‘ณัชชานันท์ เลียงอรุณวงศ์’ หรือ ‘ครูนุ่น’ พิธีกร ผู้ประกาศข่าว ครูสอนภาษาอังกฤษ นักพูด ดีเจ และเจ้าของเพจสอนภาษาอังกฤษ ‘นุ่น English AfterNoonz’ ที่มีผู้ติดตามมากถึงเกือบ 900,000 คน ที่เริ่มต้นจากความไม่ชอบภาษาอังกฤษ สู่การเริ่มต้นฝึกภาษาอังกฤษจากในภาพยนตร์ สู่การฝึกพูดอังกฤษสำเนียง British แบบไทย ๆ แม้ว่าจะไม่เคยไปเรียนที่ต่างประเทศเลยแม้แต่ครั้งเดียว
รวมทั้งตอนนี้เธอยังเป็นคุณแม่ลูกหนึ่ง (ที่กำลังเป็นคุณแม่ลูกสองในอีกไม่นาน) ที่ต้องการสอนภาษาอังกฤษให้กับลูก ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเพื่อฝึกให้แปลภาษาเป็น หรือพูดเป็นเพียงเท่านั้น แต่ต้องการอยากให้ลูกเติบโตขึ้นเป็น Global Citizen ที่อาจจะไม่จำเป็นต้องหนีไปเมืองนอก แต่สามารถรับรู้ รู้ทัน และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ทันท่วงที
อัปเดตชีวิตให้แฟน ๆ beartai BRIEF รู้หน่อยว่าคุณทำอะไรอยู่บ้างตอนนี้
หลัก ๆ ตอนนี้ก็คือเพจ ‘English AfterNoonz’ นี่แหละค่ะ ที่เป็นเพจสอนภาษาอังกฤษ แต่ว่าเน้นไลฟ์สไตล์มากกว่า ไม่ได้อยากให้ออกมาเป็นแนวครูสอนแบบจ๋า ๆ ซึ่งตอนนี้มีทั้งในเพจ Facebook, YouTube, Instragram และ Twitter มีรายการภาษาอังกฤษสำหรับแม่และเด็กทางช่อง ThaiPBS Kids มีรายการพอดแคสต์แปลเพลงสากลในแอปพลิเคชัน Joox อันนี้คือในพาร์ตออนไลน์ ส่วนงานสอนก็จะมีสอนทั้งเรื่องของภาษาอังกฤษ ทั้งการเทรนนิงองค์กร ทั้งการใช้ภาษาอังกฤษและ Soft skill และพาร์ตการสอนภาษาอังกฤษทั้งแม่และเด็กค่ะ
เท่าที่สังเกตก็คือ คุณมักจะใช้สำเนียงแบบ British มาตลอด
จริง ๆ ก็อาจจะมีสำเนียงอื่นปนมาก็ได้นะ (หัวเราะ) เพราะว่านุ่นเองเป็นคนที่อยู่ไทยมาตลอด ไม่เคยไปเมืองนอกเลย เคยไปอังกฤษแบบไปเที่ยวทริปสั้น ๆ แค่ครั้งเดียวเฉย ๆ แต่เพราะว่าเราชอบ ก็เลยฝึกเอง ซึ่งจริง ๆ ตอนที่นุ่นฝึกมันก็มีความเป็นอเมริกันมาโดยตลอดนะคะ ทั้งตอนประถม มัธยม มหาวิทยาลัย อาจจะเพราะว่าสื่อที่เราบริโภคมันเป็นอเมริกันซะเยอะ แล้วตอนที่นุ่นทำงานข่าวต่างประเทศที่ช่อง 3 นุ่นก็ต้องแปลข่าวเยอะ ก็เลยได้เห็นว่าจริง ๆ ภาษาอังกฤษมันมีสำเนียงอะไรมากมายเต็มไปหมด เลยเพิ่งจะรู้สึกชอบสำเนียง British เพราะว่ามันรู้สึกท้าทายดี อยากลองว่าจะเปลี่ยนสำเนียงได้ไหม ก็เลยลองหัด ๆ เพิ่งจะรู้สึกชินเมื่อไม่นานมานี้เองค่ะ แต่ว่ามันก็คงไม่ได้ 100% อะไรขนาดนั้น เพราะว่ายังไงก็สู้คนที่พูดแบบ Native เป๊ะ ๆ ไม่ได้
คุณสนใจภาษาอังกฤษได้อย่างไร เหมือนเคยอ่านบทสัมภาษณ์ว่าตอนเด็ก ๆ คุณเข้าขั้นเกลียดภาษาอังกฤษเลยด้วยซ้ำ
จริง ๆ นุ่นเป็นคนไม่ชอบเรียนน่ะ อย่าว่าแต่ภาษาอังกฤษเลย ไม่ชอบอยู่ในห้องเรียนเลย เป็นคนชอบเล่นมาตั้งแต่เด็กแล้ว ถ้าย้อนไปก็คือตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ เลย ที่เราต้องท่องแบบว่า A คือ Apple C คือ Cat แล้วพอถึงตัว O ก็คือ Orange แล้วนุ่นท่องไม่ได้ ก็เลยไม่อยากท่อง แล้วนุ่นเคยโดนลงโทษให้ยืนบนเก้าอี้เพราะท่องไม่ได้ เป็นคนเดียวที่ขยับปากตามเพื่อน ก็เลยรู้สึกอาย ซึ่งจุดเปลี่ยนมันเริ่มตอนมัธยม ก็เรียนในโรงเรียนบ้าน ๆ เลย ไม่มีครูฝรั่งด้วยนะ แต่ว่ามีเพื่อนชาวต่างชาติคนหนึ่งมาเข้าเรียน มา Sit in แบบสั้น ๆ แล้วเราก็รู้สึกว่าคนนี้ ผมทอง ตาฟ้า พูดภาษาไทยไม่ได้ ไม่เหมือนกับเราเลย เราก็เลยรู้สึกว่า มีคนแบบนี้ด้วยเหรอ น่าสนใจมาก เพราะว่าเราเองก็เจอแต่คนไทยมาโดยตลอด อันนั้นก็เลยเป็นจุดที่ทำให้เรารู้ว่ามันไม่ได้มีแค่ภาษาไทย และเราพูดภาษาไทยกับเขาไม่เข้าใจ ก็เลยเป็นจุดที่ทำให้นุ่นสนใจภาษาอังกฤษ จำได้เลยว่าเป็นผู้ชาย ชื่อโธมัส (หัวเราะ)
แล้วคุณเริ่มต้นศึกษายังไง เพราะระบบการศึกษาในตอนนั้นก็น่าจะไม่ได้เอื้อให้ศึกษาได้ตามใจชอบเหมือนสมัยนี้
ตอนนั้นไม่เหมือนกับตอนนี้จริง ๆ ค่ะ ตอนนั้นก็มีแค่ในหนังสือเรียนกับการท่องจำศัพท์ ซึ่งจริง ๆ นุ่นก็ไม่ค่อยชอบค่ะ เพราะว่ามันจำเจ น่าเบื่อ แต่นุ่นสนใจสิ่งที่ฝรั่งเขาพูดกัน อย่างเช่นในหนังเรื่อง ‘Titanic’ (1997) พอเราฟังแล้วเราสนใจว่าทำไมสำเนียงการพูดเขาขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ได้สนใจเรื่องคำศัพท์ แกรมมาหรืออะไรเลย สนใจแค่ว่าสำเนียงการพูดเขาเพราะดี ไม่เหมือนภาษาไทย ตอนนั้นนุ่นก็เลยเข้าไปดูในโรง 7 รอบจนจำประโยคแล้วก็พูดตามได้ ตอนนั้นนุ่นก็เลยเริ่มที่จะอ่านแบบออกเสียงค่ะ อ่านตั้งแต่หน้าแรก สารบัญ คำนำแบบออกเสียง ลองฟังเสียงตัวเองแบบที่ไม่ต้องเข้าใจคำศัพท์หรือแกรมมา ผสมกับการเรียนกับครูฝรั่งในคลาสสัปดาห์ละครั้ง แต่ว่ายังไงก็เป็นการเรียนแบบไทย ๆ อยู่ดีค่ะ
นอกจากความยากในการเรียน เรื่องสำเนียง ในสมัยนั้นมันเป็นอุปสรรคสำหรับคุณบ้างไหม
(ตอบทันที) ใช่ค่ะ โชคดีที่สมัยนี้ความคิดคนเกี่ยวกับเรื่องสำเนียงเปลี่ยนไปมาก
แล้วบางคนก็อาจจะมองว่า สำเนียงไม่ได้สำคัญเท่าแกรมมา หรือคำศัพท์ อะไรแบบนั้นหรือเปล่า
นุ่นมองว่าการเรียนภาษาอังกฤษมันต้องมีการปรับนิดหนึ่ง นุ่นมองว่าการเรียนภาษาอังกฤษไม่ควรถูกแบ่งเป็น Intellectual Intelligence (ความฉลาดทางปัญญา) บางคนอาจจะมองว่า ถ้าพูดภาษาอังกฤษชัดก็อยู่ระดับนี้ ถ้าพูดชัดน้อยกว่าก็อยู่อีกระดับหนึ่ง ภาษาอังกฤษมันไม่ควรถูกแบ่งเป็นชนชั้นแบบนั้นน่ะค่ะ จุดมันมีอยู่แค่ว่า สำเนียงพูดถูกต้องไหม แกรมมาถูกต้องหรือเปล่า พูดเข้าใจหรือเปล่า เวลานุ่นสอนในคลาสเวิร์กชอป นุ่นจะสอนเสมอว่า อยากพูดอะไรก็พูดออกมา ไม่รู้คำศัพท์ก็ไม่เป็นไรค่ะ แค่พูดออกมา ต่อให้เรานึกคำศัพท์ไม่ออก แต่เราสามารถพูดแบบอ้อม ๆ ได้ สมมติว่าเราอยากบอกว่าอยากกินก๋วยเตี๋ยวเรือ เราก็อาจจะพูดถึงเส้น หรือน้ำข้น ๆ อะไรแบบนี้ก็ได้ และถ้าเขาเข้าใจสิ่งเดียวกับที่เราเข้าใจ ก็จบ ในเพจนุ่นจะบอกเสมอว่าการสื่อสารก็คือการทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกัน ต่อให้ Accent คำศัพท์ หรือแกรมมา จะไม่ถูกต้อง แต่ถ้าสื่อสารแล้วเข้าใจก็โอเคแล้ว
ตอนนี้คุณเองก็เป็นแม่ที่มีลูกด้วย คุณคิดว่าจำเป็นแค่ไหนที่ควรจะสอนลูกให้เก่งด้านภาษาตั้งแต่เด็ก ๆ
จริง ๆ นุ่นทำแบบนั้นมาตลอดเลยนะคะ เพราะว่านุ่นก็ไปเรียนเพิ่มเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กด้วย เพราะจริง ๆ แล้วเรื่องภาษามันเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ รับได้ หลายคนอาจจะรู้สึกว่าไม่อยากให้เด็กเริ่มเรียนแต่เล็ก ๆ เพราะกลัวลูกจะสับสน แต่นุ่นพบว่า เมื่อเราพูดภาษาอีกภาษาหนึ่งได้ บุคลิกของเราจะเปลี่ยนไป ซึ่งมันน่าสนใจมาก ๆ สังเกตเวลานุ่นพูดภาษาไทย นุ่นก็จะพูดเหมือนที่สัมภาษณ์ตอนนี้แหละ แต่ถ้าสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ นุ่นก็จะเปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่ง มันเหมือนว่า Mindset ของเรามันเปลี่ยนไป บางคนอาจจะเข้าใจว่าภาษาเป็นแค่การแปลแล้วก็จบ จริง ๆ ภาษามันคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เราเรียนภาษา มันก็จะทำให้เราได้รู้ความรู้สึกนึกคิดความอ่านของคน ๆ นั้นไปด้วย มันเลยเป็นเหตุผลที่ทำไมคำภาษาอังกฤษบางคำมันถึงแปลเป็นไทยไม่ได้ หรือแปลได้แต่ความหมายก็ยาวมาก การเรียนภาษาอังกฤษเลยไม่ใช่แค่ว่าเรียนเพื่อให้พูดได้ แต่มันเป็นการเปลี่ยน Mindset บางอย่าง
ยกตัวอย่างเช่นว่า ฝรั่งจะเป็นคนที่ตรงเวลามาก นัดแปดโมง เกิน 5 นาทีนี่คือแย่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าคำศัพท์ของเขามันจึงเป็น Tense หมดเลย แล้วแกรมมาก็เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับเขามาก แต่ว่าคนไทยเราไม่ได้มีอะไรพวกนี้ เพราะว่าเรารักสบาย ไม่ใช่สิ (หัวเราะ) เพราะเราไปสนใจอย่างอื่นมากกว่า อย่างเช่นลำดับอาวุโส เป็นต้น ภาษามันเลยเป็นสิ่งที่สามารถบอกถึงความรู้สึกนึกคิดของคนนั้น ๆ ได้ พอเราเริ่มเข้าใจว่า ลูกของเราจะได้สิ่งเหล่านี้ไปตั้งแต่ต้น มันไมได้แค่ให้ลูกเก่งเรื่องภาษาอย่างเดียว แต่ลูกของเราจะสามารถ Connect กับคนอื่น ๆ ได้มากขึ้น ไม่ใช่กับแค่คนไทย แต่เป็นคนทั่วโลกที่กว้างขึ้น
แสดงว่าคุณหวังให้ลูกเป็น Global Citizen แบบว่าไปอยู่ประเทศไหนก็ได้ ไม่ต้องยึดติดกับสัญชาติใช่ไหม
อืม…เข้าใจเลยค่ะ (หัวเราะ) จริง ๆ ก็อาจจะไม่ได้ถึงขนาดว่าโตขึ้นลูกต้องย้ายไปประเทศอื่นนะ อะไรแบบนี้ แต่นุ่นมองว่าเขาก็ควรจะตามโลกให้ทัน ซึ่งก็คือโลกอินเทอร์เน็ตนี่แหละ ทุกอย่างทั้งการเรียนรู้และการใช้ชีวิตมันเกิดขึ้นแบบไม่มีพรมแดนแล้วตอนนี้ และพรมแดนก็กำลังจะหายไปอีก แล้วทำไมเราจะไม่ให้โอกาสนี้กับนุ่น ตอนนี้นุ่นเองยอมรับว่า ถ้าลูกโตมาแล้วไลฟ์สไตล์ไม่ได้เหมือนกับเรา เขาอาจจะมีมุมมองต่อโลกที่กว้างกว่าเรา เขาอาจจะรู้สึกว่าการเป็น Global Citizen การไม่ยึดติดกับถิ่นฐานหรือสัญชาติไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ซึ่งนุ่นเองก็ไม่สามารถรู้ว่ามันจะเปลี่ยนไปอีกแค่ไหน นุ่นก็เลยไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องอยู่ หรือส่งลูกไปเมืองนอกอย่างเดียว แต่คิดแค่ว่า นุ่นอยากให้ลูกเตรียมพร้อมไว้ก่อน ตอนนี้ก็เลยสอนลูกแบบภาษาไทยอังกฤษมั่ว ๆ ปน ๆ กัน ซึ่งตอนนี้ปัญหาของบ้านที่สอนแบบ Bilingual ก็คือ ต้องให้ลูกพูดภาษาไทยให้ได้ด้วย ก่อนที่เขาจะเริ่มตัดสินใจอะไรก็แล้วแต่ เพราะว่าไม่ต้องถึงสิบปีหรอก บางทีอีก 3 ปีมันก็อาจจะเปลี่ยนไปอีกก็ได้ ถึงวันนั้นลูกอาจจะอยากอยู่บ้านปลูกผักเฉย ๆ (หัวเราะ)
อันนี้อยากรู้ส่วนตัวว่า ปกติพ่อแม่ที่เป็น Bilingual บางครอบครัวก็จะใช้วิธีการเช่นว่า ให้พ่อพูดภาษาหนึ่ง แล้วก็ให้แม่พูดอีกภาษาหนึ่งอย่างเดียวไปเลย คุณมองว่าแบบนี้จะได้ผลไหม
พอนุ่นได้ไปเรียนมา แล้วก็มีประสบการณ์กับตัวเองด้วยแหละ ซึ่งจริง ๆ นุ่นรู้สึกว่า การจะทำแบบ ‘One parent one language’ (หนึ่งภาษา หนึ่งผู้ปกครอง) นั้นได้ คนใดคนหนึ่งต้องเป็น Expert ภาษานั้นจริง ๆ น่ะค่ะ อย่างเช่นว่าพ่อเป็นฝรั่ง แม่เป็นไทย อะไรแบบนี้ เพราะว่าคนไทยบางทีก็จะรู้สึกว่า ถ้าเราพูดไม่ได้ชัด หรือไม่ได้เจอภาษาที่เป็น Native ก็จะไม่กล้าพูด เพราะกลัวลูกจะได้ภาษาแบบเพี้ยน ๆ ซี่งพอนุ่นสอนไป พ่อแม่ที่คิดแบบนี้ก็จะคิดว่าจะสอนแบบนี้ได้ยังไง เดี๋ยวเขาจะติดไปจนโต แต่พอนุ่นเรียน นุ่นค้นพบว่า เดี๋ยวถ้าเด็กโต เดี๋ยวเด็กกลับมา Connect ได้เองแหละ เพราะโลกของเขากว้างกว่าคุณแน่นอน เขาจะได้มีโอกาสเจอสำเนียงภาษาจริง ๆ เยอะกว่าที่คิดแน่นอน นุ่นจะสอนคุณแม่เสมอว่า ลูกของคุณแม่จะมีโอกาสได้เจอกับภาษาอังกฤษสำเนียงแปลก ๆ หลายสำเนียงมาก ซึ่งสำเนียงแบบของคุณแม่ก็ต้องเจอเหมือนกัน และถ้าลูกอยู่เมืองไทย เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะไม่เจอ นุ่นเลยคิดว่า ต่อให้เราพูดไม่ชัดก็ยังดีกว่าที่จะไม่พูดเลย ถ้าคุณแม่พยายามและตั้งใจที่จะพูด ลูกจะรู้สึกได้
ส่วนตัวนุ่นที่เลี้ยงลูกเองไม่ได้สอนแบบ ‘One parent one language’ แต่ว่าจะสอนอีกวิธีหนึ่งซึ่งเป็นวิธีที่นุ่นสอนอยู่เลยก็คือการกำหนดเวลาแทน เช่น เราใช้ภาษาไทยในประจำวันตอนอยู่บ้านเลย แต่ว่าพอออกไปข้างนอก เราก็จะพูดภาษาอังกฤษกันทุกครั้ง หรือจะเป็นช่วงตอนมื้ออาหาร ก็จะพูดภาษาอังกฤษกันโดยที่ไม่มีภาษาไทยก็ได้ค่ะ ซึ่งมันมีวิธีหลากหลายมากในการสอนลูกให้เป็น Bilingual
อยากให้คุณเล่าถึงจุดกำเนิดของ ‘English AfterNoonz’ ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีแนวคิดอย่างไร
จุดเริ่มต้นก็คือนุ่นเคยทำทีวีมาก่อนค่ะ แล้วก็เคยทำรายการทีวีสอนภาษาเล็ก ๆ รายการหนึ่ง ซึ่งนุ่นก็มองว่ามันมีประโยชน์มาก แม้ว่าภาษาอังกฤษของคนในสมัยนั้นจะเปรี้ยงปร้างอะไรขนาดนั้น เราก็เลยรู้สึกว่า เราอยากนำเสนอภาษาอังกฤษในแบบของเราบ้างดีกว่า ตอนแรกก็คิดว่าอยากทำเนื้อหาเกี่ยวกับภาษาอังกฤษจากเพลง จากหนัง ปรากฏว่าช่องที่ไปเสนอตอนนั้นเขาบอกว่า รายการสอนภาษาอังกฤษใครจะมาดู ก็เลยพับโครงการไป แต่นุ่นก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ก็เลยตัดสินใจเปิดเพจค่ะ เพราะว่าแอร์ไทม์ในสมัยนั้นก็คงไม่เอื้อ ในเมื่ออินเทอร์เน็ตก็กำลังมา ตอนนั้น Facebook ก็กำลังมา ก็เลยตัดสินใจเปิดเพจตั้งแต่สมัย 8 ปีที่แล้วค่ะ เรียกว่าน่าจะเข้าสู่อินเทอร์เน็ตยุคแรก ๆ เลยก็ว่าได้
ยุคแรกที่ทำนี่ก็คือเกิดขึ้นด้วยโทรศัพท์เครื่องเดียวเลยค่ะ ถ่ายด้วย iPhone แล้วก็ใช้ iMovie ตัดเอง ใช้แอปใส่ซับไตเติลเอง แอปก็ใช้แต่แอปฟรีทั้งนั้น พอไปย้อนดูคลิปสมัยนั้นปรากฏว่าไม่ชัดเลย เพราะว่าใช้แอปฟรี (หัวเราะ) แต่ว่าสมัยนั้นมันก็เป็นอะไรที่ท้าทายเราดี พอเราต้องมานั่งทำเองมันก็ทำให้เรารู้ว่าการตัดต่อมันไม่ได้ง่ายนะ ทำให้เราคิดได้หลายมุม พอตอนนี้เริ่มมีคนทำงาน มีคนตัดต่อให้ เราก็จะรู้สึกเข้าใจในมุมของเขา ถ้าเราไม่เคยทำมาก่อน เราก็จะคิดไปเองว่ามันง่าย
ถ้าจะให้จำกัดความการสอนภาษาอังกฤษแบบ ‘English AfterNoonz’ มันเป็นแบบไหน แตกต่างจากคนอื่นอย่างไร
จริง ๆ คอนเทนต์ที่ทำตอนนี้ก็ค่อนข้างหลากหลายค่ะ แต่ที่ต่างก็คือ อยากให้คนได้เห็นไลฟ์สไตล์ของเราว่า จริง ๆ แล้วสามารถเรียนภาษาอังกฤษได้โดยที่ไม่ต้องออกไปเมืองนอก หรือต้องออกไปคุยกับฝรั่งก่อนถึงจะได้เรียน ซึ่งนุ่นมองว่าแบบนั้นไม่ทันค่ะ นุ่นก็เลยอยากทำให้คนที่ดูมีความรู้สึกนี้ว่า ต่อให้เราอยู่เมืองไทย ไม่ได้ไปเมืองนอก รถติดอยู่สุขุมวิท ก็สามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ ถ้าไม่รู้เดี๋ยวนุ่นค้นหาคำศัพท์มาสอนให้ อยากให้เขารู้ว่าเรากับเขาก็ไม่ได้ต่างกัน อยู่ในบริบทเดียวกันกับเขา อยากให้เขาลองเปิดโลก ลองเรียนรู้ดู อาจจะน่าสนใจก็ได้
อีกอย่างก็คือ นุ่นเองเป็นสายพิธีกร ไม่ได้เป็นสายครู เคยสัมภาษณ์คนที่ใช้ภาษาอังกฤษที่อาจจะไม่ได้ถึงกับเก่งหรือแย่มาก แต่ก็สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ก็เลยลองทำคลิปเลย เช่นคลิปร้านคนทำโรตี มีคนฝรั่งเข้ามาซื้อ แน่นอนว่าเขาไม่ได้รู้คำว่า Crispy (กรอบ) หรอก แต่เขาพูดอ้อม ๆ ว่า Fry long time (ทอดนาน ๆ ) นุ่นก็เลยมองว่า เราไม่ต้องเก่ง ไม่ต้องพร้อมในการพูดภาษาอังกฤษหรอก แต่คุณอยากจะพูดกับเขาแค่ไหน อยากส่งทุเรียนไปขายเมืองนอกให้ได้ ไม่เห็นต้องเก่งเลย บางคนอาจจะมองว่าฝรั่งเขาเก่ง ทั้งที่จริง ๆ แล้วฝรั่งก็มีความกังวลเหมือนกับเรานี่แหละ เพียงแต่ว่าเขาอยู่ในบริบทที่ต้องใช้ภาษา เขาก็เลยสามารถใช้ได้ นุ่นอยากเสนอในมุมมองว่า เขาสามารถที่จะใช้ชีวิตได้โดยที่เขาไม่ต้องคิดมากกว่าจะต้องเก่งให้ได้ก่อน ซึ่งก็จะเป็นอะไรที่แตกต่างจากครูที่สอนภาษาอังกฤษแบบเน้น Accent หรือเน้นแกรมมาเฉย ๆ
คุณมาเป็นทาเลนต์อ่านข่าวเช้ากับ beartai BRIEF ได้อย่างไร
พอดีว่านุ่นเจอกับพี่หนุ่ยที่งาน iCreator Conference ค่ะ เพราะว่าตอนนั้นนุ่นเป็นพิธีกรหลัก พอได้เจอกันหลังเวที ก็เลยชวนนุ่นว่า ผมอยากให้คุณมาเป็นพิธีกร แรกสุดตอนที่เจอกันพี่หนุ่ยบอกแค่ว่า อยากมาทำงานร่วมกันไหม แต่ยังไม่รู้นะว่าจะทำงานอะไร อยากทำงานด้วยมาก สนใจไหม แล้วตอนนั้นนุ่นก็พักงานการอ่านข่าวหลังจากลาคลอดพอดี แล้วพอคลอดแล้วก็ลายาวเลย พอลูกเริ่มโต พี่หนุ่ยก็ทักเข้ามา จังหวะมันพอดีกันเลย ก็ได้คุยกันว่าจะเป็นโปรเจกต์อ่านข่าวเช้า ก็เลยเริ่มอยากกลับมาอ่านข่าวอีกครั้ง ประกอบกับว่าเราเองก็ทำคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์มาเยอะ ทั้งที่จริง ๆ เราเริ่มมาจากสายข่าว ซึ่งเป็นงานที่ชอบ แต่ว่าอาจจะไม่ได้ลงลึก ก็เลยคิดว่าน่าสนใจ ก็เลยตกลงมาทำกันค่ะ ซึ่งตอนนี้ก็ใกล้จะลาคลอดอีกแล้วค่ะ เพราะว่าตอนนี้ท้องได้ 7 เดือนแล้ว (หัวเราะ)
คุณเองน่าจะยังไม่เคยอ่านข่าวไอทีแบบเน้น ๆ มาก่อน รวมถึงเรื่องว่าคุณเองก็น่าจะยุ่งด้วย ทั้งเรื่องการงานและการเลี้ยงลูก มันทำให้การทำงานอ่านข่าวเช้าของคุณยุ่งยากแค่ไหนบ้างไหม
จริง ๆ สายข่าวต่างประเทศที่นุ่นเคยทำเองก็จะมีข่าวไอทีอยู่บ้างค่ะ ก็เลยพอจะคุ้นเคยอยู่บ้าง แต่ว่าแรก ๆ ที่มาอ่านข่าว ต้องมีการแปลข่าวแบบสด ๆ ด้วย ซึ่งตอนแรกก็กดดันเหมือนกันค่ะ เพราะว่าด้วยความที่เราไม่เคยทำอะไรแบบนี้ ก็มีความกลัวว่าจะแปลมากไปไหม หรือคนดูจะอยากได้เนื้อหาแบบไหน มีความกดดันเกิดขึ้นในสมองเยอะมาก แต่ว่าพอทำมาสองสามครั้งก็เริ่มจับทางได้ค่ะ ส่วนเรื่องตื่นเช้า เอาจริง ๆ ไม่ค่อยมีปัญหาค่ะ แต่ว่าจะมีปัญหาเรื่องลูก (หัวเราะ) เพราะว่าบางทีอ่าน ๆ อยู่ก็จะมีลูกวิ่งผ่านหน้ากล้อง อะไรแบบนี้ เพราะว่าด้วยความที่ทาเลนต์ทุกคนรวมถึงนุ่นเองต้องอ่านข่าวจากที่บ้าน ซึ่งนุ่นซื้อไอเดียนี้มากเลย เป็นไอเดียที่แปลกใหม่มาก ๆ เพราะกลายเป็นว่าเวลาถ่ายงานอะไร เราไม่จำเป็นต้องยึดติดกับสตูดิโอแล้วก็ได้
ถ้าจะให้คุณให้คะแนนการเป็นทาเลนต์ของตัวเอง คุณอยากให้กี่คะแนน
รีวิวตัวเองเหรอ…(ตกใจ) ตอนนี้ยังให้ตัวเองได้ไม่ถึง 80% เลย (หัวเราะ) เอาแบบนี้ได้ไหม นุ่นให้คะแนนปลอบใจอยู่ที่ 7.5 คะแนนอะไรแบบนี้ได้ไหม (หัวเราะ) อย่างแรกก็คือ นุ่นคิดว่าตัวเราเองน่าจะยังตามโลกได้ไม่ทัน ต้องหมั่นอัปเดตข่าวโลกให้เยอะกว่านี้ แล้วก็ด้วยประสบการณ์ของเราตอนนี้ที่อาจจะยังมีไม่มากพอ ก็เลยมองว่ายังให้คะแนนได้ไม่เยอะมาก และสองก็คือ ตัวนุ่นเองอยากเพิ่มอะไรให้กับรายการมากกว่านี้ นอกจากการการเป็น Modulator ข่าวและเติมความสดใสให้ทุกเช้า ตอนนี้กำลังจับทางอยู่ว่าจะแต่งเสริมเติมใส่อะไรให้ข่าวน่าสนใจยิ่งขึ้น เพราะนุ่นก็ไม่ได้อยากแค่ว่านั่งอ่านข่าวแล้วก็จบ แต่ว่าอยากมีมุมมองต่าง ๆ ที่เป็นการแลกเปลี่ยนกันเพื่อมอบอะไรบางอย่างให้กับคนดูได้ด้วย
ถ้าคุณได้มีโอกาสทำคอนเทนต์ของตัวเอง และเป็นทาเลนต์ด้วยตัวเอง คุณอยากทำเนื้อหาแบบไหน
(นิ่งคิด) ยากแฮะ ขอนึกก่อน ตอนนี้คิดได้แค่ว่าจะเอาภาษาอังกฤษที่เป็นตัวเองเข้าไปใส่ แต่จริง ๆ ก็อยากเห็นนะ เพราะว่าตัวนุ่นเองก็ติดตามงานของ beartai ทั้งคลิปรีวิว หรือเรื่องต่าง ๆ อยู่เหมือนกัน คอนเทนต์ที่นุ่นอยากจะลองทำก็คือ คอนเทนต์ที่ 80-90% เป็นภาษาอังกฤษ แล้วก็ขึ้นซับไตเติลเป็นภาษาไทย ซึ่งจริง ๆ แม้แต่เพจของนุ่นเองก็ยังไม่เคยทำเนื้อหาภาษาอังกฤษเยอะ ๆ เหมือนกันนะ แม้จะรู้ว่าเราทำได้ ซึ่งมันก็เป็นอะไรที่ท้าทายและน่าสนใจให้ลองทำ มันน่าสนใจตรงที่ว่า บางเรื่องที่มันเกี่ยวกับเรื่องของประเทศไทย การทำเนื้อหาภาษาอังกฤษก็น่าจะทำให้เรื่องราวของไทยมันสามารถไปได้ไกลกว่าเดิม ขยายคนดูไปได้กว้างขึ้น
คำถามสุดท้าย คุณคิดว่า ข่าวดี ๆ ทันสมัย จะช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง
อย่างแรกเลยคือนุ่นคิดว่ามันดีต่อใจค่ะ เพราะว่าตอนเช้านุ่นคิดว่า เราควรจะเติมพลังงานบวกให้กับชีวิต เพราะว่าถ้าเราเจอด้านลบแต่เช้า บางทีมันทำให้เรารู้สึกพังไปทั้งวันก็มี การเริ่มต้นก็เลยสำคัญ ในมุมของคนดู การได้รับข่าวที่ดี ที่ทำให้คนรู้สึกว่าไม่ได้แค่ฟังแล้วจบ แต่ว่าฟังแล้วยังได้แรงบันดาลใจด้วย มันมีความหวัง มีรอยยิ้ม ความเป็นไปได้อยู่ในนั้น มันก็อาจจะทำให้เราสามารถเริ่มต้นวันได้อย่างมีพลัง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องจิตวิทยาล้วน ๆ นะคะ และนุ่นเองก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ทีมงานกำลังจะพยายามทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส