แพรี่ – ลักษิกา อุทธิเสน สาววัย 21 ปี ที่มีอาการออทิสติกสเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder) ว่าด้วยความผิดปกติของสมองที่ส่งผลต่อพัฒนาการทำให้เด็กเกิดพัฒนาการที่ล่าช้า ในด้านการสื่อภาษา การปฏิสัมพันธ์ด้านสังคม มีการจดจ่อในสิ่งที่สนใจอย่างมีแบบแผน หลายคนอาจจะมองว่ามันคือโชคร้ายที่ติดตัวมาแต่กำเนิด

ทว่าด้วยการเลี้ยงดูของครอบครัวแพรี่ที่หมั่นสร้างสภาพแวดล้อมอันอบอุ่น พร้อมเลือกจะเรียนรู้และปรับตัวมองหาแง่ดีของอาการผิดปกติดังกล่าว จนผลักดันให้เธอกลายเป็นนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติประเภทผู้ทุพพลภาพที่คว้าเหรียญทองแดง 3 รางวัล จากรายการแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ ขณะเดียวกันแพรี่ยังมีงานอดิเรกอันน่าอัศจรรย์ใจคือการ ‘คอสเพลย์’ ภายใต้ชื่อ Umi ที่ไม่เพียงแต่ทำให้เธอได้ปลดปล่อยตัวตนที่อยู่ข้างใน แต่ยังคอยเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำในชีวิตของเธอ beartai Weekly ได้คุยกับแพรี่ถึงโลกสองใบของเธอคือการเป็นนักว่ายน้ำและคอสเพลเยอร์

รู้จักแพรี่

ตอนนี้แพรี่เป็นนักกีฬาว่ายน้ำคนพิการประเภท S14 ทางด้านสติปัญญา และก็เป็นทั้งคอสเพลเยอร์ผู้พิการทางออทิสติกด้วยค่ะ การสื่อสารที่เป็นกลุ่มใหญ่ หนูจะมีปัญหาในการเข้าสังคมตั้งแต่เล็ก เพราะหนูเพิ่งพูดก็ 5 – 6 ขวบ ตามที่พ่อแม่บอกมา ก็จะมีปัญหาทางด้านการสื่อสาร การเข้าสังคม ซึ่งการที่หนูเข้ามาในวงการคอสเพลย์มันช่วยทั้งด้านการสื่อสาร การทำงานเป็นทีมเวิร์กกับเพื่อนตอนที่ไปไพรเวต ที่หนูมาคอสก็เพื่อกระตุ้นและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ฝึกฝนด้วยตัวเองทางด้านนี้ด้วยค่ะ

จุดเริ่มต้นในการว่ายน้ำ

มาจากคุณแม่เลยค่ะ (หัวเราะ) ทีแรกพ่อแม่ก็ให้หนูเรียนว่ายน้ำเป็น เอาตัวรอดเป็น แล้วพอหนูย้ายไปโรงเรียนสองภาษา แล้วที่โรงเรียนมีสระว่ายน้ำ แล้วพอหนูไปเข้าร่วม Swimming Gala ของโรงเรียน ครูเขาก็เห็นแววว่าว่ายดี อยากให้เป็นนักกีฬาโรงเรียน แต่ก็ไม่ได้เป็นสักทีค่ะ (หัวเราะ) แต่พอออกจากโรงเรียนอายุได้ 14 – 15 หนูก็มาเป็นนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติที่นี่เลย

รู้จักอะไรก่อน ‘คอสเพลย์’ หรือ ‘ว่ายน้ำ’ ?

สิ่งแรกคือว่ายน้ำค่ะ แต่คอสเพลย์คือสิ่งที่หนูอยากลองมานานแล้ว ตอนแรกได้เห็นพวกยูทูบของต่างประเทศ แล้วหนูก็เห็นว่ามีคนที่แต่งเป็นตัวการ์ตูน ซึ่งไม่รู้ว่ามันคืออะไร ที่ไทยมีหรือเปล่า พอช่วงที่เกิดโควิด-19 หนูก็ไม่มีอะไรทำ ว่ายน้ำก็ว่ายไม่ได้ ก็ดูนั่นดูนี่ไปเรื่อย ๆ แล้วเจอคนคอสเพลย์ที่แต่งในประเทศแล้วแบบ “เฮ้ย มีด้วยเหรอ!” (แพรี่แสดงสีหน้าตกใจ)

และหนูได้ไปงานวิ่งงานหนึ่งที่พัทยา ซึ่งงานวิ่งที่ว่าก็คือ ‘Batman Night Run Terminal21 2019’ ที่นั่นมีคนแต่งทั้งแบทแมน, โจ๊กเกอร์ ทั้งฮาร์ลีย์ ควินน์ แล้วหนูก็รู้สึกว่าพวกเขาจัดเต็มกันมาก สุดยอดมาก ในตอนนั้นหนูยังไม่ได้อยากที่จะคอสเอง แต่แค่อยากไปอีก ไปเห็นพี่ ๆ เขา แต่ก็ไม่ได้ไปเพราะช่วงนั้นโควิด-19 เริ่มมา แต่หนูได้เห็นคอสเพลย์อีกครั้งในยูทูบช่องหนึ่งที่ชื่อว่า Osekai แต่ตอนนี้ปิดตัวลงไปแล้วและกลายเป็น ‘นิวหน้าหมี’ เป็นช่องที่พิธีกรจะพาไปงานคอสเพลย์ต่าง ๆ แล้วจะมีเลเยอร์ต่าง ๆ แนะนำตัวว่าชื่ออะไร คอสเป็นตัวอะไร พอหนูรู้จักกลุ่มนี้ หนูก็ลองไปสอบถามคนที่อยู่ในวงการนี้ว่างานที่พวกเขาไปกัน รู้กันทางไหน เพราะหนูอยากไปจริง ๆ

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่หนูจำได้คืองานคอสเพลย์งานแรกที่หนูลง คืองาน Maruya 31 ซึ่งตรงกับวันเกิดหนู 19 ธันวาคม ก็เลยเป็นเหมือนงานคอสเพลย์งานแรกเพื่อฉลองครบรอบอายุ 20 ปี

ชีวิตที่เปลี่ยนไปก่อนและหลังรู้จัก ‘คอสเพลย์’

แทบทั้งชีวิตในโรงเรียน หนูแทบจะไม่มีเพื่อน ส่วนมากหนูจะโดนแกล้งเรื่องความแตกต่าง กับความพิการ ซึ่งตอนที่หนูยังเรียน จะตามกระแสอะไรแทบจะไม่ทันเลย จะพูดแต่เรื่องเดิม ๆ เหมือนคนที่เป็นออทิสติกปกติเลย แต่พอได้รู้จักกับคอสเพลย์ มันทำให้หนูมีเพื่อน มีการเรียนรู้การเข้าสังคมมากขึ้น เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง อาจจะไม่ใช่เพื่อนรุ่นเดียวกัน แต่อย่างน้อยก็มีเพื่อนหลากหลายแบบ

ซึ่งหนูฝึกทุกอย่างเกี่ยวกับการคอสเพลย์ด้วยตัวเองค่ะ เพราะอยากจะลบล้างสิ่งที่ตัวเองเป็นออกไปให้ได้ ซึ่งคนที่เป็นออทิสติก ซึ่งหนูอยากทำลายคำสบประมาท ว่าคนพิการอย่างหนูก็สามารถทำได้

หนูอยากทำลายคำสบประมาทว่าคนพิการอย่างหนูก็สามารถทำได้

อะไรที่ยากที่สุดในการคอสเพลย์ครับ?
การกรีดอายไลเนอร์ค่ะ (หัวเราะ) ยากที่สุดแล้วเพราะว่ามือสั่น ลงน้ำหนักอะไรไม่ได้เลย

แบ่งเวลาอย่างไรระหว่างซ้อมว่ายน้ำและคอสเพลย์?

เราต้องทำงานหลักให้เสร็จก่อน เราถึงจะเอาเวลาที่เหลือไปทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของหนูจะมี 2 อย่าง ซึ่งแยกกัน เรื่องแรกว่ายน้ำ คือหนูอยากจะไปถึงจุดที่เขาอยากจะไปกันคือพาราลิมปิกสักครั้งในชีวิตก็ยังดี ส่วนคอสเพลย์ หลาย ๆ คนอาจจะมองว่าไร้สาระ แต่ว่าความจริงมันเป็นงานอดิเรกที่คนเขาทำกัน ถึงขั้นบางคนก็ยึดเป็นอาชีพหลักไปเลย ซึ่งหนูอาจจะเป็นสตรีมเมอร์ก็ได้ หรือเป็นคอสเพลย์สตรีมเมอร์ก็ได้ ก็คือเป็นเป็ดเทพไปเลยค่ะ

หากต้องเลือกระหว่างว่ายน้ำกับคอสเพลย์?

ว่ายน้ำเป็นอาชีพหลักปัจจุบันของหนู ซึ่งในอนาคตสัก 25 – 30 ปีก็น่าจะวางมือแล้ว ก็ต้องดูสภาพร่างกายด้วยว่าไหวไหม (หัวเราะ) แต่ว่าเรื่องคอสเพลย์ก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะเป็นที่ชอบเกี่ยวกับการเล่นกล้อง และชอบแต่งหน้าแต่งตัวตามตัวละครอยู่แล้ว อย่างน้อยก็อยากจะเป็นนักพากย์เสียงด้วยซ้ำไป ก็อาจจะอยู่ในวงการคอสเพลย์ค่อนข้างยาวจนกว่าชีวิตจะไม่ไหว

คือถ้าไม่มีงานคอสเพลย์ หนูก็ไม่รู้ว่าจะเป็นนักกีฬาได้ไหม?

หากโลกนี้ไม่มี ‘คอสเพลย์’

ถ้าหากโลกนี้ไม่มีงานคอสเพลย์ หนูก็อาจจะเป็นนักกีฬาผู้สันโดษ ที่ต้องการอยากจะเป็นแชมเปียนของโลก คือหนูเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อนเนื่องจากความกดดันในการไปเป็นทีมชาติ มันยากมาก มันทำให้ในหัวของหนูหัวหมุนหนักมาก อารมณ์ภายในใจมันก็คงจะตายหมดแล้ว อารมณ์ที่อยากจะสนุก มันคงไปหมดแล้ว ไม่เหลือเลย

สิ่งที่อยากจะบอกกับคนที่มองคอสเพลย์ในแง่ลบ?

การที่เป็นนักคอสเพลย์ก็เหมือนนักแสดงคนหนึ่งที่เฉิดฉายโดยไม่มีกล้อง แสดงเป็นตัวละครที่มีบทบาทสมมุติ ซึ่งหากใครที่อยากจะเริ่มต้นคอสเพลย์ อย่างแรกเลยถ้าอยากเป็นตัวละครไหนแต่งเลย ไม่ต้องสนเรื่องพรอป วิก ไม่ต้องแต่งหน้าก็ยังได้ ขอให้เรารู้สึกว่าเราเป็นตัวตนนั้นจากข้างใน แค่นี้ก็ออกงานคอสได้แล้วค่ะ

นใจกลับมาประกวดที่งาน CAF อีกรอบไหม?

เนื่องด้วยแพรี่เคยมาประกวดการแข่งขันคอสเพลย์ในงาน CAF 2023 ที่ผ่านมา ที่แม้จะไม่ได้รางวัลใดกลับไป แต่ด้วยคำตอบในแต่ละคำถามที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น ผู้เขียนก็อดสงสัยไม่ได้ว่าหากมีโอกาส แพรี่นั้นสนใจจะกลับมาแก้ตัวในการประกวดที่งาน CAF ครั้งหน้าอีกหรือไม่? “อยากค่ะ แต่ต้องดูกระเป๋าตังค์ด้วยค่ะ (หัวเราะ) แพรี่ชอบการประกวดนะ เห็นการแสดงของผู้เข้าประกวดที่ดูเป็นไปได้ยากแต่ก็เกิดขึ้นได้ ก็รู้สึกมีความสุขและภูมิใจแทนทุกคนว่า เฮ้ย! เขาก็ทำได้นะ” แพรี่กล่าว

คำตอบของคำถามท้ายสุดที่ได้รับ คงจะแสดงให้ผู้เขียนและผู้อ่านได้เห็นว่าสำหรับแพรี่นั้น “คอสเพลย์” มีความหมายต่อชีวิตของเธอมากขนาดไหน

ช่างภาพ: วสันต์ บุญหนุน
กราฟิกดีไซเนอร์: พัฒนพล หวังพิทักษ์วงศ์

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส