AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์กำลังถูกยกย่องให้เป็นเทคโนโลยีแห่งทศวรรษ ด้วยพลังการประมวลผลที่เฉียบคมและความสามารถอันน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทความ การสร้างงานนำเสนอ หรือแม้แต่การสร้างรูปภาพในพริบตาเดียว ทั้งที่มนุษย์อาจต้องใช้เวลานานนับสัปดาห์ ซึ่งความสามารถเหล่านี้ล้วนมีผู้ที่ชื่นชอบและสนับสนุน ในขณะเดียวกันก็มีผู้ที่หวาดกลัวว่า AI จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ และอาจทำให้คนหลายล้านคนทั่วโลกต้องตกงาน
AI จะแย่งงานคนได้จริง ๆ หรือ? คือคำถามแรกที่ beartai Weekly พูดคุยกับ วิน – โอชวิน จิรโสตติกุล ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง FutureSkill แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ที่มุ่งเน้นทักษะแห่งอนาคต ซึ่งแทบจะทันทีที่คำถามจบลงเขาตอบว่า
AI แย่งงานคนได้แน่นอน
วินอธิบายเพิ่มเติมว่า ตำแหน่งงานที่ AI และหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ คือ งานประเภทกิจวัตรประจำวัน (Routine) ที่ต้องทำซ้ำ ๆ และงานที่ต้องใช้แรงงาน (Physical Work) แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่า แรงงานมนุษย์ที่ทำงานตรงนี้จะต้องตกงาน เพราะทุกคนสามารถเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่ตำแหน่งงานอื่น ๆ ได้ จากเดิมที่ทำงานเป็นงานกิจวัตรซ้ำ ๆ ก็ก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งงานที่มีการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ ซึ่งจะทำให้เรากลายเป็นคนที่ควบคุมการใช้งาน AI และหุ่นยนต์นั่นเอง
“ผมมองว่าบทบาทของแต่ละอาชีพจะเปลี่ยนไปมากกว่า และเอาเข้าจริง ๆ มันเปลี่ยนตลอดเวลาอยู่แล้ว ยกตัวอย่างอาชีพนักการตลาดเมื่อ 10 – 20 ปีที่แล้ว เขาใช้ทักษะคนละแบบเลยกับปัจจุบันทั้งที่เรียกว่านักการตลาดเหมือนกัน เช่นเดียวกันกับอาชีพอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ครีเอทีฟ หรือว่าโปรแกรมเมอร์ ซึ่งอาชีพเหล่านี้ยังคงอยู่ แต่ฟังก์ชันของงานอาจจะเปลี่ยนไป เนื่องจากมี AI เข้ามา” วินเล่า
การมาถึงของ AI ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ตลาดแรงงานเกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะก่อนหน้านั้นคือ Globalization หรือการแพร่กระจายของข่าวสารไปทั่วโลก ที่ทำให้ตลาดแรงงานไม่ได้ถูกจำกัดด้วยพรมแดนด้านภูมิศาสตร์อีกต่อไป คนที่พร้อมและมีทักษะมากกว่าสามารถได้รับข้อเสนอการจ้างงานจากทั่วโลก แต่เราจะสามารถเป็นคน ๆ นั้นได้หรือไม่? ก็อยู่ที่การปรับตัวและเพิ่มพูนทักษะใหม่ ๆ
เมื่อถามถึงการปรับตัว วินอธิบายว่า เราควรจะเริ่มปรับตัวทันที เมื่อมองเห็นความเปลี่ยนแปลงหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ แต่ก็ต้องไม่ใช่การกระโดดเข้าไปโดยที่ทุ่มสุดตัวอย่างไม่รู้อะไรเลย เนื่องด้วยอาการ FOMO หรือ Fear of Missing Out แต่เราควรจะเริ่มศึกษาความเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ และพยายามทำความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมรับทุกโอกาส
“เรื่องของ Disruption มันจะเร็วขึ้นเรื่อย ๆ และเทคโนโลยีก็ช่วยเร่งการเติบโต แปลว่าถ้าคุณไม่มีความรู้ในด้านนั้น ๆ คุณก็จะถูกทิ้งห่างออกไปเร็วมาก เมื่อเทียบกับคนที่เขามีความรู้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแล้ว คุณต้องลงไปทุ่มกับมันสุดตัวทันที พนันเงินทั้งชีวิตลงไป แบบนั้นมันเสี่ยงเกินไป แต่หมายความว่าให้ศึกษาไว้ก่อน เพราะการเป็น First Mover มันทำให้เรามีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่เข้ามาช้ากว่า” วินเล่า
หนึ่งในเทรนด์การปรับตัวเพื่อรับมือกับ AI ที่วินมองเห็น คือการเรียนรู้เพื่อใช้งาน AI โดยเขาอธิบายว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา บนแพลตฟอร์มของ FutureSkill มีผู้เรียนเกี่ยวกับการใช้งาน AI เพิ่มมากขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำ AI ไปใช้และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับงานของพวกเขา หมายความว่าในขณะที่คนบางกลุ่มกำลังหวาดกลัวว่า AI จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ คนกลุ่มหนึ่งกำลังเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับ AI โดยปรับให้ตัวเองเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีที่คล่องแคล่วและมีทักษะมากกว่าคนอื่น ๆ ในตลาดแรงงาน
“คนไทยจะเรียนเพิ่มเติมกัน 2 แบบ แบบแรกคือเรียนรู้ทักษะชุดใหม่ไปเลยเพื่อเปลี่ยนอาชีพ กับแบบที่ 2 คือเรียนเพื่ออัปเกรดตัวเองไปสู่ตำแหน่งงานที่สูงขึ้น ในขณะที่เทรนด์อาชีพในแต่ละปีก็จะไม่เหมือนกัน อย่างปีก่อน ๆ คือ Digital Marketing และ Data Analytics แต่ปีนี้มันคือ AI ซึ่งคนก็เข้าเรียนคอร์ส AI มากที่สุดจริง ๆ โดยส่วนมากมาเรียนเพื่อใช้งาน AI ให้ดีขึ้น เพราะหลายคนอาจจะเคยจับ เคยลองเล่น AI มาบ้าง แต่ไม่รู้ว่าการใช้งานที่แท้จริงมันเป็นอย่างไร เขาก็จะมาเรียนเพิ่มเติมจากคนที่มีประสบการณ์มากกว่า ในขณะที่บางคนคือไม่รู้จัก AI เลย เขาก็มาเรียนเพิ่ม เพื่อเปิดโลกของเขา เพื่อให้ทันกับโลกใหม่ที่เขายังไม่รู้จัก” วินเล่า
สำหรับมุมมองด้านจริยธรรมในการใช้งาน AI นั้น วินเห็นว่าการใช้งาน AI จะช่วยให้พนักงานสร้างผลงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคำถามที่ว่าการใช้งาน AI ถือว่าเป็นการโกงเพื่อร่วมงานคนอื่น ๆ หรือไม่ เขามองว่าตามปกติแล้วธุรกิจจะมองที่ผลลัพธ์มากกว่า หากการใช้งาน AI นั้นไม่ผิดต่อข้อกฎหมายหรือการละเมิดลิขสิทธิ์ การที่พนักงานสร้างผลงานได้มากขึ้นในกรอบเวลาทำงานเท่าเดิม ถือว่าเป็นเรื่องธุรกิจได้ประโยชน์ และหลายครั้งที่พนักงานที่มีทักษะเหล่านี้อาจได้รับการพิจารณาเพิ่มค่าจ้างอีกด้วย
ในส่วนของความกังวลที่ว่า หากมีการนำ AI มาใช้งานเพิ่มขึ้นจะทำให้ธุรกิจต้องปลดพนักงานออกหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในหลายปัจจัย แต่ซีอีโอของ FutureSkill ยังยืนยันในคำพูดเดิมของเขาว่า AI อาจจะทำให้บางตำแหน่งงานหายไป แต่มันก็จะเพิ่มบางตำแหน่งงานเข้ามาด้วยเช่นกัน ส่วนคำถามที่ว่า ธุรกิจจำเป็นต้องปลดพนักงานหรือไม่นั้น หากองค์กรยังดำเนินงานได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ เขาก็ไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องปลดใครออกไป
ตลอดการพูดคุยคำหนึ่งที่เราจะได้ยินจากวินบ่อย ๆ คือ “การเรียนรู้” โดยคำถามสุดท้ายที่ beartai Weekly พูดคุยกับเขาคือคนเราสามารถรับความรู้ได้เท่ากันหรือไม่ เพราะบางคนมักพูดว่า “เรียนไม่เข้าหัวเลย” วินมองว่าทุกคนเรียนรู้ได้เท่ากันหมด แต่ว่าแต่ละคนจะมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ การเรียนรู้ควรเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญในลำดับแรก ๆ เพราะสิ่งนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในอนาคต และนำไปสู่ผลตอบแทนที่มากขึ้นกว่าคนอื่น ๆ
“ผมไม่เชื่อว่าคนเราเรียนรู้ได้ไม่เท่ากัน ผมเชื่อว่าคนเราเรียนรู้ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ถ้าโอกาสตรงหน้ามันมีเท่ากัน ราคาเท่ากัน เข้าถึงได้เท่ากัน แล้วความไม่เท่ากันมันอยู่ตรงไหน มันอาจจะอยู่ที่ว่าเราไม่รู้ว่าตัวเองเหมาะกับวิธีการเรียนรู้แบบไหน หรือมันอาจจะอยู่ที่เราไม่ได้สนใจ หรือให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นมากกว่า ถ้าให้ผมเพิ่มเติมในเรื่องนี้ ผมมองว่าการเรียนรู้มันไม่ควรเป็นเรื่องรอง มันควรเป็นความสำคัญในลำดับต้น ๆ บางคนทำงานมาทั้งชีวิต แต่กลับรู้สึกว่าไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย และย่ำอยู่ที่เดิม แต่ถ้าเราทำงานไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย เราจะมองเห็นโอกาสมากกว่าคนอื่น ๆ ท้ายที่สุดแล้ว คนที่บอกว่าไม่มีเวลาเรียนและขอไปทำงานหาเงินดีกว่า หารู้ไม่ว่าการที่คุณมีทักษะมากกว่าคนอื่น อาจทำให้คุณหาเงินได้มากกว่าเดิมนะครับ”
ช่างภาพ: ธนพล แสงอนันต์ตระกูล
กราฟิกดีไซเนอร์: พัฒนพล หวังพิทักษ์วงศ์
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส