หลายปีที่ผ่านมาเราได้ยินคำว่า ‘อินฟลูเอนเซอร์’ (Influencer) กันอยู่บ่อย ๆ
แรกเริ่มเดิมทีมันเกิดจากคนที่ทำรีวิวในสิ่งที่ตัวเองรัก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องสำอางค์ หรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากทำได้สักพักก็มีคนมาติดตามจำนวนหนึ่งจนสามารถสร้างกระแสหรือ ‘โน้มน้าว’ คนให้ซื้อของตัวที่ตัวเองรีวิวได้
สุดท้ายก็เกิดอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ขึ้นมา ภายหลังแบรนด์ต่าง ๆ ก็จะเข้ามาจ้างเพื่อให้พูดถึงสินค้าของแบรนด์นั้น (จะเรียกว่าอวยก็คงไม่ผิดนัก) เพื่อให้เกิดการรับรู้และสร้างยอดขายใหม่ ๆ ล่าสุดจากรายงานของ Forbes บอกว่าอินฟลูเอนเซอร์ออนไลน์นั้นรวมกันขายสินค้าไปแล้วกว่า 3,600 ล้านเหรียญ หรือราว 220,000 ล้านบาท โดยในรายงานนี้ยังบอกอีกว่า 54% นั้นจะตัดสินใจซื้อสินค้าเลยในจังหวะนั้นหรือทันทีหลังจากนั้นเมื่อเห็นโพสต์บน Instagram ส่วน TikTok อยู่ที่ 55% และ Twitter อยู่ที่ 40%
แต่ว่าตอนนี้มีกระแสใหม่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ เป็นทางกลับกันเรียกว่า ‘ดีอินฟลูเอนเซอร์’ (Deinfluencer) หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่บอกว่าสินค้าตัวไหนที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรซื้อ ครีมตัวไหนที่ใช้แล้วไม่ได้อย่างที่เคลม หรือเสื้อผ้าแบรนด์ไหนซักครั้งเดียวแล้วหดเลย ฯลฯ
ถ้าใครใช้ TikTok อยู่น่าจะเริ่มเห็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงนี้แล้ว
วิดีโอของดีอินฟลูเอนเซอร์จะมีเนื้อหาไปทางเดียวกันก็คือบอกว่าสินค้าตัวไหนที่ไม่ดี สินค้าตัวไหนที่เป็นกระแสอยู่แล้วเอามารีวิว บอกความคิดเห็นแบบตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม ไม่ดีบอกไม่ดี อันไหนที่รู้สึกไม่คุ้มค่า หรือแพงก็จะคอยเตือน และที่สำคัญจะแนะนำสินค้าที่ดีกว่า หรือถูกกว่าให้กับผู้ชมด้วย
แมดดี้ เวลส์ (Maddie Wells) หนึ่งในดีอินฟลูเอนเซอร์สายบิวตี้ได้เข้ามาสู่วงการนี้ตั้งแต่ช่วง 2020 โดยเธอได้สังเกตเห็นเครื่องสำอางหลายชิ้นที่อินฟลูเอนเซอร์พูดถึงกันเยอะมากออนไลน์ กลับถูกลูกค้าเอามาคืนที่ร้าน Sephora ซึ่งเธอทำงานอยู่ในตอนนั้นเป็นจำนวนมาก และเธอก็เอาสินค้าเหล่านั้นมาเล่าโดยบอกว่า ‘ฉันขอเรียกว่าเป็นการ ‘ดีอินฟลูเอนซิ่ง’ (แนะนำให้ไม่ซื้อ) ก็แล้วกัน’
วิดีโอนั้นมีคนดูไปกว่า 2.5 ล้านวิว และหลังจากนั้นกระแสก็เริ่มเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ
แม้คำว่า ‘Deinfluencer’ จะเป็นคำเรียกที่ใหม่ แต่ถ้ามองไปยังพฤติกรรมหรือสิ่งที่ทำแล้วก็ต้องบอกว่าไม่ได้ใหม่อะไรนัก เพราะเราเห็นกันบ่อยครั้งที่ลูกค้าออกมารีวิวสินค้าที่กำลังเป็นกระแสแล้วใช้จริงไม่ได้ดีอย่างที่โฆษณา เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนไม่มีชื่อเรียกเท่านั้น
หลายคนสร้างชื่อเสียงในการเป็นดีอินฟลูเอนเซอร์โดยแชร์ประสบการณ์ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองชอบ เทียบกับของที่ราคาแพงกว่า แล้วก็ทำให้เห็นเลยว่าของที่แพงบางทีก็ไม่ได้ดีกว่าอะไรนัก ซึ่งแบรนด์ที่พวกราคาถูกหรือแบรนด์ที่ถูกแนะนำก็จะส่งผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมาให้ใช้เพิ่มหรือจ้างให้รีวิวเพิ่มอีก
เหตุผลที่ทำให้กระแสนี้กลายเป็นที่พูดถึงขึ้นมาก็เพราะว่าตอนนี้ไม่ว่าเราจะอยู่บนแพลตฟอร์มไหนก็หนีไม่พ้นการรีวิวหรือโฆษณา โดยเราไม่มีทางรู้เลยว่าอันไหนเป็นรีวิวแบบจริงใจ หรือแค่จ้างมาให้พูดอวยเอาเงิน จึงไม่มีทางรู้ว่าสินค้าตัวไหนจะคุ้มค่ากับเงินที่หามาด้วยหยาดเหงื่ออย่างยากเย็น
เมื่อผู้บริโภคเริ่มรู้สึกว่าอินฟลูเอนเซอร์นั้นเป็นของปลอมกันทั้งสิ้น การมีคนออกมาพูดความจริง ซื่อสัตย์ และตรงไปตรงมาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและลูกค้าก็เลือกที่จะเชื่อมากกว่านั่นเอง
คำถามต่อมาก็คือว่าแล้วแบบนี้มันไม่ใช่การ ‘โน้มน้าว’ หรือ ‘แนะนำ’ อีกรูปแบบหนึ่งเหรอ? เพราะที่จริงการบอกว่าสินค้าหนึ่งไม่ดี แต่อันนี้ดีกว่า ก็สามารถรับเงินโฆษณาจากอีกแบรนด์หนึ่งได้นี่นา?
ถ้ามองในมุมนั้นก็ใช่ครับ เพราะเมื่อเรามีผู้ติดตามหรือคนที่ดูคอนเทนต์ที่เราสร้างมากเพียงพอ ยังไงมันก็คือการแนะนำรูปแบบหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ได้รับเงินสปอนเซอร์จากแบรนด์ มันก็ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่ดี เพราะเอาเข้าจริงมันก็เป็นไปได้ที่แบรนด์จะจ้างดีอินฟลูเอนเซอร์ให้พูดถึงสินค้าคู่แข่งในทางลบก็ได้
มันเป็นเส้นบาง ๆ ของความโปร่งใสของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์และดีอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ด้วย การบอกว่า “ใช้สินค้า A แล้วชอบมาก นี่ไม่ได้เงินมาพูดเลยนะ แต่อีกตัวหนึ่ง สินค้า B อันนั้นลองแล้วไม่ค่อยเวิร์กเพราะ…” กับการบอกว่า “ใช้สินค้า A อยู่แล้วดีมาก ดีกว่าตัวสินค้า B ที่ขายกันเยอะ ๆ อันนั้นลองใช้แล้วไม่ได้เรื่องเลย” พูดต่างกันแค่นิดเดียว แต่ความหมายที่แฝงอยู่ข้างหลังต่างกันคนละเรื่องเลย
จัสมิน เอ็นเบิร์ก (Jasmine Enberg) นักวิเคราะห์โซเชียลมีเดียจาก Insider Intelligence กล่าวว่า “Deinfluencing ก็คือการแนะนำ ครีเอเตอร์ก็ยังคงใช้อำนาจของตนเพื่อโน้มน้าวการตัดสินใจซื้อของประชากรกลุ่มใหญ่ พวกเขาเพียงแค่ปรับตัวตามเทรนด์ให้โดนใจผู้บริโภคในช่วงที่เศรษฐกิจขาลง”
สุดท้ายแล้วดีอินฟลูเอนเซอร์ก็คืออินฟลูเอนเซอร์แบบหนึ่งใช่ไหม? พูดแบบนั้นก็ไม่ผิดครับ แต่อาจจะมีความโปร่งใส มีความจริงใจ ใช้จริง เจ็บจริงมาแล้ว ก็มาแชร์มาพูดได้ แต่ถามว่าก็ยังเป็นการแนะนำแบรนด์อื่น ๆ หรือโน้มน้าวให้เกิดการซื้อ (ไม่ซื้อ) สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ไหม? ก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ และที่สำคัญก็ยังมีโอกาสทำเงินได้ แต่ข้อดีก็อาจจะเป็นการอวยแบรนด์ที่ใช้อยู่แล้วจริง ๆ ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่แย่อะไรนัก
ที่มา: The Wall Street Journal
Forbes
The Guardian
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส