ช่วงนี้เราจะเห็นกระแส ‘Y2K’ บนหน้าสื่อต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะในฝั่งแฟชั่นและเทรนด์ที่หยิบมาพูดถึงกันเยอะมาก ซึ่งอธิบายง่าย ๆ ก็เป็นแฟชั่นย้อนยุคไปในช่วงปี 2000 ซึ่งคำว่า Y2K ก็มาจาก ‘Year 2000’ ซึ่งตัว K ก็เป็นหลักพันนั่นเอง

แต่สำหรับคนที่อยู่ในช่วงวัยกลางคน กลุ่มต้น ๆ Gen Y ไปจน Baby Boomer จะพอทราบกันดีว่าครั้งหนึ่ง Y2K เป็นปัญหาที่ใหญ่เรียกว่าระดับโลกเลย รัฐบาลหลายต่อหลายแห่งต้องปวดหัวและทุ่มเงินมหาศาลเพื่อจะแก้ไขปัญหาที่เรียกว่า ‘Y2K Bug’ จนหลายคนคิดว่านี่อาจจะเป็นวันสิ้นโลก ขีปนาวุธจะถูกยิงขึ้นฟ้าอย่างควบคุมไม่ได้ และคอมพิวเตอร์ทั่วโลกจะรวนจนระบบขนส่ง ธนาคาร โครงสร้างของประเทศล่มสลาย เรียกว่าแตกตื่นกันถึงขนาดที่ว่าคนสร้างหลุมหลบภัยและตุนอาหารไว้เพื่อเอาชีวิตรอดหลังหายนะเกิดขึ้นกันเลยทีเดียว

Y2K Bug เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างปี 1999 ไปยังปี 2000 มีสาเหตุจากข้อจำกัดในการแสดงตัวเลขปีบนคอมพิวเตอร์ในยุคนั้นที่แสดงได้เพียง 2 หลักสุดท้าย ทำให้คอมพิวเตอร์เกิดความสับสนระหว่างปี 2000 และ 1900 นำไปสู่ความผิดพลาดในระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ ระบบจะทำงานผิดพลาด สั่งงานไม่ตรง คำนวณเลขไม่ได้ เกิดหายนะแบบโดมิโน ทำให้หลายประเทศทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

บทความในนิตยสาร Vanity Fair ของเดือนมกราคม 1999 คาดการณ์เอาไว้ว่า

“เที่ยงคืนของวันที่ 1 มกราคม 2000 . . ไฟฟ้าในบางเมืองจะไม่ทำงาน . .. ห้องนิรภัยของธนาคารและประตูคุกเปิดออก . . . โรงพยาบาลจะปิดตัวลง . . . นานาประเทศจะเกิดการจลาจลและการปฏิวัติ . . . ไม่มีใครจะรู้ขอบเขตของผลที่ตามมาจนกว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือเครื่องจักรมหัศจรรย์ที่ควบคุมและทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นนั้นไม่รู้ว่าต้องทำอะไรเลย”

แต่เมื่อเวลานั้นมาถึงจริง ๆ กลับแทบไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ทุกอย่างดำเนินต่อไปเหมือนทุกคืนที่ผ่านมา หลังจากเตรียมการอย่างหนักและความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นในคืนข้ามปี 1999 หรือคืนข้ามศตวรรษ พอมาถึงเช้าวันที่ 1 มกราคม 2000 ก็เป็นวันปีใหม่ที่เหมือนกับวันปีใหม่ทุกปีที่สงบสุขและประชาชนทั่วโลกก็ชีวิตกันไปตามปกติ

เรื่องราวนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าเราเข้าใจเกี่ยวกับความแข็งแกร่งหรือความเปราะบางของเครือข่ายข้อมูลอันกว้างใหญ่ของเราน้อยแค่ไหน และยิ่งเข้าใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตน้อยมาก ๆ ด้วย

ย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ ทุกอย่างเกิดขึ้นในช่วงยุคเริ่มต้นของคอมพิวเตอร์ เมื่อข้อมูลถูกจัดเก็บโดยการเจาะรูในกระดาษการ์ดขนาด 3 x 7 นิ้ว กองกระดาษเหล่านี้ถูกป้อนเข้าไปในเครื่องเพื่อทำการคำนวณแต่ละรายการ หน่วยความจำมีราคาแพง และใช้พื้นที่เยอะมาก—คอมพิวเตอร์รุ่นแรกๆ บางเครื่องขนาดใหญ่เท่าห้องทั้งห้องเลย—ซึ่งข้อมูลที่บันทึกจะถูกลดทอนให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จำนวนปีจึงถูกบันทึกเป็นตัวเลขสองหลัก (แทนที่จะเป็นสี่หลัก) และพอเริ่มต้นด้วยวิธีนี้ มันก็กลายเป็นวิธีนี้มาโดยตลอดนั่นเอง

พอมาถึงช่วงปี 1984 ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งทำงานให้กับบริษัทประกันภัยในรัฐอิลลินอยส์ป้อนวันครบกำหนดชำระรายปีในคอมพิวเตอร์ โดยวันที่ใส่เป็นช่วงต้นยุค 2000 คอมพิวเตอร์เข้าใจผิดว่าข้อมูลเป็นปีก่อนหน้านี้หนึ่งศตวรรษ (1900) มันกลายเป็นเรื่องที่ปั่นป่วนเลยทีเดียว เธอและสามีจึงเขียนหนังสือชื่อ วิกฤติคอมพิวเตอร์ : วิธีหลีกเลี่ยงการล่มสลายของระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลกที่กำลังจะมาถึง (Computers in Crisis: How to Avert the Coming Wordwide Computer Systems Collapse) ซึ่งก็ไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไหร่หรอก

จนกระทั่งช่วงปลายทศวรรษ 1980 คนในองค์กร Social Security Administration ของรัฐก็เริ่มพบว่าไม่สามารถคำนวณตัวเลขหลังจากปี 2000 ได้เช่นกัน ในปี 1994 พวกเขาก็เริ่มแก้ไขโค้ดคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดหลายล้านบรรทัดเพื่อพยายามแก้ไขปัญหาตรงนี้ กระทรวงกลาโหมก็เจอปัญหาคล้ายกันและเริ่มโครงการแก้ไขปัญหาเหมือนกัน เจ้าหน้าที่กลาโหมอาวุโสคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ถ้าเราสร้างบ้านด้วยวิธีที่เราสร้างซอฟต์แวร์ นกหัวขวานตัวแรกที่เข้ามาเจาะ ก็คงทำลายอารยธรรมลงได้เลย [เพราะมันเปราะบางมาก]”

สถานการณ์เริ่มตึงเครียดและเป็นที่พูดถึงอย่างมากในหน้าสื่อ ช่วงครึ่งหลังของยุค 90’s ความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้เริ่มแพร่ระบาดมากขึ้น สภาคองเกรสเริ่มตรวจสอบและในที่สุดในปี 1998 ก็มีกฎหมายออกมา ประธานาธิบดี บิล คลินตัน (Bill Clinton) ได้ลงนามในคำสั่งบริหารเพื่อจัดตั้งฝ่าย “Council on Year 2000 Conversion” เพื่อมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ในตอนนั้นธุรกิจน้อยใหญ่ไม่เพียงแค่ตื่นตระหนกเท่านั้น แต่ยังลงทุนอย่างจริงจังในมาตรการป้องกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย ยกตัวอย่างบริษัทเครือข่ายโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่าง AT&T ใช้เงินถึง 500 ล้านเหรียญต่อปีเพื่อเตรียมพร้อมในช่วงปลายยุค 90’s

นอกจากเรื่องเทคโนโลยีและความตื่นตระหนกการเศรษฐกิจแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกันคือกระแสวันสิ้นโลกเกิดจากการมาบรรจบพอดีกับการครบรอบสองพันปีของการประสูติของพระเยซู หลายคนก็มีความเชื่อว่านี้เป็นหมุดหมายที่แสดงให้เห็นว่าวันสิ้นโลกกำลังจะเกิดขึ้น มีผู้นำทางศาสนาหลายคนแพร่กระจายข่าวลือต่าง ๆ นานา ถึงขั้นทำวิดีโอแนะนำวิธีการเอาตัวรอดออกมาขายบน Amazon ชื่อว่า ‘A Christian’s Guide to the Millennium Bug’ เลยทีเดียว (ม้วนละเกือบพันบาท)

มีการคาดการณ์ไปต่าง ๆ นานาถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น ธนาคารที่คำนวณอัตราดอกเบี้ยของลูกค้าจะมีการคำนวณผิดพลาด เมื่อวันที่เปลี่ยนจาก 31 ธันวาคม 1999 ไปเป็น 1 มกราคม 2000 แทนที่จะเป็นการคิดดอกเบี้ยแค่หนึ่งวัน กลายเป็นคิดดอกเบี้ย ‘ติดลบ’ ไป 100 ปี

ศูนย์กลางของเทคโนโลยี อย่างเช่น โรงไฟฟ้าก็มีปัญหาไม่น้อย คอมพิวเตอร์ถูกใช้เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย เช่น แรงดันน้ำหรือระดับรังสี การไม่มีวันที่ที่ถูกต้องจะทำให้การคำนวณเหล่านี้ผิดพลาดและอาจทำให้ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงตกอยู่ในความเสี่ยงด้วย

ไหนจะเป็นระบบขนส่งที่ขึ้นอยู่กับวันและเวลาที่ถูกต้องอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายการบินตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างมาก เนื่องจากคอมพิวเตอร์ที่มีบันทึกเที่ยวบินตามกำหนดทั้งหมดมีโอกาสจะทำงานผิดพลาด การสื่อสารระหว่างเครื่องบินกับสนามบินก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

เรียกว่า “โกลาหลได้อย่างเต็มรูปแบบ”

Y2K เป็นทั้งปัญหาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์หมายถึงโปรแกรมที่ใช้บอกคอมพิวเตอร์ว่าต้องทำอะไร ฮาร์ดแวร์คือเครื่องคอมพิวเตอร์นั่นแหละ บริษัทซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ต่างร่วมมือกันเร่งแก้ไขข้อบกพร่องและสร้างโปรแกรมที่ “เป็นไปตามมาตรฐาน Y2K” (Y2K Compliant) เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างทำงานด้วยกันได้ วิธีที่ง่ายที่สุดคือวิธีที่ดีที่สุดนั่นก็คือการวันที่ถูกขยายเป็นตัวเลขสี่หลัก รัฐบาลโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรต่างก็ร่วมมือกันทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาตรงนี้

แต่ก็ไม่ใช่ทุกรัฐบาลที่ใส่ใจปัญหาตรงนี้ เราเห็นอเมริกา อังกฤษ และอีกหลายประเทศอย่างออสเตรเลียก็ลงทุนหลายล้านเหรียญเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ Y2K แต่อย่างรัสเซียกลับแทบไม่ทำอะไรเลย ออสเตรเลียถึงขั้นเรียกเจ้าหน้าที่สถานทูตกลับมาเกือบทั้งหมดจากรัสเซียก่อนวันที่ 1 มกราคม 2000 เนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเครือข่ายการสื่อสารหรือการขนส่งขัดข้อง

แต่สุดท้ายเมื่อวันนั้นมาถึงจริง ๆ ก็แทบจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเลย โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ในอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น มีอุปกรณ์ฉายรังสีบางส่วนขัดข้อง แต่อุปกรณ์สำรองทำให้มั่นใจว่าไม่มีภัยคุกคามต่อสาธารณะ สหรัฐฯ ตรวจพบการยิงขีปนาวุธในรัสเซียและระบุว่าเป็นข้อบกพร่องจาก Y2K แต่การยิงขีปนาวุธครั้งนั้นมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียในสาธารณรัฐเชชเนีย ซึ่งก็ไม่ใช่การทำงานที่ผิดพลาดของคอมพิวเตอร์

ประเทศต่างๆ เช่น อิตาลี รัสเซีย และเกาหลีใต้ แทบไม่ได้เตรียมการสำหรับ Y2K เลย และก็ไม่ได้มีปัญหาทางเทคโนโลยีมากไปกว่าประเทศที่เตรียมตัวหนัก ๆ อย่าง อเมริกาหรืออังกฤษ ที่ใช้เงินหลายล้านเหรียญเพื่อต่อสู้กับปัญหาตรงนี้

และถ้าย้อนกลับมาดูตอนนี้ก็เริ่มมีกระแสที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนให้ระวังหายนะควอนตัม (Quantum Apocalypse) ที่อาจจะร้ายแรงยิ่งกว่าวิกฤติ Y2K ที่ในอดีต โดยบอกว่าการที่เทคโนโลยีควอนตัม โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ควอนตัมเข้ามาในชีวิตประจำวัน อาจสร้างช่องว่างเชิงเทคโนโลยีของคนทั่วโลก รวมถึงยังอาจนำมาซึ่งภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วย

แน่นอนเราไม่รู้หรอกว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ แต่การเตรียมตัวให้พร้อมแล้วหายนะไม่เกิด โลกไม่แตกก็อาจจะดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แม้วิกฤติ Y2K หลังจากวันที่ 1 มกราคม 2000 เป็นต้นมา จะถูกมองว่าเป็นเรื่องตลกและมนุษย์ก็เป็นสัตว์ตื่นตูมชนิดหนึ่งเท่านั้นเองก็ตาม

ที่มา:

nationalgeographic Investorpedia
Amazon Beartai
Fastcompany Forbes

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส