งาน Global Business Dialogue 2018 จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งปีนี้อยู่ภายใต้หัวข้อ Innovating the Sustainable Future จัดขึ้นเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์โลกให้ยั่งยืน และก้าวเข้าสู่ Sustainable Development Goals (SDGs)

เทคโนโลยีปัญหาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) กำลังถูกจับตาในฐานะ Game Changer ที่จะเข้ามาสร้างความยั่งยืนต่อโลกอนาคต จากงานวิจัยล่าสุดที่นำเสนอโดย PricewaterhouseCoopers(PwC) หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุด อันเกิดจากการร่วมกันจัดทำระหว่าง PwC ประเทศอังกฤษ และ PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ AI for Sustainability ฉายภาพให้เห็นว่า AI กำลังเข้ามามีบทบาทในการเข้ามาแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับเอกชน ชุมชนเมือง ประเทศ และต่อโลกมากขึ้นเป็นลำดับ

“ปีที่ผ่านมา PwC ยังได้ทำการสอบถามผู้บริหารทั่วโลกพบว่า 54% ยอมรับว่าได้มีการตัดสินใจลงทุนพัฒนาด้าน AI มากขึ้นกว่าปี 2016 นั่นหมายความว่า ภาคธุรกิจเริ่มมอง AI เป็นโอกาสทางธุรกิจในการสร้างคุณค่าให้กับองค์กร และทำให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม”

ในผลการวิจัยดังกล่าวได้แตกประเด็นปัญหาของโลกที่สามารถนำ AI เข้ามาแก้ปัญหาออกเป็น 6 ข้อด้วยกัน

  1. Climate Change หลายปีที่ผ่านมาเกิดปัญหามากขึ้นอย่างมีนัย หลายประเทศจึงมีการนำ AI เข้ามาทำ Smart Transportation เช่น ประเทศนอร์เวย์กำลังผลักดันให้มีการใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการนำ AI มาคาดการณ์ระบบพลังงานว่ามีปริมาณการใช้เท่าไหร่ หรือ Google ใช้ระบบ GPS เข้ามาวิเคราะห์ความหนาแน่นทางจราจร เพื่อแนะนำเส้นทางที่ช่วยลดระยะเวลาเดินทาง รวมถึงการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนที่จะตก เพื่อภาครัฐจะได้เตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทัน
  2. Biodiversity and Conservation จากการวิจัยหลายแห่งพบว่า ไม่กี่ร้อยปีมานี้พืชพันธุ์ และสัตว์บางประเภทสูญพันธุ์ไปจากโลกมากมาย AI จะถูกนำมามอนิเตอร์ผลกระทบที่เกิดจาก Climate Change อาทิ ภัยแล้ง และไฟป่า
  3. Healthy Oceans จำนวนถึงพลาสติกที่ถูกทิ้งลงแหล่งน้ำ และทะเล ทำให้สัตว์ทะเลต้องทนทุกข์ทรมาน และตายจากการกินพลาสติกเข้าไป ประกอบกับโลกร้อนส่งผลให้สารเคมีในทะเลเปลี่ยนไป เกิดความไม่สมดุลทางธรรมชาติ ที่ผ่านมานาซ่าใช้เทคโนโลยีดาวเทียมมาช่วยในการพยากรณ์แพลงตอน หรือชีววิทยาทางทะเลว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และยังใช้ AI ในการมอนิเตอร์ในลักษณะ Global Fishing Watch ว่าจุดไหนมีความเสี่ยงที่จะเกิดการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน เพื่อช่วยแก้ปัญหาการประมงเกินกว่ากำลังทะเลจะทดแทนได้ (Over Fishing)
  4. Water Security ที่ผ่านมาเกิดความไม่สมดุลของน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ บางแห่งเกิดอุทกภัย บางแห่งเกิดภัยแล้ง ดังนั้น AI จะเป็นตัวช่วยพยากรณ์การไหลของน้ำ (Water Flow) วิเคราะห์ปริมาณน้ำจืดในแหล่งที่ต้องใช้ในการผลิตน้ำ หรือแม้แต่การสร้างโซลูชั่นให้กับอุตสาหกรรมผลิตน้ำประปา ในการวิเคราะห์ว่าควรจะปล่อยน้ำขนาดไหน อย่างไรให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
  5. Clean Air เมืองใหญ่กำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ ที่ผ่านมามีการจับมือกันระหว่าง ไอบีเอ็ม ไมโครซอฟท์และแอร์วิชวล ในกรุงปักกิ่ง ด้วยการนำ AI มาทำ Early Warning ฝุ่นละอองในอากาศ ผ่านแอพพลิเคชั่นวัดคุณภาพของอากาศ รวมถึงวิเคราะห์สาเหตุข้อมูลมลพิษในอากาศที่สูงขึ้น หรือลดลงว่ามีสาเหตุมาจากอะไร
  6. Water and Disaster Resilience จากการวิจัยพบว่าโลกเรามีความถี่ในการเกิดภัยพิบัติภัยธรรมชาติเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปีที่ผ่านมา ในอินโดนีเซียเริ่มมีการนำ AI ผ่านระบบเปิด (Open Source) เพื่อพยากรณ์ความเป็นไป หรือโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างในภาคการเกษตร ที่ใช้ AI พยากรณ์อากาศ หากฝนตกก็ไม่ต้องรดน้ำ เพื่อลดต้นทุน และทรัพยากร

คุณกุลวัลย์ สุพรสุนทร ผู้จัดการด้าน Sustainability และ Climate Change บริษัท ไพร้ซ์วอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอฟเอเอส จำกัด

  • สำหรับในมุมของเมืองขนาดใหญ่ อย่างกรุงเทพมหานคร AI ก็สามารถนำมาใช้ในการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาเมืองใหญ่ของกรุงเทพมหานครในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้เป็น Smart Sustainable City อาทิ ปัญหาการจราจร ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาด้านการจัดการพลังงาน และปัญหามลพิษทางอากาศ และขยะ เป็นต้น
  • และภายในปี ค.ศ. 2020-2030 ทุกคนจะภาพที่ชัดเห็นขึ้นว่า AI จะกลายเป็น Game Changer โดยเฉพาะในภาคของการสร้าง Smart City, Smart Agriculture และ Decentralize ระบบการจัดการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอย่างมีเอกเทศ และแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น
  • แต่ในเวลาเดียวกัน AI ยังมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงเชิงสังคม ที่อาจจะก่อให้เกิดความแตกแยก คนตกงาน ซึ่งบริษัทจำเป็นต้องสื่อสาร
  • และมีแผนรองรับที่ดี รวมถึงด้านจริยธรรม ที่มีหลายคนนำเสนอว่าควรฝังจุดตัดทางจริยธรรมเข้าไปใน AI และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งควรเพิ่มความเข้มข้นให้มากขึ้น และต้องทำให้เกิดความโปร่งใส  พร้อมตรียมแผนสำหรับการแก้ปัญหาหากเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้น

ดร.ศุภชัย ตันติคมน์ อดีตที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

“เพราะการใช้เทคโนโลยีที่ดี นอกจากจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังต้องช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และก่อให้เกิดความยั่งยืนในสังคมอย่างแท้จริง”