โครงการแข่งขันออกแบบและพัฒนาเกม “SDGs Game Fest” จัดโดย เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับ บริษัท ทรู ดิจิตอล พลัส จำกัด พร้อมด้วยพันธมิตรหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม และกลุ่มธุรกิจเกมออนไลน์ ที่ได้ร่วมมือกันจัดงานสร้างสรรค์ความยั่งยืนในมิติเกมออนไลน์ครั้งแรกของประเทศไทย โดยมุ่งหวังให้เกมออนไลน์เป็นสื่อกลางที่จะช่วยทำหน้าที่สอดแทรกเนื้อหาและความเข้าใจในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เข้าไปผสมผสานกับความสนุกของเกม ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่เข้าใจและตระหนักรู้ถึงปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาสำคัญระดับโลก
โดยหลังจากการแข่งขันที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งจัดการแข่งขันทั้งหมด 4 รอบ ตั้งแต่รอบคัดเลือกแนวคิดเกม รอบนำเสนอแนวคิดเกม รอบนำเสนอเกมเวอร์ชั่นต้นแบบ และรอบสุดท้ายคือการนำเสนอเกมเวอร์ชั่นทดสอบ
คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม องค์กรเอกชนในวงการเกมออนไลน์ ได้ประกาศผลทีมที่ชนะเลิศแล้ว คือ ทีม THAItan ซึ่งได้สร้างสรรค์เกมชื่อ Trashed ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการคัดแยกขยะรีไซเคิล โดยทีมชนะเลิศได้รับเกียรติบัตรและเงินรางวัลมูลค่า 200,000 บาท และตัวเกมที่ชนะจะถูกนำไปพัฒนาเป็นเกมภายใต้เงินทุน 15 ล้านบาท ที่พัฒนาดำเนินงานภายใต้บริษัททรู แอกซิออน อินเตอร์แอกทีฟ จำกัด เพื่อให้สามารถนำเกมไปพัฒนาให้ใช้เล่นได้จริงตามเป้าหมายสูงสุดของโครงการ สำหรับรางวัลรองชนะเลิศ 2 ทีม ได้แก่ ทีม Hey, Elon I need a Tesla. สร้างสรรค์เกม Starventure และทีม Have 5 สร้างสรรค์เกม Seasonal Dairy GO โดยทีมรองชนะเลิศ ท้ังสองทีม แต่ละทีมได้รับเกียรติบัตรและเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท
นายวีระนนท์ ฟูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการ ด้านความยั่งยืนและสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้จัดงาน SDGs Game Fest กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับทีมที่ชนะในโครงการนี้ และให้กำลังใจกับทุกทีมที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ ซึ่งถือว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีผู้สมัครเข้าแข่งขันทั้งจากผู้คนในวงการเกมและบุคคลทั่วไปที่แม้ไม่มีประสบการณ์เป็นนักพัฒนาเกมออนไลน์ แต่สนใจเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่างได้เข้ามาร่วมประยุกต์สร้างสรรค์เกมออกมาได้น่าสนใจ โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 100 ทีม สะท้อนให้เห็นว่ามีนักพัฒนาเกมออนไลน์จำนวนไม่น้อยที่สนใจที่จะร่วมผลักดันให้ประเด็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม หรือ SDGs เข้าไปสอดแทรกอยู่ในเนื้อหาของเกมออนไลน์ที่จะส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนทั่วไปได้เข้าใจและร่วมขับเคลื่อนประเด็นสำคัญของโลกต่อไป
สำหรับเกมที่ชนะเลิศคือเกม Trashed นั้นจะได้รับการนำไปพัฒนาสร้างเกมให้สามารถเล่นได้จริงต่อไปโดยจะดำเนินการภายใต้บริษัท ทรู แอกซิออน อินเตอร์แอกทีฟ จำกัด และจะนำเกมไปเปิดตัวแสดงในงาน Thailand Game Show 2022
“เราหวังว่าเกมออนไลน์จะเป็นอีกหนึ่งกลไกการสื่อสารเรื่องคุณค่าสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนไปยังกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ตลอดจนผู้เล่น และผู้ผลิตเกม และไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น เราจะเผยแพร่เกมออนไลน์นี้ผ่านพันธมิตรไปยังต่างประเทศด้วย”นายวีระนนท์กล่าว
สำหรับทีม THAItan ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศโครงการแข่งขันออกแบบและพัฒนาเกม “SDGs Game Fest” มีสมาชิกในทีมเป็นคนรุ่นใหม่ 5 คน ประกอบด้วย นายวรพล คชาภรณ์กุล อายุ 19 ปี นายอาณัฐ โล่ห์แก้ว อายุ 19 ปี น.ส.ปุณยาพร สุธรรมพร อายุ18 ปี น.ส.ปัณฑิตา สุธรรมพร อายุ 23 ปี นายคุณาวัตร์ วิทูรปกรณ์ อายุ 22 ปี โดยสมาชิกทั้งหมดของทีม ต่างกล่าวแสดงความดีใจและภูมิใจกับรางวัลที่ได้รับ ซึ่งทั้งทีมมีเป้าหมายเดียวกันที่จะสร้างเกมที่เป็นประโยชน์กับสังคม และถือเป็นประสบการณ์ใหม่ในการได้ร่วมทำเกมออนไลน์ที่ทำให้มีโอกาสเรียนรู้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการสร้างเกม ตลอดจนการพัฒนาเกมในมุมของ SDGs
ทำให้สมาชิกของทีมได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาเชิงลึกในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งเกม Trashed ใช้เป้าหมายของ SDGs อย่างน้อย 3 ด้าน คือ การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์มหาสมุทรและทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืน
นายวรพล คชาภรณ์กุล กล่าวว่า เกม Trashed เป็นเกมที่ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะอ้างอิงข้อมูลการแยกขยะของประเทศญี่ปุ่นที่ถือเป็นประเทศที่ปลูกฝังเยาวชนเรื่องการคัดแยกขยะตั้งแต่ยังเด็ก โดยตัวเกมใช้ตัวละคร “ไก่” ที่ทำงานในโรงงานรีไซเคิล มีหน้าที่เก็บขยะในเมืองและแหล่งน้ำ จากนั้นนำไปแยกที่สถานีต่าง ๆ ให้ถูกต้องเพื่อนำไปรีไซเคิลและได้วัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นสิ่งของต่างๆ เป็นรูปแบบ Multiplayer Game (เกมที่มีหลายผู้เล่น) ที่จำกัดเวลาในการเล่น ดังนั้นหากผู้เล่นต้องการทำคะแนนได้มากก็ต้องจำให้ได้ว่าขยะแบบไหนต้องนำไปรีไซเคิลที่สถานีไหน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้เล่นสามารถจำได้ว่าขยะชิ้นใดต้องนำไปสู่กระบวนการข้ันตอนตั้งแต่คัดแยกอย่างไร
“เราตั้งใจพัฒนาเกมที่สนุกและเข้าใจง่ายในการเรียนรู้เป้าหมาย SDGs ซึ่งผลลัพธ์ที่ลองให้ญาติและเพื่อนๆรอบตัวได้ทดลองเล่นเกมเวอร์ชั่นต้นแบบ ทุกคนสนุก เข้าใจ และได้เรียนรู้แต่ละเป้าหมายของ SDGs ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น เพราะตัวเกมนี้ให้ทั้งความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ ความรู้ด้าน SDGs อื่น ๆ ตลอดจนสร้างจิตสำนึกต่อสาธารณะร่วมกัน ซึ่งหวังว่าเมื่อผู้เล่นได้มาเล่นเกมของทีมเราที่จะพัฒนาออกมาเสร็จในปี 2022 จะได้ทั้งความสนุกและสร้างอนาคตที่ดีให้โลกที่ยั่งยืนไปด้วยกัน” นายวรพลตัวแทนสมาชิกของทีมกล่าว
ขณะที่ น.ส.ปัณฑิตา และ น.ส.ปุณยาพร สุธรรมพร สองสมาชิกของทีม ซึ่งดูแลรับผิดชอบด้านเนื้อหาในเกม Trashed กล่าวว่า การได้ร่วมในทีมสร้างสรรค์เกม SDGs ทำให้มีโอกาสได้เข้าไปศึกษาเชิงลึกในเรื่องการคัดแยกขยะจนถึงในระดับโรงงานว่ามีกระบวนการและรายละเอียดอย่างไรเพื่อนำมาพัฒนาเป็นคอนเทนต์ในเกมที่ต้องออกแบบมาเพื่อให้เป็นเกมด้านความยั่งยืนที่เข้าใจง่าย มีความสนุก และที่สำคัญมีข้อมูลการคัดแยกขยะที่ถูกต้องเพื่อให้ผู้เล่นมีความเข้าใจได้จริงในชีวิตประจำวัน และยังทำให้ผู้เล่นได้ตระหนักและเรียนรู้เป้าหมายของ SDGs ไปพร้อมกัน