“เราได้ใช้ความรู้ในการช่วยเหลือคนอื่น ทำให้รู้สึกว่าความรู้ของเราก็มีคุณค่านะ” คุณนัท วรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร ผู้คิดค้นเครื่องช่วยฝึกเดิน Space Walker และผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ WOKA (โวกะ) พูดให้ทีมงานแบไต๋ฟังระหว่างเดินดูพื้นที่เก็บเครื่องช่วยฝึกเดินที่ผลิตเสร็จแล้ว
ความชอบต่อยอดเป็นโปรเจกต์
คุณนัทเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ Space Walker ว่าเกิดขึ้นช่วงเรียนปริญญาตรีปี 3 ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นลังเลว่าถ้าเรียนจบแล้วจะไปสอบเป็นนักบินหรือจะเรียนต่อปริญญาโทดี โชคดีว่ามีโอกาสเข้าไปช่วยงานในห้องปฏิบัติการ (LAB) ของ ดร. บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมผู้สูงวัยและผู้พิการ พอได้เข้าไปทำแล้วรู้สึกชอบก็เลยเลือกเรียนต่อโดยการขอทุนวิจัย
“ผมโชคดีนะที่ผมเรียนแล้วชอบ ผมรู้สึกสนุกกับการออกแบบและสร้างสิ่งต่าง ๆ ผมก็เลยเอาความชอบตรงนี้ไปสร้างเครื่องช่วยฝึกเดิน เพื่อช่วยคนที่มีปัญหาในการเดิน”
โดยเรื่องที่ทำวิจัยคืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยที่เดินไม่ได้ ซึ่งก็มีการรีวิวปัญหาหลายแง่มุม แล้วก็พบว่าอุปกรณ์ช่วยฝึกเดินที่ใช้ทั่วไปในไทยมีแค่ไม่กี่แบบ มีไม้เท้า กับบาร์ช่วยฝึก ถ้าเป็นอุปกรณ์เฉพาะทางก็ราคาสูง เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทำให้อุปกรณ์กระจุกตัว ไม่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ทุกคน
อีกเรื่องคือ การจะฝึกเดินให้ปลอดภัยต้องไปทำที่โรงพยาบาล เนื่องจากมีอุปกรณ์ครบและมีบุคลากรคอยดูแล แต่ปัญหาคือผู้ป่วยทุกคนไม่สามารถเดินทางไปฝึกเดินได้ครบทุกวัน ทำให้ขาดความต่อเนื่อง การรักษาจึงได้ผลลัพธ์น้อยลง ถึงอย่างนั้นก็สามารถแก้ได้โดยให้ผู้ป่วยฝึกเดินที่บ้าน แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องอุปกรณ์และบุคลากร ทำให้มีความเสี่ยงในการหกล้ม และบาดเจ็บซ้ำ จนทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าฝึกเดินอีก
นี่คือปัญหาหลัก ๆ ที่นำมาเป็นสารตั้งต้นในงานวิจัยเครื่องช่วยฝึกเดิน จนตกผลึกกลายเป็นคอนเซ็ปต์ดีไซน์ของ Space Walker ที่เน้นความเรียบง่าย ฝึกเดินที่บ้านได้ และที่สำคัญปลอดภัยจากการล้ม
ชื่อ Space Walker มีที่มาจากระบบพยุงน้ำหนักแบบไดนามิก (Dynamic Body Weight Support) ที่ทำให้คนไข้สามารถฝึกเดินด้วยน้ำหนักที่เบาลง เสมือนว่ากำลังเดินอยู่บนดวงจันทร์ที่มีแรงโน้มถ่วงน้อย เหมือนเดินในอวกาศ หรือ Space ซึ่งพอเอามาร่วมกับคำว่า Walker ที่แปลว่าเครื่องช่วยเดิน ก็จะได้ความหมายที่ตรงตัว และจดจำง่ายได้ง่าย ส่วนฟีเจอร์อื่น ๆ ที่โดดเด่นคือระบบป้องกันการล้ม ที่ป้องกันได้แบบ 100% ที่ไม่ว่าจะล้มไปข้างหน้าหรือข้างหลังตัวก็ไม่แตะพื้น และปรับระดับความสูงได้ตามสรีระ
ระหว่างการพัฒนาโปรเจกต์วิจัย Space Walker ก็มีการส่งเครื่องช่วยฝึกเดินลงแข่งขันตามโครงการประกวดนวัตกรรมต่าง ๆ และก็ได้รับรางวัลมาหลายงาน เช่น รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 จากงาน i-CREATe ปี 2560, รางวัลชนะเลิศ ITCi Award ปี 2560, รางวัลชนะเลิศ GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง ปี 2561, รางวัลชนะเลิศ Young-D Startup by SCB 2562 เป็นต้น โดยเงินรางวัลที่ชนะในช่วงแรกทั้งหมด ถูกนำมาใช้ต่อยอดโครงการวิจัยและสร้างเครื่องช่วยฝึกเดินตัวต้นแบบ ซึ่งใช้งบไปเยอะเลยทีเดียว
