ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่สะสมฟิกเกอร์ โมเดล หรือกระทั่ง ‘อาร์ตทอย’ ครับ ในมุมมองของผม อาร์ตทอยไม่ได้เป็นแค่ของเล่น แต่เปรียบเสมือนอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถ ‘แสดง’ ให้คนอื่นเห็นถึงมุมมอง และตัวตนของเราได้

ท่ามกลางอาร์ตทอยต่างประเทศทั้งญี่ปุ่น จีน และอเมริกาที่ผมมี หนึ่งในอาร์ตทอยในครอบครองของผม คือ ‘HEARTROCKER on Throne Figure’ ฟิกเกอร์ของยูทูบเบอร์ชื่อดัง ที่เราติดตามเขามาตั้งแต่เด็ก แต่เขาเป็นคนไทย

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการผลิตฟิกเกอร์ที่ทั้งสวยงาม รายละเอียดแน่นขนัดอย่างใส่ใจ และที่สำคัญ เป็นอาร์ตทอย ‘ไทยแท้’ ชิ้นเดียวในคอลเล็กชันของผม นั่นคือ ไมค์ – ศรีภูมิ ทินมณี เจ้าของ TOYLAXY Unique Handcraft Studio

และผมในฐานะติ่ง เอ้ย ผู้เล่นอาร์ตทอยคนหนึ่ง จะพาทุกคนไปทำความรู้จักความเป็น TOYLAXY และแนวคิดของการนำอาร์ตทอย ให้ไปไกลยิ่งกว่าอาร์ตทอยกัน !

‘ไมค์ – ศรีภูมิ ทินมณี’ กับ ‘บัวขาว’ งานอาร์ตทอยชิ้นแรกของทาง TOYLAXY !

ก่อนจะเป็น TOYLAXY

คุณไมค์เล่าว่า เขาเริ่มทำธุรกิจด้านของเล่นมาตั้งแต่เขาอายุ 27 ปี (นั่นคือกว่า 13 ปีมาแล้ว) ด้วยความที่เขาเป็นคนชอบงานครีเอทีฟมานาน รวมถึงเรื่องของ ‘Pop Culture’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณไมค์ก็ว่าได้ แต่รู้หรือไม่ว่า ที่จริงแล้วก่อนที่คุณไมค์จะมาผลิตอาร์ตทอยแบบจริง ๆ จัง ๆ TOYLAXY เคยเป็นผู้นำเข้าของเล่นมาก่อน !

ในเวลานั้น ตลาดไทยมีผู้ที่ให้ความสนใจด้านการ ‘นำเข้าของเล่น’ เข้ามาขายในไทยค่อนข้างน้อย คุณไมค์ ที่สนใจในวงการนี้อยู่แล้ว จึงเห็นช่องทางในการทำธุรกิจ เกิดเป็นธุรกิจที่จะนำของเข้ามาขายขึ้น ในตอนนั้นเขาต้องคิดชื่อแบบเร็ว ๆ ในการดำเนินการนำเข้าสินค้าเข้ามาขาย จึงคิดง่าย ๆ เป็นคำว่า ‘TOY’ กับคำว่า ‘GALAXY’ ดีไหม เพราะกาแล็กซีมันก็ใหญ่ ๆ ดี และเหมือนเราเอาอะไรมาขายก็ได้ จึงเอา 2 คำนี้มารวมกัน เกิดออกมาเป็น ‘TOYLAXY’ หรือ ‘ทอย แลก ซี่’ ขึ้น ! (เป็นจักรวาลของเล่นเลยทีเดียว)

แต่ความแย่ของมันก็คือ คนชอบอ่านว่า ‘ทอย ลา ซี่’ ไง !

ไมค์ – ศรีภูมิ ทินมณี, เจ้าของ TOYLAXY

ทุกอย่างคือ ‘Curve ของการเรียนรู้’

คุณไมค์ใช้คำนี้อยู่บ่อยครั้งมาก เพราะหลังจากที่เขาได้นำพา TOYLAXY เข้าสู่วงการผลิตอาร์ตทอยเป็นครั้งแรกกับงาน ‘บัวขาว’ ทั้ง 2 เวอร์ชันที่ได้ลิขสิทธิ์มา เขาได้ผ่านการเรียนรู้ การทดลองทำมาหลากหลายอย่างมาโดยตลอด โดย 1 ในชิ้นงานที่เป็นประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งของเขาคือ ‘Frankenstein’ ที่ได้ทำรายละเอียดในตัวชิ้นงานที่ละเอียดมาก ๆ เป็นการทดสอบว่าถ้าเราใส่เต็มแล้วจะเป็นอย่างไร แต่กลายเป็นว่า เป็นการสร้างต้นทุนที่มากเกินเหตุ นำไปสู่ยอดขายที่ไม่ดีมากนักได้ ! ทำให้คุณไมค์รู้ว่า การทำชิ้นงานแต่ละชิ้น ก็ไม่ได้ยึดติดอยู่กับการทำงานให้ละเอียดเท่านั้น แต่เป็นการสร้างรายละเอียดในระดับทุนที่พอดีด้วย

‘Frankenstein’ หนึ่งในชิ้นงานที่มีรายละเอียดเยอะ แลกกับต้นทุนที่เสียไป เทียบกับอาร์ตทอยสมัยใหม่

ต่อมา เมื่อ TOYLAXY ได้พยายามติดต่อ Marvel เพื่อจะขอลิขสิทธิ์มาทำอาร์ตทอยของตัวเองนั้น นอกจากจะทำยากแล้ว ยังต้องมีข้อตกลงให้ผลิตอาร์ตทอยให้แตกต่างอีกด้วย กล่าวคืออาร์ตทอยที่ทำกับ Marvel ทุกชิ้น จะต้องมีฐาน ทำให้ 1 ในชิ้นงานของ TOYLAXY ลงรายละเอียดกับฐานมากจนเกินไป จนทำให้ตัวแบบไม่เด่น ทำให้คนไม่ให้ความสนใจไม่มากพอ และจมทุนได้ หลังจากนั้น TOYLAXY ก็เกิดการเรียนรู้ เข้าใจว่าผู้ซื้อ ผู้สะสมต้องการอะไร สนใจในสิ่งไหนมากกว่ากัน ตัวแบบ หรือฐานกันแน่ ทำให้เกิดเป็น 1 ในงานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดอย่าง ‘Blackpink Figure’ ที่เน้นตัวคนมากกว่าฐาน เพราะคนจะสนใจตัวคนมากกว่าฐานอยู่แล้วนั่นเอง

ศาสตร์ของอาร์ตทอยคือการคุมต้นทุน และบาลานซ์กับการเก็บรายละเอียดให้ดีด้วย

ไมค์ – ศรีภูมิ ทินมณี, เจ้าของ TOYLAXY

จนในปัจจุบัน TOYLAXY ก็ได้มีผู้ร่วมเข้ามาผลิตอาร์ตทอยผ่าน TOYLAXY มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Marvel หรืออินฟลูเอ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่อยากจะมีชิ้นงานของตัวเอง ให้เหล่าแฟนคลับได้นำไปสะสมกัน !

กว่าจะออกมาเป็นงานของ TOYLAXY ไม่ง่าย

การเป็นชิ้นงานของ ‘TOYLAXY’ นั้นต้องผ่าน ‘การคิด’ มาอย่างดี จากในคำขวัญ (?) ของบริษัทที่ว่า ‘Every Details Matter’ หรือรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สำคัญ การจะออกมาเป็นอาร์ตทอย 1 ตัว ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงใด จึงสำคัญไปด้วย

คุณไมค์เล่าว่า TOYLAXY อาจจะเป็นเจ้าเดียวในไทยเลยก็ว่าได้ ที่ทำอาร์ตทอยแบบ ‘ต้นน้ำถึงปลายน้ำ’ กล่าวคือทำตั้งแต่ออกแบบ ไปจนถึงผลิต และวางจำหน่าย ดังนั้น ถ้าสมมติว่ามีใครอยากทำอาร์ตทอยขายเอง ขั้นตอนแรกคือการ ‘Brainstorm’ หรือรวมไอเดียก่อน จาก ‘บรีฟ’ ของผู้ที่อยากทำ ว่าจะสามารถทำเป็นอาร์ตทอยได้หรือไม่, ต้นทุนเท่าไหร่, ต่อยอดได้หรือไม่ ซึ่งต้องมีการออกแบบตั้งแต่ต้น ก่อนจะเริ่มทำเป็น ‘2D Turnaround’ คือกางตัวละครออกมาเป็นโครง ก่อนจะส่งให้ทีมงานที่เชี่ยวชาญ ออกแบบโมเดลเหล่านั้นเป็น 3 มิติ ที่ไม่ใช่แค่ต้องเป็น 3 มิติที่สวยงาม แต่ต้องสามารถส่งโรงงานไปผลิตเป็นฟิกเกอร์ได้จริง เพราะถ้ารายละเอียดเจาะลึกไม่พอ หรือทำนูนไม่พอ รายละเอียดบนชิ้นงานก็จะหายไปจากในชิ้นอาร์ตทอยนั้น ๆ และมองไม่เห็นเมื่อเราผลิตออกมาแล้ว รวมถึงยังต้องลงรายละเอียดให้แต่ละชิ้นส่วนสามารถผลิตออกมาแล้วประกอบเข้าหากันได้ และทำให้แต่ละชิ้นรับน้ำหนักได้ดีด้วย

ต่อด้วยการ ‘Print Test’ คือทดสอบพิมพ์จริง เพื่อเช็คถึงขนาด, การรับน้ำหนัก, รายละเอียด ไปจนถึงการคำนวณต้นทุนว่า ถ้าอยากขายราคาเท่านี้ จะต้องผลิตออกมาในขนาดเท่าใด ซึ่งคุณไมค์บอกว่า “อนาโตมีสำคัญมาก” กล่าวคือ ถ้ามีการขยับร่างกายแบบใด สัดส่วนก็จะต้องถูกต้องไปด้วย แม้จะเป็นงานที่มีการปรับสัดส่วนอยู่บ้างแล้ว หรือจะเป็นขนาดใดก็ตาม ก่อนจะทำการแยกส่วน แต่ละส่วนของชิ้นงาน เพื่อส่งพิมพ์ ขัดชิ้นส่วนโมเดล (เช่นมือ แขน ผม หน้า ตัว ฐาน ฯลฯ) พ่นลงสีตาม Pantone และประกอบออกมาเป็นชิ้นงานจริง

จากนั้น ถ้าเราลองผลิตจริงแล้ว ต้องมีการทดสอบการโน้มเอียง ผ่านการเข้าตู้อบอุณหภูมิ 50 องศานานกว่า 1 อาทิตย์ เพื่อทดสอบว่าสามารถนำไปผลิตจริงและทนแค่ไหน รวมถึงการออกแบบการซัปพอร์ตรับน้ำหนักต่าง ๆ อีกด้วย เช่นงานที่ทำร่วมกันกับ Blackpink ต้องมีการออกแบบฐานใหม่ถึง 3 ครั้ง กว่าจะสามารถนำไปใช้จริงได้ แล้วถึงจะเริ่มนำไปทำการโปรโมต ทั้งการถ่ายภาพ และวิดีโอ ทำพรีเซนเทชัน

คุณไมค์ กับงาน ‘Blackpink’ ที่นอกจากจะผลิตยากแล้ว ยังต้องดูแลการโน้มเอียงให้ดีด้วย

พอเตรียมจนเสร็จทั้งหมด ก็พร้อมสำหรับการผลิตจำนวนมาก (Paint Master) ในประเทศไทย และประเทศจีน (ซึ่งทำให้สามารถขายในจีนได้ง่าย) วางจำหน่าย หรือพรีออร์เดอร์แล้ว ! และยังทำ QC รวมถึงการดูแลอื่น ๆ เช่นจัดเก็บหรือแพ็กส่งลูกค้าต่ออีกด้วย

โดย TOYLAXY ตอนนี้มีวางขายอยู่ในทั้งประเทศไทย (ฐานหลัก), ฝรั่งเศส, สิงคโปร์, ฮ่องกง, ไต้หวัน, จีน, เกาหลี โดยมีเป้าหมายจะไปให้ได้ทั่วโลกอีกด้วย

ตลาดของ ‘อาร์ตทอย’ ในประเทศไทย

ปัจจุบันตลาดของอาร์ตทอยในประเทศไทยถือว่าอยู่ในช่วงบูมมาก มีคนไทยให้ความสนใจในวงการอาร์ตทอยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาร์ตทอยที่มาจากประเทศใดก็ตาม เช่น Blindbox จากประเทศจีน, กันพลา, ฟิกเกอร์จากญี่ปุ่น และอื่น ๆ ที่นอกจากจะมีตัวเลือกมากขึ้นแล้ว ยังมีราคาที่จับต้องได้อีกด้วย ในแง่ของผู้บริโภคถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะมีตัวเลือกให้เลือกสะสมมากขึ้น

ในขณะที่มุมของผู้ผลิต คุณไมค์บอกว่าก็จะยังโตขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ก็จะยังมีกำแพงในด้านของการผลิต การลงทุน หรือการขาย เนื่องจากอาร์ตทอยส่วนใหญ่ อาจจะใช้วัสดุที่ดีได้ไม่มากพอ เพราะต้องใช้ต้นทุนสูง และยังอาจจะยังต้องมีการพัฒนา ‘Know-How’ ของการทำอาร์ตทอยอยู่ แต่ยิ่งโต จะยิ่งดีอย่างแน่นอน เพราะในไทยก็จะได้มีงานสร้างสรรค์มากขึ้นด้วย

คนไทยเราเก่งด้านการออกแบบ สร้างสรรค์มากนะ สถาปนิกของไทยก็เก่งเช่นเดียวกัน แต่การออกแบบ ต้องมีตัวตน และสร้างอารมณ์ร่วมกับผู้คนที่มองเห็น และต้องผลิตโดยคุมต้นทุนให้ดีด้วย แค่ชอบแล้วผลิตเลยก็ยังไม่ได้

ไมค์ – ศรีภูมิ ทินมณี, เจ้าของ TOYLAXY

กล่าวคือกว่าจะผลิตงานออกมาได้ 1 ชิ้น ก็จะต้องมีการคิดหลายขั้นตอนมาก ตั้งแต่ดีไซน์ ต้นทุน ไปจนถึงกลุ่มเป้าหมาย และ ‘ทำไม’ จะต้องเสียเงินซื้อชิ้นงานนี้เพื่อมาตั้งที่บ้านให้ได้

“การลุ้นคือธรรมชาติของมนุษย์”

พอเราถามถึงเสน่ห์ของอาร์ตทอย คุณไมค์ตอบว่าที่จริงแล้วเสน่ห์ของอาร์ตทอยนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละคน ถ้าเป็นกล่องสุ่ม การลุ้นคือธรรมชาติของมนุษย์​ ทำให้เสน่ห์ของกล่องสุ่ม จะอยู่ที่การได้ลุ้นว่าข้างในจะได้อะไร ส่วนถ้าเป็นสายสะสม เสน่ห์ของอาร์ตทอยคือการที่เราสามารถนำอาร์ตทอยที่เราซื้อมา มาจัดแสดง ซึ่งไม่ได้มีแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงถึงอัตลักษณ์ ตัวตนของเจ้าของ รวมถึงรสนิยมของแต่ละคนอีกด้วย แต่ถ้าเป็นสายเก็งกำไร คิดว่าเสน่ห์ของอาร์ตทอยคือการติดตามว่าอาร์ตทอยชิ้นนั้นจะสามารถขายต่อได้แค่ไหน ซึ่งแต่ละคนก็จะมองอาร์ตทอยได้แตกต่างกันไปนั่นเอง

อนาคตของ TOYLAXY

“เรามองอนาคตของ TOYLAXY มากกว่าแค่เรื่องของอาร์ตทอย” คือสิ่งที่คุณไมค์พยายามจะสื่อกับเรา เขามองว่าการสร้างแบรนด์ TOYLAXY ในฐานะบริษัทที่ ‘สร้างอาร์ตทอย’ ให้ติดตลาดทั้งในไทย และระดับโลก เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เขาได้มองเห็นถึงช่องทางในการต่อยอดไปอีกด้วย

คุณไมค์เล่าว่า “ที่ผ่านมาเราเดินตามเทรนด์มาตลอด พอ ณ วินาทีที่เทรนด์คนสนใจฟิกเกอร์ตัวใหญ่ เราก็ทำตัวใหญ่ พอคนสนใจ Blindbox เราก็ทำตาม” แต่เขามองว่าการทำอะไรให้แตกต่าง จะสามารถทำให้ TOYLAXY ไปได้ไกลมากกว่าเดิม

ทางที่เราจะไปได้ก็คือ มันจะต้องหาอะไรที่ ‘ไม่อยู่ในเทรนด์อีกต่อไปแล้ว’ และอนาคตของเราก็จะไม่หยุดเพียงแค่ฟิกเกอร์เท่านั้น แต่เราจะเอาฟิกเกอร์ที่เรามี เราสร้าง มาสร้างเป็น ‘Merchandise’ อื่น ๆ ด้วย !

ไมค์ – ศรีภูมิ ทินมณี, เจ้าของ TOYLAXY

กล่าวคือ คุณไมค์อยากนำเอา IP (Intellectual Property) หรือสินทรัพย์ทางปัญญาที่มีอยู่ มาสร้างเป็นสินค้าอื่น ๆ อย่างกระเป๋า พวงกุญแจ ผ้าเช็ดหน้า กล่อง แก้ว ฯลฯ เพื่อเป็นสินค้าแบบอื่น ซึ่งป้อนสิ่งที่เราสร้างเอง สร้างความดึงดูดเองเข้าไปเพิ่มด้วย ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปเรื่อย ๆ ได้ พอมี Product Line (สินค้าต่างประเภท) ที่มากขึ้น การไปสู่ระดับโลก ก็จะยิ่งทำได้ง่ายขึ้นไปด้วย ดังนั้นคีย์คือการ ‘ต่อยอด’ นั่นเอง เช่นอย่างที่ TOYLAXY ทำฟิกเกอร์ที่ทำร่วมกันกับ PASULOL อยู่แล้ว ก็สามารถต่อยอดสิ่งที่ได้สิทธิ์มา มาทำเป็นแก้ว, เสื้อ, ไม้เกาหลัง, ไปจนถึงการ์ดเกม เพื่อให้ TOYLAXY เป็นมากกว่าผู้ผลิตฟิกเกอร์ แต่เป็นผู้ผลิต Creative Merchandise ให้ได้ !

ตอนนี้ ทุกอย่างที่ทำก็เพื่อลูกน้อง เพื่อทุกคนที่อยู่บนเรือลำเดียวกับเรา ดังนั้นจึงต้องไปสู่ระดับโลกให้ได้

ไมค์ – ศรีภูมิ ทินมณี, เจ้าของ TOYLAXY

งานอาร์ตทอยชิ้นต่อไปของ TOYLAXY

คุณไมค์ยังไม่สามารถบอกได้ว่าอาร์ตทอยชิ้นต่อไปของ TOYLAXY คืออะไร แต่คุณไมค์บอกกับผมได้เพียงว่า “รอติดตาม (aka. ซื้อ) งานชิ้นต่อไปของ TOYLAXY ด้วยนะครับ !”

และดูเหมือนว่า ตัวผมเองที่ได้ฟังทุกอย่างที่คุณไมค์เล่ามา ก็คงจะต้องเตรียมเสียเงินอีกแน่ เร็ว ๆ นี้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส