เพราะการนอนหลับเป็นเรื่องสำคัญ!
มาจัดเวลาการนอนหลับให้ถูกต้องกันเถอะ
หลายครั้งที่เราตื่นมาแล้วพบว่าเรายังงัวเงียและอยากนอนต่อ แม้ว่าเราจะนอนมา 8 ชั่วโมงเต็มๆ แล้วก็ตาม ซึ่งนั่นก็ทำให้การตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่นและทำกิจวัตรประจำวันได้เต็มที่เป็นเรื่องยากมากขึ้น ซึ่งหลายครั้งเราก็ได้แต่ตั้งคำถามว่าทำไมกันนะ? ทำไมฉันยังรู้สึกง่วงอีก ขนาดนอนทั้งวันทั้งคืนแบบนี้แล้ว! แท้จริงแล้วในทางวิทยาศาสตร์ได้มีคำอธิบายไว้ว่า การนอนของคนเราแบ่งเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ คือช่วง REM (Rapid Eye Movement) และช่วง NON REM (Non Rapid Eye Movement)
NON REM
เป็นช่วงของการนอนตั้งแต่เริ่มหลับ โดยทั่วไปจะไม่ค่อยฝัน หรือหากฝันมักจะเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง โดยแบ่งออกเป็น 3 ลำดับขั้น คือ
- ช่วงที่เราเพิ่งเริ่มหลับหรือประมาณ 5-10 นาทีแรกหลังหลับตาลง ช่วงนี้สมองจะเริ่มทำงานช้าลง แต่ถ้าถูกปลุกให้ตื่นในช่วงนี้ จะไม่ค่อยงัวเงีย
- ช่วงรอยต่อระหว่างการเริ่มหลับไปยังหลับลึก ช่วงนี้หัวใจจะเริ่มเต้นช้าลง อุณหภูมิในร่างกายจะเริ่มลดลงเล็กน้อย โดยช่วงนี้จะกินเวลาประมาณ 20 นาที การนอนมาถึงช่วงนี้จะช่วยในเรื่องของการเพิ่มความจำระยะสั้นและการเพิ่มสมาธิ การตื่นในช่วงนี้ยังทำให้เราไม่รู้สึกงัวเงียด้วย นั่นหมายความว่าหากเรานอน 30-40 นาที สมองในส่วนของการเก็บข้อมูลก็จะได้รับการกระตุ้นการทำงานแล้ว
- มาถึงช่วงที่หลับลึกแล้ว ช่วงนี้หากเราถูกปลุกขึ้นมาจะทำให้เรารู้สึกงัวเงียได้ ช่วงนี้ร่างกายจะได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ มีการหลั่ง Growth Hormone ออกมา ทำให้ร่างกายได้รับการซ่อมแซม การนอนมาถึงช่วงนี้จึงเป็นการชาร์จแบตร่างกายแบบเต็มพลัง
REM
ช่วงนี้เป็นช่วงที่สมองจะทำงานใกล้เคียงกับตอนที่เราตื่น ช่วงนี้ร่างกายจะสามารถเปลี่ยนจากช่วงหลับ ไปยังช่วงครึ่งหลับครึ่งตื่นได้ การนอนหลับช่วง REM จะช่วยเรื่องการเรียนรู้ถาวร และการสร้างจินตนาการ
เหตุผลที่เรานอนมาหลายชั่วโมง แต่ตื่นมายังรู้สึกงัวเงีย
เรื่องนี้ได้ถูกอธิบายไว้ว่า เกิดจากการที่เราถูกปลุกอยู่เรื่อยๆ ในการนอนระดับตื้นๆ หรือถูกปลุกให้ตื่นในช่วง Non REM ช่วง 3 นั่นเอง
ดังนั้นเราจึงจะเห็นว่าการตื่นให้ถูกช่วงเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญ จนมีเรื่องของกฎ 90 นาทีเกิดขึ้น นั่นคือ NON REM ประมาณ 80 นาที และ REM อีก 10 นาที และเข้าสู่ระยะ REM โดยจะวนในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ หากเราตื่นในช่วงหลับลึกก็จะทำให้เรารู้สึกงัวเงียเมื่อเราตื่นขึ้น ตรงกันข้ามหากเราตื่นในช่วงหลับตื้น (ช่วงที่จบวงจรพอดี) เราก็จะตื่นมาแบบสดใสสุดๆ
ซึ่งก็มีโปรแกรมที่ช่วยคำนวณเวลาในการนอนหลับ-ตื่นนอนให้เราอยู่ นั่นคือ https://sleepyti.me ซึ่งมีวิธีการใช้งานง่ายๆ คือ กรอกเวลาที่เราต้องการตื่นนอนลงไป แล้วโปรแกรมจะบอกเวลาที่เราควรเข้านอน ซึ่งเราก็ควรแพลนดีๆ เนื่องจากต้องเผื่อเวลาสำหรับการง่วงนอนและหลับไปในที่สุด (โดยมีค่าเฉลี่ยการเริ่มง่วงจนถึงนอนหลับประมาณ 14 นาที)
หรือกดเลือกฟีเจอร์นอนตอนนี้ ตัวโปรแกรมก็จะบอกเวลาที่เราควรตื่นนอน
นอกจากนี้หากเราต้องการความแม่นยำมากอีกขั้น ก็สามารถใช้แอปที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการนอนหลับ เช่น “Sleep cycle” ได้
โดยหลังจากที่เราได้เวลาการตื่นนอนจาก https://sleepyti.me แล้ว ก็นำมาตั้งต่อที่ sleep cycle โดยวิธีใช้งานก็คือให้เรานำโทรศัพท์มาไว้ใกล้ตัวเราตอนนอน (อย่าลืมชาร์จแบตไปด้วย) จากนั้นแอปจะทำการจับการเคลื่อนไหวเรา แล้วประมวลผลว่าช่วงที่เราหลับตื้น สมควรโดนปลุกคือช่วงไหน ซึ่งเวลาที่เราตั้งไว้ ก็อาจไม่ตรงกับที่เราโดนปลุก แต่จะเป็นเวลาประมาณ เช่น เราตั้งไว้ 11.30 แอปอาจจะปลุกเราได้ตั้งแต่ 11.00-11.30 เป็นต้น
ซึ่งเราสามารถตั้งค่าได้ว่าอยากให้ปลุกเร็วที่สุดได้กี่นาที
เลือกเสียง เลือกการตั้งสั่น และระยะเวลาในการปลุกได้ด้วย
ตั้งค่าได้ว่าเราต้องการให้ปลุกในวันใดบ้าง
ดาวน์โหลด
จากผลการทดสอบก็พบว่าตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกสดใส ตื่นง่าย ไม่งัวเงียจริงๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าเกิดจากความรู้สึกส่วนตัวที่คิดไปเองหรือเปล่า คุณผู้อ่านท่านไหนใช้แล้วรู้สึกว่ามันช่วยในเรื่องการตื่นนอนจริงๆ มาบอกฟีดแบคให้ฟังด้วยนะ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ ที่น่าสนใจสามารถเข้าไปอ่านต่อได้ที่ bangkokhealth.com