นักร้องสาวผู้หลงรักการทำเพลงและความเบียวสุดแปลกใหม่ของตัวเองอย่าง ปั้น-นลพรรณ อัมพุช จากวง LUSS ที่มีเพลง เนื้อร้อง และดนตรีสุดสร้างสรรค์ โดย BT BUZZ มีโอกาสได้พูดคุยกับ ปั้น ถึงเบื้องหลังการทำเพลง และช่วงเวลาที่เคยรู้สึกหมดไฟในการเป็นศิลปิน

พูดถึงวง LUSS นึกถึงอะไร ?

ปั้น: จริง ๆ LUSS มี 2 คน แต่วันนี้ปั้น (นลพรรณ อัมพุช) มาคนเดียว ปั้นเป็นนักร้องนำหญิง เป็นคนแต่งเพลง เบน (ศิรสิทธิ์ ตั้งบุญดวงจิตต์) เป็นโปรดิวเซอร์หลักของวง ความเป็น LUSS มันก็จะมีความเนิร์ด ความเบียว ความแปลกที่ไม่เหมือนใคร เพลงที่ทําให้คนรู้จักเรามากขึ้นคือ “247”, “หยอก หยอก”, “KUNGFU” เป็นจุดเริ่มต้นของการที่เรารู้สึกว่าคาแรกเตอร์ LUSS มันออกมาในแบบที่ไม่เหมือนใคร ทั้งในภาพและเนื้อเพลง

ที่มาของชื่อวง LUSS

ปั้น: มันแค่เข้าปากเฉย ๆ มันไม่ได้มีความหมายอะไร ตอนนั้นแค่พูดขึ้นมาว่า LUSS แล้วมันก็ดีนะ ก็เลยใช้มาตลอดค่ะ 

ทำงานกับ ‘เบน’ เป็นอย่างไรบ้าง ?

ปั้น: เมื่อก่อนพี่หลาย ๆ คนในค่ายจะบอกว่า ถ้าอยู่กับปั้นกับเบนจะเวียนหัวมาก เพราะว่ามันเหมือนคนสมาธิสั้นตลอดเวลา เบนมีความสมาธิสั้นบวกความกวนตีน บางทีพยายามทําเพลงหนึ่งค่ะ แล้วอยู่ ๆ ก็ได้เพลงอื่น ซึ่งเราว่ามันเป็นกระบวนการทําเพลงที่ประหลาดดี บางทีมันต้องปล่อยให้เวลาและอารมณ์มันพาไป 

ไอเดียการแต่งเพลงของปั้น มาจากอะไร ?

ปั้น: จริง ๆ เมื่อก่อนปั้นเป็นคนที่ไม่กล้าเล่าเรื่องของตัวเอง เพราะรู้สึกว่าคนฟังใกล้เรามากเกินไป เรารู้สึกว่าเรามีกําแพงที่ไม่อยากให้เขารู้จักเรามากเกินไป คือแรงบันดาลใจที่ผ่านมาเราไปหาจากคนอื่น เราหาเรื่องรอบตัวมาตลอดแล้วก็เอามาเล่า แต่ว่าในอัลบั้ม ‘Is there anything on the Moon?’ เราเอามาจากตัวเองล้วน ๆ โดยเฉพาะครึ่งหลังของอัลบั้มจะเห็นสีที่ค่อนข้างชัดขึ้นค่ะ ตั้งแต่เพลง “เตลิด” ที่ปล่อยไป แล้วก็ “howyoulie.” ที่ร่วมมือกับ ฮาย Paper Planes แล้วก็เพลง “Pao Ying Chub!” กับ TangBadVoice ก็เป็นเรื่องของตัวเองหมดเลย

แต่ว่า “เตลิด” เราเอามาในมุมที่เราตกหลุมรักตัวละครในอนิเมะ เพราะเราเป็น ‘โอตาคุ’ คือ เอาตัวละครในอนิเมะมาเล่า เพราะประสบการณ์จริงของเราไม่ค่อยตกหลุมรักผู้ชายเท่าไหร่ ไม่รู้ทําไมเหมือนกัน แต่ว่าเวลาดูพวกอนิเมะ เราจะชอบตัวละครที่มันแบด ๆ โดยเฉพาะตัวละครผู้หญิงที่เราเอาใส่ลงไปในนั้นด้วย เพราะเราชอบมาก ๆ ชื่อ ‘มาคิมะ’ 

เพลง “howyoulie.” จริง ๆ ก็เป็นประสบการณ์เมื่อก่อนเหมือนกัน ตอนเด็ก ๆ เป็นเพลงอารมณ์เหมือนอกหักเพลงแรกของ LUSS แล้วมันไม่ได้เป็นอกหักทั่วไปนะ มันเหมือนกับว่าวันนี้เรายอมให้เธอโกหก แต่ว่าในวันที่ฉันพร้อมแล้ว ฉันก็เลือกที่จะไปเองเหมือนกัน มันก็เลยเป็นมุมเศร้าในแบบของ LUSS

จนมาเพลง “Pao Ying Chub!” ก็เป็นเรื่องที่เวลาไปเที่ยวคลับ เพื่อน ๆ ขี้เมาทั้งหลายมันก็จะเมา แล้วเราก็เป็นคนที่ไม่ค่อยดื่ม เราก็ต้องเป็นคนที่รวบทุกคนกลับมา จะไปห้องน้ำใช่ไหมเดี๋ยวพาไปอะไรอย่างนี้ แล้วห้องน้ำผู้หญิงมันแถวยาวมาก คือเราจะสงสัยตลอดว่าทําไมแถวถึงยาวขนาดนั้น ก็เลยหาจังหวะที่อยากจะเอามาเล่าในสักเพลง ๆ หนึ่ง ซึ่งมันก็คือเพลงนี้ ที่เราเห็นหน้าพี่ตั้ง (ตะวันวาด วนวิทย์) ลอยออกมา เหมือนต้องเป็นพี่ตั้งเท่านั้นที่เราอยากจะให้มาช่วยเล่ามุมห้องน้ำผู้ชาย เพราะว่าเราไปคุยกับเพื่อนศิลปินต่างชาติมาเยอะมาก แล้วมันไม่มีประเทศไหนที่มีคนมานวดในห้องน้ำแบบประเทศไทย คือเราก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่าห้องน้ำผู้ชายมันจะมีคนมานวดแล้วเราต้องให้เงินใช่ไหม แล้วเราก็รู้สึกว่าไม่เห็นมีใครเล่าเรื่องนี้เลย ก็เลยบอกพี่ตั้งว่าช่วยเล่าให้หน่อย แล้วคือพี่ตั้งเขาก็เล่าได้เป็นฉาก ๆ แบบชาญฉลาดมาก

ที่มาของชื่ออัลบั้ม ‘Is there anything on the Moon?’ 

ปั้น: จริง ๆ ตอนแรกอัลบั้มจะชื่อ พิงก์สกาย (Pink Sky) แล้วเราก็ทําความรู้จักกับตัวเองอีกทีว่า พิงก์สกาย มันไม่เหมาะกับเรา จริง ๆ เราเบียวนี่หว่าก็เลยคิดชื่อกับเบนใหม่ แล้วเบนก็เห็นปั้นชอบมองพระจันทร์ทุกวันเลย ‘Is there anything on the Moon?’ คือทุกวันที่ออกมาจากสตูดิโอ ก็จะต้องพาน้องหมาไปเดินเล่น เพื่อที่จะเตรียมตัวคิดงานในวันต่อไปที่จะต้องทํา แล้วมันจะเป็นจังหวะเดียวที่เราไม่ได้ถือโทรศัพท์ไปด้วย ทุกวันเราก็จะมองขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วก็จะชี้ให้เบนดู แล้วเราเพิ่งมาสังเกตตัวเองว่าเราเป็นทุกวัน เบนก็เลยบอก ‘Is there anything on the Moon?’ เลยสิ เพราะเห็นถามอยู่ทุกวันไม่ใช่เหรอว่าวันนี้พระจันทร์เป็นไงบ้าง ก็เลยเริ่มค้นหาคำจำกัดความเพิ่มว่ามันสะท้อนกับความกวนตีนของ LUSS ได้ แบบมันจะสงสัยทุกอย่างเลยเหรอ สงสัยไปจนถึงดวงจันทร์เลยเหรอ แล้วพระจันทร์มันจะมีระยะต่าง ๆ ของมัน แบบ Full Moon, New Moon ที่ไม่มีดวงจันทร์บนฟ้าเลยหรือว่าจันทร์เสี้ยวอะไรอย่างนี้ เราว่ามันก็เหมือนช่วงระยะเวลาการเดินทางของ LUSS ด้วย แล้วก็อารมณ์ในเพลงทั้งหมดของอัลบั้มด้วย ที่อยู่ ๆ ก็มีความสุขจัง อยู่ ๆ ก็เศร้า มันคือช่วงเวลาของชีวิตมนุษย์ แล้วก็ความรู้สึกของมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะของ LUSS คือมีหลายอารมณ์มากในหนึ่งวัน เราก็เลยว่ามันเหมาะที่สุดที่จะเป็นชื่อนี้ค่ะ   

แรงบันดาลใจในการทำอัลบั้มนี้ ?

ปั้น: จริง ๆ แล้วอัลบั้มตั้งใจทําไว้ก่อนที่คุณน้าของเบนที่เราสนิท…ตั้งใจทําไว้ก่อนที่เขาจะเสีย ตอนนั้นเขายังไม่ได้ป่วย แต่ว่าครึ่งสองของอัลบั้มที่มันมาจบได้เพราะว่าเป็นเรื่องของตอนที่เขาไม่อยู่นี่แหละ เราถึงมาคอมพลีตอัลบั้มนี้ได้ ตอนแรกเราปล่อย 4 เพลงแล้วเราตัน ซึ่งเพลงสุดท้ายของปีที่แล้วคือเพลง “เพื่อนคนโปรด” เราไม่รู้ว่าสังเกตเห็นกันไหม แต่เราว่ามันเหมือนจิตวิญญาณเต็มไปด้วยอารมณ์ของเพลง มันค่อนข้างต่างกันนะ เหมือนพอคุณน้าเขาเสียไปแล้วมันทําให้เรารู้ว่าชีวิตมันสั้น คือเปิดใจจริงใจกับงานของเราได้แล้ว เพราะว่าถ้าไม่จริงใจตอนนี้เราจะทําไปทําไม มันจะจริงใจได้อีกทีเมื่อไหร่ เพราะว่าอยู่ ๆ เขาก็หายไปเนอะ คือคุยกันทุกวันแต่ว่าอยู่ ๆ คน ๆ หนึ่งมันหายไปได้ยังไง มันก็เลยทําให้เรากล้าเปิดใจที่จะเอาเรื่องราวนี้มาใส่ในเพลง ที่สุดท้ายแล้วมันจะถูกปล่อยพร้อมอัลบั้ม ซึ่งเพลงนั้นเป็นเพลงแรกที่ทําให้เราแต่งอีก 7 เพลงที่เหลือในอัลบั้มได้ มันเหมือนเปิดประตูสู่โลกแห่งจินตนาการอีกขั้นหนึ่งของเรา ที่เมื่อก่อนเราต้องยืมเรื่องของคนอื่นมาเขียนตลอด แต่ตอนนี้มันเหมือนมาจากข้างใน เมื่อก่อนมันจะต้องเอาจากข้างนอกเข้ามา เพราะว่าเขาเนี่ยแหละ เรารู้สึกว่าเราอยากจริงใจกับตัวเองได้แล้วเพราะว่าเราไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่

เคยรู้สึกหมดไฟจากการทำงาน แต่ก็กลับมาได้ ?

ปั้น: เราว่ามันมีการหมดไฟหลาย ๆ อย่าง ของเราจะเป็นการตัดสินใจในทุก ๆ เรื่องเกินไป แทนที่เราจะเอาหัวไปตัดสินใจในสิ่งที่สําคัญจริง ๆ เป็นสิ่งที่เราต้องทํา แต่เรากลับไม่ปล่อยให้คนอื่นที่เขาทํางานในส่วนอื่น ๆ ทำ บางทีอาจจะดีกว่าเราด้วยซ้ำ มันเป็นสิ่งที่เราเพิ่งเข้าใจว่า ไม่ต้องทําทุกอย่างด้วยตัวเอง มันเป็นไปไม่ได้ ตอนนั้นที่เราหมดไฟคือเราไม่ไหว มันสะสมมาหลายเดือนมาก จนมันมาโป๊ะในวันนั้นวันเดียว แล้วก็รู้ว่าเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว งานมันไม่มีประสิทธิภาพถ้าเราไม่ปล่อยให้คนอื่นทํา คนอื่นทําอาจจะทําตรงใจเรา 90% แต่มันต้องเลือกเรื่อง ต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี เราต้องเรียนรู้ที่จะเชื่อใจคนอื่นได้แล้ว เชื่อในการตัดสินใจของคนอื่นให้มากกว่าตัวเอง ต้องยอมรับว่าคนเรามันเก่งที่สุดทุกเรื่องไม่ได้ แต่ละคนมันมีความสามารถที่ต่างกัน เราก็เลยเรียนรู้ที่จะไว้ใจคนอื่นแล้วก็ปล่อยให้เขาตัดสินใจ ตอนนั้นเราไม่ปล่อยให้ทีมตัดสินใจเลย ซึ่งเขาก็พยายามจะช่วยเราแต่เราก็ปฏิเสธ เลยกลายเป็นหมดไฟเพราะสิ่งนี้ 

อะไรคือบทเรียนสำคัญที่ปั้นได้จากการรู้จักตัวเอง ?

ปั้น: บางทีเรามองไม่เห็นว่าความเครียดมันส่งผลต่อร่างกายเรา เราต้องไล่ย้อนกลับไปนะว่าการทํางานของเราแบบไหนที่เราควรจะเก็บไว้ หรือแบบไหนที่ควรจะโยนทิ้งมันไป เราต้องใจดีกับตัวเองมากขึ้น เรารู้ตัวว่าเราเป็น Perfectionist มันต้องคุยกับตัวเองถึงจะรู้แล้วยอมรับ เราต้องเปิดใจ ใจดีกับตัวเอง บางทีที่เราไปโทษคนอื่นว่าเขาทํางานไม่ดี แต่สุดท้ายแล้วปัญหามันอาจจะเป็นเราด้วยก็ได้ ถ้าให้แนะนําลองคุยกับตัวเองทุกวัน คุยบ่อย ๆ แล้วก็ประเมินตัวเองทุกสัปดาห์เสมอค่ะ ทําอะไรดีก็ชื่นชม ทําอะไรที่ไม่ดีเราพร้อมจะแก้อยู่เสมอ ต้องเปิดใจและต้องถอดอีโก้ด้วย ไม่งั้นจะทํางานร่วมกันกับคนอื่นไม่ได้ แล้วที่สําคัญคือเราเรียนรู้จากการเป็น Perfectionist ว่าเราแบกทุกอย่างไว้คนเดียวไม่ได้ คนอื่นทําเก่งกว่าเราในหลาย ๆ เรื่องมาก ทําไมเราไม่เปิดใจให้เขาทําล่ะ

ฝากผลงาน

ปั้น: ขอฝากเพลง “Pao Ying Chub!” ของพวกเราด้วยนะคะ และอัลบั้มเต็มของพวกเรา ‘Is there anything on the Moon?’