ถ้าถามว่าโน้ตบุ๊ก Lenovo รุ่นไหนที่เกิดมาเพื่อสายครีเอเตอร์ หรือนักสร้างสรรค์โดยเฉพาะ ก็ต้องพูดถึง Yoga Slim 7i Pro X โน้ตบุ๊กตัวท็อปของซีรีส์ที่มาพร้อมประสิทธิภาพระดับ High Performance จากซีพียู Intel® Core™ i7-12700H กับสถาปัตยกรรมแบบ Hybrid บนแพลตฟอร์ม Intel® Evo™ และการ์ดจอระดับเกมมิง RTX 3050 ในขณะเดียวกันก็ยังมีรูปร่างที่บางเบาเหมาะกับการพกพา ซึ่งจะน่าใช้แค่ไหนเดี๋ยวมาดูกันในบทความนี้
สเปก
- CPU: Intel® Core™ i7-12700H – 4.70 GHz – 6 P-Core 8 E-Core 20 Threads
- iGPU: Intel® Iris® Xe
- dGPU: NVIDIA GeForce RTX 3050
- RAM: 16GB
- Storage: SSD 1TB (NVMe M.2)
- Display: IPS 14.5” – 120Hz – 100% sRGB
- Battery: 70Whr
ดีไซน์
คิดเหมือนกันไหมว่าชื่อ Lenovo Yoga Slim 7i Pro X (เลอโนโว โยก้า สลิม เซเว่น-ไอ โปร เอกซ์) ดูเหมือนจะจำยากนิดหน่อย เพราะมันช่างยาวเหลือเกิน ที่ยาวแบบนี้แอบคิดเองว่า น่าจะเหมือนกับเจเนอเรชันของรุ่นนี้ที่มีถึง 7 เจน แน่นอนว่าในแต่ละเจนก็จะมีจุดที่อัปเกรดให้ดีขึ้น
โดย Lenovo Yoga Slim 7i Pro X ที่เปิดตัวในปี 2022 นี้ ด้านดีไซน์ค่อนข้างมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จุดที่สังเกตเห็นชัดคือขอบเครื่องทั้งสี่ด้านใช้ดีไซน์แบบโค้งมน (Comfort Edge) ซึ่งมันมีผลกับการจับถือค่อนข้างมาก เวลาจับจะรู้สึกละมุนมือ ไม่มีความรู้สึกว่าโดนบาดเหมือนโน้ตบุ๊กทั่วไป
ในขณะเดียวกันฝาหลังก็ยังคงดีไซน์แบบมินิมอล เรียบหรู ตามสไตล์ Lenovo ที่ฝาหลังเป็นสีเทาอ่อน (Ultimate Grey ตัดด้วยโลโก้เงา ๆ ของ Yoga และ Lenovo ส่วนฐานเครื่องและคีย์บอร์ดเป็นสีเทาเข้ม (Cloud Grey) ด้านวัสดุตัวเครื่องก็ทำจากอะลูมิเนียมเกรดอวกาศหรือที่เรียกกันว่าเกรด 6000-Series ที่แข็งแรงแต่มีน้ำหนักเบา ทำให้น้ำหนักของ Lenovo Yoga Slim 7i Pro X เลยอยู่ที่ 1.45 กก. ส่วนความหนาก็อยู่ที่ 15.9 มม. ถือว่าค่อนข้างบางและเบา หากเอาไปเทียบกับโน้ตบุ๊กเกมมิงที่มีสเปกใกล้เคียงกัน เวลาจะหยิบไปใช้ก็ไม่ต้องโอดครวญเรื่องน้ำหนักที่ต้องแบกเลย
นอกจากนี้ยังผ่านข้อกำหนดของ Intel® Evo™ จนได้ป้ายมาติดไว้บนเครื่องด้วย ซึ่งถ้าเห็นป้ายนี้ก็มั่นใจได้เลยว่า โน้ตบุ๊กนี้เป็นตัวสุดในทุกด้าน
หน้าจอ
ปกติแล้วคนทำงานสายครีเอเตอร์ มักจะอยากได้หน้าจอที่มีความคมชัดและแสดงสีสันได้อย่างเที่ยงตรง เพื่อที่เวลาส่งงานไปออนแอร์หรือไปพิมพ์ออกมาจะได้ไม่มีปัญหาสีเพี้ยน สำหรับสเปกจอของ Lenovo Yoga Slim 7i Pro X ก็ถือว่าตอบโจทย์นะ เพราะมีขอบเขตการแสดงสี 100% sRGB ถ้าเอาไปใช้แต่งรูป ทำกราฟิก หรือตัดต่อคลิป YouTube แบบทั่ว ๆ ไปค่าสีนี้ถือว่าตอบโจทย์เลย แต่ถ้าเป็นงานซีเรียส ๆ เรื่องค่าสี เช่น ตัดต่อหนังโรง หรือทำกราฟิกขึ้นบิลบอร์ดใหญ่ ๆ อาจต้องขยับรุ่นไปซื้อโน้ตบุ๊กที่มีค่าสีแบบ 100% DCI-P3 จะเหมาะกว่า
มาพูดถึงไซซ์จอกันบ้าง ปกติแล้วโน้ตบุ๊กขนาด 14 นิ้ว จะมีไซซ์จออยู่ที่ 14.2 นิ้วใช่ไหม แต่รุ่นนี้ให้จอขนาดใหญ่กว่า โดยไซซ์จอจะเป็น 14.5 นิ้ว ซึ่งที่ใหญ่กว่าก็เพราะอัตราส่วนถูกเปลี่ยนจาก 16:9 มาเป็น 16:10 ข้อดีคือเราจะมีพื้นที่หน้าจอบนล่างมากขึ้นเวลาที่ต้องอ่านบทความ หรือทำงานตัดต่อก็จะขยายแถบ Timeline ได้ให้เห็นกว้างขึ้นได้
ความละเอียดของจอนี้อยู่ที่ 3K (3072×1920) ที่ให้ภาพที่คมชัดกว่าหน้าจอ Full HD ทั่วไป และอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือจอนี้มีอัตรารีเฟรชเรตอยู่ที่ 120Hz ทำให้เราเห็นการเคลื่อนไหวที่ลื่นตาเลย ถ้าใช้งานทั่วไปอาจจะไม่เห็นผลเท่าไร แต่ถ้าเป็นการเล่นเกมจะเห็นความแตกต่างชัดเจนเลย แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องแลกกับการใช้แบตที่สูงขึ้น ถ้าเราอยากประหยัดแบตสามารถปรับลดลงได้โดยกด Fn+R ซึ่งปรับได้ต่ำสุดถึง 30Hz เลย
ส่วนจุดอื่น ๆ ที่น่าสนใจของจอนี้ก็จะมีเรื่องความบางขอบขอ ทำให้จอมีพื้นที่ถึง 92.5% ของตัวเครื่อง ทำให้มองจอได้เต็มตา และใครที่ต้องมองจอนาน ๆ ก็มีฟีเจอร์ลดแสงสีฟ้า TUV Eyesafe ด้วย ส่วนถ้าใครจะดูหนังฟังเพลงก็มีระบบ Dolby Vision และ Dolby Atmost ที่ทำให้ภาพและเสียงสมจริงยิ่งขึ้น ซึ่งจะเปิดใช้งานอัตโนมัติเวลาที่เราเปิดดูคอนเทนต์ที่รองรับเช่น Netflix
ลำโพง
เรื่องลำโพงของ Lenovo Yoga Slim 7i Pro X ก็ต้องบอกว่าอยู่ในระดับที่กำลังดี ความเหมาะกับการใช้ในชีวิตประจำวัน มีความดังพอสมควร ส่วนเนื้อเสียงจะออกแนวกลาง ๆ เบสไม่ได้ตึ้บตั้บมาก โดยรวมถือว่าใช้ดูหนังฟังเพลงได้ แต่ถ้าใครเป็นสายฮาร์ดคอร์จริง ๆ แนะนำให้ต่อหูฟังแยกจะดีกว่า
การเชื่อมต่อ
เริ่มที่พอร์ตสำหรับเสียบสาย ต้องยอมรับว่าไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไร เนื่องจากมีพอร์ตค่อนข้างน้อย โดยมีเพียง HDMI 2.0 หนึ่งช่อง, Thunderbolt 4 สองช่อง ที่รองรับการรับส่งข้อมูล (Data Transfer) การรับ-ส่งไฟ (Power Delivery 3.0) และการต่อหน้าจอแยก (Display Port 1.4), USB-A 3.2 Gen 2 หนึ่งช่อง และช่องหูฟัง 3.5 มม. เท่านั้น ยังขาดพอร์ต SD Card Reader อันนี้สำคัญกับคนทำงานสายครีเอเตอร์มาก ๆ เพราะส่วนใหญ่จะต้องโอนไฟล์จากกล้องอยู่แล้ว เวลาขาดไปก็เลยทำให้ต้องหาซื้ออะแดปเตอร์มาต่อแยกอีกที
ส่วนการเชื่อมต่อไร้สาย Lenovo Yoga Slim 7i Pro X ก็มีให้เป็น Bluetooth 5.1 และ Intel® Wi-Fi 6E Intel ® 2×2 ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่เร็วกว่า Wi-Fi 6 ธรรมดา เพราะจะรองรับคลื่นความถี่ 6GHz ที่คิดว่าไทยน่าจะได้ใช้ในเร็ว ๆ นี้ ก็ถือว่ารองรับในอนาคตเลย
ทัชแพดและคีย์บอร์ด
ในส่วนของทัชแพดและคีย์บอร์ด ก็ต้องบอกว่าโอเคเลยนะ ตัวคีย์บอร์ดมีระยะห่างของปุ่มที่พอดีเหมาะกับการพิมพ์ แล้วเวลากดปุ่มก็ไม่รู้สึกยวบ ๆ แต่ให้ความรู้สึกที่เด้งกลับมาทันทีเพราะมีระยะการกดอยู่ที่ 1.3 มม. การพิมพ์ไม่ต้องใช้แรงเยอะมาก นอกจากนี้ยังมีไฟ Back-lit ใต้ปุ่มเพื่อส่องสว่างเวลาใช้งานในที่มืดด้วย ขณะเดียวกันทัชแพดเองก็มีขนาดที่ใหญ่มาก Lenovo เคลมว่าใหญ่กว่ารุ่นเดิมถึง 20% เลยน่ะ การที่ใหญ่แบบนี้สายครีเอเตอร์ชอบ เพราะใช้แทนเมาส์ได้ และเวลาลากเมาส์ไกล ๆ ก็ไม่ต้องยกนิ้วขึ้นเลย
กล้องหน้าและไมค์
ยุคนี้หลายคนต้องประชุมกันบ่อยเพราะการทำงานแบบ Hybrid กล้องและไมค์ก็เลยมีความสำคัญ Lenovo Yoga Slim 7i Pro X ก็ให้กล้องแบบ 1080P ที่มีเซนเซอร์ IR และ ToF ในตัว ทำให้ปลดล็อกด้วยใบหน้าและใช้ฟีเจอร์อื่น ๆ ได้ รวมถึงมี E-privacy Camera Shutter ไว้ปิดกล้องเพื่อความเป็นส่วนตัวด้วย
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจของกล้องหน้าก็คือ Lenovo Smart Appearance ฟีเจอร์ที่ใช้ AI ของซีพียู Intel® 12th Generation มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกล้อง โดยเราสามารถใส่เอฟเฟกต์เบลอหลัง หรือปรับภาพให้มีความคมชัดมากขึ้นได้พร้อม ๆ กัน อันนี้จะช่วยให้การประชุมออนไลน์ลื่นไหลมากขึ้น ในส่วนของไมโครโฟนก็เช่นกันมี Lenovo Voice ที่ใช้การจับเสียงด้วย AI มาช่วยในเรื่องของการแปลภาษาหรือการพิมพ์อักษรด้วยเสียง แต่ฟีเจอร์นี้ปัจจุบันรองรับแค่ภาษาอังกฤษเท่านั้นนะ
ประสิทธิภาพ
ตามสเปกแล้ว Lenovo Yoga Slim 7i Pro X มาพร้อมกับซีพียูตัวแรง Intel® Core™ i7-12700H เราลองทำการทดสอบประสิทธิภาพผ่าน Geekbench 5 และ Cinebench R23 ผลคะแนนที่ออกมาถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง เพราะมีเทคโนโลยี Hybrid ที่แบ่งแกนประมวลผลเป็น 2 แบบคือ Performance-Core สำหรับรับทำงานหนัก ๆ ส่วน Efficient-Core สำหรับรับงานเบา ๆ นอกจากนี้ยังได้มาตรฐาน Intel Evo® ที่การันตีว่าโน้ตบุ๊กเครื่องนี้สุดในทุกด้าน ส่วนการ์ดจอแยก dGPU ที่เป็น RTX 3050 ก็ถือว่าเป็นระดับเกมมิงตัวเริ่มต้นเลย ประสิทธิภาพจากการทดสอบด้วย 3DMark Time Spy ได้ไป 4,799 คะแนน ถือว่าอยู่ในระดับเกมมิงเลย
สำหรับความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูลเราก็ทดสอบด้วย CrystalDiskMark ความเร็วในการอ่านเขียนออกมาอยู่ในระดับ 6000MB/s เลย นั่นก็เพราะตัว SSD ที่ให้มาเป็นแบบ NVMe M.2 จุดนี้จะทำให้เราสามารถเปิดหรือโอนถ่ายข้อมูลภายในได้อย่างรวดเร็ว
ด้านแบตเตอรี่ที่ให้มาก็ถือว่ามีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ ความจุแบตฯ อยู่ที่ 70Whr ตามสเปกแล้ว Lenovo เคลมถ้าเปิดวิดีโอความละเอียด 1080p จะอยู่ได้ราว ๆ 10 ชั่วโมง แต่จากที่ลองใช้จริงก็พบว่าหากเราใช้เปิดเว็บ ฟังเพลง ดูหนังทั่วไป แบตจะอยู่ได้ราว ๆ 6-7 ชั่วโมง แต่ถ้ามีการใช้งานหนัก ๆ จะอยู่ได้เพียง 2 ชั่วโมง ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องปกติของโน้ตบุ๊กที่มีสเปกระดับเกมมิงอยู่แล้ว
การใช้งานจริง
Lenovo Yoga Slim 7i Pro X ขึ้นชื่อว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่เกิดมาเพื่อสายครีเอเตอร์เราก็ต้องเอามาลองใช้งานจริงกับโปรแกรมตระกูล Adobe เริ่มกันที่ Adobe Photoshop กับการสร้างภาพกราฟิกงานปกต่าง ๆ อันนี้ก็ใช้งานได้ลื่นไหลดี เวลาที่ใช้ฟีเจอร์ Content Aware Fill เวลาที่ต้องลบวัตถุในภาพก็ไม่มีอาการหน่วงให้เห็น การเซฟไฟล์เองก็ทำได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนโปรแกรมถัดมาที่ได้ทดสอบคือ Adobe Lightroom สำหรับสายแต่งภาพ ต้องยอมรับว่าเป็นจอสีตรง เราสามารถไว้ใจฝากผลงานไว้กับจอนี้ได้ ช่างภาพ หรือนักตัดต่อที่อยากได้จอสีตรง น่าจะชอบตัวนี้กัน
ส่วนการตัดต่อวิดีโอด้วยสเปกที่เป็น 12th Gen Intel® Core™ ในรหัส H-Series ก็ช่วยทำให้การ Expert Video ทำได้อย่างรวดเร็ว วิดีโอความยาว 4.25 นาทีใช้เวลา Export เพียง 6.18 นาที ถือว่าค่อนข้างเร็ว เพราะใช้ซีพียู Intel® Core™ i7-12700H และในขณะที่ทำการตัดต่อการ์ดจอ RTX 3050 ก็ช่วยเสริมทำให้การใส่เอฟเฟกต์แล้วสามารถเล่นต่อได้เลย ไม่ต้องรอเรนเดอร์นานนัก
นอกจากนี้หากเรารู้สึกว่าประสิทธิภาพยังไม่โดนใจ เราก็สามารถกดปรับแต่งผ่าน Fn+Q ในการปรับจูนการทำงานของเครื่องได้ ซึ่งจะมีให้เราเลือกอยู่ 3 โหมดคือ Extreme Performance (แรงสุด), Intelligent Cooling (ปรับความแรงตามการใช้), Battery Saving (ประหยัดแบต)
การเล่นเกม
เห็นสเปกแบบนี้ก็อดไม่ได้ที่จะต้องเอามาทดสอบการเล่นเกม โดยเกมที่ทดสอบก็จะเป็นเกมออนไลน์ดัง ๆ ที่กินสเปกพอสมควรอย่าง อย่าง Dota 2, GTA 5, Valorant ก็ทำ FPS ออกมาได้ดี โดยบางเกมสามารถดัน เกิน 120fps ได้เลยนะ ทำให้สามารถใช้ประสิทธิภาพจอ 120Hz ได้เต็มที่
โดยรวมด้านการเล่นเกม Lenovo Yoga Slim 7i Pro X ถือว่าสอบผ่าน เรียกว่าทำงานได้ เล่นเกมก็ดี แต่ถ้าเอาไปเล่นเกมหนัก ๆ อย่างพวก Cyberpunk 2077 ก็พอเล่นได้นะ แต่จะมีอาการกระตุกให้เห็นบ้าง เนื่องจากการ์ดจอเป็นตัว RTX 3050 ที่มีอัตราการใช้ไฟอยู่ที่ 55W ถ้าจะหาเล่นเกมแบบกินสเปก ๆ ถ้ามองเป็นเกมมิงโน้ตบุ๊กจะตอบโจทย์กว่า
ความร้อน
เมื่อใช้งานหนักกันไปแล้ว เรามาพูดถึงเรื่องระบบระบายความร้อนกันบ้าง ปกติแล้วโน้ตบุ๊กบางเบามักจะระบายความร้อนไม่ค่อยดีสักเท่าไร เพราะพัดลมมีความบาง แต่ใน Lenovo Yoga Slim 7i Pro X เขาใส่ Heat-pipe ขนาด 6 มม. มาให้สองเส้น คู่กับพัดลมสองตัวที่เขาเคลมว่าสามารถระบายความร้อนได้ดีขึ้น 15% มาให้รวมถึงติดแผ่น Graphite แบบสองชั้น ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม 48% เลย
จากที่ลองใช้มา ความร้อนถือว่าทำได้ดีเลย หากเราไม่ได้ใช้งานความร้อนเครื่องจะอยู่ที่ราว ๆ 40-50 องศาเซลเซียส ส่วนเวลาใช้งานหนัก ๆ จะอยู่ที่ราว ๆ 90-100 องศาเซลเซียส
ซอฟต์แวร์
Lenovo Yoga Slim 7i Pro X จะมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows 11 Home และ Microsoft Office Home & Student 2021 ซึ่งอันนี้จะเป็นแบบ License ติดเครื่องนะ ไม่สามารถย้ายไปเครื่องอื่นได้ ส่วนซอฟต์แวร์อำนวยความสะดวกอื่น ๆ ก็จะมี Lenovo Vantage ไว้ตั้งค่า เช็กสถานะ เช็กประกัน, Lenovo Hotkeys สำหรับตั้งค่าปุ่มลัดเพื่อให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น, Lenovo Smart Appearance สำหรับปรับแต่งเอฟเฟกต์กล้อง, Lenovo Smart Noise Cancellation สำหรับตัดเสียงรบกวนเวลาประชุม โดยรวมเรื่องแอปก็ถือว่าให้มาเยอะดี แอบเยอะจนใช้ไม่หมดด้วย ถ้ารวมกันเป็นแอปเดียวคิดว่าจะดีมาก
ข้อสังเกต
จากที่ลองถือใช้งานสไตล์ครีเอเตอร์มาสักระยะก็พบว่า เวลาที่แบตหมดแล้วเอามาชาร์จจะมีความร้อนสะสมบนแถบบานพับจอ และความร้อนนี้ก็ยังส่งผลกับประสิทธิภาพด้วย โดยการทำงานของซีพียูจะเกิดการ Shutting หรือลดความเร็วลงเพื่อให้ความร้อนไม่สูงเกินไป ส่วนอีกเรื่องที่ค่อนข้างสร้างความรำคาญใจเวลาใช้งานคือ กล่องแจ้งเตือนของ McAfee ค่อนข้างใหญ่และบังหน้าจอ แต่จุดนี้เราสามารถเข้าไปตั้งค่าปิดออกได้
ราคา
โดยรวม Lenovo Yoga Slim 7i Pro X ถือว่าเป็นโน้ตบุ๊กสายครีเอเตอร์ที่น่าสนใจหนึ่งรุ่นเลย ทำงานก็ได้ เล่นเกมก็ดี แถมได้สเปกเป็น 12th Gen Intel® Core™ Processor รหัส H-Series ตัวแรง และการ์ดจอ RTX 3050 ด้วยนะ โดยตัวที่เรารีวิวในบทความนี้ จะเป็นสเปกตัวท็อป ที่มีราคาอยู่ที่ 56,990 บาท สำหรับใครที่สนใจโน้ตบุ๊กตัวนี้ก็เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ลิงก์นี้ https://www.lenovo.com/th/en/yoga
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส