กลับมาอีกครั้งสำหรับ Sessions ให้ความรู้ธุรกิจ SMEs ทาง Clubhouse ครั้งนี้มาในหัวข้อ ฉีดวัคซีนให้ SMEs สร้างภูมิให้เรือเล็กก่อนออกจากฝั่ง คาดการณ์เศรษฐกิจครึ่งหลัง ปี 2564 พร้อมคำแนะนำให้ SMEs ก่อนรุกตลาดโลก หากจำกันได้เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วเราคุยกันในหัวข้อ สูตร(ไม่)ลับ การเป็นเจ้าของกิจการระดับโลก ในสัปดาห์นี้พูดคุยกับ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เช่นเคย จะมีอะไรน่าสนใจบ้าง แบไต๋ขอสรุปให้ ติดตามที่บทความนี้ได้เลย
จากการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักวิจัยเศรษฐกิจเอกชนหลายแห่ง การส่งออกสินค้าของไทยจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจครึ่งหลัง ปี 2564 ได้อย่างไร
GDP เป็นเรื่องของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจในบ้านเรา ณ ปัจจุบันมันไม่รื่นรมย์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านอกประเทศจะไม่รื่นรมย์ด้วย มาดูที่ชีพจรเศรษฐกิจโลกก่อน GDP โลกอยู่ที่ 6% ประเทศคู่ค้าของเราไม่ว่าจะเป็นจีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา อยู่ที่ประมาณ 5-8% กันเรียบร้อยแล้ว ทำให้เราเห็นว่านอกประเทศเรามันเริ่มดีขึ้นแล้ว ทำไมเรายังอุดอู้อยู่แค่ในประเทศ เราควรจะออกไปสู่นอกประเทศอย่างมีชั้นเชิง
ทำไม SMEs ถึงเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนครั้งนี้
99% ของธุรกิจไทย คือ SMEs ในขณะที่ประเทศไทยมี SMEs มีจํานวนมากถึง 3.1 ล้านราย แต่มี SMEs เพียง 2 หมื่นกว่าราย หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% เท่านั้น ที่สามารถพัฒนาตนเองจนกลายมาเป็นผู้ส่งออกได้ เวลาปัจจุบันเป็นเวลาที่เหมาะกับการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดต่างประเทศ เพราะบรรยากาศเศรษฐกิจและการค้าโลกค่อนข้างเอื้ออํานวย ทําให้ EXIM BANK เล็งเห็นและพยายามกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs เข้าสู่วงจรการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น เราจึงควรจะหาสนามเพื่อส่งออก โดยที่มีหน่วยงานภาครัฐคอยสนับสนุน เช่น อยากจะค้าขายเมล็ดกาแฟหรือเมล็ดคั่วสำเร็จกับผู้ซื้อที่มีความน่าเชื่อถือในประเทศอังกฤษ หน่วยงานภาครัฐของไทยก็มีข้อมูลว่าผู้ซื้อที่เชื่อถือได้นั้นมีใครบ้างที่ต้องการ และในบรรดาผู้ซื้อเหล่านี้คุณควรที่จะค้าขายกับใคร
อีกหนึ่งแนวทาง Quick Win ที่ EXIM BANK ได้ทําล่าสุด คือ การสนับสนุน Supply Chain ของผู้ส่งออก (Indirect Exporters) โดยสนับสนุน SMEs ที่แม้ไม่ใช่ผู้ส่งออกโดยตรง แต่อยู่ใน Supply Chain ของผู้ส่งออกให้ธุรกิจสามารถเดินต่อได้โดยไม่สะดุด กระตุ้น SMEs ให้เข้าไปเชื่อมโยงกับ Supply Chain ของผู้ส่งออกมากขึ้น
SMEs ไทยติดกับดักการทำธุรกิจแค่ในประเทศ ทำให้ไม่สามารถเติบโตไปได้ไกลกว่านี้ จำเป็นต้องโกอินเตอร์ ทาง EXIM BANK จะสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการได้อย่างไรว่า เมื่อเรือเล็กออกจากฝั่งไปแล้วจะไม่จมลงกลางมหาสมุทร
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งคน การให้บริการ สินค้า และอัตลักษณ์ประจำชาติของเรา ที่ทำให้เราไม่เคยแพ้ใครในตลาด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามีติดตัวมาเป็นร้อยปีแล้ว และเสน่ห์ของคนไทย ประเทศไทยก็ไม่เคยเลือนหายไปง่าย ๆ แต่การที่จะไปสร้างตัวตนในประเทศคู่ค้าที่ไม่เคยรู้จักเมืองไทยมาก่อนเป็นกลวิธีที่พวกเราจะต้องเรียนรู้
EXIM BANK จะช่วยสร้าง Ecosystem ทางการค้า ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถทำ Business Matching เหมือนกับเราเป็นแม่สื่อพา SMEs ไทยไปเจอกับคู่ค้าร่วมกับทีมประเทศไทยคือสถานทูตไทยและท่านเอกอัครราชทูตในแต่ละประเทศ ทำหน้าที่ KYC (Know Your Customer) ให้เรา เพราะเขารู้ว่าใครเป็นใคร โดยผ่านทาง Zoom Meeting อย่างล่าสุดที่เราจัดกับทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK (EXAC) ของเราก็จะพาผู้ประกอบการไทยทีละ 100 ราย เป็นคนที่เรียนหนังสือมากับเรา บางคนเป็นลูกค้าเรา ไปเจอกับทางเคนยาอีก 50 ราย เพื่อจับคู่ทางธุรกิจกัน
พอมีการค้าขายเกิดขึ้น เราก็มีเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยง เช่น วงเงิน Forward Contract ให้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ในขณะเดียวกันเราใส่เสื้อเกราะให้ด้วย เราฉีดวัคซีนให้คุณเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้วยบริการประกันการส่งออก โดยกว่า 27 ปี ที่ EXIM BANK ให้บริการประกันการส่งออก เราจ่ายค่าสินไหมทดแทนประมาณ 1,400 ล้านบาท แต่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ถึง 1.55 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ EXIM BANK ตั้งใจที่จะเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา ดูแลผู้ประกอบการทุกระยะ ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงฝั่งฝัน เรามีสินเชื่อที่เหมาะกับผู้ประกอบการในทุกจังหวะธุรกิจ EXIM BANK มีสินเชื่อฟื้นฟูซึ่งทำกับธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ธุรกิจกำลังลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีความเสี่ยง ทาง EXIM BANK ก็จะเข้าไปช่วยเหลือ เพราะ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. 2564 EXIM BANK ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จํานวน 9,400 ราย คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 67,000 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง 137,409 ล้านบาท ช่วยสร้างปริมาณธุรกิจได้ถึงกว่า 87,000 ล้านบาท ซึ่งในจํานวนนี้กว่า 35% เป็นธุรกิจ SMEs ยิ่งไปกว่านั้น เรายังออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูโดยสอดรับกับมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้กับลูกค้าได้มากถึง 970 ราย คิดเป็นจํานวนเงินกว่า 4,000 ล้านบาท EXIM BANK ตั้งใจที่จะเป็นธนาคารเพื่อพัฒนา ดูแลผู้ประกอบการทุกระยะ ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงฝั่งฝัน ถ้าธุรกิจไปได้ดีแล้วทาง EXIM BANK อาจจะให้ไปต่อกับธนาคารที่มีสเกลใหญ่กว่า เพราะธนาคารเหล่านั้นจะสามารถให้สินเชื่อในราคาที่ต่ำกว่า EXIM BANK ได้ แต่ยังไม่ต้องปิดวงเงินกับ EXIM BANK วงเงินที่ได้ไปยังไม่ต้องใช้เพราะจะเกิดดอกเบี้ย
วันไหนที่ไปต่อกับธนาคารนั้นไม่ได้ก็สามารถกลับมาหา EXIM BANK ได้เพราะมีวงเงินอยู่ แต่จะได้ในราคาที่ยุติธรรมไม่ใช่ราคาที่ถูกที่สุดแล้ว ถ้าธุรกิจอยู่ในช่วงขาลง ก็จะมีสินเชื่ออย่างเช่น การพักหนี้ การฟื้นฟูกิจการ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีการประกันสินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างหนี้
วัคซีน 4 เข็มที่ผู้ประกอบการจะได้รับจาก EXIM BANK เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจ
- วัคซีนสร้างภูมิเสริมความรู้ด้านการส่งออก เสริมความรู้และความเข้าใจเรื่องขั้นตอนการส่งออก ระบบภาษีและกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนศึกษาข้อมูลตลาดเป้าหมายและคู่ค้า เพื่อหาประเทศเป้าหมายและรูปแบบการทําธุรกิจที่เหมาะสม
- วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันด้านความเสี่ยงตลอดวงจรธุรกิจ กระจายแหล่ง Sourcing วัตถุดิบ กระจายตลาดเป้าหมาย ต้องมีทั้งตลาดหลัก และตลาดสํารอง ไม่พึ่งพาเพียงตลาดเดียว กระจายช่องทางขาย ทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด รวมถึงป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและคู่ค้าผิดนัดชําระเงินค่าสินค้า
- วัคซีนสร้างภูมิเสริมเงินทุน เติมสภาพคล่องให้เพียงพอ เพื่อใช้ในการหมุนเวียนในธุรกิจ เช่น การดูแลและพัฒนาขั้นตอนการผลิต เพื่อรองรับคําสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น
- วัคซีนสร้างภูมิยกระดับศักยภาพของธุรกิจส่งออก ด้วยการ Transformation ธุรกิจ โดยปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การทํา Smart Factory โดยนําระบบเชื่อมโยงเครือข่ายของอุปกรณ์ดิจิทัล (IoT) มาปรับใช้ในระบบควบคุมการผลิตทั้งโรงงาน และใช้แขนกล หรือระบบ Automation ในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่ม Productivity รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่ม และความแตกต่างให้สินค้าโดดเด่นยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ดร.รักษ์ ได้ฝากทิ้งท้ายว่า เราต้องสร้าง Business Model ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น แผนธุรกิจต้องสั้นลง เมื่อก่อนแผนธุรกิจอาจจะทำปีต่อปี หรือทุก ๆ 3-5 ปี แต่ปัจจุบันต้องปรับเป็นการวางแผนทุก 6 เดือน ที่สำคัญคืออยากให้ SMEs มีการ Go Inter หรือผันตัวมาเป็นผู้ส่งออก หรือที่ส่งออกอยู่แล้วก็สามารถส่งออกได้มากขึ้น โดย EXIM BANK มีหลัก 4 Go ให้ SMEs พร้อม Go Inter ได้แก่
- Go Identity “สร้างตัวตนให้ชัดเจน”
- Go Innovation “เพิ่มนวัตกรรมตลอดวงจรธุรกิจ”
- Go Online “ใช้ช่องทางการค้าออนไลน์”
- Go Sustainability “ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน”
หากต้องการสอบถามหรือปรึกษาเรื่องการทำธุรกิจส่งออก สามารถติดต่อได้ที่ EXIM BANK
- EXIM HOTLINE ช่วยเหลือลูกค้าและผู้ประกอบการจาก COVID-19 โทร. 0 2037 6099
- Website : www.exim.go.th
- Facebook : EXIM Bank of Thailand
- Line Official : @eximthailand
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส