(18 ส.ค. 66) เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและโฆษกของกรุงเทพมหานคร นายสิทธิชัย อรัณยกานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้านโยบายทางเท้าปลอดภัยด้วย AI ตรวจจับจักรยานยนต์วิ่งบนทางเท้า การกวดขันจับปรับผู้ฝ่าฝืน และตรวจเยี่ยม พูดคุยรับฟังประชาชนความคิดเห็นประชาชนบริเวณใกล้เคียง โดยมี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ พร้อมเทศกิจเขตห้วยขวาง ร่วมลงพื้นที่ ณ สะพานข้ามบึงพระราม 9 ถนนประเสริฐมนูกิจ เขตห้วยขวาง
พล.ต.อ.อดิศร์ กล่าวว่า กทม. ได้ทยอยติดตั้งเทคโนโลยี AI ควบคู่กล้อง CCTV ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 66 เพื่อตรวจจับจักรยานยนต์ที่ขับขี่บนทางเท้าในจุดหลัก ๆ ซึ่งขณะนี้ได้ติดตั้งไปแล้ว 12 กล้อง ในพื้นที่ 10 จุด จากเดิมนำร่อง 5 จุด ได้แก่.1. ปากซอยรัชดาภิเษก 36 (ซอยเสือใหญ่อุทิศ 2 กล้อง) 2. ปากซอยเพชรเกษม 28 3. หน้าโรงเรียนนิเวศน์วารินทร์ 4. ปากซอยเพชรบุรี 9 5. ปั๊มน้ำมัน ปตท. เทพารักษ์ 6. ปากซอยลาดพร้าว 25 7. ถนนประเสริฐมนูกิจ บึงพระราม (2 กล้อง) 8. พัฒนาการ 44 9. สุขุมวิท 26 และ10. ซอยจรัญสนิทวงศ์ 37
ซึ่งผลการจับกุมของกล้อง AI พื้นที่ 10 จุด จำนวน 12 กล้อง ระหว่าง 1 มิ.ย. – 15 ส.ค. 66 พบว่า จุดที่ 1 ปากซอยรัชดาภิเษก 36 (ซอยเสือใหญ่อุทิศ 2 กล้อง ) มิ.ย. ฝ่าฝืน 1,136 ราย ก.ค. 274 ราย ส.ค. 81 ราย จุดที่ 2 ปากซอยเพชรเกษม 28 มิ.ย. 1,005 ราย ก.ค. 649 ราย ส.ค. 61 ราย จุดที่ 3 หน้าโรงเรียนนิเวศน์วารินทร์ มิ.ย. 847 ราย ก.ค. 861 ราย ส.ค. 46 ราย จุดที่ 4 ปากซอยเพชรบุรี 9 มิ.ย. 84 ราย ก.ค. 70 ราย ส.ค. 20 ราย จุดที่ 5 ปั๊มน้ำมัน ปตท. เทพารักษ์ มิ.ย. 160 ราย ก.ค. 128 ราย ส.ค. 22 ราย จุดที่ 6 ปากซอยลาดพร้าว 25 ก.ค. 147 ราย ส.ค. 77 ราย จุดที่ 7 ถนนประเสริฐมนูกิจ บึงพระราม 9 (2 กล้อง) ก.ค. 9,033 ราย ส.ค. 224 ราย จุดที่ 8 พัฒนาการ 44 ก.ค. 2,105 ราย ส.ค. 725 ราย จุดที่ 9 สุขุมวิท 26 ก.ค. 224 ราย ส.ค. 90 ราย และจุดที่ 10 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 ส.ค. 765 ราย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตห้วยขวาง ยอดจับกุม ตั้งแต่ 1 ก.ย. 65 – 31 ก.ค.66 พบผู้ทำผิด 703 ราย ปรับจำนวนเงิน 1,423,200 บาท ล่าสุด 18 ส.ค. 66 เวลา 10.00 น. พบผู้ทำผิดเพิ่มขึ้นเป็น 803 ราย เงินปรับรวม 1,634,200 บาท
โดยหลังจากการติดตั้งกล้อง CCTV และมีระบบ Al ตรวจจับป้ายทะเบียน รวมทั้งเจ้าหน้าที่เทศกิจเดินกวดขันและตั้งโต๊ะจับปรับ มีผลการจับ-ปรับ ผู้ฝ่าฝืนเดือน มิ.ย. 66 จับกุม 1,582 ราย ตักเตือน 59 ราย เดือน ก.ค. 66 จับกุม 1,480 ราย ตักเตือน 51 ราย เดือน ส.ค. 66 จับกุม 762 ราย ตักเตือน 64 ราย สรุปผลการจับปรับตั้งแต่เดือน มิ.ย. – 15 ส.ค. 66 จับกุม 3,824 ราย ตักเตือน 174 ราย
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย.-12 ส.ค. 66 จำนวนตัวเลขของการทำผิดกฎจราจรโดยการฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้ามีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของตัวเลขในมิติที่ต่างกัน อาทิ บริเวณปากซอยเพชรบุรี, สุขุมวิท 26, พัฒนาการ 44, โรงเรียนนิเวศน์วารินทร์, เพชรเกษม 28 และปากซอยเสือใหญ่ พบว่าวินมอเตอร์ไซค์มีจำนวนการฝ่าฝืนลดลง กลุ่มไรเดอร์เพิ่มขึ้น ซึ่งในอนาคตอาจมี MOU ร่วมกันระหว่าง กทม. กับบริษัทไรเดอร์ นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มมอเตอร์ไซค์ของประชาชนทั่วไปมีจำนวนการฝ่าฝืนสูงกว่าวินมอเตอร์ไซค์และกลุ่มไรเดอร์ค่อนข้างมาก โดยในอนาคตจะเชื่อมโยงข้อมูลผู้กระทำผิดกับกรมขนส่งทางบกต่อไป
“การปราบปรามที่ดีที่สุดคือการป้องกันและสร้างจิตสำนึก เชื่อว่าทุกคนไม่อยากกระทำผิดกฎหมาย กทม. ไม่มีความสุขที่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้มาก ๆ แต่จะมีความสุขที่เห็นผู้กระทำผิดลดลง เนื่องจากทุกคนสามารถหาช่องว่างในการกระทำผิดกฎหมายได้เสมอ แต่ความร่วมมือต่างหากที่จะทำให้แก้ปัญหาได้” พล.ต.อ.อดิศร์ กล่าวในตอนท้าย
นายสิทธิชัย กล่าวว่า กทม. ให้ความสำคัญเรื่องตรวจจับจักรยานยนต์ที่ขับขี่บนทางเท้า เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้เห็นว่าในแต่ละเขตมีบริบทที่ต่างกัน จากการลงพื้นที่แต่ละเขตประมาณ 37 จุดที่เป็นจุดที่มีผู้ฝ่าฝืนมาก สามารถจับกุมได้กว่า 3,824 ราย โดยจากสถิติพบว่าผู้ที่กระทำความผิดมากที่สุดคือกลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มไรเดอร์ และกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ ตามลำดับ ซึ่งที่น่าสังเกตคือกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์มีผู้กระทำความผิดจำนวนลดลง โดยได้รับความร่วมมือมากขึ้น เช่น การเข็นรถแทนการขับขี่บนทางเท้าบริเวณซอยเสือใหญ่อุทิศ เป็นต้น สำหรับในส่วนของไรเดอร์ที่ยังมีการกระทำความผิด กทม. ได้เรียกตัวแทนทั้ง 11 บริษัท เข้ามาประชุมปรึกษาถึงแนวทางแก้ไขร่วมกันเมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อแจ้งให้ไรเดอร์ทราบว่า กทม. เริ่มระบบตรวจจับด้วยกล้อง AI แล้ว ซึ่งผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 – 5,000 บาท
นายเอกวรัญญู กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นการสรุปผลในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยเป้าหมายแรกคือการรณรงค์ไม่ให้ประชาชนกระทำความผิดขับขี่บนทางเท้าและร่วมมือกับ กทม. รวมถึงการเก็บข้อมูล Data ทั้งหมดจากการดำเนินการที่ผ่านมาเพื่อนำไปต่อยอดแก้ไขปัญหาในอนาคต เรื่องที่ 2 คือการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งการดำเนินการในขณะนี้ถือว่าอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งจากข้อมูลสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือประชาชนทั่วไป ไรเดอร์ และวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์มีผู้กระทำผิดน้อยลง และต่อจากนี้ไปจะมีการเรียกประชุมหารือกับกลุ่มบริษัทไรเดอร์ เพื่อให้เกิดการผลักดันภายในกลุ่มไรเดอร์เอง โดยมี กทม. เป็นผู้สนับสนุน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด มากกว่าการต้องบังคับใช้กฎหมายในการลงโทษ
ด้าน ผอ.สำนักเทศกิจ กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เทศกิจได้ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยแจ้งให้ทราบถึง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 17(2) ห้ามมิให้ผู้ใดจอดหรือขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้า ผู้ฝ่าฝืนจะเสียค่าปรับ 2,000-5,000 บาท ซึ่งเป็นค่าปรับที่ค่อนข้างสูง นโยบายการใช้กล้อง AI เพื่อตรวจจับผู้กระทำผิดตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทำให้เจ้าหน้าที่เทศกิจทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยคาดหวังว่าในอนาคตไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่เทศกิจมายืนประจำจุด แต่ทุกคนมีจิตสำนึกไม่ขับขี่บนทางเท้า เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ปลอดภัยและน่าอยู่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง