จากการเป็นคนรักการฟังแผ่นเสียง เพชร – วัชรพล เตียวสุวรรณ เริ่มต้นทำธุรกิจพรีออเดอร์เครื่องเล่นตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ จนกลายเป็นไอเดียเริ่มต้นของ Gadhouse เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบรนด์คนไทยที่มีชื่อเสียงในระดับสากล โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี
“ตอนนั้นน่าจะประมาณปี 2010 กว่า ๆ แผ่นเสียงเริ่มกลับมาแล้วในอังกฤษ ในอเมริกา แต่สำหรับในไทยตอนนั้นเรายังไม่เห็นคนเล่นที่เป็นวัยรุ่น แต่ในต่างประเทศจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นเล่น เป็น culture ของพวกเขาอยู่แล้ว และเราก็เล่นอยู่แล้ว” เพชรคุยกับ beartai Weekly บนชั้นสองของร้าน Format BKK ในซอยเอกมัย 12 ซึ่งเป็นทั้งคาเฟ่ ร้านขายแผ่นเสียง และโชว์รูมของ Gadhouse แถมกลางคืนยังกลายร่างเป็นบาร์อีกด้วย
หลังจากที่หนุ่มวิศวะคนนี้กลับมาทำงานประจำที่ไทย เขาก็ยังไม่ละทิ้งความฝันเรื่องเครื่องเล่นแผ่นเสียง กระทั่งตัดสินใจออกงานและได้จับมือกับเพื่อนก่อตั้งธุรกิจเครื่องเล่นแผ่นเสียง Gadhouse โดยใช้เวลาในการคิดวางแผนธุรกิจและหาซัปพลายเออร์อยู่ประมาณหนึ่งปี “เรามีสองส่วนคือดีไซน์กับเสียง เราดีไซน์กันเองที่ไทยและส่งไปให้ซัปพลายเออร์ที่จีน จากนั้นซัปพลายเออร์ก็ส่งกลับมาเป็นม็อกอัปอยู่ 5-6 รอบ จริง ๆ เราก็มองหาซัปพลายเออร์ในไทย แต่ไม่มี เพราะทุกวันนี้เครื่องเล่นแผ่นเสียงแบรนด์ใหญ่ ๆ ก็ผลิตในจีน ยกเว้นแบรนด์ระดับไฮเอนด์ที่ผลิตในยุโรปและอเมริกาไปเลย แต่เราวาง position ตัวเองจาก pain point ที่ราคาเริ่มต้นเครื่องเล่นแผ่นเสียงของต่างประเทศยังไม่ตอบโจทย์คนไทย การผลิตที่จีนเลยตอบโจทย์เรื่องนี้” เพชรเล่า
ชื่อ Gadhouse เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่เพชรรับพรีออเดอร์ โดยมาจากคำว่า Gadget รวมกับ House “ในตอนแรกเรากะจะนำเข้าแกดเจ็ตอย่างอื่นด้วย แต่ไป ๆ มา ๆ ก็เน้นไปที่เครื่องเล่นและอุปกรณ์แผ่นเสียงอย่างเดียว ผมนึกชื่อใหม่ไม่ออกด้วย เลยใช้ชื่อเดิมละกัน มีเพจอยู่แล้วด้วย” เพชรเล่า เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นแรกของ Gadhouse ที่ออกมาในปี 2016 คือรุ่น Brad Retro ที่มีสีสันในสไตล์เรโทร จำหน่ายในราคา 5,900 บาท ซึ่งผลตอบรับในไทยยังไม่ค่อยดีนัก ด้วยเหตุที่ตลาดยังเฉพาะกลุ่มมาก เพชรจึงเริ่มจำหน่ายใน Amazon ของอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น ส่งผลให้เริ่มขายดีและเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ “มีคนไทยไปเสิร์ชเจอและซื้อกลับมาโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นแบรนด์ไทยก็มี (หัวเราะ) ทำให้เราเริ่มมองเห็นภาพว่าคนคิดว่าเป็นแบรนด์ต่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ตอนนั้นเราเลยตั้งเป้าว่าคนไทยต้องมอง Gadhouse ว่าเป็นแบรนด์ต่างประเทศ ทุกอย่างต้องเป็นภาษาอังกฤษหมด อยู่ในเว็บต่างประเทศให้ได้มากที่สุด และจากนั้นก็เริ่มมี distributor ติดต่อเข้ามา แต่ในช่วงหลังเราก็เริ่มเล่าว่าเป็นแบรนด์ไทยมากขึ้น เผื่อต่อยอดอย่างอื่นได้ด้วย”
คอนเซ็ปต์ของ Gadhouse ถูกวางไว้ให้เป็นบ้านที่เรโทรโมเดิร์น ย้อนยุคแต่ยังทันสมัย อย่างดีไซน์รุ่นแรก Brad Retro ก็เป็นสีสันยุค 50’s – 60’s หลังสงครามโลก หรืออย่างรุ่นใหม่ Cosmo ก็มีดีไซน์ล้ำสมัยแบบ Y2K ถือเป็นการเล่นสนุกไปตามยุคสมัย นอกจากดีไซน์ที่สวยเท่และราคาที่จับต้องได้แล้ว จุดเด่นของเครื่องเล่นแผ่นเสียง Gadhouse คือ ‘เล่นง่าย’ นับตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นอย่าง Brad Retro จนถึงรุ่นคุณภาพสูงราคาหลักหมื่นอย่าง Mathis มาพร้อมบลูทูธในตัว ทำให้ผู้เล่นสามารถเชื่อมต่อกับลำโพงบลูทูธได้ทันที ไม่ต้องใช้สายต่อเข้าแอมพลิฟายเออร์หรือปรีโฟโนเหมือนเครื่องเล่นแผ่นเสียงสมัยก่อน “เรามองตัวเองเป็นกลุ่ม beginner มองตลาดที่เป็นคนเริ่มเล่นแผ่นเสียง คนเริ่มเล่นต้องการอะไร ต้องการความง่าย ให้ต่อกับลำโพงบลูทูธได้เลย เพราะทุกวันนี้ทุกคนก็เชื่อมมือถือกับลำโพงอยู่แล้ว และราคาก็จับต้องได้ คุณภาพเสียงก็ไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นดีเลิศเท่าเครื่องราคาแพง ๆ”
จากรุ่น Brad Retro ที่ราคาห้าหกพัน Gadhouse เริ่มผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงราคาหลักหมื่นที่คุณภาพสูงขึ้นกับรุ่น Henry และ Mathis ที่มีภาพลักษณ์ที่ดูโตขึ้น โทนอาร์มที่แข็งแรง หัวเข็มคุณภาพดีขึ้น และสามารถปรับเปลี่ยนได้ เพชรอธิบายว่า “พอตลาดมันโตขึ้น ผู้เล่นหลากหลายมากขึ้น หลากหลาย budget หลากหลายสไตล์ แต่เราก็ยังคงคอนเซ็ปต์ว่าเป็นผู้เริ่มต้นเล่นนะ ไม่ได้ไฮเอนด์ คือสุดเพดานประมาณนี้ อยาก offer ลูกค้าด้วยคุณภาพที่ดีขึ้นแต่ก็ยังเล่นง่าย ต่อบลูทูธกับลำโพงได้เลย แต่หัวเข็มอยู่ในเรนจ์ที่แบรนด์เมืองนอก 3-4 หมื่นใช้กัน เราเปลี่ยนซัปพลายเออร์ที่มีคุณภาพสูงขึ้นในการผลิต”
เพชรเล่าว่ากลุ่มลูกค้าในช่วงแรก ๆ คือวัยรุ่นเจน Z และเจน Y แต่ในระยะหลังเริ่มหลากหลายขึ้น “มีลูกค้าสองกลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่มองเป็นแฟชั่นก็คือไม่เคยสัมผัสแผ่นเสียงมาก่อน เสพสตรีมมิงจนรู้สึกว่าแผ่นเสียงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ อยากจะค้นหา และกลุ่ม Nostalgia คือคนที่เคยสัมผัสมาแล้วและโหยหาอดีต ก็จะเป็นพวกเจน X เป็นต้นไป” ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนฟังเพลงรุ่นใหม่หันมาสนใจเครื่องเล่นแผ่นเสียง เกิดจากการฟังเพลงสตรีมมิงที่เมื่อฟังเพลงใดบ่อย ๆ หรือมีศิลปินคนโปรดก็อยากมีของสะสมที่จับต้องได้ และแผ่นเสียงก็คือ Merchandise อย่างหนึ่งของศิลปินที่ทำรายได้ดีในยุคนี้
เป็นเรื่องแปลกที่พฤติกรรมการฟังเพลงยุคปัจจุบันอย่างสตรีมมิงพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกันยอดขายของแผ่นเสียงหรือไวนิลที่ถือกำเนิดมาเกือบศตวรรษกลับขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน “ผมว่ามันต้องมีวันดรอปลง แต่มันอาจจะไม่ได้ตายไป เพราะมันไม่เคยตาย มันคงมีขึ้นมีลงตามวิถีของมัน” เพชรกล่าว “แต่ผมมองว่าในฐานะแบรนด์เราก็ต้องคิดต่อว่าเราจะไปยังไงดี Gadhouse เลยมีทั้งลำโพง มี consumer มากขึ้น ถือเป็นแพลนของเราในปีสองปีต่อจากนี้” อีกพาร์ตนึงของบริษัทนอกเหนือจาก Gadhouse ก็คือการผลิตแผ่นเสียงและจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อ Drop the Needle ให้กับค่ายเพลงหรือศิลปิน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีแผ่นเสียงอัลบั้มดัง ๆ มากมาย อาทิ ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ ของพีพี-บิวกิ้น, ‘BIG’ ของเป้ อารักษ์, รวมฮิตในงาน Record Store Day ของสมอลล์รูม เป็นต้น
“ผมว่าเสน่ห์ของแผ่นเสียงคือความยากของมัน มันต้องมีพิธีกรรมอะไรบางอย่างที่เราต้องทำในการฟังเพลง” เพชรกล่าว “ผมคิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่เราได้ใช้เวลาช้า ๆ ในขณะที่ทุกอย่างมันเร็วไปหมด ผมว่าคนคงจะโหยหาช่วงเวลาแบบนี้ ได้มีอารมณ์สุนทรีกับบทเพลงที่เราชอบ ฟังแล้วย้อนเวลาได้ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุข”
ช่างภาพ: ศักดนัย กลางประพันธ์
กราฟิกดีไซเนอร์: พัฒนพล หวังพิทักษ์วงศ์
สถานที่: Format BKK ซอยเอกมัย 12
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส