หนึ่งในคณะที่หนุ่มๆ กล่าวขานกันว่าสาวๆ สวย คงหนีไม่พ้นคณะยอดนิยมอย่างศิลปศาสตร์ เพราะคณะนี้สาวๆ เยอะเหลือเกิน แถมแต่ละคนก็สวยและมีสไตล์ในแบบของตัวเองกันทั้งนั้น วันนี้เราจะไปพูดคุยกับตัวแทนของสาวคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหิดลกัน ว่าคณะนี้เค้าเรียนอะไรกันบ้าง ขอเชิญคุณผู้อ่านทุกท่านไปพูดคุยกับสาวสวยหน้าหวาน ขิม – ณินทิรา จงสุขไว

จากสาวสายวิทย์ตอนม.ปลาย กลายมาเป็นสาวสายศิลป์ตอนมหาวิทยาลัย

เริ่มแรกคือต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย ขิมเรียนสายวิทย์มา ขิมรู้สึกว่า เอ้ย นั่นมันไม่ใช่ตัวตนของเราเท่าไหร่ เราไม่ค่อยแฮปปี้ ก็เลยเปลี่ยนสายเลย อยากมาทางด้านสายศิลป์ดู ก็เลยไปดูงาน open house ของมหาวิทยาลัยต่างๆ แล้วก็ไปคณะศิลปศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล เราก็รู้สึกว่า เอ้อ.. นี่แหละตอบโจทย์เราละ เพราะด้วยเนื้อหาวิชาของคณะนี้มีความหลากหลาย มันมีทั้งการใช้ภาษาที่รวมกับความเป็นมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ด้วย ซึ่งมันตรงกะความชอบและบุคลิกของเราพอดี

คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย เค้าเรียนอะไรกันบ้าง

คือต้องอธิบายก่อนว่าคณะขิม สิ่งที่ต้องเรียนจะมีวิชาบังคับของมหาวิทยาลัยก็จะแยกเป็นหมวดต่างๆ เช่น หมวดวิทยาศาสตร์ หมวดกีฬา วิชาบังคับของคณะ วิชาบังคับเลือก วิชาโท และวิชาเสรี ถ้าแยกเป็นชั้นปีคือ

ปี 1 ก็จะเรียนวิชาบังคับของมหาวิทยาลัย และเรียนวิชาบังคับของคณะซึ่งก็จะเป็นวิชาที่ปูพื้นฐานเพื่อเตรียมสู่วิชาคณะในปี 2

พอขึ้นปี 2 ก็จะเข้าสู่วิชาคณะมากขึ้น เรียนพื้นฐานตัวที่สูงขึ้นของวิชาคณะ อย่างของขิม ภาคภาษาไทย ก็จะต้องเรียนทั้งสายภาษาศาสตร์ สายสื่อสารมวลชน สายคติชน และสายวรรณกรรม ก็จะเรียนเพื่อปูพื้นในทุกๆ สาย รวมถึงมีวิชาบังคับเกี่ยวกับสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ด้วย เช่น วิชาประวัติศาสตร์โลก รวมถึงในปีนี้จะต้องเลือกวิชาโทที่สนใจเพื่อต่อยอดไปสู่ปีสูงขึ้นด้วย

ปี 3 ก็แน่นอนว่ายังมีวิชาบังคับอยู่ แต่ที่เพิ่มเข้ามาคือวิชาบังคับเลือก นั่นคือให้เราได้เลือกเรียนวิชาที่เราอยากจะเรียนตามสายที่เราสนใจ

และในปีที่ 4 เป็นวิชาบูรณาการและสัมมนา คือจะต้องเอาความรู้ทั้งหมดที่เรียนมาตลอด 4 ปี มาสร้างประโยชน์แก่ชุมชนและเป็นองค์ความรู้ในวงวิชาการ

วิชาไหนที่ขิมชอบมากที่สุด

วิชาที่ชอบมากที่สุด น่าจะเป็นวิชาสัมมนา แค่ได้ยินชื่อก็ปาดเหงื่อก่อนแล้ว (หัวเราะ) วิชานี้ต้องเรียนตอนปี 4 เทอม 2 พูดง่ายๆ ให้เห็นภาพคือคล้ายการทำทีสิสจบ ก็จะต้องทำตัวเล่มขึ้นมา เป็นอะไรที่ยากมากและเหนื่อยมากค่ะ แต่ขิมชอบตรงรู้สึกว่ามันท้าทายดีว่า เอ้อ เราจะเอาที่เราเรียนแง่มุมไหนดีมาสร้างองค์ความรู้ ตอนเรียนแต่ละวีคก็ต้องนำเสนอความก้าวหน้ากับอาจารย์ เราก็จะลุ้นว่าจะผ่านไหม จะโดนแก้อะไรยังไง จะต้องทำอะไรต่อ คือต้องบอกว่าเหนื่อยมากจนวันสุดท้ายที่ตัวเล่มออกมาสมบูรณ์ โหยภูมิใจมากค่ะ ในที่สุด 4 ปีออกมาเป็นเล่มแล้ว (หัวเราะ)

สังคมในคณะศิลปศาสตร์ มหิดล เป็นไงบ้างนะ

โห.. สังคมของคณะเรา คือเป็นสังคมเล็กๆ ที่อบอุ่นมากก คือด้วยความที่เราคนน้อยถ้าเทียบกับคณะอื่น ปีนึงก็มีร้อยกว่าคน เราก็เลยจะรู้จักกันหมดว่าคนนี้หน้าแบบนี้ชื่อนี้ เราเลยจะอยู่กันแบบพี่น้อง สนุกสนาน เฮฮา เดินมาตอนเช้าที่โต๊ะใต้คณะคือเราก็สามารถทักทายเม้าท์มอยกันได้ตามแบบเด็กศิลปศาสตร์มาก ก็จะพูดมากๆ หน่อย (หัวเราะ)

ขิมเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง..

ตอนอยู่มหาวิทยาลัยนี่คือเขาให้ทำอะไรก็ทำหมดที่เราว่าเราทำได้ เช่น เฟรชชี่เกิร์ล นาฏศิลป์ กิจกรรมชั้นปี กิจกรรมคณะ คือทำหมด มันเหมือนเป็นอีกสังคมนึงนอกจากการเรียน ที่เป็นสีสันของเด็กมหาวิทยาลัยที่ครั้งนึงมันต้องมีนะ

แต่ถ้ากิจกรรมที่ชอบที่สุด ขิมคิดว่าน่าจะเป็นการที่ได้เข้ามาอยู่ชมรมนาฏศิลป์ คือชมรมจะต้องทำการแสดงเวลาคณะหรือมหาวิทยาลัยมีงาน คือมันยากตรงเป็นชมรมที่จะรวมคนทั้ง 4 ปีอยู่ เพราะฉะนั้นเวลาซ้อมมันก็จะไม่ค่อยตรงกัน แต่เราก็จะต้องช่วยกันประคับประคองให้งานแต่ละครั้งมันรอด เพราะเราจะต้องแกะท่ากันเอง คิดท่าเอง ซ้อมกันเอง รวมไปถึงแต่งหน้าทำผมแต่งตัว คือทุกอย่างเราต้องช่วยกันเองหมด มันเลยเป็นความเหนื่อยที่สนุกและผูกพันกันมาก

เคยเป็นนักพูดที่เวที TEDxMahidolU ด้วย

พูดถึง TED คือตอนแรกที่รู้ข่าวเพราะมีเพื่อนแท็กมาว่า มีเปิดออดิชันสปีคเกอร์นะ ตอนแรกเราบอกเพื่อน โอ้ย.. บายเลย มันยากเกินไป แล้วใครจะมาฟังเรา ฟังแนวคิดของเรา เราดูเป็นแค่เด็กคนนึง (หัวเราะ) แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจส่งไปด้วยหัวข้อใกล้ตัวที่เราอินกับมัน รู้สึกไปกับมัน จนได้รับเลือกขึ้นพูดค่ะ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับอคติที่คนเราสร้างมันขึ้นมาเอง มันมีทั้งอคติต่อตัวเองและอคติกับผู้อื่น ก็จะพูดยกตัวอย่างเรื่องของตัวเอง และเรื่องที่สัมพันธ์กับสังคมด้วย ประโยคนึงในทอล์คที่ขิมชอบมากคือ เราคุ้นชินกับการเปรียบเทียบว่าอะไรดีกว่าอะไร เราอยู่กับค่านิยมของการประกอบสร้าง ก็ดีใจที่อย่างน้อยที่สุดทอล์คนี้อาจจะเป็นแรงบันดาลใจหรือเปลี่ยนมุมมองความคิดของคนฟังได้บ้าง

Play video

ขิมเป็นคนที่เรียนเก่งมาก มีเทคนิคอะไร แนะนำหน่อยสิ

สำหรับตัวขิมนะ ขิมว่าอย่างแรกเลยคือเราต้องตั้งใจในห้องให้ได้มากที่สุดก่อน และเราก็จดลงสมุดในแบบภาษาเราที่เราเข้าใจ แล้วพอหลังจากเรียนเสร็จ เราอาจจะเอาเลกเชอร์เรามาเรียบเรียงใหม่หรือตรงไหนตกไป ก็ลองเช็คอ่านดู แล้วส่วนเวลาจะสอบขิมจะอ่านทั้งหมดก่อนรอบนึง รอบนี้ขิมจำอะไรไม่ได้หรอก เราจะแค่ขีดๆ ไฮไลท์ แล้วพอรอบที่สองขิมจะเริ่มจับเนื้อหามาโยงกันให้มันเป็นเรื่องราวว่าอะไรมีที่มาจากอะไร มันเชื่อมกันยังไง เหมือนเราพยายามมองภาพรวมละแบ่งย่อยๆ ลงไป อันนี้เป็นวิธีของขิมนะ ก็บางคนอาจจะถนัดไม่เหมือนกันต้องลองหาดูที่เหมาะสมกับตัวเอง ขิมว่าไม่มีเทคนิคตายตัวนะ

แรงบันดาลใจในการเรียน

ขิมไม่รู้ว่ามันเรียกแรงบันดาลใจรึเปล่านะคะ (หัวเราะ)  แต่สำหรับขิมแรงบันดาลใจน่าจะจากความคิดของเราเอง คือขิมจะคิดว่าการเรียนเป็นอย่างเดียวที่เราทำได้ในตอนนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ดีที่สุด ดีที่สุดคือดีที่สุดของเราเอง คือเราเต็มที่กับทุกๆ อย่างให้สุด และผลสุดท้ายไม่ว่าจะยังไงแต่เราเต็มที่กับมันละ ขิมว่าขิมโอเค แฮปปี้แล้ว

งานอดิเรกของสาวศิลปศาสตร์แบบขิม

ด้วยความที่เราเป็นชาวศิลปศาสตร์เนอะ และขิมจะชอบทางสายสื่อสารมวลชน ขิมก็จะชอบดูรายการต่างๆ หรืออ่านพวกบทความดีๆ คือมันจะได้ไอเดีย ได้แนวอะไรบางอย่าง มันเหมือนจะช่วยเก็บสะสมในเมมโมรี่ในคลังของเรา ละวันนึงสิ่งที่เราเก็บๆ มาแบบไม่ได้ตั้งตัว เราจะสามารถเอามันออกมาใช้งานกับสิ่งที่เราเรียน สร้างผลงานในแบบของเราได้

สาวศิลปศาสตร์แนะนำแอปหน่อย

ขอเล่าก่อนว่าขิมเลือกเรียนโทญี่ปุ่น แต่ขิมไม่มีพื้นญี่ปุ่นเลยแม้แต่นิดเดียวคือเรียกได้ว่ามาเริ่มเรียนตอนปี 2 แล้วญี่ปุ่นมันก็จะมีทั้งตัวอักษรฮิรางานะ คาตาคานะ และคันจิ ตัวขิมรู้สึกคันจิยากสุดเลยเพราะมันต้องใช้ความจำ ถ้าให้เปรียบมันจะคล้ายๆ ตัวอักษรของจีน บางครั้งคนญี่ปุ่นจะใช้เขียนคันจิแทนตัวฮิรางานะ เพราะฉะนั้นขิมเลยต้องพึ่งแอป JEdict lite มันจะเป็นแอปที่เราสามารถเขียนตัวคันจิลงไปได้เองเลยบนหน้าจอ แล้วแอปมันก็จะประมวลผลว่าตรงกะตัวไหน เราก็กดเข้าไปดูได้เลยว่าคือคำว่าอะไร

ขิมชอบเพราะตอบโจทย์มากก มันช่วยย่นระยะเวลาในการหาคันจิของเรา เพราะถ้าเรานั่งเปิดดิกหามันจะช้ามากกว่าจะได้ตัวนึง อันนี้คือเราสามารถใช้มือเขียนลงบนหน้าจอได้เลย คำศัพท์ก็จะขึ้นมาแล้ว คือช่วยเซฟเวลาและสะดวกมากๆ

ดาวน์โหลด

หลายๆ คน คงได้รู้จักคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทยมากขึ้น ว่าหนุ่มสาวคณะนี้เค้าเรียนอะไรและทำกิจกรรมอะไรกัน ซึ่งสาวขิมคนนี้ก็ทำให้เรารู้ว่าสาวคณะนี้มีความสามารถที่หลากหลายจริงๆ ส่วนใครจะเอาเทคนิคการเรียนของขิมไปใช้ เธอก็ฝากบอกมาว่ายินดีที่จะแบ่งปัน จะได้เรียนเก่งกันถ้วนหน้า ..

ครั้งหน้าจะมาพูดคุยกับหนุ่มสาวคณะอะไร ก็อย่าลืมติดตามใน Unichat นะคะทุกคน