หลังจากที่ยานสำรวจ Mars 2020 Perseverance ของนาซา จอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามเวลาในประเทศไทย วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ Jet Propulsion Laboratory (JPL) ก็ยังคงทำงานต่ออย่างขะมักเขม้น รอการส่งสัญญาณครั้งต่อไปจากยาน เมื่อข้อมูลจากยานอวกาศลำอื่น ๆ ที่โคจรรอบดาวอังคารหลั่งไหลเข้ามา ทีมปฏิบัติการต่างรู้สึกโล่งใจที่เห็นว่าทุกอย่างทำงานได้ตามคาด

แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นสุด ๆ คือการได้เห็น ‘ภาพความละเอียดสูง’ ที่ถ่ายระหว่างการลงจอดของรถสำรวจ คือในอดีตยานสำรวจ Curiosity ส่งภาพแบบสต็อปโมชันกลับมา แต่กล้องของ Perseverance ถูกออกแบบให้จับภาพวิดีโอขณะลงจอด และแคปภาพนิ่งจากฟุตเทจนั้นอีกที 

ภาพนิ่งความละเอียดสูงที่น่าทึ่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวิดีโอที่ถ่ายโดยกล้องหลายตัวขณะที่ยานสำรวจ Perseverance ลงจอดบนดาวอังคารเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 (หรือ 19 กุมภาพันธ์ ตามเวลาในประเทศไทย)
Credits: NASA/JPL-Caltech

กล้องส่วนใหญ่ของ Perseverance ต่างจากรถสำรวจในอดีต ตรงที่มันสามารถบันทึกภาพเป็นภาพสี หลังจากลงจอด กล้องฮาซาร์ด (Hazcams) สองตัว ได้จับภาพมุมมองจากด้านหน้าและด้านหลังของรถสำรวจ แสดงให้เห็นล้อข้างหนึ่งที่อยู่จมอยู่ในฝุ่นบนดาวอังคาร 

ภาพความละเอียดสูงแสดงให้เห็นล้อหกล้อของยานสำรวจ Perseverance 
Credit: NASA/JPL-Caltech
ภาพสีที่มีความละเอียดสูงภาพแรกที่กล้องฮาซาร์ด (Hazcams) ถ่ายไปยังทิวทัศน์บนดาวอังคาร 
Credit: NASA/JPL-Caltech

ขณะเดียวกันบนท้องฟ้าดาวอังคาร ยานโคจร Reconnaissance ที่ติดตั้งกล้อง High Resolution Imaging Experiment (HiRISE) ก็จับภาพยาน Perseverance ขณะร่อนลงจอดในหลุดอุกกาบาตเจเซโร (Jezero Crater) ที่มีร่มชูชีพกางอยู่เอาไว้ได้ 

กล้อง HiRISE อยู่ห่างจาก Perseverance ประมาณ 435 ไมล์ (700 กิโลเมตร) และเดินทางด้วยความเร็ว 6750 ไมล์ต่อชั่วโมง (3 กิโลเมตรต่อวินาที) ในขณะที่ถ่ายภาพ ระยะทางที่ห่างไกลและความเร็วอย่างยิ่งของยานอวกาศทั้งสอง ทำให้การบันทึกภาพนี้เป็นงานที่ท้าทาย ต้องใช้เวลาที่แม่นยำสุด ๆ และยานโคจร Reconnaissance ยังต้องเคลื่อนสูงขึ้นและหมุนไปทางซ้ายสุดทางเพื่อให้กล้อง HiRISE บันทึกภาพเช่นนี้ได้

ภาพมุมสูงจากกล้อง HiRISE บนยาน Reconnaissance
Credit: NASA/JPL-Caltech/University of Arizona

นอกจากนี้ บนยาน Perseverance ยังมีกล้องนำทาง (Navigation Cameras: Navcams) ที่จะใช้ขณะขับเคลื่อนร่วมกับกล้องทางวิทยาศาสตร์อีก 2 ตัว คือ กล้อง Mastcam-Z ที่ซูมได้และอุปกรณ์เลเซอร์ที่เรียกว่า SuperCam โดยมีกำหนดทำงานร่วมกันเป็นครั้งแรกในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ หลังจากที่กล้องนำทางบันทึกภาพพาโนรามาและรอบรถสำรวจเสร็จสิ้น

ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า วิศวกรจะตรวจสอบข้อมูลระบบของรถสำรวจ อัปเดตซอฟต์แวร์ และเริ่มทดสอบเครื่องมือต่าง ๆ และในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป จะมีการทดสอบแขนหุ่นยนต์ และทดลองขับเคลื่อนเป็นครั้งแรก 

จากนั้น น่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งหรือสองเดือน กว่า Perseverance จะพบพื้นที่ที่ราบเรียบพอ ที่จะทำการทดสอบการบินของเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็ก ‘Ingenuity’ เฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กที่ติดอยู่ใต้ยานสำรวจ หลังจากนั้นจึงค่อยเข้าสู่ภารกิจสำรวจทางวิทยาศาสตร์และค้นหาตัวอย่างหินและดินดาวอังคาร ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่มีเป้าหมายค้นหาสิ่งมีชิวิตบนดาวอังคารต่อไป (อ่านรายละเอียด รวมนานาสาเหตุที่ไม่ควรพลาดชม ‘Perseverance ลงจอดบนดาวอังคาร’ ได้ที่นี่)

อ้างอิง

NASA1 / NASA2/ NASA3/ NASA4

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส