำเอเปก, CEO, ผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำทางความคิดจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจ รวมถึงแสวงหาแนวทางแก้ไขประเด็นสำคัญ และจัดการกับความท้าทายที่ธุรกิจกำลังเผชิญ โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือซีพี ได้รับพิจารณาให้เป็น 1 ในซีอีโอตัวแทนจากประเทศไทย ร่วมเป็นผู้นำในการแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนในประเด็นสำคัญที่เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของโลก คือเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร ในหัวข้อ “Meeting the world’s food security challenge” โดยมีผู้ร่วมอภิปรายคือ Mr. Paul Gilding, author, corporate advisor, former Global Head of Greenpeace, CISL Fellow at the University of Cambridge
“ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของ 21 เขตเศรษฐกิจซึ่งมีประชากรทั่วโลกกว่า 3,000 ล้านคน และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของกำลังซื้อจากประชากรกลุ่มนี้ที่มีสัดส่วนของประชากรสถานะยากจนในปัจจุบันเพียง 1.8% เท่านั้น โดยเป็นการลดลงจากช่วงศตวรรษที่ 19 อย่างมีนัยยะสำคัญ เครือซีพีได้มีการลงทุนในหลายเขตเศรษฐกิจของ APEC จากธุรกิจหลากอุตสาหกรรม เครือฯ จึงเปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ในฐานะภาคเอกชนที่ร่วมผนึกกำลังกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับความยั่งยืนในทุกพื้นที่ของการลงทุน” นายศุภชัย กล่าวในที่สุด