มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางด้านสถานะทางสินทรัพย์ที่หดหายไปกว่า 70,000 ล้านเหรียญในปี 2022 เพียงแค่ปีเดียว ร่วงจากตำแหน่งบุคคลร่ำรวยที่สุดอันดับ 3 ของโลกมาเป็นอันดับที่ 22 เนื่องจากทรัพย์สินส่วนใหญ่ของเขาผูกไว้กับหุ้นของบริษัท Meta (บริษัทแม่ของ Facebook) ที่ร่วงลงไปเกือบ 40% ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2021 จนถึงตอนนี้ แม้สภาวะตลาดหุ้นจะไม่ค่อยสู้ดีเท่าไหร่นัก แต่ Meta ถือว่าอาการหนักกว่าตลาดโดยเฉลี่ย S&P 500 ที่ร่วงราว 16% พอสมควร สิ่งที่น่ากังวลคือไม่มีใครทราบเลยว่ามันหุ้นของ Meta จะกลับมาขึ้นเมื่อไหร่หรือแย่กว่านั้น จะขึ้นกลับขึ้นมาอีกครั้งรึเปล่า
นอกจากนั้น บิล จอร์จ (Bill George) ศาสตราจารย์ผู้อาวุโสที่ Harvard Business School (HBS) และเป็นอดีตซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ Medtronic ผู้ใช้เวลากว่า 20 ปีเพื่อศึกษาเกี่ยวกับผู้นำและเขียนหนังสือ ‘True North: Leading Authentically in Today’s Workplace, Emerging Leader Edition’ ยังบอกอีกว่า Meta อาจจะเจอปัญหาใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ หากยังมีซักเคอร์เบิร์กเป็นผู้นำอยู่ เนื่องจากเขามีทักษะการเป็นผู้นำที่แย่ ไม่ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ให้ความสำคัญกับแค่ผลกำไรของบริษัท และที่สำคัญคือไม่รับฟังคนอื่นด้วย
ถ้าบอกว่าช่วงนี่เป็นมรสุมชีวิตของซักเคอร์เบิร์กก็คงไม่ผิดนัก แล้วดูเหมือนว่ามันยังไม่ดูจะจบลงง่าย ๆ ด้วย เขายอมรับในการสัมภาษณ์ของรายการพอดแคสต์ของ โจ โรแกน (Joe Rogan) ว่า “ทุกเช้าที่ตื่นมาเหมือนโดนชกเข้าไปที่ท้อง” มีข้อความถึงเขาเป็นล้าน ๆ ข้อความและส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่
ในมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องน่าเห็นใจ แต่ในอีกมุมหนึ่งนี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของ Facebook และซักเคอร์เบิร์กเช่นกัน เพราะหลังจากที่ยิ่งใหญ่มานานและแทบไม่มีใครแตะต้องได้ ตอนนี้ซักเคอร์เบิร์กต้องพิสูจน์แล้วว่าเขาเป็นผู้นำที่มีความสามารถและแข็งแกร่งมากพอที่จะนำโซเชียลมีเดียที่เชื่อมคนเกือบทั้งโลกนี้ให้ออกจากหล่มปลักตรงนี้ไปได้
หากเรามองแค่ในส่วนของธุรกิจปัญหาที่ Facebook กำลังเผชิญอยู่ก็คงมีอยู่ 4 เรื่องหลัก ได้แก่
- อายุ
ถ้าใครมีลูกมีหลานที่เป็นวัยรุ่นน่าจะทราบดีว่าพวกเขาแทบจะไม่ได้เล่น Facebook เหมือนอย่างรุ่น Gen X, Gen Y กันแล้ว ส่วนใหญ่จะหันไปหา TikTok, BeReal หรือ Discord เป็นส่วนใหญ่ ในมุมมองของพวกเขาแล้ว Facebook คือพื้นที่สำหรับคนอายุเยอะ สื่ออย่าง The Atlantic ถึงขั้นตั้งชื่อเล่นให้ว่าเป็น “Boomerbook” ซึ่งก็ล้อกับยุค “Baby Boomer” ประมาณนั้นเลย
จริงอยู่ที่ว่า Instagram ยังพอจะถูไถดึงเด็กรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาเล่นได้อยู่ แต่ TikTok ก็เติบโตอย่างรวดเร็วจนตอนนี้ Instagram ก็ต้องปรับตัวและออกมาฟาดฟันอย่างหนัก เควิน รูส (Kavin Roose) นักข่าวของ The New York Times บอกว่า
“TikTok กำลังเขมือบ Instagram เป็นอาหารกลางวันอยู่ในตอนนี้ในด้านของการใช้งานและแรงผลักดันทางวัฒนธรรม และบริษัทโฆษณาส่วนใหญ่อยากจะอยู่ในที่ที่มีคนรุ่นใหม่อยู่ทั้งนั้น ถึงแม้ว่า Meta จะพยายามก๊อปปี้ฟีเจอร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของ TikTok แล้วยัดมันไปใส่ใน Instagram Reels พวกเขาก็มีขีดจำกัดของความเปลี่ยนแปลงที่ผู้ใช้งานจะยอมรับโดยที่สนใจอะไรเลย”
แน่นอนว่าเราเห็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่าง ไคลีย์ เจนเนอร์ (Kylie Jenner) หรือ คิม คาร์แดเชี่ยน (Kim Kardashian) ที่ออกมาแสดงความไม่พึงพอใจถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เพราะอัลกอริทึมของ TikTok จะดันคอนเทนต์ที่มีความน่าสนใจให้มีโอกาสไวรัลมากกว่าจำนวนผู้ติดตาม ซึ่งเป็นรูปแบบของโซเชียลมีเดียแบบดั้งเดิม
- นวัตกรรม
ครังสุดท้ายที่เราเห็นนวัตกรรมที่มาจาก Facebook แล้วประสบความสำเร็จด้วยตัวเองคือเมื่อไหร่? อาจจะต้องย้อนไปตั้งแต่ News Feed หรือ การ Tag เพื่อนในรูปก็คงได้ นอกจากนั้นก็ไม่ได้มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เรียกว่านานจนจำไม่ได้แล้วก็คงไม่ผิดนัก ฟีเจอร์ส่วนใหญ่อย่างสตอรี่หรือกรุ๊ปก็เอามาจากที่อื่นทั้งสิ้น เราไม่นับที่ไปซื้อมาอย่าง Instagram หรือ WhatsApp หลังจากที่เข้าตลาดหุ้นในปี 2012 เราแทบไม่เห็นนวัตกรรมที่มาจาก Facebook เองเลย หรือถ้ามี…ก็ดูเหมือนจะเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อที่สาม
- Metaverse
ในอนาคตต่อจากนี้อีก 10 ปี เราอาจย้อนมาดูตรงนี้แล้วพูดได้ว่ามันคือการตัดสินใจที่ดีที่สุดของ Facebook หรือ จุดเริ่มต้นของหายนะที่ทำให้ทุกอย่างล่มสลายก็ได้ แต่ผ่านมาเกือบหนึ่งปีแล้วที่ Facebook เปลี่ยนชื่อเป็น Meta เพื่อยืนหยัดแนวคิดและสร้างเข็มทิศในการเดินไปข้างหน้า แต่ดูเหมือนว่าความเสี่ยงครั้งนี้ (อย่างน้อย ๆ ก็ในช่วงปีที่ผ่านมา) ดูไม่ได้ออกดอกออกผลอย่างที่ตั้งใจเอาไว้เลย
ซักเคอร์เบิร์กเชื่อมั่นในเมตาเวิร์สอย่างหมดใจ โลกเสมือนที่ทุกคนสามารถเข้าไปใช้เวลาในนั้นได้ผ่านแว่น VR และใช้ต้วละคร Avatar เพื่อปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ
แว่นตาแบบ VR ที่สวมแล้วไปเหมือนเราเข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่งนั้นยังเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในกลุ่มเล็ก ๆ คนทั่วไปถ้าเอ่ยคำว่า “Virtual Realilty” หรือความจริงเสมือนยังเอียงคอทำหน้างงอยู่เลยว่ามันคืออะไร จริงอยู่ว่ามันอาจดูคล้ายกับยุคที่เริ่มมีคนพูดถึง “อินเทอร์เน็ต’ ในยุคเริ่มแรก ในอนาคตเมตาเวิร์สอาจเป็นจริงขึ้นมาได้ แต่ไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน 5 ปี 10 ปี หรือมากกว่านั้น ผู้ถือหุ้นบริษัท Facebook อาจไม่ใจเย็นรอได้ขนาดนั้น
ล่าสุดที่ซักเคอร์เบิร์กนำเอาเมตาเวิร์สมาโชว์ให้กับโลกได้เห็น ทุกคนต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันดูเหมือนโลกในเกม Nintendo Wii ที่โด่งดังเมื่อสิบกว่าปีก่อน ห่างไกลจากความคาดหวังและดูน่าผิดหวังมากกว่าควรได้รับคำชื่นชม (ซึ่งซักเคอร์เบิร์กก็ออกมาแก้ต่างบอกว่านี่เป็นเพียงเดโม ของจริงจะดีกว่านี้แน่นอน)
- เรื่องกฎหมาย
จริงอยู่ว่าหลัง ๆ มาเราไม่ค่อยเห็นซักเคอร์เบิร์กเป็นข่าวเรื่องของการถูกฟ้องร้องสักเท่าไหร่ อาจจะด้วยความที่บริษัทก็ดูง่อนแง่นแตกต่างจากเมื่อก่อนมาก ซึ่งก็เป็นเครื่องพิสูจน์แหละว่าพวกเขาไม่ได้แข็งแกร่งจนอะไรก็ทำให้สั่นคลอนไม่ได้ขนาดนั้น
แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้มีดีลใหญ่ ๆ ที่ไปซื้อคู่แข่งเหมือนอย่างเมื่อก่อนที่ไปซื้อ Instagram หรือ WhatsApp ด้วยก็ได้
เรื่องหนึ่งที่พวกเขายังต้องแก้ไขคือข่าวปลอมที่ยังกระจายอย่างรวดเร็วและวิธีการนำเสนอคอนเทนต์ให้กับวัยรุ่น เพราะอย่างที่เราทราบดีว่าช่วงปลายปี 2021 มีรายงานข่าวว่าบริษัททราบดีถึงผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตของผู้ใช้วัยรุ่น โดยเฉพาะผู้หญิง แต่ก็ไม่ได้มีการลงมือแก้ไขเพราะสนใจเพียงแค่รายได้ของบริษัทมากกว่า
สุดท้ายแล้วถึงตอนนี้ซักเคอร์เบิร์กยังมีงานที่รออยู่อีกเยอะมาก แม้ตอนนี้จะไม่ได้ติด 10 อันดับแรกของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของโลกแล้ว เขาก็ไม่ได้ยากจนอะไร และบริษัท Meta ก็ยังยิ่งใหญ่อยู่แม้จะเริ่มสั่นคลอนบ้างเล็กน้อย Facebook และ Instagram ยังเเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างรายได้มหาศาล มีอิทธิพลทางการเมืองและแนวคิดทางสังคม
ซักเคอร์เบิร์กยังคงต้องตื่นมาโดยมีความรู้สึกเหมือนโดนชกที่ท้องไปอีกสักพัก ตราบที่เขายังมีปัญหาต้องแก้ไขและเป็นซีอีโอของบริษัท จริงอยู่ว่าอาจจะถึงเวลาต่อสู้ดิ้นรนสักนิด แต่เชื่อว่ายังไม่น่าไปไหนง่าย ๆ
ที่มา:
CBS NEWS Fortune
Spotify The New York Times
The Wall Street Journal
The New York Times 2
The New York Times 3
Beartai The Wall Street Journal 2
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส