ก่อนจะสิ้นสุดปี 2020 ปีที่มีเรื่องราวหลากหลาย ก็ยังมีอีกหนึ่งปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าตื่นเต้นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ให้เราได้ติดตามส่งท้ายปี นั่นก็คือ ปรากฏการณ์ ‘ดาวพฤหัสบดี’ เคียง ‘ดาวเสาร์’ ซึ่งใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี เลยทีเดียว
ปรากฏการณ์ ‘ดาวพฤหัสบดี’ เคียง ‘ดาวเสาร์’ นี้มีอีกชื่อเรียกหนึ่งคือ ‘The Great Conjunction 2020’ จะเกิดในช่วงวันที่ 20 – 23 ธันวาคม 2563 นี้ โดยดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์จะปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าห่างเพียง 0.1 องศาเท่านั้น (1 องศาคือระยะห่างประมาณใช้แขนเหยียดชูนิ้วก้อยขึ้นไปบนท้องฟ้า) ใกล้กันชนิดที่ว่า หากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเสมือนเป็นจุดสว่างเพียงจุดเดียว และหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 200 เท่า จะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่ในช่องมองภาพเดียวกันเลย
โดยปกติแล้ว ปรากฏการณ์ ‘ดาวพฤหัสบดี’ เคียง ‘ดาวเสาร์’ จะเกิดขึ้นทุก ๆ 20 ปี แต่สำหรับครั้งนี้นับว่าเข้าใกล้มาก ๆ กว่าครั้งใด ๆ ในรอบ 397 ปี และหากจะชมปรากฏการณ์ที่มีระยะเข้าใกล้แบบเดียวกันนี้ต้องรอไปอีก 60 ปีเลยทีเดียว
สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการสังเกตการณ์ในวันที่ 20 – 23 ธันวาคมนี้ เริ่มตั้งแต่ช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์จะปรากฏสว่างเด่นเคียงคู่กันทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนูและกลุ่มดาวเเพะทะเล มีเวลาสังเกตการณ์ประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนที่ดาวเคราะห์ทั้ง 2 จะลับขอบฟ้าไป ใครสนใจก็อย่าลืมมองท้องฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวกัน สามารถมองเห็นได้ทั่วประเทศ (ถ้าฟ้าไม่ปิดละนะ)
แต่ถ้าใครรู้สึกว่าดูคนเดียวไม่ตื่นเต้น หรือกลัวไปส่องผิดดาวเข้า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT เขาก็มีจัดกิจกรรม สังเกตการณ์ปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์” ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี หรือ “The Great Conjunction 2020” ระหว่างวันที่ 19 – 23 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 18:00 – 22:00 น. โดยชวนชมผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่
- เชียงใหม่ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทร. 081-8854353
- นครราชสีมา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา โทร. 044-216254
- ฉะเชิงเทรา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา โทร. 084-0882264
- สงขลา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา โทร. 095-1450411
นอกจากนี้ NARIT ยังร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายดาราศาสตร์ที่ได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์ ในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์อีก 460 แห่งทั่วประเทศ
กิจกรรมทุกที่สามารถเข้าไปแจมได้ฟรี ใครสนใจลองสอบถามตามหมายเลขโทรศัพท์ หรือจะกดเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่ เลย
อ้างอิง
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส