มิชลิน (Michelin) ผู้ผลิตยางชั้นนำของโลกได้ประกาศการปฏิรูป 3 ด้านในโรงงานผลิต อันได้แก่ การปฏิรูปเชิงมนุษย์ การปฏิรูปทางเทคโนโลยี และการปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อมในวันสื่อมวลชนสากล (International Media Day) ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ โรงงานอุตสาหกรรมในเมืองกูนีโอ (Cuneo) ประเทศอิตาลี ซึ่ง beartai ได้รับเชิญไปร่วมงานนี้
มิชลินได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนายางล้อเสมอมา โดยเฉพาะในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงลึก ดังจะเห็นได้จากคุณสมบัติของรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ อย่างรถยนต์ไฟฟ้า มีน้ำหนักมากขึ้น ปรับแต่งได้ตามความต้องการมากขึ้น ให้ความสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม มิชลินจึงได้เพิ่มจำนวนขนาดยางล้อเพื่อรองรับน้ำหนักมากขึ้น ซึ่งส่งผลบวกต่อการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยเทคโนโลยีของมิชลิน ทำให้สามารถลดแรงต้านทานการหมุนของยางล้อ ประหยัดเชื้อเพลิงได้ 3,400 ล้านลิตร ตลอดอายุการใช้งานยางล้อในปี 2021 และช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 8,700 ล้านเมตริกตัน เมื่อเทียบกับปี 2020
หนึ่งไฮไลต์ของงานคือยางสำหรับทุกฤดูกาล (All-Season Tire) ที่มิชลินพัฒนาอย่างจริงจังในยุโรปที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเกิดหิมะตกโดยไม่คาดคิด ทำให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องเปลี่ยนยางล้อในแต่ละฤดูกาล (โดยปกติผู้ขับขี่ในเมืองหนาวจะมียางล้อสองชุดสำหรับสภาพอากาศที่หนาวและร้อน) มิชลินคาดว่าตลอดระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ตลาดยางประเภทนี้ในยุโรปจะเติบโตกว่า 11%
แน่นอนว่ายานยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน และมิชลินก็ได้ออกแบบยางล้อเพื่อยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ เนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้ามีสมรรถนะและข้อจำกัดเฉพาะตัว จึงมีความต้องการยางล้อที่มีคุณสมบัติสูงกว่ายางสำหรับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบสันดาป โดยยางล้อสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าจำเป็นต้องมีคุณสมบัติสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ อายุการใช้งานที่ยาวนาน เนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้ามีแรงบิดสูงกว่าปกติ, แรงต้านทานการหมุนของยางล้อ, การรับน้ำหนักบรรทุก ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานเนื่องจากต้องรองรับน้ำหนักของแบตเตอรี่รถด้วย และสุดท้ายคือการลดเสียงรบกวน ทั้งนี้ 70% ของระดับเสียงรบกวนที่เกิดจากยานยนต์ไฟฟ้ามาจากการขับขี่ ไม่ใช่จากเครื่องยนต์ “เมื่อพูดถึงยานยนต์ไฟฟ้า เรามองเห็นผลกระทบอย่างชัดเจนในเรื่องความต้องการยางมิชลินที่เหมาะกับยานยนต์ไฟฟ้า” ฟลอรองต์ เมอเนโกซ์ (Florent Menegaux) ประธานกรรมการบริหารกลุ่มมิชลินกล่าว “และเรายินดีที่จะบอกว่าเรามีผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เตรียมไว้แล้ว”
นอกจากนวัตกรรมยางล้อแล้ว กลุ่มมิชลินยังได้ดำเนินการปฏิรูป 3 ด้านในโรงงานผลิต อันได้แก่ การปฏิรูปเชิงมนุษย์ ผ่านการตั้งคำถามเชิงลึกในเรื่องเป้าหมายการจัดโครงสร้างองค์กรและพันธกิจ, การปฏิรูปทางเทคโนโลยี ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีด้านข้อมูลมาใช้ในวงกว้าง และการปฏิรูปทางสิ่งแวดล้อม บนฐานความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนดำเนินไปด้วยกันได้อย่างสมดุล
ที่สำคัญ มิชลินยังได้ปฏิรูประบบอุตสาหกรรมขององค์กรด้วยการปรับกระบวนการทำงานให้เข้าสู่ระบบดิจิทัลและการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาใช้งาน ตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมาได้มีการจัดเก็บข้อมูลสำหรับนำกลับมาใช้ภายใต้สภาพแวดล้อมในการทำงานแบบประสานความร่วมมือกัน เทคโนโลยีโรงงานอัจฉริยะ หรือ Factory 4.0 ซึ่งผสานการทำงานของหุ่นยนต์เข้ากับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ส่งผลให้การปฏิรูปดำเนินไปได้เร็วขึ้นถึง 10 เท่า โดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มคุณภาพการผลิตและความยืดหยุ่น นอกจากนี้ยังช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมในการทำงานและคุณสมบัติของพนักงาน นวัตกรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยส่งเสริมให้มิชลินบรรลุผลกำไรรายปีที่มีมูลค่าราว 60 ล้านยูโร (ราว 2,260 ล้านบาท)
beartai ได้มีโอกาสเยี่ยมโรงงานผลิตของมิชลินในกูนีโอ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยางรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันตกและเป็นหนึ่งในโรงงานที่ทันสมัยที่สุด ซีริลล์ โรเฌต์ (Cyrille Roget) ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมและการสื่อสารเชิงวิทยาศาสตร์ ได้พูดถึงการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในการผลิตยางล้อ ด้วยการสร้าง Iris Machine “ไอริสใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เข้าตรวจสอบจุดบกพร่องหรือข้อผิดพลาดของยางแต่ละเส้น ยิ่งตรวจสอบเจอข้อผิดพลาดมากเท่าไหร่ เธอก็จะยิ่งฉลาดมากขึ้นเท่านั้น เพราะเธอสามารถจดจำข้อผิดพลาดไว้ในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ” โรเฌต์บอกว่าไอริสช่วยให้การตรวจสอบยางล้อทำได้เร็วขึ้นและละเอียดแม่นยำขึ้นมาก เพราะเดิมทีคนงานที่เป็นมนุษย์ต้องตรวจสอบยางล้อจำนวนมากถึง 600 เส้นในหนึ่งกะ อีกทั้งบางจุดผิดพลาดยังเล็กจิ๋วมากจนมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้เนื่องจากยางล้อมีสีดำ นอกจากนี้มิชลินกำลังพัฒนา AI ในการสร้างสถานการณ์จำลองให้เหมาะสมกับการทดสอบวิ่งบนถนนและต่อสภาพอากาศ เพื่อพัฒนาและออกแบบยางให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดในอนาคต
สิ่งหนึ่งที่มิชลินให้ความสำคัญมาโดยตลอดคือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากโรงงานเชิงนิเวศ (Ecological Factories) ที่ช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตลงแล้วราวกึ่งหนึ่ง แต่เป้าหมายที่กลุ่มมิชลินตั้งไว้คือการบรรลุปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง 50% ในช่วงปี 2010-2030 การรับมือกับความท้ายทายดังกล่าวจะบรรลุผลได้ก็ต่อเมื่อกลุ่มมิชลินเร่งสร้างการรับรู้และการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Energy) อีกทั้งยังมุ่งมั่นที่จะลดปริมาณการใช้น้ำให้ลดลงมากกว่า 30% ภายในปี 2030 อีกด้วย
และเมื่อเร็วๆ นี้มิชลินได้เปิดตัวยางรถยนต์และยางรถโดยสาร 2 รุ่น ซึ่งผลิตจากวัสดุที่ยั่งยืนในสัดส่วนสูงถึง 45% และ 58% ตามลำดับ นวัตกรรมนี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของมิชลินที่จะบรรลุเป้าหมายในการผลิตยางล้อโดยใช้วัสดุที่ยั่งยืน 100% ภายในปี 2050 ดังที่เมอเนโกซ์กล่าวว่า “มิชลินปฏิรูปองค์กรอย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยมุ่งรับมือกับความท้าทายของตลาดยางล้อที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอด้วยเครื่องมือทางอุตสาหกรรมที่เป็นนวัตกรรมใหม่และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งยังเป็นเครื่องมือที่มนุษย์มีบทบาทสำคัญ วัฒนธรรมซึ่งมุ่งเน้นนวัตกรรมของทีมงานมิชลินช่วยขับเคลื่อนให้กลุ่มมิชลินคาดการณ์และคิดค้นแนวทางแก้ปัญหาใหม่ๆ ได้ทุกวัน เพื่อตอบสนองความคาดหวังของลูกทีมและสังคม ด้วยเหตุนี้เราจึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของเรา ทั้งในธุรกิจยาง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยาง และธุรกิจอื่นนอกเหนือจากยางได้อย่างแน่นอน”
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส