นางสาวสกุลรัตน์ ตันยงศิริ ผู้อำนวยการธุรกิจเอสเอ็มอี LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SMEs ถือเป็นผู้ใช้งานหลักของ LINE OA ซึ่งมีจำนวนเกิน 90% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด LINE จึงให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานธุรกิจในกลุ่มนี้มาก ในปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ถึงแม้จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการเปิดประเทศ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ แต่ยังคงต้องหาทางออกในการทำให้ธุรกิจอยู่รอด ช่องทางดิจิทัลโดยเฉพาะแฟลตฟอร์ม LINE เป็นทางเลือกในการเข้าถึงลูกค้าที่มีประสิทธิภาพสูง ส่งผลให้เกิดการใช้งานเพิ่มขึ้น มีจำนวนการเปิดบัญชีใหม่เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 1 ล้านราย หรือคิดเป็นการเติบโต 25% เทียบจากปีก่อนหน้า
โดยธุรกิจที่ใช้งาน LINE OA มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ความงาม แฟชั่น และธุรกิจอาหาร (F&B) ตามลำดับ ซึ่งธุรกิจอาหารมีการเติบโตสูงที่สุดถึง 51% ในขณะที่ความงามและแฟชั่น เติบโตอยู่ที่ 31% คาดว่าเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่ใช้ชีวิตนอกบ้านน้อยลง ทำให้ร้านอาหารจำเป็นต้องใช้เครื่องมือดิจิทัลในการเข้าถึงและให้บริการลูกค้าถึงบ้านมากยิ่งขึ้น โดยนอกจากการมีบริการส่งอาหาร หรือ เดลิเวอรี่แล้ว SMEs ในกลุ่มธุรกิจอาหารยังมีการเปิดใช้ LINE OA เพื่อสร้างแบรนด์อย่างจริงจังบนโลกออนไลน์ ด้วยการมีช่องทางติดต่อสื่อสารกับลูกค้า พร้อมเชื่อมต่อกับการสั่งอาหารผ่าน LINE OA ไปด้วยในตัว
ในส่วนของเครื่องมือ ฟีเจอร์ภายใน LINE OA สำหรับ SMEs ไทย การใช้งาน แช็ต (Chat) ยังเป็นฟีเจอร์อันดับ 1 ที่ผู้ประกอบการเลือกใช้งาน แชต (Chat) เป็นเสน่ห์ที่โดดเด่นของแพลตฟอร์มที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึง พูดคุย สร้างสัมพันธ์กับลูกค้าได้โดยง่าย ตามมาด้วยฟีเจอร์บรอดแคส (Broadcast) อาวุธสำคัญในการเปิดการขายกับลูกค้าผ่านการส่งข้อมูลการขาย ทั้งแนะนำสินค้าใหม่ โปรโมชั่นต่าง ๆ และที่มาแรงที่สุดในปีที่ผ่านมา คือ การใช้งานริชเมนู (Rich Menu) ที่มียอดการใช้งานเป็นอันดับ 3 แต่มีตัวเลขการใช้งานเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 232% แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการ SMEs เริ่มมีความรู้ด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น สามารถใช้งานเครื่องมือหรือฟีเจอร์ ลูกเล่นอื่น ๆ เพื่อสร้างประสิทธิภาพให้กับ LINE OA ของตนเองได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังพบว่าฟีเจอร์ใหม่ ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2020 อย่าง LINE OA Call ช่วยสร้างความสะดวกให้กับลูกค้าในการติดต่อสอบถามข้อมูลด้วยการโทรเข้า LINE OA เพื่อพูดคุยกับแอดมินของแบรนด์หรือร้านค้าได้โดยตรง ก็ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในการเปิดใช้ฟีเจอร์นี้อย่างเห็นได้ชัด โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 220% ด้วยกัน ในขณะที่ LINE เน้นย้ำเพิ่มเติมถึงอีก 2 ฟีเจอร์บน LINE OA ที่นับเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของ SME ในยุคดิจิทัลอย่างมาก คือ พรีเมี่ยมไอดี (Premium ID) ที่ช่วยทำให้ไอดีของร้านเป็นที่จดจำและบอกต่อง่าย มีประโยชน์อย่างมากในการสร้างการรับรู้บนโลกออนไลน์ และยังมี บัญชีรับรอง (Verified Account) ที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ เนื่องจากมีการแข่งขันสูง แบรนด์จึงควรต้องสร้างการจดจำและสร้างความน่าเชื่อถือควบคู่กันไป โดยในปีที่ผ่านมา การใช้งานพรีเมี่ยมไอดีและบัญชีรับรองมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 8% และ 14% ตามลำดับ
นอกจากนั้น LINE ได้เพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยได้เปิดให้ผู้ประกอบการสามารถลงโฆษณาบน LINE ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องผ่านเอเจนซี่ ด้วย LINE Ads Platform หรือ LAP มาตั้งแต่ปลายปี 2020 ถือเป็นอีกเครื่องมือที่ได้รับความนิยมมาก เพราะเป็นเครื่องมือโฆษณาที่ทรงประสิทธิภาพบนแชตคอมเมิร์ซที่จะช่วยให้เข้าถึงลูกค้าได้อย่างไม่พลาดเป้า โดยในปีที่ผ่านมามียอดเปิดบัญชีโฆษณาในกลุ่ม SMEs เพิ่มขึ้นถึง 106% และตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปีที่ผ่านมา LINE ได้เปิดช่องทางในการให้คำปรึกษาด้านโฆษณาผ่าน LAP แก่ SMEs ทั่วประเทศไทย
และมีผู้ประกอบการสนใจเข้ารับคำปรึกษาสอบถามการใช้งานแล้วเกิน 1500 เคส สำหรับกลุ่มธุรกิจมาแรงที่ลงเม็ดเงินโฆษณาผ่าน LAP มากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ ธุรกิจการศึกษา พร้อมอัตราการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 สูงถึง 609% ตามมาด้วยธุรกิจบันเทิง ที่มีอัตราการลงเม็ดเงินเพิ่มขึ้น 187% และธุรกิจแฟชั่น เพิ่มขึ้นถึง 180% ทั้งนี้ 2 วัตถุประสงค์ยอดฮิตในการลงโฆษณาบน LAP ยังคงเป็นการโฆษณาเพื่อเพิ่มเพื่อน (Gain Friends) และการโฆษณาเพื่อเยี่ยมชมเว็บไซต์ (Website Visit) โดยการโฆษณาเพื่อเพิ่มเพื่อนเป็นวัตถุประสงค์ยอดนิยมอันดับ 1 มาโดยตลอด เพราะเมื่อลูกค้าติดตามเป็นเพื่อนใน LINE OA ทำให้ผู้ขายสามารถมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ซื้อได้อย่างใกล้ชิด เกิดการซื้อขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเป็นช่องทางรักษาฐานลูกค้าระยะยาวได้เป็นอย่างดี การเปิด LINE OA พร้อมการลงโฆษณาผ่าน LAP เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับ LINE OA จึงกลายเป็นกลยุทธ์ยอดนิยมของ SMEs ไทยในการทำธุรกิจแห่งยุคดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม LINE อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
สำหรับในปี 2565 LINE ยังคงตั้งเป้าเป็นเพื่อนร่วมทางเคียงข้าง SMEs ไทย สนับสนุนผู้ประกอบการให้เดินหน้าต่อด้วย เครื่องมือดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ คอยขับเคลื่อนให้การทำธุรกิจเกิดประสิทธิผล พร้อมมุ่งยกระดับความรู้ ความเข้าใจในการทำธุรกิจยุคใหม่ และความชำนาญในการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลให้เหมาะกับธุรกิจของ SMEs ไทยที่มีหลากหลาย แตกต่างกันไปตามปัจจัยมากมาย โดยแบ่งเป้าหมายออกเป็น 2 ด้าน
- ด้านแพลตฟอร์ม – พัฒนาเครื่องมือหรือโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อ SMEs โดยเฉพาะ (Customized Solutions for SMEs) ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาพื้นที่และรูปแบบการลงโฆษณาบน LAP ใหม่ๆ เพื่อรองรับและตอบโจทย์การใช้งาน SMEs ไทยมากยิ่งขึ้น อาทิ การเพิ่มตำแหน่งการวางโฆษณาไปบน LINE OpenChat ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้งานคนไทย ด้วยยอดผู้ใช้กว่า 6 ล้านคนต่อเดือน ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงมากในการเข้าถึงลูกค้า และโฆษณาในรูปแบบวิดีโอบน LINE VOOM ซึ่งคาดว่าจะเป็นเทรนด์ที่มีบทบาทในการโฆษณาบนแพลตฟอร์ม LINE อย่างมากต่อไปในอนาคต รวมไปถึง แผนการพัฒนาเครื่องมือเดิมในตลาด ให้เหมาะกับการใช้งานสำหรับ SMEs มากขึ้น อาทิ MyCustomer เครื่องมือเสริมประสิทธิภาพให้ LINE OA สำหรับธุรกิจองค์กรในการบริหารจัดการดาต้า เป็นต้น
- ด้านความรู้และกิจกรรม – ยกระดับความรู้ ความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจยุคดิจิทัลให้ SMEs ไทย ด้วยกองทัพกิจกรรมการให้ความรู้ และแคมเปญ โปรโมชั่น โครงการต่างๆ ตลอดปี ที่จะแบ่งประเภทและรูปแบบให้เหมาะสมเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น (1) การจัดกิจกรรม หรือให้ความรู้ตามระดับความรู้ของผู้ประกอบการ ทั้งระดับความรู้ในเชิงการทำธุรกิจ หรือระดับความรู้ที่มีต่อแพลตฟอร์ม LINE (2) การจัดกิจกรรม หรือให้ความรู้เฉพาะแบ่งตามพื้นที่ภูมิภาค สอดคล้องกับการเปิดตัว LINE Certified Coach ประจำปี 2565 ที่ผ่านมา ที่ได้คัดเลือกกลุ่มโค้ชตามต่างจังหวัด เพื่อตอบรับเป้าหมายการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการทั่วภูมิภาคมากขึ้น และ (3) การจัดกิจกรรม หรือให้ความรู้เฉพาะแบ่งตามประเภทธุรกิจ
อีกทั้ง LINE ยังจะร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เพื่อร่วมเสริมเติมเต็มความรู้ความต้องการให้กับ SMEs ไทย นำไปสู่การใช้งานแพลตฟอร์มได้อย่างเต็มประโยชน์ และเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจบนโลกดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
“ในปีนี้ 2565 เชื่อว่าเราน่าจะผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปของสถานการณ์โควิด-19 แล้ว และเริ่มมีสัญญาณที่ดีทางเศรษฐกิจ หากแต่ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนอื่นๆ ที่เป็นความเสี่ยงอีกมาก การเปิดรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค การปรับตัว ปรับกลยุทธ์ได้รวดเร็ว รวมถึงการเปลี่ยนและปรับปรุงตนเองในทันทีเมื่อเจอผลลัพธ์ที่ไม่เป็นดังหวัง เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเอสเอ็มอีไทย LINE พร้อมเป็นแพลตฟอร์มที่จะอยู่เคียงข้างเพื่อเป็นแรงกำลังสำคัญช่วยให้ผู้ประกอบการไทย เรียนรู้ เข้าใจการทำธุรกิจ ด้วยการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลบนแพลตฟอร์ม LINE ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นำไปสู่การดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน” นางสาวสกุลรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย