จากข่าว Lemmon และ NEOWISE 2 ดาวหางชวนให้นึกถึงอนิเมะ Your Name โผล่มาให้ยลกันแล้ว! กำหนดการมาเยือนของนีโอไวส์ (NEOWISE) ดาวหางที่โดดเด่นที่สุดในรอบปี ก็มีกำหนดการมาเยือนใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว เพื่อไม่ให้พลาดชมความน่าตื่นตานี้ วันนี้เราจึงขอสรุปวันเวลา และวิธีส่องหาดาวหางกันอีกครั้ง

NEOWISE พิเศษอย่างไร น่าส่องตรงไหน

หลังจากค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer: WISE) ในภารกิจสังเกตการณ์วัตถุใกล้โลกด้วยคลื่นรังสีอินฟราเรด ( NASA’s Near-Earth Object Wide-field Infrared Survey Explorer (NEOWISE) mission) นาซาก็ได้เฝ้าติดตามดาวหางดวงนี้มาโดยตลอด และเชิญชวนให้เหล่านักชมดาวสังเกตการณ์ร่วมกันก่อนที่มันจะเดินทางออกนอกระบบสุริยะไป และจะไม่กลับมาให้เห็นอีกถึง 6,767 ปี

ภาพดาวหางนีโอไวส์ ที่ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์ STEREO ของนาซา (NASA’s Solar and Terrestrial Relations Observatory: STEREO) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ขณะดาวหางกำลังเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์
Credit: NASA/STEREO/William Thompson

ดาวหางเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ด้วยระยะห่าง 43 ล้านกิโลเมตร และจะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุด ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 103 ล้านกิโลเมตร ก่อนหน้านี้ ดาวหางนี้จะปรากฏในช่วงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น แต่หลังจากวันที่ 18 กรกฎาคม ดาวหางจะเปลี่ยนมาปรากฏในช่วงหัวค่ำ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า และความสว่างจะลดลงเรื่อยๆ แต่ยังคงสว่างในระดับที่ยังสามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่า

ภาพดาวหางนีโอไวส์ที่ถูกถ่ายจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เมื่อมันเคลื่อนที่เหนือทะเลเมติเตอเรเนียนระหว่างน่านฟ้าตูนิเซียและอิตาลี บันทึกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
Credit: NASA/ Mark Garcia

เมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม ที่ผ่านมา Planetary Science Institute’s Input/Output facility ยังพบว่า ดาวหางนีโอไวส์ปรากฏหางฝุ่นและหางไอออนแยกออกจากกันอย่างชัดเจน สำหรับหางไอออนนั้นพบว่าเป็นหางโซเดียม สามารถสังเกตเห็นเฉพาะดาวหางที่สว่างมากอย่าง ดาวหางเฮล-บอปป์ (Hale–Bopp) และ ดาวหางไอซอน (ISON) เท่านั้น และจากการศึกษาในย่านรังสีอินฟราเรดพบว่านิวเคลียสของดาวหาง มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 กิโลเมตร มีขนาดใกล้เคียงกับดาวหางสว่างในอดีตอย่าง ดาวหางเฮียกูตาเกะ (Hyakutake) และดาวหางคาบสั้นอื่น ๆ อีกหลายดวง

ภาพดาวหางนีโอไวส์ที่ถูกบันทึกด้วย WISPR อุปกรณ์บนยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ (NASA’s Parker Solar Probe) หรือยานสำรวจดวงอาทิตย์ของนาซา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเพียงไม่กี่วัน (แสงที่ขาวด้านซ้ายคือแสงจากดวงอาทิตย์)
Credits: NASA/Johns Hopkins APL/Naval Research Lab/Parker Solar Probe/Brendan Gallagher

อยากดู NEOWISE ต้องทำอย่างไร

เพื่อให้ส่องดาวหางนีโอไวส์ ด้วยตัวเองไม่มีพลาด นาซาจึงแนะนำวิธีเตรียมพร้อมก่อนชม ดังนี้

  • หาสถานที่ที่ห่างไกลจากแสงไฟ และไม่มีสิ่งบดบังการมองท้องฟ้า
  • เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าให้มองหา กลุ่มดาวจระเข้หรือหมีใหญ่ (Big Dipper) ในท้องฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
  • ถ้ามีกล้องสองตาโปรดเตรียมเอาไว้ให้พร้อม เพราะแม้ดาวหาง NEOWISE สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ลักษณะของดาวจะดูมัว ๆ และมีหางลากออกมาเล็กน้อย ดังนั้นถ้าใช้กล้องสองตา จะช่วยให้เห็นความน่าตื่นตาของดาวหางนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

และในแต่ละคืน (อันที่จริงคืนนี้ก็มีแล้วนะ ลองดูได้เลย) ดาวหางจะขยับสูงขึ้นเหนือเส้นขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปเรื่อย ๆ อย่างในภาพข้างล่างนี้

NEOWISE Skywatching Chart
ภาพจาก Skychart แสดงให้เห็นถึงตำแหน่งของดาวหางนีโอไวส์ (C/2020 F3) หลังดวงอาทิตย์ตกดิน ตั้งแต่วันที่ 15 – 23 กรกฎาคม
Credits: NASA/JPL-Caltech

นอกจากนี้ นาซายังแจกเคล็ดลับการติดตามดูดาว และวิธีการถ่ายภาพดาวหางและดาวตก พวงท้ายด้วยคลิปวิธีหาดาวหางนีโอไวส์อีกด้วย

และโชคดีที่ช่วงนี้ยังเป็นช่วงคืนเดือนมืด มีแสงจันทร์รบกวนน้อย (วันที่ 21 กรกฎาคม ตรงกับเป็นคืนเดือนมืดไร้แสงจันทร์รบกวน ส่วนวันที่ 23 กรกฎาคม ตรงกับคืนดวงจันทร์ขึ้น 2 ค่ำ อาจมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย) จึงมีโอกาสเห็นดาวหางนี้ได้มาก

อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวไทยเรา อาจจะต้องลุ้นสักหน่อยเพราะอยู่ในช่วงฤดูฝนพอดี หากมีเมฆปกคลุมค่อนข้างหนาก็อาจจะอดชื่นชมความงามของดาวหางกันไป แต่ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะปรากฏการณ์ครั้งนี้มีนักดาราศาสตร์และช่างภาพทั่วโลกเฝ้าติดตามถ่ายภาพมาให้เราได้ชมกันอย่างแน่นอน

แต่ถ้าฟ้าเปิดได้เห็นด้วยตาตนเองยังไงมันก็คงจะดีกว่าเนอะ ก็หวังว่า ฝนที่มักจะตกในช่วงหัวค่ำนี้จะย้ายไปตกช่วงเวลาอื่นบ้าง จะได้เลิกรถติด และมีอาจจะได้ยลดาวหางกันสักที

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส