ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากความร้อนแรงของข่าวทางการเมืองบ้านเรา ที่ต่างประเทศเองก็ตื่นเต้นกับดาวเคราะห์น้อยที่จู่ ๆ โผล่มาใกล้โลกให้ตกใจเล่นเช่นกัน

16 สิงหาคม 2563 – ดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งเข้ามาเฉียดใกล้โลกด้วยระยะห่างประมาณ 2,950 กิโลเมตร และนั่นก็เป็นระยะที่ใกล้มาก มากจนบรรดานักติดตามดาวเคราะห์น้อย และบันทึกที่จัดทำโดยหอดูดาวซอร์มาโนที่อิตาลี (Sormano Astronomical Observatory) ยังเห็นพ้องต้องกันว่า มันใกล้มากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา 

ดาวเคราะห์น้อยล่องหนได้อย่างไร?

แม้ขนาดของดาวเคราะห์น้อยยังถือว่าไม่เป็นอันตรายหากมันพุ่งเข้ามาในโลก แต่ระยะห่างนั้นต่ำกว่าระยะวงโคจรของดาวเทียมอย่างน่าใจหาย (วงโคจรดาวเทียมค้างฟ้า มีระยะห่างจากพื้นโลก 36,000 กิโลเมตร ส่วนดาวเทียม Star link ของอีลอน มักส์ มีระยะโคจรอยู่ที่ 550 กิโลเมตรจากผิวโลก) และที่น่าเป็นกังวลกว่า คือ ไม่มีนักดาราศาสตร์คนใดตรวจพบเจอมันเลยจนกระทั่งมันเคลื่อนผ่านไปแล้ว!

แถมผู้ที่ค้นพบรายแรกกลับไม่ใช่นาซาเสียด้วย แต่เป็นหอดูดาวพาโลมาร์ (Palomar Observatory) ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยหอดูดาวพบดาวเคราะห์น้อยนี้หลังจากที่มันเคลื่อนที่ผ่านโลกไปแล้วถึงหกชั่วโมง 

พอล โชดาส (Paul Chodas) ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามวัตถุใกล้โลกของนาซา (NASA’s Center for Near Earth Object Studies) กล่าวว่า “ดาวเคราะน้อยที่เข้ามาใกล้นี้ มีทิศทางเคลื่อนเข้ามาจากดวงอาทิตย์ จึงทำให้เรามองไม่เห็นว่ามันกำลังพุ่งเข้ามา” และยืนยันว่าการเข้าใกล้ของดาวเคราะห์น้อยนี้เป็นการเข้าใกล้โลกที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมาจริง

ดาวเคราะห์น้อย และอันตรายของมัน

เบื้องต้นดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกนี้มีชื่อเรียกว่า ‘ZTF0DxQ’ ต่อมา จึงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘2020 QG’ นาซาประเมินว่ามันมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-18 ฟุต นั่นทำให้มีขนาดประมาณ Tesla Model 3 หรือ รถยนต์สักคันหนึ่ง และจากแบบจำลองเร่งความเร็ว แสดงให้เห็นเส้นทางการเดินทางของมัน ขณะที่ขับเคลื่อนด้วยความเร็วประมาณ 12.4 กิโลเมตรต่อวินาที หรือประมาณ 44,417 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

โทนี ดันน์ (Tony Dunn) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ orbitsimulator.com ได้ทวิตแบบจำลองแสดงทิศทางและความเร็วในการเคลื่อนที่ของ  2020 QG 

การสังเกตการณ์เบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า หินก้อนนี้เคลื่อนผ่านซีกโลกใต้ หลังเวลาตี 4 ตามเวลา ET หรือเวลาประมาณบ่าย 3 ในไทยของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยมันเคลื่อนผ่านเหนือมหาสมุทรใต้ใกล้แอนตาร์กติกา อย่างไรก็ตาม ศูนย์ติดตามดาวเคราะห์น้อยของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union’s Minor Planet Center) คำนวณวิถีการโคจรที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่าดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนผ่านน่านฟ้ามหาสมุทรแปซิฟิก ที่อยู่ห่างออกไปทางตะวันออกของออสเตรเลียหลายร้อยไมล์

แผนภาพของดาวเคราะห์น้อย 2020 QG ที่เข้าใกล้โลกในวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ลูกศรสีเหลืองแสดงทิศทางของดวงอาทิตย์ เส้นสีน้ำเงินแสดงทิศทางของโลก และช่องสีเขียวจะแสดงตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยทุกๆ 30 นาที
Credit: ศูนย์ติดตามดาวเคราะห์น้อยของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล

และด้วยขนาดของมัน แม้ดาวเคราะห์น้อยนี้มีองค์ประกอบเป็นเหล็ก (ซึ่งเป็นความแข็งแกร่งขั้นสุดที่ดาวเคราะห์น้อยมี แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นหินมากกว่า) มันก็ไม่อาจทำอันตรายต่อโลกได้ เพราะโลกมีชั้นบรรยากาศปกคลุม ซึ่งจะช่วยเผาไหม้มัน หรือทำให้มันระเบิดออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยก่อนตกลงสู่พื้นโลก 

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

การเฝ้าระวังภัย กับการสอดส่องตรวจหาดาวเคราะห์น้อยในปัจจุบัน 

แม้จะไม่เป็นอันตราย แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เราตระหนักว่า นาซาเองก็ยังรู้เพียงเศษเสี้ยวของวัตถุใกล้โลก (Near-Earth objects: NEO) ที่เข้ามา วัตถุเหล่านี้หลายชิ้นยังคงเล็ดรอดไม่อาจมองเห็นได้ด้วยนานากล้องโทรทรรศน์สุดทันสมัย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาจมีดาวเคราะห์น้อยอีกหลายดวงแอบอาศัยช่องว่างของระบบตรวจจับเข้ามาใกล้โลกของเราก็ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง มันก็อาจเป็นอันตรายต่อผู้คนบนโลกได้

นาซาเริ่มโครงการสำรวจท้องฟ้า เพื่อป้องกันภัยคุกคามดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 อย่างไรก็ตาม มีการติดตามหินอวกาศเหล่านี้เฉพาะก้อนที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 460 ฟุต (140 เมตร) ขึ้นไปเท่านั้น โดยนาซาคาดว่าน่าจะมีวัตถุขนาดเหล่านั้นที่เข้าใกล้โลกราวๆ 25,000 ชิ้น แต่ในปีที่แล้ว นาซาก็ได้ออกมาแถลงว่า พบวัตถุใกล้โลกในจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของที่ประมาณการณ์ไว้ ซึ่งนั่นไม่รวมดาวเคราะห์ดวงน้อย ๆ อย่างดวงที่ตกลงที่เชเลียบินสค์ และ 2019 OK ที่สร้างความแตกตื่นให้คนบนโลกด้วยซ้ำ

“เมื่อดาวเคราะห์น้อยพุ่งเข้ามาจากทิศที่มีดวงอาทิตย์อยู่ เราก็ทำอะไรได้ไม่มากนัก เนื่องจากเราใช้กล้องโทรทรรศน์ที่สังเกตการณ์ในช่วงคลื่นที่ตามองเห็น (Optical telescopes) และสามารถค้นหาพวกมันได้ในยามค่ำคืนเท่านั้น ดังนั้น เราจึงมีแนวคิดว่า ต้องค้นพบพวกมันก่อนที่มันจะเคลื่อนเข้ามาใกล้โลก และใช้การคำนวณล่วงหน้าหลายปี เพื่อดูว่าดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้นมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อโลกหรือไม่” โชดาสกล่าว 

กล้อง ZTF (Zwicky Transient Facility) หนึ่งในกล้องโทรทรรศน์สำหรับสังเกตการณ์ติดตามวัตถุเข้าใกล้โลก
ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์แบบออพติคอล
Credit: https://www.ztf.caltech.edu/

นาซามีแผนแก้ไขช่องว่างเหล่านี้ ด้วยการพัฒนากล้องโทรทรรศน์อวกาศที่สามารถตรวจจับดาวเคราะห์น้อยและดาวหางที่มาจากทิศทางของดวงอาทิตย์ในโครงการที่ชื่อว่า ‘Near-Earth Object Surveillance Mission’ หรือ ‘ภารกิจเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลก’ ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงต้นของโครงการ โดยนาซาได้จัดสรรงบประมาณปีนี้ให้กับโครงการดังกล่าว เป็นมูลค่าเกือบ 36 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 112 ล้านบาท) สำหรับกล้องโทรทรรศน์นั้นเรียกว่าภารกิจเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลก หากการทุ่มงบและพัฒนาเป็นไปด้วยดี คาดว่าเราอาจจะได้เห็นกล้องโทรทรรศน์ใหม่นี้ในปี พ.ศ. 2568

เราคงต้องรอดูรอลุ้นกันต่อไปว่า ระหว่างการใช้งานได้จริงของกล้องโทรทรรศน์รุ่นใหม่ที่ใช้ตรวจจับดาวเคราะห์น้อย และการมาเยือนของดาวเคราะห์น้อย อะไรจะทำให้เราตื่นเต้นได้ก่อนกัน 

อ้างอิง

Scmp.com

Forbes.com

Businessinsider.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส