เปิดตัวกันไปเป็นที่เรียบร้อยกับ iPhone 14 ประจำปี 2022 สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อยเลยทีเดียว โดย iPhone 14 จะมาใน 2 ขนาด คือ iPhone 14 ขนาด 6.1 นิ้ว และ iPhone 14 Plus ขนาด 6.7 นิ้ว (รุ่น Mini ไม่ได้ไปต่อ) พร้อมชิป A15 ที่อยู่ในรุ่น iPhone 13 Pro ของปีก่อน ส่วน iPhone 14 Pro จะมาใน 2 ขนาดเช่นกัน คือ iPhone 14 Pro ขนาด 6.1 นิ้ว และ iPhone 14 Pro Max ขนาด 6.7 นิ้ว ที่น่าสนใจคือตัวรอยบากได้เปลี่ยนไปเป็นรูปทรงแคปซูลด้านหน้า “ไม่เป็นรูที่ไร้ประโยชน์อีกต่อไป” โดยจะปรับเปลี่ยนขยับขยายรูออกมาเป็นการแจ้งเตือน หน้าจอป๊อปอัป หรือการแจ้งเตือนสถานะต่าง ๆ ให้มีการผสมผสานอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งหลายคน (รวมทั้งผู้เขียนด้วย) ทึ่งไปกับการแก้ไขปัญหาที่สร้างสรรค์มาก
ในโลกของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การมองไปข้างหน้าเพื่อวิ่งไล่ตามนวัตกรรมเปลี่ยนโลกเป็นสิ่งจำเป็นอยู่แล้ว แต่การเดินไปข้างหน้าอย่างขะมักเขม้น มักทำให้หลงลืมว่า iPhone ที่เราถืออยู่ในตอนนี้เป็นสิ่งประดิษฐ์อันน่าทึ่งขนาดไหน ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อนจากครั้งที่ สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) เปิดตัว iPhone เครื่องแรกของโลกในปี 2007 แล้วบอกว่า “Apple ได้คิดค้นโทรศัพท์ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง” แล้วกลับมาดูฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเวลานั้น มันน่าเหลือเชื่อเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีเท่านั้นที่เปลี่ยน แต่เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และชีวิตของเราทุกคนบนโลกใบนี้ก็เปลี่ยนไปทั้งหมดด้วยเช่นกัน
หยิบโทรศัพท์ของคุณขึ้นมาดูครับ ตอนนี้ทุกคนมี GPS เพื่อระบุตำแหน่งและกล้องถ่ายรูปรายละเอียดสูงอยู่ในมือ แค่สองอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นอะไรที่สิบกว่าปีก่อนคงไม่มีใครคาดคิด การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียเป็นเหมือนเหตุบังเอิญที่ช่วยหนุนให้ iPhone ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จากโลกที่ก่อนหน้านั้นพากันคลั่งไคล้ Blackberry หลายคนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชื่อว่า iPhone ที่ขายในราคา 500 เหรียญสหรัฐฯ จะไปไม่รอด หนึ่งในนั้นคืออดีตซีอีโอของ Microsoft สตีฟ บัลเมอร์ (Steve Ballmer) ที่บอกว่า
“ไม่มีทางเลยที่ iPhone จะได้ส่วนแบ่งของตลาดที่สำคัญไป ไม่มีทาง มันเป็นโทรศัพท์ราคา 500 เหรียญ พวกเขาอาจทำเงินได้เยอะ แต่ถ้าคุณลองดูโทรศัพท์ที่ขายอยู่ 1,300 ล้านเครื่องตอนนี้ ผมอยากให้ซอฟต์แวร์ของเราไปอยู่ในนั้น 60% หรือ 70% หรือ 80% มากกว่าที่จะได้แค่ 2% หรือ 3% ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ Apple จะได้”
บัลเมอร์มองผิดไปอย่างมาก เขาเชื่อว่าคนจะไม่จ่ายเงินเพื่อซื้อสมาร์ตโฟนราคา 500 เหรียญอย่างแน่นอนและยิ่งไม่มีคีย์บอร์ดเหมือนอย่าง Blackberry ยิ่งไปกันใหญ่ ไมค์ ลาซาริดิส (Mike Lazaridis) ผู้ก่อตั้ง Blackberry ให้สัมภาษณ์หลังจากการเปิดตัวครั้งนั้นว่า “ไม่เป็นไร เรายังโอเค” (ซึ่งเราก็ทราบดีว่าต่อมามัน “ไม่โอเค”)
แต่จอบส์มองต่างออกไป เขารู้สึกว่าการพิมพ์บนหน้าจอโดยตรงเลยต่างหากล่ะคืออนาคต และเมื่อ iPhone เครื่องแรกวางขายสัญญาณที่ย้ำเตือนวิสัยทัศน์ของจอบส์คือแถวของแฟน ๆ Apple ที่ไปรอซื้อ iPhone ตอนที่วางขายตั้งแต่วันแรก
สิ่งที่ทำให้ iPhone กลายเป็นที่พูดถึงในสื่อตอนนั้นคือเรื่องของรูปลักษณ์และการใช้งานผ่านการสัมผัสหน้าจอ แต่สิ่งที่ทำให้ iPhone ประสบความสำเร็จจริง ๆ คือเรื่อง “ประสบการณ์การใช้งาน” ของลูกค้ามากกว่า มันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากของที่มีอยู่ในตลาดไปอย่างสิ้นเชิง ก่อนหน้านี้บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาฮาร์ดแวร์อยู่เสมอ แต่ตัวซอฟต์แวร์ที่อยู่ด้านในแทบไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเลย แต่ iPhone เปลี่ยนแปลงตรงนี้และโฟกัสไปที่ประสบการณ์การใช้งานให้ไหลลื่นมากที่สุด
‘ความเรียบง่าย’ น่าจะเป็นสิ่งที่อธิบาย iPhone ในยุคนั้นได้อย่างดีที่สุด เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมสมาร์ตโฟนไปตลอดกาล ไม่ต้องการ Trackball ไม่ต้องมีปุ่ม เมนูที่ซับซ้อน ไม่ต้องมี Stylus เอาไว้จิ้มหน้าจอ iPhone ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่ายที่สุด ใครก็ตามที่ถืออยู่ในมือควรรู้ว่ามันต้องทำยังไงต่อโดยไม่ต้องอาศัยหนังสือคู่มือประกอบด้วย นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่จอบส์เน้นย้ำกับทีมออกแบบเสมอ ไม่ว่าผู้ใช้งานอยากทำอะไรก็ตาม ควรออกแบบการใช้งานให้ทำตามจุดประสงค์นั้นให้ได้ภายในการกดไม่เกิน 3 ครั้ง ถ้ามันเกินกว่านั้นทีมออกแบบจะต้องไปทำมาใหม่ทั้งหมด
ตอนนี้เองที่เกมของตลาดสมาร์ตโฟนเริ่มเปลี่ยน คู่แข่งทราบแล้วว่าลูกค้าต้องการสินค้าที่ใช้งานได้ง่าย ฮาร์ดแวร์ไม่ว่าจะดีแค่ไหน ถ้าซอฟต์แวร์ข้างในช้าและเต็มไปด้วยความผิดพลาดคนก็จะเลิกใช้ การทำให้ทุกอย่างเรียบง่ายและยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าผ่านซอฟต์แวร์ของ Apple เอง ดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาอยู่ในระบบนิเวศและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น ๆ ได้อย่างไร้รอยต่อ นำมาซึ่งความจงรักภักดีต่อแบรนด์สร้างฐานแฟน (Apple Fanboy) ที่พร้อมเป็นกระบอกเสียงและสนับสนุนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ตามมาภายหลังอย่างเต็มที่ด้วย
หนึ่งปีหลังจากที่เปิดตัว iPhone เครื่องแรก โลกก็ได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ‘Application’ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘แอปฯ’ นั่นแหละครับ ตอนแรกที่เปิดตัวมีอยู่แค่ 500 แอปฯ แต่คนแห่ไปดาวน์โหลดกันกว่า 10 ล้านครั้งภายในช่วงสุดสัปดาห์ของการเปิดตัว AppStore ได้เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการผลิตซอฟต์แวร์แบบชั่วข้ามคืน นักพัฒนาแอปพลิเคชันกลายเป็นที่ต้องการของตลาดในทันที มีหลาย ๆ ประสบความสำเร็จอย่างมากเช่น Angry Birds หรือ Fruit Ninja และมีคนที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลจากแอปฯที่ดูไม่มีอะไรเลยอย่าง iBeer ที่ทำเหมือนรินเบียร์ใส่แก้ว แต่ทำเงินได้วันละ 20,000 เหรียญอยู่พักใหญ่ ๆ เลย
ภายในปีเดียวกันเราก็เห็น Google เปิดตัว PlayStore ของระบบ Android ซึ่งนักพัฒนาแอปพลิเคชันก็เริ่มมีความจริงจังมากขึ้น สร้างแอปฯขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน มากกว่าแค่สร้างเกมหรือแอปฯสนุก ๆ เท่านั้น
แม้ตอนนี้เราจะไม่ค่อยโหลดแอปฯกันแล้ว นอกจากว่าต้องใช้หรืออยากใช้จริง ๆ เพราะมันมีเยอะมาก แต่ต้องบอกว่าเราจินตนาการไม่ออกเลยถ้า iPhone ไม่มีแอปฯบนเครื่องหรือไม่มี AppStore จะเป็นยังไงต่อ มันอาจตายไปแล้วก็ได้ ถึงตอนนี้ผ่านมา 15 ปี จำนวนแอปฯจากเริ่มต้นที่ 500 แอปฯกลายเป็น 3.8 ล้านแอปฯไปเรียบร้อยแล้ว
พฤติกรรมอีกอย่างหนึ่งที่สมาร์ตโฟนเข้ามาเปลี่ยนในชีวิตของเราคือความต้องการที่เร่งด่วนมากขึ้นเรื่อย ๆ อยากได้ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ทุกอย่าง ‘On-demand’ จากเมื่อก่อนที่เราต้องไปซื้อซีดีเพลงหรือแผ่นเสียง ตอนนี้เรามี Spotify จากเมื่อก่อนเราต้องนั่งรอให้รายการทีวีฉาย ตอนนี้เรามี Netflix จากเมื่อก่อนที่เราต้องไปร้านหนังสือ ตอนนี้เรามี Kindle จากเมื่อก่อนที่เราต้องเดินไปซื้อข้าวหน้าปากซอย ตอนนี้เรามี Grab ฯลฯ ลิสต์นี้มียาวเป็นหางว่าว เราต้องการทุกอย่างในตอนนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ระบบ GPS ที่พาเราไปได้เกือบทุกหนทุกแห่ง กล้องถ่ายภาพที่รูปสวยจนแทบไม่ต่างจากกล้องมืออาชีพแพง ๆ และสามารถแชร์มันกับเพื่อนบนโซเชียลมีเดียได้ทันที ภาพถ่ายไม่พอเรายังสามารถไลฟ์สดเพื่อมอบประสบการณ์ตรงแบบวินาทีต่อวินาทีให้โลกรู้ได้ด้วย
พาทุกคนกลับมายังปัจจุบันในตอนนี้ เราอยู่ในจุดที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เมตาเวิร์ส, AR, VR, AI และอะไรอีกมากมาย ถามว่าโลกต่อไปจะเป็นยังไง Apple จะไปทางไหนต่อ แล้วเราหล่ะ…จะไปทางไหนต่อ
ในอนาคตที่ยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แม้ทุกอย่างจะชี้ไปว่าต่อไปเส้นแบ่งระหว่างโลกแห่งความจริงและโลกเสมือนจะเลือนลางจนอาจแทบแยกกันไม่ออก แต่เมื่อมองจากสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 15 ปีที่ผ่านมาถึงตรงนี้ก็คงไม่มีใครกล้าฟันธงอีกต่อไปแล้วว่ามันจะเกิดขึ้นจริง ๆ รึเปล่า
ไม่เคยมีใครคาดคิดว่า Blackberry จะตาย หลายคนบอกว่าเมตาเวิร์สที่ Facebook สร้างเป็นเรื่องไร้สาระ บางคนมองว่าคริปโตเป็นเพียงการหลอกขายฝัน เราทุกคนต่างคาดเดาและวิจารณ์แตกต่างกันออกไป แต่จำไว้อย่างหนึ่งว่าแม้แต่บัลเมอร์ที่เป็นหนึ่งในซีอีโอของบริษัทที่ยิ่งใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ หรือ ลาซาริดิสผู้ก่อตั้งบริษัท Blackberry ที่ครองตลาดเกินกว่าครึ่งในเวลานั้นก็ผิดพลาดได้ แม้ยังไม่มีวี่แวว แต่วันหนึ่งมันอาจมีบริษัทอื่นที่เข้ามาแย่งตลาดของ Apple จนพวกเขากลายเป็นอดีตไปเลยก็ได้
15 ปีก่อน เราคงจินตนาการภาพตอนนี้ไม่ได้อย่างแน่นอน เหมือนกันกับ 15 ปีต่อไป
โลกเปลี่ยนไปแล้ว สังคมเปลี่ยนไปแล้ว เราเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ว่ามันจะดีหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่แน่นอนคือเราไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป
อ้างอิง Beartai The Verge Wired
Smithsonian Mag Linkedin Cyber News
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส