สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยฟีเจอร์เครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow ที่มาพร้อม ‘รีโมต คอนโทรล’ (Remote Control) ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ 1 คนสามารถควบคุมเครื่องฯ ได้สูงถึง 20 เครื่อง ในการเฝ้าระวังและติดตามอาการผู้ป่วยแบบทางไกลได้ตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวภายในโรงพยาบาล โดยมีระบบรักษาความปลอดภัยสูง ได้เดินทางถึงโรงพยาบาลสิรินธร พร้อมใช้จริงกับผู้ป่วยโควิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และภายในสองสัปดาห์นี้ สจล. จะเร่งผลิตเพื่อแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลทั่วไทยกว่า 400 แห่ง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมด้านเทคนิค รวมถึงโรงพยาบาลที่ประสงค์จะขอรับเครื่องออกซิเจน High Flow ติดต่อ สำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) โทร. 085-382-0960, 086-825-5420 หรือไลน์ไอดี @kmitlfightcovid19
ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า แพทย์ทางไกล หรือ เทเลเมดิซีน (Tele Medicine) ได้เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นสำหรับการรักษาหรือติดตามอาการผู้ป่วยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางสังคม พร้อมกับพยุงอาการของผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งสอดคล้องกับผลงานวิจัยล่าสุดของ สจล. ที่ได้พัฒนา “เครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow” เครื่องจ่ายออกซิเจนในอัตราการไหลสูง มาพร้อมฟีเจอร์ “รีโมท คอนโทรล” (Remote Control) ที่ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ 1 คนสามารถควบคุมเครื่องฯ ได้สูงถึง 20 เครื่อง เพื่อเฝ้าระวังและติดตามอาการผู้ป่วยแบบทางไกลได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยนำร่องใช้เพื่อดูแล ‘ผู้ป่วยระดับสีเหลือง’ ที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ เครื่องดังกล่าวยังมาพร้อมเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Fingertip Pulse Oximeter) และระบบแจ้งเตือน (Alert) เมื่อผู้ป่วยมีภาวะออกซิเจนต่ำเกินไป
ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยในการควบคุมการทำงานของเครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow ภายใต้รีโมท 1 เครื่องนั้น โดยเบื้องต้นทีมวิจัยสามารถกำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถควบคุมเครื่องจ่ายออกซิเจนได้สูงสุดที่ 20 เครื่อง เพื่อการป้องกันความผิดพลาดจากการกำหนดอัตราไหลเวียนอากาศ ความเข้มข้นของออกซิเจนที่ต้องการ ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ก่อนปล่อยผ่านทางจมูกผู้ป่วย (Nasal Cannula) ได้อย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับอากาศที่มีความเข้มข้นของออกซิเจนที่แน่นอน ถูกต้อง ป้องกันการหายใจซ้ำจากอากาศที่ค้างอยู่ในทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานเครื่องจ่ายออกซิเจนอัตราการไหลสูง
ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าว มีต้นทุนการพัฒนาที่ 55,000 บาท ซึ่งถูกกว่าการนําเข้า 3-4 เท่า หรือประมาณ 200,000 – 300,000 บาท โดยล่าสุดภายหลังที่สถาบันฯ เปิดรับบริจาคเร่งด่วนนับตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงภาคประชาชน จนมีกำลังการผลิตเครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow ได้เป็นจำนวนมาก และจะมีการทยอยส่งมอบไปยังโรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโดยเร็ว ซึ่งล่าสุด สจล. ได้ดำเนินการส่งมอบเครื่องจ่ายออกซิเจน High Flow ล็อตแรก ไปยังโรงพยาบาลสิรินธร พร้อมทั้งใช้งานจริงกับผู้ป่วยโควิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ สจล. ยังเตรียมผลิตเพื่อแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลทั่วไทยกว่า 400 แห่งให้แล้วเสร็จภายสองสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม เครื่องดังกล่าว อยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรสู่เชิงพาณิชย์กับสำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRiS) ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้มีจิตศรัทธายังสามารถบริจาคเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯลาดกระบัง ชื่อบัญชี “มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ เพื่อสู้ภัยโควิด” เลขที่ 693-0-35455-4 โดยผู้บริจาคสามารถนําใบเสร็จไปขอลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมด้านเทคนิค รวมถึงโรงพยาบาลที่ประสงค์จะขอรับเครื่อง ติดต่อ สำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) โทร. 085-382-0960, 086-825-5420 หรือไลน์ไอดี @kmitlfightcovid19 ศ. ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ สจล. ได้ที่ https://www.facebook.com/kmitlofficial และ http://kmitl.ac.th