ในปี 2022 เทคโนโลยี 5G อาจไม่ใช่เทคโนโลยีที่สดใหม่ในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป แต่ในภาคธุรกิจถือเป็นเทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยสำคัญในการก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้สูงขึ้น ทำให้ 5G ยังคงเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ

Chunghwa Telecom กับก้าวสำคัญในการร่วมพัฒนา 5G ในไทย

วันนี้ beartai จะพาทุกคนมารู้จักกับ CHT หรือ Chunghwa Telecom (จุงหวา เทเลคอม) ผู้ให้บริการโทรคมนาคมครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน กับบทบาทใหม่ในการร่วมพัฒนาเทคโนโลยี 5G เพื่อภาคธุรกิจ และภาครัฐ ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจในไทย ทั้งบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT  และ The WhiteSpace ผ่านบทสัมภาษณ์นี้

คุณ กัว สุ่ยอี้ (Mr. Shui-Yi Kuo) กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ Chunghwa Telecom Co., Ltd. เล่าให้ beartai ฟังว่าจุดเริ่มต้นในการเข้ามามีส่วนร่วมและพัฒนาเทคโนโลยีสมาร์ตโซลูชันด้านต่างๆ ในไทย เกิดขึ้นในช่วงปี 2019 กับทาง CAT (กสท โทรคมนาคม) หลังจากนั้นก็มีการควบรวมกิจการกับ TOT (ทีโอที) และเปลี่ยนชื่อมาเป็น NT หรือ National Telecom

แม้จะเกิดการควบรวมกิจการกันแล้ว แต่ความร่วมมือยังคงอยู่ Chunghwa Telecom ได้ร่วมกับ NT ในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G, AI, Blockchain และเอาสมาร์ตโซลูชันต่าง ๆ มาปรับให้เหมาะกับไทย เช่น โครงการ 5G Enterprise Private Network ในโรงงานแห่งแรกของ Delta  ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู หรือระบบกล้อง VDO วงจรปิดเพื่อเฝ้าระวังภัย  ระบบการจดจำป้ายทะเบียนรถ ความปลอดภัยไซเบอร์ เดต้าเซนเตอร์  โคมไฟถนนอัจฉริยะ ระบบตรวจสอบเฝ้าระวังสภาพแวดล้อม และโซลูชันอื่น ๆ ทั้งนี้เป้าหมายสูงสุดของการร่วมมือกับ NT ในครั้งนี้คือมุ่งผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การมาของ Chunghwa Telecom จะช่วยส่งเสริมพันธมิตรในด้านใด

Chunghwa Telecom กับก้าวสำคัญในการร่วมพัฒนา 5G ในไทย

ด้วยความที่ Chunghwa Telecom เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน ที่ให้บริการและสร้างนวัตกรรมมาอย่างยาวนาน จึงมีประสบการณ์และเทคโนโลยีที่สามารถช่วยส่งเสริมให้พันธมิตรเกิดการพัฒนาในหลายด้าน ตั้งแต่ด้านเทคโนโลยี ที่จะมีการนำโซลูชัน ICT (Information and Communication Technology) ต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในไทย เช่น บริการวิเคราะห์บิ๊กเดต้า, การจัดการข้อมูลจราจร, การบังคับใช้กฎหมายด้านเทคโนโลยี และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในโรงงาน 

ส่วนด้านเครือข่ายเน็ตเวิร์ก 5G Chungwha Telecom มีประสบการณ์มากกว่า 100 เคสที่เคยทำสำเร็จในการออกแบบและการวางแผนให้กับโรงงานอัจฉริยะในไต้หวัน มาช่วยเสริมด้านการวางโครงข่าย เพื่อให้บริการ 5G Private Networks ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สุดท้ายด้านการให้บริการ 5G เรามีการพัฒนาเทคโนโลยี MEC (Multi-access edge computing) Intelligent A+ ขึ้นมา เพื่อทำให้อุปกรณ์ AIoT (Artificial Intelligence of Things) อย่าง หุ่นยนต์ แขนกล หรือรถ AGV (Automatic Guided Vehicle)  สามารถเข้าถึงข้อมูลและประมวลผลจากภายในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อุปกรณ์ตอบสนองได้อย่างทันท่วงที และข้อมูลยังมีความปลอดภัยมากขึ้น 

วางเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีในไทยไว้อย่างไร

Chunghwa Telecom ร่วมกับพันธมิตรอย่าง NT และ The WhiteSpace วางเป้าหมายไว้สองระยะ โดยในระยะสั้นเราจะมุ่งเน้นการสร้างโซลูชันใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งธุรกิจและประชาชน รวมถึงมีการเอาเทคโนโลยี AIoT มาปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารในองค์กร วิถีชีวิตของคนธรรมดา รวมถึงการจัดการข้อมูลต่าง ๆ ในภาครัฐให้ดียิ่งขึ้น เมื่อผ่านเป้าหมายระยะสั้นมาแล้ว ก็จะเป็นเป้าหมายระยะยาวที่จะมีการปรับเปลี่ยนและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่สร้างขึ้น เพื่อให้เกิดเป็น Smart Lifestyle การใช้ชีวิตที่ง่ายขึ้น รวมถึงสร้างยุคใหม่ของ Digital Economy (เศรษฐกิจดิจิทัล) เพื่อส่งเสริมให้ไทยกลายเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ประโยชน์ที่ประชาชน ธุรกิจ และภาครัฐจะได้รับคืออะไร

ทุกการสร้างเทคโนโลยีย่อมมีประโยชน์ที่ตามมา เรามองว่าการร่วมมือกับพันธมิตรในครั้งนี้ ในส่วนของประชาชนทั่วไปจะได้รับประสบการณ์ในการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายขึ้นจาก Smart Lifestyle ส่วนองค์กรต่าง ๆ ก็จะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น และภาครัฐเองก็สามารถนำเทคโนโลยีไปสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการใช้ชีวิตของคนไทยและชาวต่างชาติเพื่อให้กลายเป็น Smart City

Chunghwa Telecom กับก้าวสำคัญในการร่วมพัฒนา 5G ในไทย

การร่วมมือในการพัฒนา 5G กระทบกับผู้ให้บริการเดิมในไทยมากน้อยแค่ไหน

ต้องบอกว่าการร่วมมือของเรากับพันธมิตรในเรื่อง 5G ยังอยู่ในระยะแรกหรือระยะการพัฒนา และโฟกัสที่การให้บริการในกลุ่มวิสาหกิจขนาดใหญ่ รวมถึงภาครัฐ เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่อื่น ๆ คิดว่าไม่ส่งผลกระทบกับผู้ให้บริการ 5G ที่มีอยู่ในตลาด และมองว่าในอนาคตอาจมีการร่วมมือกันในการพัฒนาโครงข่าย 5G ในไทยให้มากยิ่งขึ้น จึงมองว่าเป็นผลกระทบในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ 

มีเทคโนโลยีไหนที่คิดว่าเหมาะกับประเทศไทย 

การใช้รถใช้ถนนของไทยมักมีการทำผิดกฎจราจรอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ เรามองว่าเทคโนโลยีที่เหมาะกับไทย ก็คือเทคโนโลยีที่ช่วยกวดขันวินัยจราจร (Law Enforcement Technology ) อย่างระบบวงจรปิดเพื่อเฝ้าระวังภัย หรือระบบการจดจำป้ายทะเบียนรถ ระบบพวกนี้จะสามารถตรวจจับและทำการปรับผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรแบบอัตโนมัติ โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องลงไปเขียนใบสั่งที่หน้างานด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างในไต้หวันเมื่อนำระบบนี้ไปใช้ก็ช่วยลดการทำผิดกฎจราจรได้ถึง 50% พอการทำผิดกฎลดน้อยลงก็ส่งผลถึงจำนวนอุบัติเหตุที่ลดลงด้วย คิดว่าถ้านำมาประยุกต์ใช้กับท้องถนนไทยจะช่วยประหยัดเวลาในการทำงานของเจ้าหน้าที่ และลดการทำผิดกฎจราจรลงได้ 

Chunghwa Telecom กับก้าวสำคัญในการร่วมพัฒนา 5G ในไทย

เทคโนโลยี 6G พัฒนาไปถึงไหนแล้ว และเราจะมีโอกาสใช้จริงกันเมื่อไร

ถ้าพูดถึงเทคโนโลยี 6G ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงการพูดคุยและวางแผนพัฒนา จากความร่วมมือของหลาย ๆ ประเทศในกลุ่ม 3GPP (3rd Generation Partnership Project) หรือกลุ่มมาตรฐานอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ปกติแล้วการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจะใช้เวลาราว 10 ปี โดย 5G เริ่มในปี 2020 คิดว่า 6G ก็น่าจะเริ่มได้ใช้กันในปี 2030

ตามไทม์ไลน์แล้ว เมื่อถึงปี 2023 แผนการพัฒนา 6G น่าจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และในปี 2025 ก็จะมีการออกมาตรฐานสำหรับเทคโนโลยี 6G พอถึงปี 2028 ก็จะเริ่มมีการเปิดให้บริการ 6G ในเชิงพาณิชย์บางส่วน สุดท้ายในปี 2030 เทคโนโลยี 6G ก็จะเป็นที่แพร่หลายและมีให้บริการทั่วโลก

สุดท้าย Chunghwa Telecom มีอะไรที่อยากจะฝากถึงคนไทยไหม 

ต้องขอบคุณการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในไทย เราหวังว่าจะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาส่งต่อความสะดวกสบาย ในการใช้ชีวิตของคนเมือง การทำงานในองค์กร หรืออุตสาหกรรมและสายอาชีพต่าง ๆ ในไทย ดังสโกลแกนของเราที่กล่าวว่า 

Chunghwa Telecom กับก้าวสำคัญในการร่วมพัฒนา 5G ในไทย

“Chunghwa Telecom let’s collaborate happiness together”    

Mr. Shui-Yi Kuo, President of Chunghwa Telecom Co Ltd.

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส