จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ดนตรีถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนานตั้งแต่ 40,000 ปีก่อน เราร้องเล่นเต้นรำ ถ่ายทอดสื่อสาร และบรรเลงเสียงเพลงในทุกช่วงห้วงอารมณ์ของชีวิต

สำหรับคนที่รักในเสียงเพลงต้องบอกว่ายุคนี้การเข้าถึงเสียงดนตรีนั้นสะดวกสบายมากกว่าแต่ก่อน เปิดสมาร์ตโฟน เปิดแอปพลิเคชัน แล้วก็กดเลือกเพลงฟังจากตรงนั้นได้เลย

หนึ่งในแอปทางเลือกที่ครองตลาดกว่า 1 ใน 3 ของบริษัทสตรีมมิงเพลงทั้งหมดของโลกก็คือสปอติฟาย (Spotify) ที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาโดย แดเนียล เอ็ก (Daniel Ek) ในวัย 23 ปี ที่ไม่จบมหาวิทยาลัย เรียนเขียนโค้ดด้วยตัวเอง และสร้างธุรกิจที่ทำรายได้ตั้งแต่อายุ 13 ปีแล้ว

เมื่ออายุ 23 ปี เขาก็มีเงินมากพอที่จะเกษียณโดยไม่ต้องทำงานไปตลอดชีวิต แต่นั้นก็ทำให้ชีวิตของเขาน่าเบื่อเช่นเดียวกัน เพื่อนก็มาแฮงเอาต์ที่บ้านหรู ๆ ก็ไม่ใช่เพื่อนที่มีความจริงใจ คนที่อยู่ในชีวิตเขาส่วนใหญ่ก็อยู่เพราะเงินทั้งสิ้น

ความรู้สึกที่เคว้งคว้างและซึมเศร้านี้เองที่ทำให้เขาตัดสินใจเดินออกตามหาแพสชันใหม่ บางอย่างที่ทำให้เขามีความสุขและเติมเต็ม ซึ่งก็กลายเป็นบริการสตรีมมิงเพลงสปอติฟายที่มอบความสุข ไม่ใช่แค่กับตัวเขาแต่กับทุก ๆ คนเลยต่างหาก

จุดเริ่มต้น

แดเนียล เอ็ก เกิดที่เมืองสตอกโฮล์ม (Stockholm) ประเทศสวีเดนในปี 1983 เขามีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เรียนเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง จนกระทั่งในวัย 13 ปี ก็สร้างเว็บไซต์ให้กับลูกค้าโดยมีรายได้ 100 เหรียญจากลูกค้าคนแรก และ 200 เหรียญจากคนถัดไป จนสูงสุดที่เว็บไซต์ละ 5,000 เหรียญ (ราว 175,000 บาท) เลยทีเดียว

ด้วยความต้องการที่มีเยอะมากในตลาด เอ็กไม่สามารถทำเองทั้งหมดได้ เลยต้องดึงเพื่อนจากในชั้นเรียนมาช่วยกันสร้างเว็บไซต์ให้กับลูกค้า โดยใช้คอมพิวเตอร์จากที่โรงเรียนเลย เพื่อน ๆ จะได้รับค่าจ้างเป็นวิดีโอเกม ซึ่งทำให้ธุรกิจของเขาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีรายได้ต่อเดือนราว ๆ 50,000 เหรียญ (1.75 ล้านบาท) หรือปีหนึ่งก็ราว ๆ 600,000 เหรียญ (21 ล้านบาท)

ตอนเขาอายุได้ 18 ปี ก็มีทีมงานสร้างเว็บไซต์กว่า 25 คนแล้ว

พ่อแม่ของเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขามีเงินมากขนาดไหน จนกระทั่งเริ่มสังเกตเห็นว่าลูกชายซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาแพงและมีวิดีโอเกมเยอะมาก ๆ เขาจบชั้นมัธยมปลายในปี 2002 และเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยต่อที่ Sweden’s Royal Institute of Technology เพียงแต่ว่าเขาเรียนไปเรียนได้เพียง 8 สัปดาห์แล้วก็ลาออกเพราะได้งานประจำกับบริษัท e-Commerce สตาร์mอัปชื่อ Tradera (ภายหลัง eBay เข้ามาซื้อ)

ถูก Google ปฏิเสธ

เขาทำงานที่ Tradera ในฐานะโปรแกรมเมอร์จนถึงปี 2006 แต่ก็ยังรู้สึกว่ามันไม่ได้มีความท้าทายและเติมเต็มกับชีวิตของเขาอย่างที่ต้องการ อยากสร้างอะไรที่มันมีความหมายและยิ่งใหญ่มากกว่านี้ อยากสร้างสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ

Google ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่สร้างผลิตภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยนวัตกรรม การทำงานที่นั่นน่าจะช่วยทำให้เขาพัฒนาไอเดียและสร้างความแตกต่างให้กับโลกใบนี้ได้ เอ็กตัดสินใจสมัครโดยเชื่อว่าเขาน่าจะได้งานอย่างแน่นอน แต่มันไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางเอาไปไว้ เพราะสุดท้ายและ Google กลับปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่าเขาไม่มี ‘คุณสมบัติที่เพียงพอ’ 

ด้วยความโทสะและอยากพิสูจน์ว่าเขามีความสามารถมากพอ เย็นวันที่ถูก Google ปฏิเสธ เขาตัดสินใจแฮกระบบอัลกอริทึมของ Google ดันยอดเสิร์ชของเว็บไซต์ Tradera ขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 600 การค้นหาในวันนั้น

Google เห็นถึงความผิดปกติและแจ้งขู่ฟ้องบริษัททันที หัวหน้าของเอ็กรีบเข้ามาเตือนและบอกให้หยุดอะไรก็ตามที่เขากำลังทำอยู่ในตอนนั้นให้เร็วที่สุด

สตาร์mอัปแห่งแรก Advertigo

หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Google บางอย่างในตัวเขาก็เปลี่ยนไป ตัดสินใจลาออกจากที่ทำงานและหันไปให้เวลากับตัวเองและไอเดียที่มีในหัวอีกหนึ่งปี จนกระทั่งเขาก่อตั้งบริษัท Advertigo ซึ่งเป็นบริษัทโฆษณาดิจิทัลที่เชี่ยวชาญด้านการปรับแต่งโฆษณาให้เหมาะกับความต้องการของผู้ใช้

ในเวลานั้น Tradedoubler ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการตลาดออนไลน์ของสวีเดนก็ได้รับการจดทะเบียนใน NASDAQ Tradedoubler รู้สึกทึ่งกับเทคโนโลยีของเอ็กและตัดสินใจเข้าซื้อทันที เขากลายเป็นเศรษฐีในชั่วข้ามคืน แต่ชีวิตก็ยังรู้สึกว่างเปล่าอยู่ดี

มีทุกอย่าง เงินทองมากมาย รถเฟอร์รารี่ บ้านหรูในสตอกโฮล์ม ในวัย 23 ปี แต่เขาไม่มีความสุข มีแต่คนแวดล้อมเขาเพราะเงินและเปลือกนอก มีอะไรบางอย่างที่ขาดหายไปในชีวิตของเขา

ความเศร้าและความเหงาทำให้เขาปลีกตัวออกห่างจากคนอื่น ๆ เทคโนโลยีที่เป็นแพสชันไม่ได้นำพาความสุขมาให้ เขาใช้ช่วงเวลานั้นกลับไปหาสิ่งที่เขารักอีกอย่างหนึ่งก็คือเสียงเพลง ซึ่งเขารักเสียงดนตรีมาตั้งแต่เด็ก คุณย่าเป็นนักร้องโอเปราและคุณตาเป็นนักเปียโน ส่วนตัวเขาเองก็เล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เชี่ยวชาญเครื่องดนตรีหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น กีตาร์ ฮาโมนิกา กลอง หรือเปียโน

ในช่วงเวลานั้นเอ็ก กับ มาร์ติน ลอเรนต์ซอน ​(Martin Lorentzon) ผู้ก่อตั้ง Tradedoubler ได้กลายเป็นเพื่อนสนิทกันและพูดคุยกันอยู่เสมอ ทั้งคู่มีปัญหาเดียวกันนั่นก็คือประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ก็ไร้ซึ่งเป้าหมายในชีวิต ลอเรนต์ซอนคุยกับเอ็กตลอดเวลาว่าถ้ามีไอเดียที่เจ๋ง ๆ บ้าบิ่น และน่าเสี่ยง ไอเดียที่สามารถไปแข่งกับสตาร์ทอัปในซิลิคอนวัลเลย์ก็บอกได้เลย และพร้อมจะลงทุนด้วย

กำเนิด Spotify

ทั่วโลกในช่วงต้นยุค 2000’s อุตสาหกรรมเพลงสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการจำหน่ายแผ่นซีดีเพลงที่ราคาแสนแพง คนส่วนใหญ่ต้องเก็บเงินเพื่อนำมาซื้อแผ่นซีดีที่บรรจุเพลง 10-12 เพลงในราคาหลายร้อยบาท มีเว็บไซต์หนึ่งชื่อว่า The Pirate Bay ซึ่งได้รวบรวมเอาเพลงมาไว้บนโลกออนไลน์ให้คนได้โหลดฟรี ๆ ซึ่งแน่นอนว่าสร้างความไม่พอใจให้กับค่ายเพลงทั้งตลาดเลยในตอนนั้น

เอ็กผู้ซึ่งชื่นชอบในเสียงดนตรีมองว่านี่เป็นปัญหาที่น่าสนใจ ผู้บริโภคเข้าถึงดนตรีแบบถูกกฎหมายได้ยาก (ราคาแพง) ส่วนค่ายเพลงเองก็เริ่มกังวลว่าอินเทอร์เน็ตจะทำให้การโหลดเพลงแบบผิดกฎหมายนั้นง่ายขึ้นเรื่อย ๆ

นั่นจึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดีย เอ็กอยากจะพัฒนาคอนเซ็ปต์ของ Pirate Bay ให้ดียิ่งขึ้น ถูกกฎหมาย และจริงใจต่อทั้งสองฝ่าย เขาอยากจะสร้างเว็บไซต์ที่คนสามารถเข้ามาฟังเพลงได้ฟรี​ โดยเจ้าของลิขสิทธิ์หรือศิลปินก็ต้องได้ส่วนแบ่งอะไรบางอย่างไปด้วย

นอกจากเรื่องเทคโนโลยีที่ต้องสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการฟังเพลงผ่านอินเทอร์เน็ตแล้ว ความท้าทายใหญ่อีกเรื่องคือการโน้มน้าวอุตสาหกรรมเพลงให้เห็นด้วยในสิ่งที่เขาทำด้วย

จนในที่สุดปี 2006 สปอติฟายเวอร์ชันสวีเดนก็ถือกำเนิดขึ้นมา ตอนนั้นพวกเขาขอให้บุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการเพลงของประเทศมาทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ นอกจากต้องการฟีดแบ็กจากคนที่ฟังเพลงจริง ๆ แล้ว มันยังสร้างการบอกต่อให้กับคนทั่วไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมนี้ด้วย

โหลดสปอติฟาย ฟังเพลงผ่านอินเทอร์เน็ตได้ฟรี คุณภาพดี กดปุ๊บเล่นปั๊บ แม้จะมีโฆษณาคั่นบ้างบางครั้งก็ไม่ได้รบกวนเกินไป และมันก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

ภายในเวลาแค่สองปีสปอติฟายระดมทุนเพิ่มไปได้อีก 85 ล้านเหรียญ และค่อย ๆ ขยายไปยังประเทศอื่น ๆ และเข้าสู่อเมริกาในปี 2011 โดยใช้โมเดลแบบ ‘Invite-Only’ ให้เพื่อนชวนเพื่อนและได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ๆ

แม้ว่าจะใช้เวลาหลายปีกว่าค่ายเพลงและเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงต่าง ๆ จะยอมรับในไอเดีย (โดยเฉพาะในอเมริกามีการต่อต้านไม่น้อย) แต่สุดท้ายเมื่อเจ้าใหญ่ ๆ ในอุตสาหกรรมเพลงอย่าง EMI, Universal, Sony และ Warner Music เห็นตรงกันว่านี่คือหนทางที่จะทำให้ธุรกิจเพลงไปต่อได้ ไม่งั้นคนก็จะโหลดเพลงแบบผิดกฎหมายกันเหมือนเดิม สปอติฟายก็เติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ภายในปี 2013 สปอติฟายมีผู้ใช้งานราว ๆ 30 ล้านคน และในนั้นมี 8 ล้านคนที่สมัคร Premium Subscription ที่เป็นบริการระบบรายเดือนแบบไม่มีโฆษณา

ตอนนี้สปอติฟายให้บริการใน 184 ประเทศทั่วโลก มีผู้ใช้งานรายเดือนราว 500 ล้านคน และมีผู้ใช้งานแบบสมาชิกรายเดือน 180 ล้านคน และมีมูลค่ามากกว่า 24,400 ล้านเหรียญหรือราว ๆ 850,000 ล้านบาท ครองตลาดสตรีมมิงเพลงอยู่ราว 1/3

สำหรับเอ็กแล้วความสำเร็จของสปอติฟายไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยตัวเงินแต่มันเริ่มมาจากสิ่งที่เขารักนั่นก็คือเสียงดนตรี เป็นแพสชันที่อยากจะสร้างบางอย่างที่ยิ่งใหญ่และเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนอื่น ๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ (มีศิลปินมากมายที่ตอนนี้สร้างรายได้จาก Spotify เป็นอาชีพหลัก) สิ่งที่เขาสนใจคือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มอบคุณค่าและความสุขผ่านเสียงเพลงไปยังผู้ใช้งานหลายล้านคนบนโลกใบนี้

ที่มา:

Wired BBC DM Talkies
The Global and Mail
Yahoo Finance Reuters

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส