งาน World Economic Forum 2024 หรือ WEF คือการประชุมผู้นำโลกในฐานะองค์กรไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งโดย Klaus Schwab จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 54 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 15 – 19 มกราคม 2024 ปีนี้ WEF จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Rebuilding Trust’ หรือ การฟื้นคืนความเชื่อมั่นให้กลับมา หลังจากที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับภาวะชะงักงันจากผลกระทบของโควิดตลอด 2 – 3 ปีที่ผ่าน ซึ่งผู้ที่มีโอกาสได้ไปร่วมงานนี้อย่างท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา เก็บข้อคิดที่ได้จากงานมาฝากเราด้วย

ค่าสมาชิก WEF 10 ล้านบาทต่อปี

ปี 2023 ผู้นำทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นจุดต่ำสุดของทั้งโลก เราเห็น Big tech หลายบริษัทประกาศไล่คนออกเป็นว่าเล่น ถือเป็นปีที่ทุกคนประสบปัญหาเหมือนกัน การมารวมกันที่งาน WEF 2024 จึงเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่ผู้นำหลายคนมาหาทางออกร่วมกัน เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจในปี 2024 ต่อไป ทั้งนี้การเข้าร่วมงาน WEF ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีข้อจำกัดที่เบสิคมาก ๆ คือบริษัทต้องมีมูลค่ามากกว่า 150,000 ล้านบาทขึ้นไปจึงมีสิทธิเข้าร่วมงาน

แน่นอนว่า Bitkub ยังมีมูลค่าบริษัทไม่ถึงเกณฑ์ แต่ท๊อป จิรายุสได้รับเชิญพิเศษในฐานะตัวแทนจากอาเซียน (ปีก่อน Anthony Tan ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Grab เป็นตัวแทนอาเซียน) ที่มีผลงานน่าสนใจในช่วงที่ผ่านมาคือ ข่าวการจับมือระหว่าง SCB x Bitkub แม้จะไม่เกิดขึ้นจริง แต่ก็ได้ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงระบบเศรษฐกิจของไทยไม่น้อย

สำหรับ WEF ถือเป็นงานที่ให้ผู้นำที่มีส่วนแบ่ง 51% ของเศรษฐกิจโลกมาประชุมกำหนดกฎของโลกด้วยกัน ทำให้ได้รู้ก่อนคนอื่นว่าโลกกำลังจะไปทิศทางไหน ข้อดีอีกอย่างของการได้มางาน WEF คือสามารถพบปะผู้นำได้ตลอดเวลา มีกรุ๊ป Whatsapp ที่ผู้นำใช้พูดคุยกันหรือนัดหาบุคคลระดับโลกได้แบบ 1-1 อย่างนายกรัฐมนตรีของไทยก็ได้ไปร่วมงานนี้ และได้พบผู้นำกว่า 20 คน ภายใน 1 วัน แน่นอนว่าของดีต้องมีราคาที่ต้องจ่าย เพราะค่าสมาชิกของ WEF ประจำปีมีราคาสูงลิ่วถึงปีละ 10 ล้านบาทเลยทีเดียว

อาเซียนยุคทองเตรียมขันตักน้ำให้ทัน

ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจอเมริกา-จีน จะทำให้โลกเข้าสู่ยุค New Normal ใหม่ ที่เส้นแบ่งประเทศระหว่างบน-ล่าง ประเทศพัฒนาแล้ว-ยังไม่พัฒนาชัดขึ้น แต่ผลของความขัดแย้งนั้น คนที่ได้ส้มหล่นคือประเทศไทย เพราะเมื่อมหาอำนาจทะเลาะกัน ผลที่ได้คือต่างคนต่างรู้ว่าขาดกันไม่ได้กว่าที่คิด อเมริกาพึ่งพาจีนในฐานะฐานการผลิต ส่วนจีนก็ต้องยอมอเมริกาในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยี (ภายหลังจีนหันหาพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองแทน)

เมื่อเกิดการแบ่งแยกทำให้ต่างฝ่ายต่างมองหาฐานการผลิตใหม่ ผลจึงตกมาที่ภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยในฐานะที่มีความสัมพันธ์กับประเทศจีนอย่างยาวนาน จะเกิดการส่งออกนำเข้า คู่ค้าและโอกาสใหม่ ๆ มากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของอาเซียนก็ว่าได้ ประเทศไทยต้องเตรียมขันตักน้ำให้พร้อม ต้องเตรียมคน ทั้งการ reskill และ upskill ให้พร้อมเช่นกัน ท๊อปเล่าว่าได้คุยกับผู้นำของเวียดนาม เวียดนามเตรียมคนคือนักศึกษาจบใหม่ที่จะเข้ามาสู่การทำงานปีละ 500,000 คน เลยทีเดียว

นอกจากนี้ AI จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น แบ่งเป็น 2 ด้านคือ การทำงานอัตโนมัติ (Automation) และเสริมประสิทธิภาพการทำงาน (Augmentation) ในส่วนการทำงานอัตโนมัติจะกระทบการทำงานของมนุษย์ออฟฟิศ (White Collar) โดยตรง แต่จะให้ประโยชน์แก่มนุษย์โรงงาน (Blue Collar) มากขึ้น ท๊อปขยายความว่า AI ทำงานได้เกินครึ่งของหน้าที่มนุษย์ออฟฟิศแล้ว สิ่งที่ AI ทำได้จะรวมจนเกิดเป็นอาชีพใหม่ ทั้งนี้ AI จะไม่ได้มาแทนมนุษย์ แต่หน้าที่บางส่วนของมนุษย์ออฟฟิศจะหายไป เพราะ AI ทำได้หมดแล้ว บริษัทที่มีพนักงานเพียง 50 คน บวกพลังของ AI จะทำงานได้เท่ากับบริษัทที่มีพนักงาน 10,000 คน

ส่วนเสริมประสิทธิภาพการทำงานจะทำให้มนุษย์โรงงานกลายเป็นซูเปอร์แมน เพราะจะมี AI เข้ามาช่วยเสริมความรู้ และมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้คนมีสกิลมากขึ้น ส่วนนี้จะเกิดก่อนการทำงานอัตโนมัติ เพราะเทคโนโลยียังไม่สามารถทำแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด ไทยต้องทำให้เทคโนโลยีเข้าถึงทุกคนได้อย่างเท่าเทียม เหมือนกับที่คนไทยเรียนรู้เรื่องการใช้พร้อมเพย์ไวระดับโลก จะยิ่งทำให้ไทยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที

ธุรกิจยุคใหม่ ใครไม่ ‘ดิจิทัล’ และ ‘กรีน’ เตรียมเจ๊ง

สิ่งหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างใหญ่หลวงคือ ภาวะโลกร้อน มีสถิติระบุว่าปี 2023 มีคนตายกว่า 7 ล้านคนจากสภาวะอากาศอันเลวร้าย การแก้ปัญหาสภาพอากาศอันชอกช้ำที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ต้องใช้เงินกว่า 5 ล้านล้านเหรียญฯ ทุกปีไปจนถึงปี 2050 คิดเป็น 5% ของ GDP โลกเลยทีเดียว มีคำกล่าวว่า บริษัทไหนไม่สนใจสองคำนี้คือคำว่า ‘ดิจิทัล’ และ ‘กรีน’ จะเจ๊งภายใน 10 ปี

คำกล่าวนี้ไม่เกินจริง เพราะธุรกิจที่ทำตัวให้กรีนจะได้เปรียบมากขึ้น ธุรกิจไหนเปลี่ยนไปเป็นกรีนจะถือมีดยาวขึ้นจนกลายเป็นถือปืน ธุรกิจแบบเก่าจะยิ่งถือมีดสั้นลงเรื่อย ๆ ใครที่ยังทำธุรกิจแบบเก่าจะโดนล่าแม่มด ธุรกิจจะสะดุดเพราะแบงก์ไม่อนุมัติเงินกู้ ส่งออกไม่ได้เพราะคู่ค้าไม่รับเจ้าที่ไม่กรีน แถมจะโดนเรียกเก็บภาษีมากขึ้นจากปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมา ธุรกิจแบบเก่าจะโดนโลกใช้ไม้เรียวหวดระนาว เพื่อเก็บเงินมาเติม 5 ล้านล้านเหรียญฯ ให้เต็ม นี่จะกลายเป็นกฎของธุรกิจในยุคใหม่

สุดท้ายท๊อปกล่าวถึงอนาคตของสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยจะเพิ่มมากขึ้น ดังที่เราเห็นสถาบันการเงินลงมาเล่นในตลาดนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ (ปัจจุบันมีกระดานเทรดกว่า 17 เจ้าในไทย) ปัจจุบัน Bitkub เป็นดิจิทัลแอคเซสที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และทำกำไรติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ความท้าทายของท๊อปคือจะสร้าง ecosystem สินทรัพย์ดิจิทัลในไทยให้แข็งแรงขึ้นได้อย่างไร เหมือนอย่างที่คนไทยใช้พร้อมเพย์กันอย่างพร้อมเพรียง และในวันนั้นสินทรัพย์ดิจิทัลจะทำให้คนไทยสะดวกและปลอดภัยขึ้นจริงหรือไม่ เราคงต้องมาว่ากันต่อไป