คงไม่มีที่ไหนที่เหมาะสมกับการประกาศข่าวเกี่ยวกับซีอีโอคนใหม่ของทวิตเตอร์ไปมากกว่าบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์อีกแล้ว ซึ่งก็เหมือนหลาย ๆ อย่างที่อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ทำในช่วงหลังที่เริ่มต้นจากการทวีต หลังจากการเข้าซื้อทวิตเตอร์ในเดือนตุลาคม 2022 และดูแล (หรือเปล่า?) มาตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา เขาได้ประกาศในวันที่ 11 พฤษภาคม 2023 ว่า
“[ผม] ตื่นเต้นที่จะประกาศว่าได้ว่าจ้างซีอีโอคนใหม่ของ X/Twitter แล้ว”
ทวีตเดียว โลกโซเชียลมีเดียก็ตามมาด้วยพายุของการคาดเดาต่าง ๆ นานาว่าใครกันนะที่จะ “กล้า” เข้ามารับตำแหน่งงานเผือกร้อนที่เต็มไปด้วยปัญหาล้อมหน้าล้อมหลังไม่เว้นแต่ละวัน ใครกันนะที่มัสก์เลือกให้มากุมบังเหียนโซเชียลมีเดียแห่งนี้
หลังจากเวลาผ่านไปสักพักหนึ่งข่าวลือก็เริ่มมากองกันอยู่ที่ ลินดา ยัคคาริโน (Linda Yaccarino) ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมโฆษณา ได้รับการยกย่องจากผลงานตลอดศวรรษที่ผ่านมากับ NBCUniversal ของ Comcast แม้ในวันนั้นยัคคาริโนจะยังไม่ได้ออกมากล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ข่าวลือก็หนาหูขึ้นเรื่อย ๆ ว่าน่าจะเป็นเธอคนนี้แหละไม่ผิดแน่
เช้าวันต่อมาก็มีข่าวที่ชัดเจนมากขึ้นโดย ยัคคาริโน ลาออกจากตำแหน่งที่บริษัทเดิม และมัสก์ก็ประกาศอย่างเป็นทางการว่ายัคคาริโนจะเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอของบริษัท “ซึ่งจะโฟกัสหลัก ๆ ด้านธุรกิจ ส่วนผม [มัสก์] จะโฟกัสไปที่ดีไซน์และเทคโนโลยีใหม่”
วุ่นวายเหมาะกับตำแหน่งซีอีโอบริษัทของมัสก์ซะเหลือเกิน
นี่จะเป็นบททดสอบใหม่ของยัคคาริโนในโลกของสตาร์ทอัป ตลอดเวลาที่ผ่านมาเธออยู่ในวงการโฆษณาและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักการตลาดและเอเจนซีโฆษณาทั้งหลาย นอกจากนั้นยังดำรงตำแหน่งประธานบริหารของ World Economic Forum (สภาเศรษฐกิจโลก) ด้วย
สิ่งที่นักลงทุนของทวิตเตอร์คาดหวังก็คือว่ายัคคาริโนจะเข้ามาสร้างความมั่นคงและแก้ไขความสัมพันธ์อันสั่นคลอนกับบริษัทที่มาลงโฆษณา (ต้องยกเครดิตให้มัสก์) ที่เป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัท เพราะที่ผ่านมาแม้มัสก์จะพยายามแก้ไขเรื่องโครงสร้างบริษัท เพิ่มโมเดลธุรกิจการสร้างรายได้ ปลดพนักงานออกหลายพันตำแหน่ง แต่ก็ดูเหมือนว่าปัญหานี้ก็ยังไม่ได้ดีขึ้น นอกจากจะสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้งานแล้ว ยังสร้างความวุ่นวายภายในบริษัทกับพนักงานที่เหลืออยู่ด้วย
ถ้าย้อนกลับไปตอนที่มัสก์เข้าซื้อทวิตเตอร์ในเดือนตุลาคม แม้เขาพยายามโน้มน้าวบริษัทที่ลงโฆษณาว่าแพลตฟอร์มนี้จะยังมีการควบคุมขอบเขตของคอนเทนต์อยู่ (เพราะคนกลัวว่ามัสก์เปิดฟรีให้ใครพูดอะไรก็ได้แบบไม่มีเซนเซอร์หรือคัดกรอง) แต่บริษัทโฆษณาส่วนใหญ่และแบรนด์ต่าง ๆ ก็เลือกที่จะ ‘หยุด’ โฆษณาของตัวเองลง ทำให้รายได้ของบริษัทลดลงไปกว่า 50% จนทำให้มัสก์ออกมาแสดงความไม่พอใจกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก (ถึงขั้นโทรไปหาประธานบริษัทบางแห่งเพื่อต่อว่าที่หยุดโฆษณาด้วย)
ไบรอัน วีเซอร์ (Brian Wieser) อดีตผู้บริหาร WPP (บริษัทโฆษณาการตลาดใหญ่ที่สุดในโลก) และ นักวิเคราะห์สื่อที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้กล่าวว่า “ถ้าเธอเข้ามาแล้วสามารถบอกมัสก์ว่าต้องทำอะไรบ้าง และมัสก์ก็ปล่อยให้เธอทำ เงิน [ค่าโฆษณา] เกือบทั้งหมดจะกลับมา นั่นเป็นข้อพิสูจน์ว่าเธอได้รับการยกย่องในวงการนี้มากเพียงใด และความสัมพันธ์ของเธอกับสื่อนั้นดีแค่ไหน”
คนวงในโฆษณากล่าวว่าอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของยัคคาริโนในการฟื้นฟูธุรกิจของทวิตเตอร์ ไม่ใช่อะไรอย่างอื่นเลยแต่อาจจะเป็นตัวของมัสก์เองต่างหาก เพราะอย่างที่เรารู้ดีว่าเขามีวิธีบริหารงานและแนวคิดที่ค่อนข้างนอกกรอบไม่เหมือนคนอื่นสักเท่าไหร่ เดวิด โจนส์ (David Jones) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ The Brandtech Group และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทโฆษณา Havas กล่าวว่า
“ความท้าทายที่เธอ [ยัคคาริโน] ต้องเผชิญคืออีลอน”
ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ยัคคาริโนค่อย ๆ ไต่เต้าและสร้างผลงานที่ดีมาโดยตลอด บริหารทีมงานหลายพันคนในฐานะหัวหน้าฝ่ายโฆษณาของ NBCUniversal ที่ทำรายได้มากกว่า 10,000 ล้านเหรียญต่อปี (350,000 ล้านบาท) และเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดบริการสตรีมมิ่งของ Comcast ที่ชื่อว่า Peacock อีกด้วย การเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอของเธอจะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของทวิตเตอร์ให้ดูมีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ผ่านมามัสก์ตัดพนักงานออกไปแล้วกว่า 90% และตั้งอีเมลตอบกลับอัตโนมัติของบริษัทเป็นอีโมจิ ‘อุนจิ’ เวลานักข่าวเมลติดต่อมาที่บริษัท
คนที่รู้จักเธอจะบอกว่ายัคคาริโนเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบมาก สามารถช่วยพลิกโฉมธุรกิจโฆษณาของบริษัทอย่าง Meta ที่ตามหลังคู่แข่งรายใหญ่มานานในแง่ของรายได้ ทรัพยากร และความซับซ้อน หนึ่งในผู้บริหารฝ่ายโฆษณาที่อยู่ในวงการมานานบอกกับสื่อ Financial Time ว่า “ไม่มีใครไม่อยากประชุมกับลินดา ไม่ต้องถามเลย”
ประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามองคือความสัมพันธ์ของเธอกับสภาเศรษฐกิจโลกเพราะหลังจากที่ข่าวการจ้างงานถูกคอนเฟิร์ม เหล่าแฟนคลับของมัสก์ก็ออกมาแสดงความไม่พอใจเพราะไม่วางใจองค์กรการเมืองระหว่างประเทศแห่งนี้ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปช่วงเดือนมกราคม มัสก์เองก็ออกมาพูดถึงสภาเศรษฐกิจโลกว่ามันกำลัง “กลายเป็นรัฐบาลโลกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ” เพราะฉะนั้นคนที่ติดตามมัสก์เลยออกมาแสดงความกังวลว่าความสัมพันธ์ของยัคคาริโนกับสภาเศรษฐกิจโลกจะกดดันไม่ให้เขาสามารถพูดในสิ่งที่อยากพูดได้อีกต่อไป แต่มัสก์เองก็ออกมาทวีตตอบเรื่องนี้ว่า
“ความมุ่งมั่นต่อความโปร่งใสของโอเพนซอร์สและการยอมรับมุมมองที่หลากหลายยังคงไม่เปลี่ยนแปลง”
ความกังวลหนึ่งที่นักวิเคราะห์หลายคนชวนตั้งคำถามคือเรื่องอำนาจของยัคคาริโนว่าจะมีมากน้อยแค่ไหนระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ในเมื่อมัสก์ยังคงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นดูเหมือนว่าก็ยังจะเป็นคนตัดสินใจในหลาย ๆ ส่วนอยู่ เขาจะไปโฟกัสที่ด้านของผลิตภัณฑ์และวิศวกรรม ซึ่งเป็นความถนัดของเขา (แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงและอัปเดตผลิตภัณฑ์หลาย ๆ อย่างของทวิตเตอร์อย่าง Twitter Blue (ติ๊กฟ้า) ก็ไม่ได้รับความนิยมหรือเสียงตอบรับที่ดีนัก)
วีเซอร์ นักวิเคราะห์สื่อก็ออกมาเตือนว่าการมารับตำแหน่งซีอีโอของยัคคาริโนนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงมาก “ถ้าไม่ถูกเผาจนมอดไหม้ ก็งอกเงยอย่างงดงามไปเลย”
ที่มา:
Financial Time
Financial Time
Business Insider Variety
Twitter Twitter
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส