จากที่ถูกมองว่าเป็นแอปลิปซิงค์เต้นสนุก ๆ ตามเทรนด์ ตอนนี้ TikTok พิสูจน์ตัวเองได้ไกลกว่านั้นมากและกลายเป็นผู้นำเทรนด์ในโลกโซเชียลมีเดียที่ใคร ๆ ก็เริ่ม ‘ลอกการบ้าน’ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือยูทูบ
เริ่มต้นในประเทศจีนโดยใช้ชื่อ Douyin ในปี 2016 โดยบริษัท ByteDance และได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนกระทั่งมาเข้า iOS และ Android โดยใช้ชื่อว่า TikTok ในปีถัดมา ตอนนี้ผ่านมา 5 ปี มีผู้ใช้งานเกิน 1.000 ล้านคนและขยายไปแล้วกว่า 150 ประเทศทั่วโลก แอปถูกดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 3,000 ล้านครั้ง สร้างรายได้ในปี 2021 ถึง 4,600 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 142% โดยคาดการณ์ว่าภายในปีนี้จะมีผู้ใช้งานต่อเดือนสูงถึง 1,800 ล้านคน
ถึงตอนนี้เราเห็นแล้วว่า TikTok ไม่ใช่แค่แอปลิปซิงค์ร้องเพลงเพื่อความบันเทิงอีกต่อไป มันกลายเป็นโซเชียลมีเดียรูปแบบใหม่ที่มาท้าทายเจ้าใหญ่ ๆ ในตลาดอย่าง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และยูทูบ ได้อย่างน่าสนใจ มีสถิติบอกว่าตอนนี้จำนวนการใช้งานบน TikTok นั้นเฉลี่ยอยู่ที่ราว ๆ 19.6 ชั่วโมงต่อเดือน เทียบเท่ากับ Facebook ไปเรียบร้อย และเป็นรองแค่เพียง YouTube (23.7 ชั่วโมงต่อเดือน) เพียงที่เดียวเท่านั้น
ด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล TikTok กลายเป็นแอปพลิเคชันที่อยู่ในกระแสมาโดยตลอดในช่วงหลัง ทั้งในด้านที่ดีและแน่นอน… เรื่องแย่ ๆ ก็ไม่น้อยเช่นกัน
กลุ่มผู้ใช้งานหลักของโซเชียลมีเดียแห่งนี้คือกลุ่มเจนซี (Gen Z) เป็นหลัก อายุราว ๆ 13 – 24 ปี แต่แน่นอนว่านอกจากกรอบอายุตรงนี้ ผู้ใช้งานช่วงอายุอื่นก็ติดกันงอมแงมเช่นเดียวกัน ถึงขั้นมีข่าวจาก BBC ว่านักศึกษาในเวลส์หลายรายตัดสินใจลบแอปออกจากมือถือเพราะรู้สึกว่าตัวเองใช้งานมันมากเกินไป โดยเฉพาะในช่วงใกล้สอบ
หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วทำไมมันถึงได้เติบโตอย่างรวดเร็วขนาดนี้ ผู้ใช้งานได้อะไรจาก TikTok โดยหาจากที่อื่นไม่ได้อย่างนั้นเหรอ อย่างแรกเลยคือเครื่องมือตัดต่อและตกแต่งที่เอื้อให้ครีเอเตอร์สร้างคลิปวิดีโอป้อนเข้าแพลตฟอร์มอย่างง่ายดาย มันมีทางเลือกเยอะ เปิดโอกาสให้คนที่อยากลองไอเดียใหม่ ๆ ไม่ว่าจะร้องเพลง เต้น หรือทำคลิปสั้น ๆ และที่สำคัญคือเรื่องของอัลกอริทึมที่ผลักดันวิดีโอให้ผู้ใช้งานคนอื่นได้เห็น โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดตามในบัญชีเหมือนอย่างโซเชียลมีเดียแบบดั้งเดิม
ด้วยอัลกอริทึมแบบที่เรียกว่า “Recommending Media” ทำให้ระบบได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสนใจของผู้ใช้งานแต่ละคนและเลือกวิดีโอมาให้ได้เหมาะสมกับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งใช้นาน ระบบยิ่งเรียนรู้ว่าเราชอบวิดีโอแบบไหน ซึ่งแตกต่างจะระบบเครือข่ายแบบก่อนอย่างบนเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม ที่คอนเทนต์จะไวรัลรึเปล่า โอกาสก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดตามของเพจนั้น ๆ เป็นหลัก ยิ่งมีคนติดตามมาก มันก็ยิ่งได้รับความสนใจมาก แต่สำหรับ TikTok ถ้ามันได้รับความนิยม วิดีโอจะถูกดันให้ไวรัลได้เลยไม่ต้องมีผู้ติดตามมากก็ได้
เพราะแบบนี้ทั้งคนที่เป็นครีเอเตอร์และผู้ใช้งานต่างก็ชื่นชอบระบบแบบนี้กันทั้งสิ้น แถมยังทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มอื่นโดยกดแชร์ไปให้เพื่อน (ไม่ว่าจะอยู่บนโซเชียลมีเดียไหน) ก็สามารถรับชมได้ง่ายเช่นกัน
ในบทความของเว็บไซต์ FoxNews พูดถึงงานหนึ่งในงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามศึกษาผลกระทบของ TikTok ต่อสมองของผู้ใช้งาน เพื่อให้เข้าใจว่ามันมีอิทธิพลต่อสมองมากขนาดไหน สิ่งที่พบหลังจากการสแกน MRI เห็นว่าสมองของผู้เข้าร่วมการทดลองถูกกระตุ้นอย่างมากในส่วนการเสพติดเมื่อดูวิดีโอแบบที่ถูกเลือกมาให้แก่คนคนนั้นโดยเฉพาะ (Personalized Videos)
“สมองจะหลั่งสารสื่อประสาทโดปามีนออกมาเมื่อคาดว่าจะได้รับรางวัล ดังนั้นโดปามีนที่พุ่งพล่านทำให้เรากระหายมากขึ้น – จากอาหารมื้ออร่อย ยาเสพติด หรือวิดีโอไวรัลจาก TikTok”
อัลกอริทึมแบบนี้เองที่ทำให้ TikTok กลายเป็นผู้นำเทรนด์ของโซเชียลมีเดียยุคใหม่ การนำเสนอคอนเทนต์ที่น่าสนใจ เป็นวิดีโอสั้น ๆ เพียงอย่างเดียว ทำให้ผู้ใช้สามารถดูได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยผลักดันวิดีโอที่สนุกจากครีเอเตอร์ที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้ติดตามมากมาย สร้างกำลังใจในการทำคอนเทนต์ดี ๆ เข้าสู่แพลตฟอร์ม ถึงขั้นที่ว่าเจ้าตลาดอย่างเฟซบุ๊กเองยังต้องพยายามไล่ตามและสร้างฟีเจอร์ที่คล้ายกับ TikTok ของตัวเอง (ชื่อว่า Reels) ออกมาสู้ด้วย
อย่างไรก็ตามการรับเอาแรงบันดาลใจจากคู่แข่งมาสร้างเป็นฟีเจอร์ของตัวเอง ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับเฟซบุ๊กเท่านั้น ในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงแทบตลอดเวลาและคู่แข่งมีการพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ ตัว TikTok เองก็มีการปรับตัวอยู่เสมอ อย่างล่าสุดในรายงานของ TechCrunch บอกว่าตอนนี้มีฟีเจอร์ใหม่ของ TikTok ที่เรียกว่า TikTok Now ซึ่งเป็นการส่งแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้งานแบบสุ่มเวลาเพื่อให้ลงรูปหรือวิดีโอสั้นในจังหวะนั้น ๆ เพื่อแชร์กับเพื่อน ถ้าใครเคยใช้แอปพลิเคชัน BeReal ซึ่งกำลังเป็นกระแสโด่งดังบนโลกออนไลน์อยู่ตอนนี้จะทราบดีว่า TikTok ได้รับแรงบันดาลใจจาก BeReal นั่นแหละ
นอกจากนั้นแล้ว TikTok ยังกลายเป็นพื้นที่สำหรับสร้างรายได้ของธุรกิจ สื่อ และอินฟลูเอนเซอร์มากมายไปเรียบร้อยแล้ว เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป แบรนด์สามารถโฆษณาโดยตรงบน TikTok ก็ได้ หรือจ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงมาสร้างคอนเทนต์วิดีโอแบบสั้น ๆ ก็ได้ บางคนเป็นครีเอเตอร์ก็สามารถหาเงินจากโครงการ TikTok Creator Fund (ตอนนี้ยังไม่มีในเมืองไทย) ที่แพลตฟอร์มจะแบ่งรายได้ให้ผู้สร้างวิดีโอตามจำนวนยอดวิวตามเงื่อนไขที่บริษัทได้ตั้งเอาไว้ แม้จะไม่ได้มากเท่ากับ YouTube ในระดับจำนวนวิวที่เท่ากัน แต่ก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนของครีเอเตอร์ที่ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
ตอนนี้ TikTok ขยายตัวเองเข้าสู่อุตสาหกรรมอื่นอย่างสตรีมมิ่งเพลงและช้อปปิ้งออนไลน์ด้วย เราสามารถกดซื้อของโดยตรงได้จากภายในแอปของ TikTok เลย สมมติกำลังดูวิดีโอรีวิวอะไรสักอย่างอยู่แล้วคนที่สร้างแปะลิงก์เอาไว้ ก็สามารถกดเข้าไปซื้อแล้วจ่ายเงินได้ไม่ต่างจาก Shopee หรือ Lazada เลย แถมยังมีสิ่งที่เรียกว่า TikTok Creator Marketplace ที่เป็นพื้นที่สำหรับให้คนที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์มาโพสต์โปรไฟล์และผลงานของตัวเองเอาไว้ เมื่อแบรนด์อยากหาคนมาขายของให้ก็สามารถเข้ามาตรงนี้แล้วค้นหาคนที่เหมาะสมแล้วจ้างงานในนี้ได้เลย
ความน่าสนใจของ TikTok คือการปรับตัวและเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ เข้ามาในระบบอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการเติบโตของผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลแถมยังพยายามหาช่องทางสร้างรายได้ให้คนที่เป็นครีเอเตอร์เพื่อดึงดูดให้สร้างคอนเทนต์ป้อนสู่แพลตฟอร์มตลอดเวลา พวกเขาทราบดีว่าครีเอเตอร์เก่ง ๆ นั้นสามารถดึงดูดผู้ใช้งานได้เป็นจำนวนมาก และการจะให้คนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบก็ต้องมอบรายได้ที่เหมาะสมกลับคืนไปด้วย นี่คือเรื่องหนึ่งที่โซเชียลมีเดียเจ้าอื่น ๆ ต้องรีบปรับตัวตามให้ทัน เพราะ TikTok ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของโซเชียลมีเดียที่เราคุ้นเคยไปแล้ว ไม่ว่าเราจะต้องการหรือไม่ก็ตาม
อ้างอิง
Entrepreneurial Mag Business of Apps
BBC Beartai 1 Beartai 2 TechCrunch
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส