ถึงแม้ตอนนี้บริษัทใหญ่ ๆ อย่าง Amazon, Disney, Apple, Meta และ Twitter ต่างเริ่มออกมาแสดงความต้องการให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศกันมากขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2023 แต่แบบสำรวจที่ทำโดย IWG (บริษัทผู้ดูแลและบริหารแบรนด์พื้นที่สำนักงานชั้นนำ) ที่เก็บข้อมูลมุมมองและความต้องการจากพนักงานเต็มเวลากว่า 1,015 คนในสหรัฐอเมริกาในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 พบว่าการทำงานแบบไฮบริดหรือรีโมตจากบ้าน (อาจจะมีเข้าออฟฟิศบ้างบางวัน) ยังคงได้รับความนิยมมากกว่าการกลับเข้าออฟฟิศอยู่ดี
ซึ่งนั่นไม่ใช่แหล่งข้อมูลเดียวที่บ่งบอกเรื่องนี้ เพราะข้อมูลจากหลาย ๆ แห่งจากพนักงานก็ดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะฉะนั้นการบังคับให้พนักงานทุกคนกลับเข้าออฟฟิศ ทำงานแบบ 9-5 จันทร์ถึงศุกร์เหมือนเดิมอาจไม่ง่ายนัก พนักงานที่ไม่ได้ต้องพบเจอกับลูกค้าโดยตรงส่วนใหญ่ก็ยังคงจะทำงานแบบไฮบริดและรีโมตซะเป็นส่วนใหญ่ในระยะยาวเลยทีเดียว
ยอมรับเงินน้อยลงเพื่อทำงานไฮบริด
ในแบบสำรวจนั้นพบว่า 67% ของผู้ตอบแบบสอบถามพร้อมที่รับเงินเดือนน้อยลงเพื่อจะได้ทำงานแบบนี้ต่อไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก โดย 24% ของคนที่มีรายได้ 150,000 เหรียญ/ปี (5.1 ล้านบาท) นั้นพร้อมลดเงินตัวเองลงถึงปีละ 40,000 เหรียญ (1.36 ล้านบาท) หรือคิดเป็นการลดเงินเดือนลงถึง 26% เลยทีเดียว เพื่อจะได้ทำงานแบบไฮบริดต่อไป
อีกเรื่องหนึ่งที่แบบสำรวจชิ้นนี้แสดงให้เห็นชัดเจนคือเรื่องแนวคิดที่แตกต่างกันของพนักงานในแต่ละช่วงวัยด้วย ยกตัวอย่าง 22% ของกลุ่ม Millenials และ Gen Z พร้อมที่จะลดเงินเดือนตัวเองลง 31- 40% เพื่อให้ไม่ต้องเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลา ส่วนคนยุค Boomer หรือ Gen X นั้นจะไม่ยอมอย่างแน่นอนถ้าต้องลดขนาดนั้น โดย 25% ของ Boomers และ 21% ของ Gen X จะยอมลดเงินเดือนเพียง 1-10% เท่านั้น
การทำงานแบบไฮบริดกลายเป็นผลประโยชน์พนักงาน
รูปแบบการทำงานแบบไฮบริดไม่เพียงแต่เป็นผลประโยชน์ที่พนักงานต้องการเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่พนักงานที่มีความสามารถจะเลือกว่าอยากทำงานที่ไหน กว่า 45% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าจะเปลี่ยนงานถ้าต้องกลับไปทำงานออฟฟิศตลอดเวลา และ 61% จะมองหางานที่ทำได้แบบไฮบริดในอนาคตถ้าต้องเปลี่ยนที่ทำงาน ความต้องการทำงานแบบไฮบริดที่เพิ่มขึ้นนั้นเน้นย้ำให้ว่าบริษัทต่าง ๆ ก็ต้องปรับตัวและกฎของบริษัทเพื่อให้สามารถดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถมาที่บริษัทด้วย
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจจากแบบทดสอบอันนี้ก็คือ 64% ของพนักงานเชื่อว่าบริษัทควรมีการลงทุนเพื่อสร้างระบบฝึกสอนการทำงานแบบไฮบริดให้กับพนักงานบริษัท เนื่องจากการทำงานแบบนี้มีทั้งความท้าทายและโอกาสใหม่ในการทำงานเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน
ถึงแม้จะมีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่ตัดสินใจลงทุนฝึกอบรมการทำงานแบบไฮบริด ทั้งผู้จัดการและพนักงานต่างก็เห็นประโยชน์ของการทำงานแบบนี้ว่ามันสร้างประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น ผู้จัดการ 65% เชื่อว่าพนักงานของพวกเขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในการทำงานแบบนี้ และพนักงานกว่า 60% ก็คิดว่าผู้จัดการมองว่าพวกเขาว่ามีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ 72% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าพวกเขาสามารถทำงานของตนได้ดีขึ้นตั้งแต่ปรับมาทำงานในรูปแบบนี้
ข้อมูลเชิงลึกจากการสำรวจนี้ก็บอกว่าวิธีบริหารทีมของผู้จัดการก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน ผู้ตอบแบบสอบถามระดับ C-Level กว่า 70% ปรับตัวให้เข้ากับวิธีการทำงานแบบรีโมตได้อย่างดี สื่อสารผ่านอีเมล โทรศัพท์ หรือข้อความเป็นประจำมากขึ้น และ 48% มีการเช็กอินแบบตัวต่อตัวแบบ 1:1 มากขึ้นเพื่อคุยกันเรื่องงาน เส้นทางอาชีพ ความพึงพอใจในงาน และปริมาณงานที่ถืออยู่ว่ามากน้อยแค่ไหน มีผู้จัดการเพียง 15% เท่านั้นที่บอกว่ายังทำเหมือนเดิมเหมือนเช่นก่อนโควิดจะเริ่มระบาด
ความสัมพันธ์กับเพื่อนที่ทำงานถือเป็นปัจจัยสำคัญในระบบไฮบริด
การเข้าสังคมกลุ่มเพื่อนนั้นเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบเดิมหรือไฮบริดก็ตาม กว่า 46% ของคนที่ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าความสัมพันธ์ของเพื่อนนั้นเป็นปัจจัยสำคัญเลยที่จะทำให้พวกเขาอยู่ที่บริษัทต่อไป 63% ของพนักงานแบบไฮบริดรายงานว่าความสัมพันธ์กับเพื่อนในออฟฟิศนั้นทำให้การทำงานนั้นมีความพึงพอใจมากขึ้น การค้นพบนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์และความสนิทสนมกันในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไฮบริดด้วย
ความต้องการเข้าสังคมและการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับพนักงานในการกลับไปที่ออฟฟิศ ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่ง (53%) กล่าวว่าการได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนร่วมงานเป็นเหตุผลหลักที่จะอยากเข้าออฟฟิศ มากกว่าเรื่องการเรียนรู้และโอกาสในการพัฒนาความสามารถ (43%) สิ่งอำนวยความสะดวก (40%) และสร้างความประทับใจให้กับผู้จัดการหรือหัวหน้า (24%) ซะอีก เพราะฉะนั้นเพื่อช่วยส่งเสริมในเรื่องนี้ องค์กรต้องสร้างโอกาสให้พนักงานได้ทำกิจกรรมร่วมกัน พบเจอกันแม้ว่าจะเป็นการทำงานแบบไฮบริดหรือรีโมทก็ตาม
อคติทางความคิดที่ปิดกั้นการยอมรับการทำงานแบบไฮบริด
แม้เราจะเห็นว่าการทำงานแบบรีโมตหรือไฮบริดนั้นมีข้อได้เปรียบมากกว่าการทำงานในออฟฟิศแบบเต็มเวลามากมายขนาดไหน ก็ยังมีหลายองค์กรที่ยังไม่เชื่อและไม่ปรับมาใช้โมเดลการทำงานแบบนี้ อคติทางความคิดสองประการคือความลำเอียงในสถานะปัจจุบัน (Status Quo Bias) และอคติยืนยันตัวเอง (Confirmation Bias)
ความลำเอียงในสถานะปัจจุบันหมายถึงแนวโน้มที่เราจะชื่นชอบสถานการณ์ปัจจุบันและต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ความลำเอียงนี้อาจทำให้เรารู้สึกไม่ค่อยเต็มใจที่จะสำรวจทางเลือกใหม่ๆ เช่น การปรับไปทำงานแบบไฮบริด แม้ว่าจะมีศักยภาพที่จะสร้างผลประโยชน์อย่างมากต่อองค์กรก็ตาม ผู้จัดการและผู้บริหารอาจรู้สึกสบายใจมากกว่าที่จะยึดติดกับการจัดการทำงานในสำนักงานแบบเดิม โดยมองว่ามีความเสี่ยงหรือมีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า
วิธีที่จะเอาชนะอคติตรงนี้ได้คือผู้มีอำนาจตัดสินใจต้องตระหนักถึงประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานแบบไฮบริด และใช้สติในการชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียอย่างเป็นกลาง ขอข้อมูลจากพนักงาน ทดลองโครงการต้นแบบเพื่อทดสอบประสิทธิผลของการทำงานแบบใหม่ และศึกษาตัวอย่างของบริษัทที่ประสบความสำเร็จด้วย
ส่วนอคติยืนยันตัวเองคือแนวโน้มที่จะสนับสนุนข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อที่มีอยู่แล้ว และเพิกเฉยหรือลดทอนหลักฐานที่ขัดแย้งกับความเชื่อเหล่านั้น ในบริบทนี้ อคติยืนยันตัวเองอาจทำให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจไปให้ความสำคัญกับความท้าทายหรือข้อเสียของการทำงานแบบไฮบริดโดยไม่สนใจผลประโยชน์มากมายอีกด้านหนึ่งเลย
ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารอาจจะโฟกัสไปที่ประเด็นเรื่องการสื่อสารที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่สามารถควบคุมประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้ ในขณะที่มองข้ามความพึงพอใจในการทำงานอยู่กับบริษัท และการสรรหาพนักงานที่มีความสามารถซึ่งมาจากการทำงานแบบไฮบริด การเลือกโฟกัสเพียงแค่ด้านลบบางจุดเป็นตัวขัดขวางแนวคิดใหม่ ๆ ด้วย
เพื่อลดอคติยืนยันตัวเอง ผู้มีอำนาจตัดสินใจจำเป็นต้องคอยมองหาและพิจารณามุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับเรื่องการทำงานแบบไฮบริด แง่มุมเชิงบวกและความสำเร็จที่องค์กรอื่น ๆ ทำมาก่อนแล้ว พูดคุยอย่างเปิดใจและพิจารณาข้อมูลที่กว้างขึ้น
โดยสรุปแล้วแบบสอบถามนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าการทำงานแบบไฮบริดนั้นช่วยเพิ่มความพึงพอใจให้กับพนักงานมากขึ้น แถมยังเป็นผลประโยชน์ที่ดึงดูดพนักงานให้อยากอยู่กับบริษัทและพนักงานใหม่ ๆ ให้เข้ามาทำงานด้วย เมื่อเข้าใจถึงความสำคัญของความยืดหยุ่น ความสัมพันธ์ทางสังคม และประสิทธิภาพการทำงาน องค์กรสามารถปรับแต่งนโยบายการทำงานแบบรีโมตหรือแบบไฮบริดให้เข้ากับสถานการณ์ของตัวเอง ตอบสนองความต้องการของพนักงานและยังคงแข่งขันในตลาดงานได้ ทั้งทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น และท้ายที่สุดจะทำให้พนักงานมีส่วนร่วมกับงานและมีประสิทธิผลมากขึ้นด้วย
ที่มา:
The Wall Street Journal Fortune
Forbes Bloomberg Google Docs
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส