“จงหาลายเซ็นของตัวเองให้เจอ” ถือเป็นประโยคยอดฮิตในหมู่นักสร้างสรรค์งานศิลปะทั่วโลก และสำหรับ ‘พชร์ อานนท์’ ผู้กำกับที่คร่ำหวอดในวงการบันเทิงไทยมาอย่างยาวนานกว่า 32 ปี คือหนึ่งในคนที่ถูกมองว่าเป็นนักสร้างสรรค์ที่มีลายเซ็นและแนวทางการผลิตผลงานที่สุดโต่งคนหนึ่ง บ่อยครั้งหนังหลาย ๆ เรื่องของเขาก็มาพร้อมกับคำวิจารณ์แสนเผ็ดร้อนบนโลกออนไลน์ ที่ไม่ต่างกับการแหวกคนดูออกเป็นสองฝั่ง บ้างก็ชอบผลงานของเขา บ้างก็ปฏิเสธที่จะรับชมแม้กระทั่งตัวอย่างหนังด้วยซ้ำ
BT ได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับพชร์ในหลากหลายประเด็น ทั้งเสียงก่นด่าของชาวเน็ต ที่ตัวเขาต้องรับมือมาตลอด 32 ปี เบื้องหลังการสร้างหนังแบบ ‘ไร้สคริปต์’ รวมถึงเปิดใจถึงวงการหนังไทยที่เขามองว่า ’ไม่ค่อยจะรักกัน’ นี่คือบทสัมภาษณ์ที่อาจทำให้คุณเข้าใจคนที่ชื่อ ‘พชร์ อานนท์’ มากขึ้น
จุดเริ่มต้น ในวันที่ก้าวเท้าเข้าสู่วงการบันเทิงของ ‘พชร์ อานนท์’
พชร์: คือจริง ๆ ไม่ได้อยากเป็นผู้กํากับ ตอนเรียนมัธยมอยากเป็นคุณครู ตอนนั้นชีวิตมันไม่ได้ราบเรียบ ไม่มีเงิน เป็นชีวิตที่จน และในระหว่างที่เรียนเราก็ทํางานไปด้วยเรียนไปด้วย เป็นกระเป๋ารถเมล์ เป็นอะไรหลาย ๆ อย่าง ก็ได้เงินวันละร้อยหนึ่ง 80 บาทเราก็ทํา แล้วมีอยู่วันหนึ่งเราเดินกลับบ้าน ก็มีคนมาชวนไปเป็นนายแบบถ่ายลงหนังสือ ‘เธอกับฉัน’ คือเราอยากได้เงินอยู่แล้ว พอไปถ่ายเราก็สนิท คุยไปคุยมาก็ถามเขาว่าขอทํางานได้ไหม ตอนนั้นเลยได้ทํางานในแผนกหาโฆษณา แล้วก็ทําสไตล์ลิสต์ พอตอน พ.ศ. 2529 บรรณาธิการเขาลาออก นายทุนเจ้าของหนังสือเขาหาบรรณาธิการบริหาร และเราก็โชว์ฝีมือไว้แล้วตอนนั้นเลยได้มาเป็นบรรณาธิการบริหาร ตอนนั้นได้ประมาณ 14,000–20,000 ก็ถือว่าเยอะมาก เราก็เลยหยุดเรียนไว้ก่อน
มาเป็นผู้กำกับได้อย่างไร
พชร์: เป็นคนที่ชอบดูหนัง ดูหนังเยอะมาก เราดูหมดตั้งแต่เด็ก ๆ ควบสองเรื่องตามพระโขนงรามา หนังพันนา ฤทธิไกร, ‘หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์’, ‘จัมโบ้เอ’ คือจริง ๆ เราไม่ได้คิดว่าตัวเองจะได้เป็นผู้กํากับหรอก ก็ทําหนังสือปกติ แต่เราโชคดีอย่าง เวลาดาราเราไปเล่นหนังที่ไหน เราก็จะไปนั่งเฝ้า ไปดู ไปเป็นเพื่อน เพราะว่าบางทีทําหนังสือมันก็ว่าง แล้วมีอยู่วันหนึ่ง คุณเชน (เจริญ เอี่ยมพึ่งพร) บริษัทไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น เขาถามว่า “อยากเป็นผู้กํากับไหม?” เราก็โอเค “เป็นครับ”
จําได้ว่าช่วงนั้นไปคุยกับพี่ปี๊ด-ธนิตย์ จิตนุกูล กับพี่อังเคิล-อดิเรก วัฏลีลา พวกเขาถ่ายหนังกันอยู่ที่แถว ๆ ผับแห่งหนึ่ง เราก็ไปบอกว่า “พี่ผมจะเป็นผู้กํากับแล้ว” เขาพูดกลับมาว่า “มึงกล้าสั่งคําว่าแอ็กชันหรือเปล่า ถ้ามึงสั่งแอ็กชันได้ มึงก็กำกับหนังได้” แต่จริง ๆ มันไม่ใช่อย่างนั้น คือเขาพูดประชดเรา เพราะการทําหนังเนี่ยมันรายละเอียดเยอะ ความรับผิดชอบมันสูง เราต้องต้องคุมเกมให้ได้ แล้วโชคดีที่ว่าเราจะทําหนังอะไรเราสามารถมองตลาดออก เพราะเราทําการตลาดมาก่อน ตอนขายหนังสือ ตอนนั้นหนังนักเรียนเยอะ ‘ม.6/2 ห้องครูวารี’ หรือ ‘กระโปรงบานขาสั้น’ พอเขาบอกให้เราเป็นผู้กํากับ เราก็คิดที่มันไม่เหมือนชาวบ้านก็ออกมาเป็น ‘สติแตกสุดขั้วโลก’ ซึ่งมันไม่ใช่หนังนักเรียน แต่มันเป็นหนังวัยรุ่น ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเรียนหนังสือ
คุณถูกมองว่าเป็นคนที่ทำหนังโดยยึดตามคนดู มากกว่าตัวเอง อะไรคือหัวใจในการทำหนังของ ‘พชร์ อานนท์’
พชร์: เวลาทําหนังเราต้องนึกก่อนว่าเราจะทําหนังให้ใครดู เพราะเราคงไม่ทําหนังดูเอง เราไม่เหมือนผู้กํากับคนอื่น คนอื่นเขาจะทําหนังสไตล์เขาให้คนอื่นดู แต่เราจะทําหนังสไตล์ผู้ชมที่เสียเงินเข้าไปดู เราไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่ พอทํา ‘สติแตกสุดขั้วโลก’ ออกมาได้เงินเยอะมาก คนก็มาด่าว่าหนังปัญญาอ่อน พชร์ก็ทําได้แค่นี้แหละหนังปัญญาอ่อน มึงไม่ได้เรียนมา อะไรอย่างนี้ พอมึงด่ากูกูก็ทํานี่เลย ‘18 ฝนคนอันตราย’ ก็ดราม่า แอ็กชัน บู๊ ลุย ซึ่งเป็นงานที่ยากมากสําหรับสมัยนั้น เพราะว่าไม่มีผู้กํากับคนไหนเขาทํากัน สุดท้ายหนังก็ได้ชิงรางวัลเยอะแยะไปหมด รวมถึงตัวเราก็ได้ชิง ตากล้องก็ได้ชิง ทุกคนได้ชิงหมด เออกูก็ทําหนังแบบไม่ปัญญาอ่อนไม่ไร้สาระได้ แต่พอได้เงินประมาณ 37 ล้าน นายทุนก็บอกว่าพชร์ทําหนังตลกดีกว่าไหม เราก็ยอมรับเพราะว่าหนังสไตล์อย่างนี้ คนไม่ค่อยดู คนชอบดูอะไรที่มันง่าย ๆ ตลก ๆ หลังจากนั้นก็ทําหนังตลกมาตลอด เพราะว่านายทุนชอบให้ทําหนังตลก
มีเคล็ดลับในการไปขอเงินจากนายทุนมาทำหนังไหม
พชร์: คืออย่างนี้เลยเราไปหานายทุน ก็บอกจะทําหนังตลกเกี่ยวกับอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เล่า ๆ เขาก็ถามว่าใช้เงินทุนเท่าไหร่ เราก็บอกไปประมาณนี้ เขาก็โอเคผ่าน หลังจากนั้นเราก็สไตล์นี้ตลอด คือเล่าเรื่องให้นายทุนฟัง เราไม่ได้ไปหาตัวเล็ก ๆ เราขึ้นไปหาตัวใหญ่ ๆ คือผู้บริหารเลย เราว่ามันเป็นเพราะความเชื่อใจกันมากกว่า เพราะว่าเราไม่เคยทําให้เขาขาดทุนไง ถึงมันอาจจะได้กําไรน้อย ๆ 2-3 ล้าน ก็ยังดีกว่าขาดทุนเป็น 10 ล้าน จนถึงปัจจุบันเราไปเสนอนายทุนเราก็ไม่มีบทนะ ไม่มีบทเป็นเล่ม ไม่มีอะไรให้เขาดู เราก็พูดปากเปล่า บางทีเราคุยไลน์
หนังของพชร์ อานนท์ ไม่มีบทจริงหรือ?
พชร์: อือใช่! คืออย่างนี้ ตอนเราทําหนังแรก ๆ เราก็มีบท จ้างเขียน 300,000-500,000 เขียนเป็นเล่มเลย แล้วพอเขียนเสร็จ เรามาอ่านแล้วมันไม่ใช่ ไม่ใช่หนังที่เราอยากทํา ทั้ง ๆ ที่เราก็ถ่ายทอดไปแล้วนะพอเป็นบทเสร็จออกมา บทไม่ใช่อย่างที่เราอยากทํา อย่าลืมว่าคนเขียนบทคนหนึ่ง คนกํากับคนหนึ่ง มันก็กลายเป็นคนละเรื่องไง คนที่ชอบพูดว่าให้ดารามาอิมโพรไวซ์เอง ไม่ได้นะหนังมันไม่เป็นเรื่องนะ เพราะสมมติว่าคนหนึ่งบอกว่า “เฮ้ย คืนนี้กูไปกินเหล้ามา” อีกคนบอก “เฮ้ย แต่กูไปเที่ยวมาแล้วเว้ย” อ้าวแล้วหนังเราจะเป็นยังไง มันไม่ได้ เราไม่ชอบให้ดาราท่องบทมา มันจะแบบว่าเครียด มันไม่ติดปาก
ก็เป็นแบบนี้มาทั้งหมดจะ 50 เรื่องแล้ว แต่คนก็บอกว่าทําหนังชุ่ย ทําหนังห่วย ไม่มีบท จริง ๆ หนังเราได้รางวัลหลายเรื่องนะ แต่ไม่มีคนพูดถึง ‘เอ๋อเหรอ’ เนี่ยก็ถ่ายสไตล์นี้ ไม่มีบทเหมือนกัน เด็กดาวน์ซินโดรมพูด “คุณพ่อครับไม่มีใครรักต๋องเลย” มันเป็นความถนัดมากกว่า มันไม่ได้ว่าถูกหรือผิด แต่เราถนัด คือเราโดนว่ามาตลอด ตอนนั้นคนก็ยังไม่เชื่อว่ามีบทหรือไม่มีบท แต่ตอนนี้บอกได้เลย หนังเราไม่มีบทสักเรื่อง แต่ก็เป็นหนังที่มีเรื่องราวจนจบ คนดูร้องไห้ คนดูหัวเราะ คนดูสนุกสนาน แล้วก็ประสบความสําเร็จ
คุณเป็นผู้กำกับที่มักจะโดนตัดสินผลงานจากภายนอกก่อนเสมอ
พชร์: คือคนที่ชอบมาว่าเนี่ย เป็นคนที่ไม่ได้ดูผลงานของเรามากกว่า ถ้าคนที่ได้ดูเขาก็จะชอบ ไม่งั้น ‘หอแต๋วแตก’ มันจะมีถึง 10 ภาคได้อย่างไร แล้วเราไม่ได้เป็นคนควักเงินตัวเองทํานะ นายทุนเอามาให้เรานะ 20-30 ล้าน เราก็ทําตามโจทย์ ก็มีคนดูและถ้ามันเจ๊งเยอะ ๆ นายทุนเขาก็ไม่กล้าควักถูกต้องไหม เพราะฉะนั้นหยุดด่า การดูหนังมันเป็นรสนิยมของคน เหมือนเราชอบกินผัดไทย อีกคนชอบกินผัดซีอิ๊ว แล้วมีคนมาบอก “มึงต้องกินผัดไทยนะ มึงจะเป็นคนรสนิยมดีเหมือนกู” ไม่ใช่! คือรสนิยมใครก็รสนิยมมัน คนอาจจะชอบหนังอีกแบบ เพราะทุกคนเสียเงินไปก็ต้องการความสุขเข้าตัวทั้งนั้น เพราะฉะนั้นกลุ่มที่ต้องการหนังคุณภาพหนังดี ๆ ก็ไปดูเรื่องนั้น แต่ถ้าคุณต้องการพักผ่อนคลายเครียดก็ไปดูเรื่องนี้
เคยโดนด่าจนหมอดูทัก
พชร์: คือหมอดูบอกว่าเราเป็นคนต้องมีเรื่องเสีย ๆ หาย ๆ ด่า ๆ กันเข้ามา เราถึงอยู่นาน เลยรู้สึกเฉย ๆ คนมันจะด่าก็ด่าไป กูไม่รู้จักมึง ด่าไป มึงก็เครียดเอง กูสนุกสนานได้ทําหนังเรื่องต่อไป ก็ไม่แคร์เลย ไม่ใช่เพราะนั่นด่าปุ๊บ เราไม่มีงานทํา อันนี้มันยิ่งด่า เรายิ่งมีงานทํา หนังสไตล์พชร์ อานนท์ เมื่อก่อนคนยังไม่ยอมรับนะ ทําหนังชุ่ย ทําหนังห่วย ไม่มีบท มึงทําได้ยังไง กูทําได้ มึงอ่ะหยุดด่า มึงไปหางานทําดีกว่า เอาอย่างนี้ก็ได้มึงไปหานายทุนแข่งกับกูจบ แล้วมึงก็เลิกด่า ทำหนังแข่งกันเลย เก่งกันนักนี่ แต่ก็ขี้เกียจพูดไงไม่อยากให้ค่า คือเราไม่ได้อยากว่าเขาหรอก แต่คุณมาด่าผม ทั้ง ๆ ที่คุณไม่รู้จักผม ด่าไอ้โน่นไอ้นี่ เราก็ทํามาหากินของเรา คุณไม่ดู คุณก็ไม่ต้องพูดถึงเลย ไม่ชอบผมก็ไม่ต้องพูดถึงด้วย
อยู่ในวงการหนังไทยมากว่า 3 ทศวรรษ เรามีโอกาสจะเติบโตอย่างแท้จริงบนเวทีโลกได้ไหม
พชร์: คือคนทําหนังไทยเหมือนจะรักกัน แต่จริง ๆ มันไม่ได้รักกันหรอก มันจะโดนเหยียด โดนแบ่งชนชั้น “มึงไม่เก่ง มึงทําหนังอะไรก็ไม่รู้ แต่กูน่ะเก่ง” เราก็สังเกตดูมาตลอดว่ามันจะมีแบบนี้ แต่เราไม่สนใจอยู่แล้ว เราก็ทําหนังสไตล์นี้ เราก็อยู่ได้และที่สําคัญคือถ้าจะไปแข่งกับเมืองนอก บ้านเราบุคลากรอาจจะเก่ง แต่เงินทุนมันไม่อํานวย สมมติว่าทําหนังเรื่องหนึ่ง ลงทุนไป 50 ล้าน ลองคิดดูหนังฝรั่งแค่ชุดไอออนแมนเกิน 50 ล้านนะ เท่ากับเราทำหนังไทยเรื่องสองเรื่องเลยนะ
เราเป็นคนทําหนังที่เงินทุนน้อยที่สุด แต่มันก็จะมีแบบคนพูดถึงหนังพชร์ อานนท์ ก็จะทําเป็นรังเกียจ ที่เขาพูดกันสามัคคี ต่อหน้าสามัคคี ลับหลังก็แบบเม้าท์กันตายไปเลย แทงกันตายไปเลย เพราะฉะนั้นเราอย่าไปเทียบกับหนังนอก หนังนอกรัฐบาลเขาสนับสนุน เงินทุนและหัวสมองคนเรามันไม่เหมือนกัน ทําไมเกาหลีถึงไปชิงออสการ์ได้ เพราะเขาสนับสนุนกันเต็มที่ไง ของเราสนับสนุนกันแต่ปาก พอข่าวเงียบปุ๊บก็จบ มันไม่ได้รักกันจริงหรอกวงการหนังไทย เราพูดตรง ๆ เพราะว่า เราไม่ได้เป็นคนเเบบตอแหลไง
นาทีนี้ พชร์ อานนท์ มีผู้กำกับในดวงใจไหม
พชร์: ถ้าถามว่าผู้กํากับในดวงใจ เราว่ายุคมันไม่ค่อยเหมือนยุคก่อน อย่างเกาหลีก็ชอบ คิมกี-ด็อก (Kim Ki-duk) คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) เราก็พยายามจะทําความเข้าใจกับหนังเขาแต่ก็ไม่เข้าใจ เรายังชอบ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) มากกว่า ช่วงหลัง ๆ เลยไม่มีไม่มีผู้กํากับในดวงใจที่ชอบ เพราะหนังมันไม่ได้ดีเท่ากับยุค 90s ยุค 2000s หรืออาจเป็นเพราะมีแต่หนังฮีโร เราดูไปดูมาก็เบื่อ เพราะเดี๋ยวเรื่องนี้ก็ยึดโลก เรื่องนี้ก็ยึดโลก พวกนี้ก็ยึดโลก รวมตัวสู้กับมัน มันจะมายึดโลก ไอ้นี่มายึดโลกอีกแล้ว ไอ้นี่ทะลุมา กี่เรื่อง ๆ ก็ยึดโลก มันก็เลยทําให้เราเบื่อไง ดูกี่เรื่องก็ทะลุมา คนสมัยนี้ก็อาจจะชอบ แต่ว่าหนังก็ไม่ทําเงินแล้ว หลาย ๆ เรื่อง เพราะว่ามันซ้ำไปซ้ำมา มันน่าเบื่อ
ช่วงทศวรรษหลังคุณทำหนังตลกมาตลอด หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าโปรเจกต์ในฝันของคุณคือการทำ ‘หนังชีวิตคน’
พชร์: เราเป็นคนชอบหนังดราม่า เกี่ยวกับเอาชีวิตคนจริง ๆ มาสร้าง อยากทําหนังชีวิตคนแก่ที่ไปอยู่กันในบ้านคนชรา อยากจะทําเกี่ยวกับสีลมซอย 2 อยากจะทําหนังให้กับเด็กสลัม ถ้าเสนอไปพวกนี้โดนปัดตกหมดเลย เอาแต่ ‘หอแต๋วแตก’ เลยไม่ได้ทําหลายเรื่อง
บทเรียนชีวิตในวงการบันเทิง 32 ปี
พชร์: คือถ้าเราอยากมีความสุข อย่าไปแคร์คนอื่นเยอะ อย่าไปแคร์คนที่ไม่รู้จัก อย่าแคร์คนที่ว่าเรา บทเรียนที่สําคัญก็คืออะไรที่ทําให้มีความสุขเราก็ทํา อะไรที่มันทําแล้วไม่มีความสุขเราก็ไม่ทํา เพราะชีวิตมันเป็นของเราไง แล้วคนที่มาด่าเรา เขาก็ไม่ได้ให้ข้าวอะไรเรากิน เราหากินด้วยตัวเองเพราะฉะนั้นอย่าสนใจ อย่าไปให้ค่าแค่นั้นเอง ไม่งั้นพี่อยู่ไม่ได้ถึงป่านนี้หรอก เพราะพี่โดนเยอะมากสมัยพันทิปนี่ ทุกคนไปลงในพันทิป จนสุดท้ายพันทิปเหนื่อยไปเอง
มีแพลนจะเกษียณเมื่อไหร่
พชร์: คือพูดถึงจะเกษียณเมื่อไหร่? ก็ดูหน้าพี่ยังไม่แก่เลยเนอะ มันก็ยังก็ยังทําได้อยู่ หัวสมองมันก็มีอะไรใหม่ ๆ มาอยู่เรื่อย ๆ คือถ้าจะเกษียณมันก็ต้องไม่มีแรงเลย เราก็พยายามจะปั้นเด็กรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมาเป็นผู้กํากับ แต่พวกเด็กรุ่นใหม่ ๆ ทํางานด้วยยากนะ ไม่อดทน ไม่อะไรจะเอาแต่สบาย คือเด็กรุ่นใหม่ที่อยากมาเป็นผู้กํากับ พยายามอย่าขี้โม้เยอะเพราะนายทุนเขาไม่ชอบคนขี้โม้ คือบางทีโม้แล้วทําออกมาไม่ได้ ตอนไปคุยสารพัดจะเอารถข้ามสะพาน พอทำไม่ได้นายทุนเขาก็ไม่เอากับคุณ เพราะฉะนั้นอย่าขี้โม้เยอะ
‘หอแต๋วแตก’ ก็เดินทางมาถึงภาคสุดท้ายแล้ว ตอนนี้คุณวางเป้าหมายของตัวเองเป็นอย่างไร
พชร์: เป้าหมายก็คงหยุดทําหนัง นอนอยู่กับบ้าน ไปเที่ยวต่างประเทศ เพราะจริง ๆ เราก็ไม่ได้อยากเป็นผู้กํากับแต่แรก แล้วก็อยู่ยาวนานถึง 32 ปี ผู้กํากับคนอื่นก็ไปกันหมดแล้ว แต่เราไม่ยอมไป หมายถึงว่าไม่ยอมออกจากวงการ มันก็มีแฟนของเราที่ชอบผลงานของเรา
ฝากผลงาน
พชร์: ฝากไว้นะครับ ‘หอแต๋วแตก แหกสัปะหยด’ อย่าเพิ่งอคติไปดูก่อนเพราะว่าไหน ๆ มันก็เป็นภาคสุดท้ายแล้ว ก็ไปดูแล้วก็ให้กําลังใจคนทําหนังทุกคนนะครับ เพราะว่าไม่มีใครที่บอกว่าตัวเองไม่เก่งหรอก เราก็ไม่รู้ว่าเราเก่งไหม แต่เราทำได้ในสิ่งที่เราอยากให้ท่านผู้ชมได้เห็นนะ ก็ฝากด้วย ‘หอแต๋วแตก แหกสัปะหยด’ 14 มีนาคม ครับผม