“Heart on My Sleeve” กลายเป็นเพลงหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ฟังผ่าน ๆ เสียงของนักร้องที่คุ้นหูอย่างเดรก (Drake) หรือ เดอะวีกเอนด์ (The Weeknd) ทำให้แฟนเพลงต่างหลงคิดไปว่ามันคงเป็นเพลงที่ศิลปินทั้งสองร่วมกันร้อง แต่ถ้าดูรายละเอียดกลับกลายเป็นว่านี่เป็นผลงานเพลงที่ใช้เสียงร้องโดย AI (Artificial Intelligence) ที่โคลนเสียงของเดรกและเดอะวีกเอนด์ มาร้องต่างหาก (สำหรับใครที่ยังไม่เคยฟังเพลง อยากให้หยุดอ่านบทความนี้แป๊บหนึ่งแล้วลองฟังก่อนได้ที่วิดีโอที่แปะด้านล่างนี้เลยครับ สนุกดี)

https://www.youtube.com/watch?v=7HZ2ie2ErFI

เพลงนี้ถูกโพสต์ออนไลน์ โดยโปรดิวเซอร์นิรนามที่ใช้ชื่อว่า Ghostwriter แต่ไม่นานเพลงนี้ก็ถูกลบออกจากบริการสตรีมอย่างรวดเร็วหลังจาก Universal Music Group (UMG) ออกมาเตือนว่ามันเป็น “เนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ที่สร้างขึ้นด้วย Generative AI”

แต่แน่นอนว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น หลังจากนี้เราจะได้เห็นเพลงที่สร้างโดย AI อีกมากมายอย่างแน่นอน เหมือนอย่างอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในช่วงที่ผ่านมา

UMG ซึ่งควบคุมประมาณ 1 ใน 3 ของตลาดเพลงทั่วโลก ได้แจ้งให้แพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ รวมถึง Spotify และ Apple ให้บล็อกการเข้าถึงของ AI เพื่อก๊อบปี้ทำนองและเนื้อเพลงจากเพลงที่มีลิขสิทธิ์บนแพลตฟอร์มของตนเอง เพราะกังวลว่าตอนนี้ AI เริ่มถูกฝึกด้วยข้อมูลของศิลปินดัง ๆ บนแพลตฟอร์มมากขึ้นเรื่อย ๆ (อย่างเดรก หรือเดอะวีกเอนด์)

เพลงที่สร้างโดย AI นั้นเริ่มไปโผล่บนแพลตฟอร์มเหล่านี้ด้วย ซึ่ง UMG ก็พยายามทุกวิถีทางเพื่อรายงานและลบมันออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดย UMG บอกกับสื่อ Financial Time ว่า

“เราจะไม่ลังเลที่จะดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิ์ของเราและของศิลปินของเราด้วย”

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก ๆ เพราะ AI เหล่านี้ถูกฝึกด้วยเพลงของศิลปินที่มีชื่อเสียง เราอาจจะสั่งให้มันเขียนเพลงที่คล้ายกับ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) แต่มีเสียงร้องคล้ายกับ บรูโน มาส์ (Bruno Mars) ฟีเจอร์ริ่งกับ ไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson) ก็ได้ โดยธีมของเพลงอาจจะมีสไตล์คล้ายกับ เอ็มมิเน็ม (Eminem) ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมาแม้จะเป็นสิ่งใหม่ แต่ก็เป็นการละเมิดสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาของศิลปินเหล่านั้นอยู่ดี

(อย่างมีเว็บไซต์หนึ่งที่ถูกปิดไปเมื่อไม่นานมานี้ชื่อว่า drayk.it ที่เปิดให้คนพิมพ์คำสั่งเข้าไปแล้วได้คลิปเสียงที่เป็นเดรกออกมา)

นวัตกรรมล่าสุดในแวดวงนี้ก็มาจาก Google ที่ชื่อว่า ‘MusicLM’ โดยมันเป็น ​AI ที่สามารถสร้างบทเพลงที่เราเขียนคำสั่งลงไปได้ จากข้อมูลที่เปิดเผย AI ตัวนี้ถูกฝึกด้วยเพลงปริมาณกว่า 280,000 ชั่วโมง

MusicLM
MusicLM

แม้ว่าตอนนี้ยังไม่ได้ปล่อยสู่สาธารณะเพราะกลุ่มนักวิจัยที่สร้างขึ้นมานั้นพบว่าข้อมูลที่นำมาใช้ฝึกมีความบกพร่อง ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของเพลงที่สร้างขึ้นเป็นเพลงที่เหมือนก๊อบมาตรง ๆ ของงานที่มีลิขสิทธิ์อยู่ และสรุปว่าจำเป็นต้องกลับพัฒนาต่อเพื่อ “จัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้” ก่อนที่จะปล่อย MusicLM ออกสู่สาธารณะ

นอกจากศิลปินและค่ายเพลงจะต้องประสบกับปัญหาเรื่อง AI สร้างเพลงโดยใช้ข้อมูลที่ละเมิดสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาของศิลปินแล้ว ปัญหาทางฝั่งแพลตฟอร์มเองก็น่ากังวลไม่น้อยเช่นกัน

ถ้าสมมติว่าเพลงนั้นถูกสร้างมาโดย AI แล้วมี AI มากดฟัง แพลตฟอร์มควรจะนับว่าเพลงนั้นถูกฟังหรือเปล่า? นี่แหละครับคือปัญหาชวนปวดหัวที่แพลตฟอร์มกำลังเผชิญอยู่ เพราะตอนนี้ใครจะสร้างเพลงด้วย AI ก็ได้ แล้วต่อจากนั้นก็ส่งบอท AI ไปกดฟัง เพื่อ…สร้างรายได้ให้กับตัวเองนั่นเองครับ

โทนี่ ริกก์ (Tony Rigg) ผู้บรรยายด้านการจัดการอุตสาหกรรมดนตรีแห่งมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลแลงคาเชียร์ในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า “มันเหมือนเขื่อนแตกเลย” คลื่นของบทเพลงที่สร้างโดย AI คุณภาพต่ำจำนวนมหาศาลกำลังถ้าโถมเข้าสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ

ปัญหาเรื่องการใช้บอตเพื่อไปกดฟังเพลงหรือ Artificial Streaming/Bot Listening นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ บางคนหันไปหาบริษัทที่รับทำเรื่องนี้โดยเฉพาะเพื่อเพิ่มจำนวนการสตรีมเพลง โดยจะใช้บัญชีที่สร้างโดยบอทเพื่อฟังเพลย์ลิสต์เดียวกันซ้ำๆ

ปัญหาของเรื่องนี้คือว่าบริษัทสตรีมมิงนั้นแบ่งรายได้ให้กับศิลปินที่มาจากแหล่งเงินสดเดียวกัน นั่นหมายความว่ายิ่งเพลงไหนถูกเล่นมาก ครีเอเตอร์ก็ยิ่งมีรายได้มากเท่านั้น ดังนั้นเงินที่มากขึ้นสำหรับเพลงที่บอทฟังอาจหมายความว่าเงินที่ส่งไปให้ศิลปินที่มีผู้ฟังเป็นมนุษย์ก็จะน้อยลงไปด้วย (ซึ่งปัญหาเรื่องนักร้องจ้างบริษัทเพื่อซื้อบอตไปฟังเพลงก็เคยเป็นประเด็นอยู่แล้ว ซึ่งการมีเพลงที่สร้างด้วย AI ขึ้นมาอีก ยิ่งทำให้ปัญหามันแย่และซับซ้อนมากขึ้น)

เมื่อประมาณกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา Spotify ก็ได้ลบเพลงที่สร้างด้วยซอฟต์แวร์ชื่อ Boomy ที่ใช้ AI เพื่อผลิตเพลงแล้วป้อนเข้า Spotify หลายหมื่นเพลง ซึ่งเพลงพวกนี้ก็มีการใช้บอตมากดฟังด้วยเช่นเดียวกัน

ซึ่งหลังจากนั้นเพลงที่สร้างโดย Boomy ก็ไม่สามารถอัปโหลดขึ้นบน Spotify ได้พักใหญ่ จนกระทั่งวันที่ 6 ก็เริ่มกลับมาทำงานอีกครั้ง อเล็กซ์ มิตเชลล์ (Alex Mitchell) ซีอีโอของ Boomy ก็ออกมาบอกว่าบริษัทของพวกเขาต่อต้านการใช้บอตมากดฟังเพลง และมีระบบเพื่อแจ้งเตือนว่าเพลงไหนที่มีรูปแบบการกดฟังที่ไม่เป็นธรรมชาติ โดยถ้าตรวจเจอก็จะหยุดจ่ายเงินและบล็อกผู้ใช้งานคนนั้นไปเลย (แต่จากรายงานแล้วก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ตรวจสอบได้ 100% จริง ๆ อยู่ดี)

Artificial Streaming เป็นปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไม่ตกตั้งแต่ก่อนที่จะมีเพลงที่สร้างด้วย AI แล้ว งานศึกษาชิ้นหนึ่งจาก France’s Centre National de la Musique องค์กรภาครัฐและเอกชนที่โฟกัสเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเพลงของฝรั่งเศสได้ทำการศึกษาในปี 2021 แล้วก็พบว่าประมาณ 1-3 เปอร์เซ็นต์ของเพลงที่ถูกสตรีมในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในฝรั่งเศสในปี 2021 นั้นเป็นการสตรีมด้วยบอต เทียบเป็นการสตรีมประมาณ 1,000 – 3,000 ล้านครั้งเลยทีเดียว

แน่นอนว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ค่อนข้างสูง มีเพลงหลายร้อยล้านเพลงบนบริการสตรีมมิงต่าง ๆ ทั้ง Apple Music, Amazon Music และ Spotify (ยังไม่นับยิบย่อยอื่น ๆ อีกมากมาย) หลายล้านเพลงไม่เคยถูกสตรีมเลยด้วยซ้ำ (มีการประมาณกันว่าแค่บน Spotify อย่างเดียวก็มีมากกว่า 4 ล้านเพลงแล้วที่ไม่เคยมีคนกดฟังเลย) แล้วยิ่งมีเพลงที่สร้างด้วย AI เพิ่มเข้าไปอีก ยิ่งทำให้ปัญหานี้แย่ลงไปอีก

ในขณะเดียวกันศิลปินบางคนก็หันมาเริ่มใช้ AI เพื่อสร้างสรรค์งานของตัวเองด้วย ยกตัวอย่าง ไกรมส์ (Grimes) นักร้องชาวแคนาดาประกาศว่าจะให้คนสร้างเพลงโดยใช้ AI เลียนเสียงของเธอได้ โดยเธอจะเอาส่วนแบ่งครึ่งหนึ่ง หรืออย่าง ฮอลลี เฮิร์นดอน (Holly Herndon) ก็ใช้ AI สร้างบอตที่มีเสียงของตัวเองให้ร้องเพลงในภาษาที่เธอไม่เคยเรียนด้วย

แต่ไม่ว่ายังไงก็ตามต่อจากนี้ การแข่งขันก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ศิลปินก็ต้องประจันหน้ากับเพลงที่สร้างด้วย AI ที่เลียนเสียงนักร้อง และเพลงที่ใช้บอตในการกดสตรีมฟัง ซึ่งทั้งสองอย่างก็บ่อนทำลายอุตสาหกรรมเพลงโดยรวม เมื่อมีทางเลือกอย่างมากมายไม่รู้จบสำหรับคนฟังทั่วไป เราอาจจะไม่รู้เลยว่าเพลงนี้มาจากนักร้องคนโปรดจริง ๆ ที่เป็นมนุษย์ หรือมันอาจจะเป็นเพลงที่กำลังดังแต่เป็นเพลงที่สร้างด้วย AI ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ศิลปินคนอื่นอยู่

Daniel Ek ซีอีโอของ Spotify

เมื่อบอตฟังเพลงที่บอตสร้างขึ้น มันคือการทำลายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมด ที่ผ่านมาศิลปินก็ถูกผลักให้พึ่งพาแพลตฟอร์มสตรีมมิงเพื่อรับค่าลิขสิทธิ์เพียงเล็กน้อยจากผลงานของตนเอง แล้วตอนนี้ก็ต้องมาเจอปัญหาตรงนี้อีก แม้แต่ แดเนียล เอ็ก (Daniel Ek) ซีอีโอของ Spotify ก็ยอมรับเมื่อเดือนที่แล้วว่าเขายังไม่เคยเห็นว่า “จะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้เร็วเท่ากับการพัฒนาของ AI เลย” หาก Spotify ไล่ตามเรื่องนี้ไม่ทัน สิ่งที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังก็คือศิลปินที่เป็นมนุษย์ทุกคนนั่นแหละ

ที่มา:
Wired CNN Google Research
Techcrunch Digital Music News
Twitter Wired