ตอนที่ คริส แคชทาโนวา (Kris Kashtanova) พิมพ์คำสั่ง “Zendaya leaving gates of Central Park, Sci-fi scene future empty New York….” ให้โปรแกรม AI สำหรับสร้างภาพกราฟิกที่เรียกว่า Midjourney เมื่อปีก่อน เธอไม่มีทางรู้ได้เลยว่าหลังจากนั้นมันจะกลายมาเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของงานภาพที่สร้างขึ้นด้วย AI ในเวลาต่อมา
แคชทาโนวา ใช้ชุดคำสั่งอีกมากมายเพื่อสร้างผลงานหนังสือกราฟิกความยาว 18 หน้า เนื้อเรื่องเกิดขึ้นในเมืองแมนฮัตตันที่ถูกทิ้งร้างในอนาคตอีกหลายร้อยปีข้างหน้า โดยตัวละครหลักที่มีหน้าตาคล้ายกับนักแสดงชื่อ เซ็นเดยา (Zendaya) ก็ต้องเอาชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมอันโหดร้าย
เดือนกันยายน 2022 แคชทาโนวาประกาศบนโซเชียลมีเดียว่าผลงานศิลปะที่สร้างขึ้นมาด้วย AI สามารถจดลิขสิทธิ์และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย เปรียบเสมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่ง
แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน เรื่องก็หักมุม จู่ ๆ สำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ (U.S. Copyright Office) ก็กลับคำตัดสิน และแคชทาโนวาก็กลายเป็นบุคคลแรกในประเทศที่ถูกถอดการคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับงานศิลปะที่สร้างด้วย AI สำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ กล่าวว่าภาพในหนังสือที่ชื่อว่า “Zarya” (ที่เธอทำ) “ไม่ใช่ผลงานการประพันธ์ของมนุษย์” แม้จะอนุญาตให้ลิขสิทธิ์ในการเรียบเรียงและโครงเรื่อง แต่ในส่วนของงานกราฟิกแล้วถือว่าไม่ใช่ผลงานของแคชทาโนวาที่สร้างขึ้นมา
ดูเหมือนว่าเรื่องจะยังไม่จบง่าย ๆ แคชทาโนวากลับมาอีกครั้งพร้อมกับทีมนักกฎหมายกับหนังสือเล่มใหม่ ครั้งนี้เธอหันไปใช้โปรแกรม AI ที่เรียกว่า Stable Diffusion ซึ่งสามารถสร้างรูปภาพจากสเก็ตช์ที่เธออัปโหลดขึ้นไป พร้อมกับชุดคำสั่งที่ต้องการให้ภาพกราฟิกออกมา ครั้งนี้เธอเชื่อว่าการเริ่มต้นจากงานที่วาดเองกับมือจะเพียงพอสำหรับการโน้มน้าวสำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ ว่านี่คือผลงานของ “มนุษย์” และเริ่มต้นจากเธอจริง ๆ
แคชทาโนวากล่าวว่า “มันจะเป็นเรื่องที่แปลกมาก ๆ เลยถ้าครอบครองลิขสิทธิ์ไม่ได้”
ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้มีการตัดสินไปทางใดทางหนึ่ง เมื่อสำนักข่าว Reuters ไปถามทางสำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ ก็ไม่ได้มีคอมเมนต์อะไรกลับมา แม้แต่ Midjourney หรือ Stability AI ก็ไม่ออกความเห็นเช่นเดียวกัน
ไม่มีใครรู้ว่าจะออกหน้าไหน
ในขณะที่โปรแกรม AI อย่าง ChatGPT, Midjourney หรือ Stable Diffusion ยังคงสร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างไม่หยุดหย่อนและมีจำนวนผู้ใช้งานเติบโตอย่างต่อเนื่อง ระบบกฎหมายก็ยังคงเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าและไม่มีการตัดสินหรือฟันธงว่าใครกันแน่เป็นเจ้าของ “ผลงาน” ที่ออกมา คนที่ใส่คำสั่ง? เจ้าของโปรแกรม? หรือบางที…อาจจะไม่มีเลย?
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกล่าวว่าปัญหาหนึ่งที่ทำให้การตัดสินใจครั้งนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนก็เพราะมันจะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มีเงินหลายพันล้านเหรียญขึ้นอยู่กับคำตอบตรงนี้
ไรอัน เมอร์กลีย์ (Ryan Merkley) อดีตหัวหน้า Creative Commons ซึ่งเป็นองค์กรของสหรัฐฯ ที่ออกใบอนุญาตเพื่อให้ผู้สร้างสามารถแบ่งปันผลงานของตนได้กล่าวว่าถ้าผู้ใช้งานและเจ้าของโปรแกรมได้รับลิขสิทธิ์สำหรับงานที่ออกมา แน่นอนว่าจะทำให้อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบและสร้างเม็ดเงินมหาศาล
ยกตัวอย่างบริษัทต่าง ๆ อาจจะใช้ AI เพื่อสร้างงานออกมามากมายในราคาที่ถูก เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานภาพ เสียง วิดีโอ หรือข้อความ เมื่องานเหล่านี้ถูกนำไปใช้ก็สามารถเรียกเก็บเงินได้ เมอร์กลีย์กล่าวต่อว่า “หน่วยงานกำกับดูแลด้านลิขสิทธิ์กำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมากในการมอบลิขสิทธิ์ให้กับผลงานที่สร้างจากคอมพิวเตอร์”
ในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ อีกมากมายส่วนใหญ่ ใครก็ตามที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานมักจะมีสิทธิ์ตามกฎหมายในทันที การจดทะเบียนลิขสิทธิ์เป็นการลงบันทึกแบบสาธารณะและเพื่อที่จะอนุญาตให้เจ้าของผลงานเรียกร้องสิทธิ์ที่บังคับใช้ในชั้นศาลได้
ซึ่งที่ผ่านมาศาล (ไม่ว่าที่ใดในโลก) นั้นมองว่าผู้สร้างต้องเป็น “มนุษย์” อย่างที่เราทราบกันดี การปฏิเสธการคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับผลงานภาพของแคชทาโนวา สำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกาได้อ้างถึงคำตัดสินที่ปฏิเสธการคุ้มครองทางกฎหมายในอดีตที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างภาพเซลฟี่ที่ถูกถ่ายโดยลิงขี้สงสัยชื่อ ‘Naruto’ หรืออย่างเพลงที่ผู้ขอลิขสิทธิ์กล่าวว่าแต่งโดย ‘พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า’
อีกกรณีหนึ่งที่อาจจะสุดโต่งไปอีกสักหน่อย นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ คนหนึ่งชื่อว่า สตีเฟน ธาเลอร์ (Stephen Thaler) ยืนยันว่าโปรแกรม AI ของเขามีความรู้สึกและควรได้รับการยอมรับทางกฎหมายในฐานะผู้สร้างงานศิลปะและผลงานที่แมชชีนเหล่านี้สร้างขึ้น เขายื่นฟ้องสำนักงานลิขสิทธิ์แห่งสหรัฐอเมริกา ยื่นคำร้องต่อศาลสูงสหรัฐฯ และมีการยื่นฟ้องกรณีสิทธิบัตรต่อหน้าศาลฎีกาแห่งสหราชอาณาจักรอีกด้วย
ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ศิลปินและบริษัทมากมายที่ถือครองสิทธิ์ผลงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ ล้วนออกมาต่อต้านในกรณีนี้อย่างชัดเจน ไม่ให้มีการมอบลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าของโปรแกรม AI หรือคนที่เป็นผู้ใช้งาน โดยให้เหตุผลว่าโปรแกรมเหล่านี้ล้วนถูกสร้างขึ้นมาจากการฝึกด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาลและเป็นข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งบางส่วนก็ติดลิขสิทธิ์ด้วย ระบบ AI เหล่านี้กวาดเอาข้อมูลโดยไม่สนใจเลยว่างานเหล่านั้นจะเป็นของใครและที่สำคัญคือไม่ได้ขออนุญาตก่อนด้วย
บริษัทคลังภาพออนไลน์เจ้าใหญ่อย่าง Getty Images รวมไปถึงศิลปินอีกมากมายล้วนมีการยื่นฟ้องเจ้าของโปรแกรม AI อย่าง Midjourney, Stability AI และ ChatGPT ว่าละเมิดลิขสิทธิ์งานของพวกเขา ซึ่งแน่นอนครับเจ้าของโปรแกรม AI ก็ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ทันที
ซาราห์ แอนเดอร์เซน (Sarah Andersen) นักเขียนการ์ตูนและนักวาดภาพประกอบชาวอเมริกันคนหนึ่งบอกว่าการมอบสิทธิ์ให้กับงานของ AI คือการทำให้ “การขโมยเป็นเรื่องถูกกฎหมาย”
คำถามที่ยากจะตอบ
โจ แกรตซ์ (Joe Gratz) หนึ่งในทีมทนายความของแคชตาโนวากล่าวว่า “คำถามเหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ยากและมีผลอย่างมากต่อเราทุกคนเลย”
ซึ่งสำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯบอกว่าหลังจากที่แคชทาโนวาโพสต์ลงโซเชียลมีเดียว่าผลงานที่เธอทำนั้นสร้างโดย AI จึงเปลี่ยนคำตัดสินเพราะตอนที่ตรวจสอบครั้งแรกเมื่อปีก่อนนั้นข้อมูลตรงนี้ “ยังไม่ชัดเจน” และหลังจากที่ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมจึงถอดการคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับงานศิลปะที่สร้างด้วย AI
หลังจากนั้นสำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ ก็อธิบายต่อด้วยว่าในอนาคตคนที่สมัครขอสิทธิ์คุ้มครองต้องอธิบายตรงนี้ให้ชัดเจน และงานที่สร้างด้วยระบบ AI มีความเป็นไปได้ว่าจะไม่ได้รับการจดลิขสิทธิ์ เพราะ “สิ่งสำคัญคือขอบเขตที่มนุษย์สามารถควบคุมความคิดสร้างสรรค์ได้” นั้นไม่ชัดเจน
นั่นจึงเป็นที่มาของการขอจดลิขสิทธิ์ครั้งใหม่ที่แคชตาโนวาชื่อว่า ‘Rose Enigma’ โดยเธอใช้ภาพที่วาดขึ้นมาเองเพื่อป้อนเข้าไปใน Stable Diffusion อีกหนึ่งโปรแกรม AI ที่ได้รับความนิยม หลังจากนั้นก็ค่อยปรับแต่งด้วยคำสั่งต่าง ๆ ให้ออกมาในรูปแบบที่ต้องการ
ซึ่งงานนี้ก็ถูกส่งไปเพื่อขอลิขสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว (แต่ยังไม่มีคำตัดสิน) และจะไปโผล่ในหนังสือเล่มใหม่ของเธอที่ชื่อว่า ‘For My A.I. Community’ ด้วย
สุดท้ายคนที่จะได้รับสิทธิ์ในงานที่สร้างด้วย AI จะเป็นใคร? มนุษย์? แมชชีน? หรือผู้สร้างแมชชีน? หรือไม่ใช่ของใครเลย? ต้องมารอลุ้นกันครับ
ที่มา:
Reuters Reuters
Reuters Bloomberg
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส