เมื่อช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ตามเวลาบ้านเรา NASA หรือองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้แถลงว่าค้นพบดาวเคราะห์ 7 ดวงที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลก และมีความเป็นไปได้่ที่จะมีสิ่งมีชีวิตบนดาวนั้นถึง 3 ดวง โดยระบบดาวนี้อยู่ห่างจากโลกไป 39 ปีแสง

ค้นพบดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลกเพิ่มอีก 5 ดวง

Play video

การค้นพบครั้งสำคัญนี้นำทีมโดย Michaël Gillon จากสถาบัน STAR ในสังกัดมหาวิทยาลัยลีแยฌ (Liège) ของเบลเยี่ยม ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ TRAPPIST (TRAnsiting Planets and PlanetesImals Small Telescope) ค้นพบระบบดาว TRAPPIST-1 ตั้งแต่ปี 2016 แต่การค้นพบในครั้งนี้พบเพียงตัวดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลกอีก 2 ดวงเท่านั้น หลังจากนั้นจึงได้มีการศึกษาเพิ่มเติม จนล่าสุด NASA ได้ประกาศค้นพบดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลกเพิ่มอีก 5 ดวงในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2017 จึงทำให้ระบบดาวนี้มีดาวเคราะห์ทั้งหมด 7 ดวง

ดวงอาทิตย์ของ TRAPPIST-1 ขนาดพอๆ กับดาวพฤหัส

ความแตกต่างระหว่างระบบสุริยจักรวาลของเรา กับระบบ TRAPPIST-1 คือขนาดของดาวฤกษ์ที่เป็นศูนย์กลางของระบบ

ดาวฤกษ์ของ TRAPPIST-1 นั้นมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ของเรามาก และใหญ่กว่าดาวพฤหัสของเรานิดเดียว ทำให้ดาวฤกษ์ดวงนี้มีอุณหภูมิพื้นผิวราวๆ 2,550 องศาเคลวินเท่านั้น ต่างจากดาวแคระแดง (Red dwarf) ทั่วไปที่มีอุณหภูมิราว 3,800 องศาเคลวิน และต่ำกว่าดวงอาทิตย์ของเราที่ 5,800 องศาเคลวินมาก

จากขนาดดาวฤกษ์ศูษย์กลางของ TRAPPIST-1 ที่เล็กกว่าดวงอาทิตย์มาก ทำให้วงโคจรของดาวเคราะห์ทั้ง 7 นั้นอยู่ใกล้กับตัวดาวฤกษ์มาก ชนิดที่วงโคจรของดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงนั้นใกล้กว่าวงโคจรของดาวพุธ ที่เป็นดาวที่ใกล้ตัวอาทิตย์มากที่สุดในระบบสุริยจักรวาลเสียอีก ระยะวงโคจรนั้นเทียบกับวงโคจรดวงจันทร์ของดาวพฤหัสได้เลย

และเพราะว่าดาวฤกษ์ของ TRAPPIST-1 นั้นมีขนาดเล็กกว่าดาวแคระแดงทั่วไป ทำให้เผาผลาญไฮโดรเจนในตัวด้วยอัตราที่ช้ากว่าดาวฤกษ์ดวงใหญ่ๆ มาก ดาวฤกษ์ TRAPPIST-1 จึงอาจมีชีวิตยืนยาวไปได้ถึง 10 ล้านล้านปี ซึ่งยาวนานมากที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตได้วิวัฒนาการ

รู้จักดาวแคระแดง
ดาวแคระแดงคือดาวฤกษ์ที่มีขนาดเล็กและมีอุณหภูมิที่ค่อนข้างต่ำมาก เทียบกับบรรดาดาวฤกษ์บนแถบลำดับหลักทั้งหมด มีมวลน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของดวงอาทิตย์ที่จัดเป็นดาวแคระเหลือง ดาวแคระแดงเป็นชนิดของดาวฤกษ์ที่มีมากที่สุดในกาแลคซี่ โดยในกาแลคซี่ทางช้างเผือกมีดาวแคระแดงถึง 85 % จากดาวแสนล้านดวง และถือเป็นดาวฤกษ์ที่มีอายุยืนที่สุดด้วย

มีดาวเคราะห์ 3 ดวงที่เป็นไปได้ว่ามีชีวิต

ตอนนี้ยังไม่มีการตั้งชื่อดาวเคราะห์ทั้ง 7 ของระบบ TRAPPIST-1 อย่างเป็นทางการ จึงมีการตั้งรหัสแทนดวงดาวไปก่อน โดย TRAPPIST-1A จะหมายถึงดาวฤกษ์ศูนย์กลาง ส่วนดาวเคราะห์ทั้ง 7 ก็ไล่ไปตั้งแต่ TRAPPIST-1b ถึง TRAPPIST-1h

โดยมีดาวเคราะห์ 3 ดวงคือ TRAPPIST-1e, TRAPPIST-1f, TRAPPIST-1g ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ เพราะดาวทั้ง 3 นี้อยู่ในเขตอาศัย (habitable zone) หรืออยู่ในระยะห่างจากดาวฤกษ์ศูนย์กลางที่เหมาะสม มีอุณหภูมิพอเหมาะที่ทำให้น้ำดำรงค์อยู่ในสถานะของเหลว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการถือกำเนิดชีวิต

แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้ถือว่ายังน้อยเกินไปที่จะบอกรายละเอียด หรือฟันธงว่าจะมีสิ่งมีชีวิตได้ ซึ่งต้องศึกษากันต่อไป

การสำรวจในอนาคต

การสำรวจระบบดาว TRAPPIST-1 นั้นทำได้ยากเพราะระยะห่างที่ไกลถึง 39 ปีแสง ไกลกว่าดาว Alpha Centauri ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดถึง 8 เท่า (4.37 ปีแสง) จึงไม่ต้องหวังว่าจะสามารถส่งยานไปสำรวจได้เร็วๆ นี้

แต่อนาคต ช่วงปี 2020 จะมีกล้องโทรทรรศน์อีกหลายตัวที่สร้างเสร็จ เช่นกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb ที่จะมาแทนกล้อง Hubble ในปี 2018 กล้องโทรทรรศน์ขนาดยักษ์ Giant Magellan ที่จะสร้างเสร็จในปี 2025 เป็นต้น ซึ่งกล้องรุ่นใหม่เหล่านี้จะทำให้เราได้ข้อมูลของระบบดาว TRAPPIST-1 มากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลสำคัญอย่างองค์ประกอบของดาว

อ้างอิง Popular Mechanics