เปลี่ยนโปรเจกต์ขึ้นหิ้ง สู่โปรดักต์ใช้จริง
“ผมคิดว่าส่วนสำคัญสุดเลย คือเราเลือกปัญหาถูกหรือเปล่า” นี่คือคำตอบของคุณนัท หลังจากที่ได้ฟังคำถามว่า อะไรคือปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนจากโปรเจกต์เป็นโปรดักต์ คนส่วนใหญ่คิดว่าเราอยากทำอย่างนู้น ทำอย่างนี้ ทำอย่างนั้น ทั้งที่ไม่รู้ว่ามีความต้องการในตลาดจริง ๆ หรือเปล่า เวลาทำออกมามันก็จะขายไม่ได้และกลายเป็นแค่งานวิจัยที่ไม่สามารถนำไปต่อยอดได้เหมือนทำแล้วกลายเป็นของขึ้นหิ้ง
แนวทางการเลือกปัญหามีอยู่ 3 ส่วนสำคัญ ๆ คือ “หนัก – ใหญ่ – ยาว” ส่วนที่หนึ่งคือ “ปัญหาหนัก” การที่คนคนหนึ่งเคยเดินเหินสะดวก กลับกลายเป็นคนพิการเดินด้วยขาตัวเองไม่ได้ แน่นอนว่านี่ถือเป็นปัญหาหนัก เพราะทุกคนย่อมอยากมีอิสระในการเดินไปไหนมาไหน ส่วนที่สองคือ “ปัญหาใหญ่” แน่นอนว่าคนที่มีปัญหาเดินไม่ได้ในไทย หรือในโลกนี้ ไม่ได้มีแค่คนหรือสองคน ยังมีอีก เป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่นคน ที่ต้องประสบปัญหาเหล่านี้ เอาแค่คนไทยอย่างเดียวก็ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ต้นเหตุที่ทำให้เดินไม่ได้ปีละหลายแสนคน และสุดท้าย “ปัญหายาว” ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน เป็นปี เป็นสิบปี ไม่มีทางจบภายในหนึ่งอาทิตย์ หรือหนึ่งเดือน หากมีปัจจัยครบ 3 ข้อนี้ก็สามารถเปลี่ยนจากโปรเจกต์ขึ้นหิ้งให้กลายเป็นโปรดักต์ใช้จริง ซึ่ง Space Walker มีครบทั้ง 3 ข้อ
“การตั้งคำถามกับปัญหาที่ดี นำไปสู่คำตอบที่ดี”
วรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร ผู้คิดค้นเครื่องช่วยฝึกเดิน Space Walker และผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ WOKA (โวกะ)
คิดไม่ยาก ทำให้ผ่านมาตรฐานยากกว่า และการขายยากที่สุด
สิ่งที่ยากในการทำงานวิจัยเครื่องมือการแพทย์ คือการจะทำยังไงให้ผ่านตามมาตรฐานความปลอดภัยและกฎหมายที่มีหลายส่วน ใช่ว่าออกแบบเสร็จแล้วจะทำขายได้เลย คิดน่ะง่าย แต่กว่าจะทำให้ผ่านเนี่ยน่ะยาก เราต้องออกแบบให้ผ่านมาตรฐานก่อน ถึงจะเริ่มนำไปทดสอบในคลินิก (Clinical trials) ตามโรงพยาบาลว่ามีสรรพคุณตรงตามที่ออกแบบหรือไม่ ซึ่งต้องพึ่งความร่วมมือจากคนหลายส่วน
ทั้งหมดนี้ถ้าไม่ผ่านจุดใดจุดหนึ่งก็ต้องเอากลับไปปรับปรุง กว่า Space Walker จะออกมาเป็นเวอร์ชันที่วางขายได้อยู่ทุกวันนี้ ใช้ทุนในการสร้าง 6 – 7 ล้านบาทเลย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้มาจากทุนวิจัย รวมกับเงินรางวัลที่ไปชนะการแข่งมา
“แต่เอาที่ยากที่สุดจริง ๆ คือการขาย เพราะธุรกิจอยู่ได้ด้วยยอดขาย จากเด็กวิศวะนั่งประดิษฐ์ ที่บ้านไม่มีพื้นฐานเรื่องการทำธุรกิจ กลายมาเป็นเจ้าของบริษัทที่ต้องขายของเอง ทำการตลาดเอย เลยต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ทั้งหมด จุดนี้แหละที่ยาก ยากกว่าการคิดโปรดักต์ใหม่ ๆ อีก” คุณนัทเล่าด้วยอารมณ์ขำขันในช่วงท้ายของคำถาม
ราคาที่อยากให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย
“ปกติแล้วถ้านำเข้าเครื่องช่วยฝึกเดินที่มีฟีเจอร์เดียวกัน เอาแบบถูก ๆ เลยอย่างน้อยก็ต้อง 2 แสนแล้ว ถ้าเอาแบบดี ๆ แพง ๆ ก็ 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท” นี่คือราคาเครื่องช่วยฝึกเดินนำเข้าที่คุณนัทไปเจอมา
ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีหมอเก่ง ๆ เยอะ มีระบบสุขภาพดีติดอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ถึงนั้นการผลิตเครื่องมือการแพทย์กลับสวนทางกัน ถ้าเป็นเครื่องมือทั่วไปพอทำได้อยู่ แต่ถ้าเป็นเครื่องมือเฉพาะทาง ที่ใช้เทคโนโลยีส่วนใหญ่จะต้องซื้อเข้ามาใช้ แน่นอนว่ามีราคาสูง ทำให้เครื่องมือบางชิ้นกระจุกตัวอยู่ตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ หากผู้ป่วยอยากใช้ก็ต้องไปต่อคิวรอกัน
Space Walker เลยพยายามทำราคาให้ถูก เพื่อให้สามารถกระจายไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงสถานพยาบาลและศูนย์กายภาพบำบัด ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดีเพราะตอนนี้มี 100 กว่าโรงพยาบาลแล้วที่มีเครื่องช่วยฝึกเดินนี้ไว้ใช้ จุดนี้ก็จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงอุปกรณ์ช่วยฝึกเดินได้ง่ายขึ้น
ส่วนคนที่มีกำลังซื้อ อันนี้ก็มีขายในราคาหมื่นปลาย ๆ ซึ่งถือว่าถูกกว่าหลายเท่าหากเทียบกับเครื่องช่วยฝึกเดินนำเข้า แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะจ่ายไหว เลยแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มระบบเช่ารายเดือนเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง รวมถึงต่อยอดด้วยการทำแพ็กเกจพ่วงกับบริการกายภาพบำบัดที่บ้าน เหมือนมีเทรนเนอร์ส่วนตัว เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเดินได้เข้าถึงอุปกรณ์ พร้อมการฝึกเดินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มโอกาสในการกลับมาเดินได้
“แต่แน่นอนว่าเราไม่สามารถทำให้ทุกคนกลับมาเดินได้ เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคน อย่างน้อยขอแค่เขาดีขึ้นกว่าตอนที่ยังไม่ได้ใช้เครื่อง แค่นี้สำหรับผมคือที่สุดแล้ว” คุณนัทกล่าวทิ้งท้าย
ก้าวต่อไปของ Space Walker
ในช่วงสุดท้ายของการสัมภาษณ์ คุณนัทแชร์ว่ากำลังจะมี Space Walker เวอร์ชันใหม่ที่ดีกว่าเดิม จากการเอาฟีดแบ็กมาปรับปรุง โดยจุดเด่นคือจะมีน้ำหนักเบาลง ถอดประกอบได้ ขึ้นจากเตียงได้สะดวก ผลิตได้ไวและใช้ต้นทุนน้อยลง นอกจากนี้ยังมีเครื่องช่วยฝึกยืน Stande-Go ที่ใช้ในผู้ป่วยที่เพิ่งจะเริ่มขยับขาได้ และ SkyWalKer เครื่องช่วยป้องกันการล้มเวลาเดินในชีวิตประจำวัน รวมถึงมีเครื่องช่วยฝึกเดินสำหรับเด็กที่มีภาวะสมองพิการเดินไม่ได้ และอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยนอนติดเตียงที่เกิดแผลกดทับ
ในอนาคตเราอยากให้ Space Walker เป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนเห็นว่า คนไทยเองก็สามารถสร้างนวัตกรรมเครื่องมือการแพทย์ได้เอง ใช้เอง และกลายเป็นประเทศที่ส่งออกไปขายบ้าง ไม่ใช่ว่ารับเข้ามาใช้อย่างเดียว
ช่างภาพ: เอกพล เชาวน์เลิศเสรี
กราฟิกดีไซเนอร์: พัฒนพล หวังพิทักษ์วงศ์
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส