Our score
8.6Dell XPS 15
จุดเด่น
- สีสัน ความสดใส ความละเอียดของจอคือดีงาม เป็นจอโน้ตบุ๊กที่สวยที่สุดรุ่นหนึ่งตั้งแต่ใช้มา
- ประสิทธิภาพเครื่องดี ทำงานโปรดักชั่นได้สบายๆ
- เป็นเครื่องขนาดจอ 15 นิ้วที่เบาพอตัว พกพาสะดวก
- คีย์บอร์ดออกแบบมาดี คนทั่วไปก็สามารถใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องทำความคุ้นเคย
- มีพอร์ตรอบเครื่องมากมาย เชื่อมต่ออุปกรณ์ได้สะดวก
จุดสังเกต
- Trackpad ติด Doubletap ง่ายเกินไป ทำให้กลายเป็นการลากอยู่เรื่อย สุดท้ายจึงต้องปิดฟังก์ชั่น Doubletap ไป
- ขอบจอบางจนต้องระวังเวลาปรับจอ อาจจะไปโดนอะไรในหน้าจอสัมผัส
- จอละเอียดมาก จนมีปัญหากับเกมบางตัว หรือโปรแกรมเก่าๆ ที่ไม่รองรับจอความละเอียดสูง เมนูจะเล็กไปหมดเลย
- แบตเตอรี่ไม่ทนมากนัก อยู่ได้ราวๆ 5 ชั่วโมง
- ราคาสูง
-
คุณภาพการผลิตตัวเครื่อง
9.0
-
คุณภาพหน้าจอ
10.0
-
ประสิทธิภาพเครื่อง
8.0
-
ความสะดวกในการพกพา
8.5
-
ความคุ้มค่า
7.5
ถ้าพูดถึงโน้ตบุ๊กระดับโปร ที่เหล่านักออกแบบหลายท่าน หรือคนที่ทำงานหนักๆ เลือกใช้กัน เรามักจะคิดถึง MacBook Pro กันเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ เลยใช่ไหมครับ แต่ในฝั่งของ PC เราก็มีโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงที่ออกแบบมาสำหรับงานมืออาชีพอยู่ไม่น้อย อย่าง Dell ในตระกูล XPS เราจึงขอรีวิวพี่ใหญ่อย่าง Dell XPS 15 ให้ได้รู้จักกันครับ
ดีไซน์เรียบง่าย อย่างที่มืออาชีพต้องการ
เมื่อนึกถึงข้าวของที่มืออาชีพใช้ เราจะคิดถึงภาพภาพลักษณ์ของมันยังไงครับ ภาพในใจแอดคือออกแบบอย่าง minimalist ดีไซน์ไม่หวือหวาแต่ดูดี ดูพรีเมี่ยม เรียบง่าย แถมยังเน้นความสามารถที่ซ่อนอยู่ในความเรียบนั้นอีกด้วย ซึ่ง Dell XPS 15 9550 ก็ออกแบบมาอย่างภาพที่แอดคิดไว้เลย
- ฝาหลังเป็นสีเทาเข้ม มีโลโก้ของ Dell ปรากฎอยู่ตรงกลาง
- หน้าจอสัมผัสขนาดใหญ่ 15.6 นิ้ว แต่ขอบจอบางเฉียบ ให้เห็นได้เต็มตา ใช้กระจก Gorilla Glass NBT การันตีจอแข็งแรง ไม่เป็นรอย
- โครงสร้างเครื่องทำจากอลูมิเนียม ส่วนบริเวณคีย์บอร์ดทำจาก Carbon Fiber ทำให้รู้สึกนุ่มนวลเวลาวางข้อมือ แต่คงความแข็งแรงไว้อีกด้วย
- คีย์บอร์ดแบบ Chiclet แป้นอยู่ห่างจากกัน พิมพ์ง่ายไม่กดติดหลายปุ่ม พร้อมไฟ backlit
- Trackpad ขนาดใหญ่ใช้งานง่าย
- น้ำหนักราว 2 กก. ถือว่าเบามากสำหรับโน้ตบุ๊กขนาด 15.6 นิ้ว
จุดสังเกตของดีไซน์โน้ตบุ๊กรุ่นหลังๆ ของ Dell คือมีขอบจอบางทั้งด้านบน และด้านข้างนะครับ กล้อง Webcam จึงต้องย้ายไปอยู่บริเวณด้านล่างของจอ (ซึ่ง Dell Inspiron 14 7460 ที่แบไต๋เคยรีวิวไปก็มีการวางกล้อง Webcam แบบนี้) แน่นอนว่าทำให้มุมภาพเวลาใช้กล้อง Webcam จะเป็นมุมเสย แถมยังติดภาพมือที่กดคีย์บอร์ดไปด้วย ซึ่งก็เป็นจุดสังเกตสำหรับคนที่ใช้ Webcam เยอะๆ นะครับ
แต่ข้อดีของการวาง Webcam แบบนี้คือจะทำให้จอยกตัวสูงขึ้นจากพื้นได้ประมาณ 4 ซม. ทำให้เวลาใช้โน้ตบุ๊กไม่ต้องก้มคอลงไปมากเท่าโน้ตบุ๊กทั่วๆ ไปนะครับ ใช้งานนานๆ ไม่เมื่อย ซึ่งสำหรับแอดที่ใช้งานจริงจังครั้งละหลายๆ ชั่วโมง ก็สนใจประเด็นนี้มากกว่าครับ (ถ้าเป็นโน้ตบุ๊กที่แอดใช้อยู่ จะต้องหาอะไรมารองเครื่องให้จอยกสูงขึ้น แต่โน้ตบุ๊ก Dell จอมันอยู่สูงอยู่แล้ว ไม่ต้องรองเครื่องก็ได้ สบายตรงนี้)
จอภาพ ประเด็นสำคัญของมืออาชีพ
อย่างที่เรารู้กันตั้งแต่ต้นว่า Dell XPS 15 9550 นี้เป็นจอสัมผัสให้ความละเอียด 4K ขนาด 15.6 นิ้วนะครับ แต่รายละเอียดทางเทคนิคของจอนี้คือเป็นจอ IGZO-IPS ที่สามารถให้สีได้ครบ 100% ของขอบเขตสี Adobe RGB ครับ ซึ่งเป็นขอบเขตสีมาตรฐานในงานสายออกแบบ
ที่ดีงามอีกอย่างของ Dell XPS 15 คือตัวซอฟต์แวร์ Dell PremierColor ที่อยู่ในตัวเครื่องครับ สามารถปรับ Color Gamut หรือปรับขอบเขตสีของจอให้เหมาะสมกับงานที่กำลังทำอยู่ได้ เช่น
- งานตัดต่อภาพยนตร์ระดับฉายในโรง ต้องการขอบเขตสี DCI-P3 เพราะเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม
- งานตัดต่อวิดีโอ HD ธรรมดา ใช้ขอบเขตสีที่แคบลงมาหน่อยคือ Rec. 709 ก็ปรับได้
- การดูสีสันที่แบบที่คนทั่วไปเห็นจากจอในตลาดคือขอบเขตสี sRGB (อันนี้แทบจะแคบที่สุดแล้ว แต่ยังเหนือกว่า Rec. 601 ของวิดีโอยุคโบราณ)
- งานตกแต่งภาพ ต้องใช้ขอบเขตสีแบบจัดเต็มของ Adobe RGB จอนี้ก็รองรับการแสดงผลแบบเต็มๆ
ไม่ว่าจะทำงาน หรือเทสการแสดงผล จอของ Dell ก็สามารถปรับจอให้เหมาะสมได้อีกด้วย
แต่ด้วยความละเอียด 4K – 3840 x 2160 pixel ของ Dell XPS 15 ก็ทำให้มีปัญหาในการใช้งานอยู่บ้างนะครับ สำหรับคนที่ยังใช้โปรแกรมเก่าๆ ที่ไม่รองรับโหมดความละเอียดสูง (High DPI) หน้าอินเทอร์เฟซอาจจะเพี้ยนๆ หรือให้ขนาดเล็กมาก ก็ต้องใช้การปรับซูมจากตัว Windows 10 ช่วยเอา แล้วก็การเล่นเกมบางเกมก็มีปัญหาเช่นกันครับ แต่ก็ถือว่ายังสามารถปรับแก้ไขได้ไม่ยากครับ
ประสิทธิภาพเครื่อง
Dell XPS 15 ตัวที่เราได้มาทดสอบนี้ไม่ใช่รุ่นล่าสุดที่ใช้ Intel Core i รหัส Kaby Lake นะครับ ยังเป็นตระกูล Skylake อยู่ โดยมีสเปกคร่าวๆ ดังนี้
- Intel Core i7-6700HQ
- RAM: 16 GB
- SSD: 512 GB
- Graphic: Intel HD 530 + Nvidia GeForce GTX 960M
ผลการทดสอบ PCmark 8
ซึ่งเมื่อทดสอบกับโปรแกรม PCmark8 ในโหมด Creative Accelerated เพื่อทดสอบการทำงานในเชิงครีเอทีฟ อย่างเช่นการตกแต่งภาพ หรือตัดต่อวิดีโอ ก็ได้คะแนน 4395 คะแนน ถือว่าได้คะแนนดีสมกับสเปกครับ คะแนนระดับนี้ใช้ทำงานตัดต่อใหญ่ๆ ได้สบายๆ
ทดสอบกับ 3Dmark – Time Spy
สำหรับชุดทดสอบ Time Spy นั้นเป็นชุดทดสอบสูงสุดของ 3Dmark ตอนนี้ครับ วัดประสิทธิภาพของเครื่องที่รองรับ DirectX 12 เป็นหลัก ซึ่ง Dell XPS 15 ทำคะแนนไปได้ 1198 ก็ถือเป็นคะแนนที่ไม่สูงนัก คืออาจจะเล่นเกมใหม่ล่าสุด ปรับคุณภาพภาพสูงๆ ไม่ได้ (ยิ่งจอเป็น 4K ด้วยแล้ว ยิ่งกินแรงเครื่องเยอะเลย ถ้าปรับความละเอียดสูงสุด) แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเครื่องออกมาแบบสำหรับงานโปรดักชั่นเป็นหลักนะครับ ใช้เล่นเกมได้ดีพอสมควร แต่คงไปสู้กับ Gaming Notebook ไม่ได้
ทดสอบความเร็วฮาร์ดดิสก์ด้วย CrystalDiskMark
สำหรับความเร็วของไดร์ฟ SSD ในเครื่อง ถือว่าเร็วมากครับ ข้อมูลจาก CrystalDiskMark อ่านได้ดังนี้
- Seq Q32T1 คือเขียนข้อมูลต่อเนื่องชุดละ 128 KB ทำงานพร้อมกันหลายหน่วยประมวลผล ก็ทำความเร็วในการอ่านได้ 1.6 GB/s และเขียน 586 MB/s
- 4K Q32T1 เขียนข้อมูลชุดละ 4 KB แบบสุ่มไปทั่วทั้งดิสก์ โดยทำงานพร้อมกันหลายหน่วยประมวลผล อันนี้ความเร็วจะต่ำลงหน่อย เพราะไม่ได้เขียนต่อเนื่อง แต่ก็ยังเร็วมากอยู่ดี โดยอ่านได้ 489 MB/s และเขียนได้ 445 MB/s
- Seq เขียนข้อมูลต่อเนื่องชุดละ 1 MB ทำงานแค่หน่วยประมวลผลเดียว อ่านได้ 1064 MB/s และเขียนได้ 587 MB/s
- 4K เขียนข้อมูลชุดละ 4 KB แบบสุ่มไปทั่วทั้งดิสก์ ทำงานแค่หน่วยประมวลผลเดียว ซึ่งทำงานยากที่สุด อ่านได้ 24 MB/s และเขียนได้ 113 MB/s
ถ้าอยากรู้ว่ามันเร็วกว่าเครื่องทั่วไปที่ใช้ฮาร์ดดิกส์ขนาดไหน ลองโหลดตัว CrystalDiskMark ไปทดสอบกับเครื่องตัวเองกันได้ครับ ถ้าเครื่องใช้ฮาร์ดดิสก์จานหมุน มันจะช้ากว่านี้มาก ซึ่งความเร็วของไดร์ฟหลักนี่ถือว่าสำคัญมากนะครับ จะเปิดเครื่องเร็ว เปิดโปรแกรมเร็ว อยู่ที่ความเร็วนี้เป็นหลักเลย ความเร็วของ CPU ยังไม่สำคัญเท่านี้เลย
พอร์ตรอบเครื่อง
เนื่องจากว่า Dell XPS 15 เป็นโน้ตบุ๊กระดับ Workstation จึงต้องมีพอร์ตรอบเครื่องเยอะเป็นธรรมดา เพื่อให้มือโปรทำงานได้ง่ายครับ (ไม่เหมือนบางยี่ห้อที่ขยันตัดพอร์ตเหลือเกิน)
พอร์ตด้านขวาของเครื่อง
- ช่องอ่าน SD Card
- พอร์ต USB 3.0 พร้อม PowerShare
- ปุ่มกดเพื่อดูปริมาณแบตเตอรี่ในเครื่อง
- ช่องสายล็อก Kensington
พอร์ตด้านซ้ายของเครื่อง
- ช่องต่อสายไฟ (แบบหัวกลม)
- พอร์ต USB 3.0 พร้อม PowerShare
- พอร์ต HDMI
- พอร์ต ThunderBolt 3.0 ที่สามารถใช้เป็นพอร์ต USB-C 3.1 Gen 2 (ความเร็ว 10 Gbps) ได้ รองรับการชาร์จไฟ และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ของ USB-C
- ช่องเสียบหูฟัง
สรุป Dell XPS 15 โน้ตบุ๊กสำหรับงานครีเอทีฟและโปรดักชั่น
Dell XPS 15 ถือว่าให้มาครบเครื่องสำหรับงานโปรดักชั่นนะครับ ทั้งจอสัมผัสที่สีสันดีเยี่ยมและให้ความละเอียดมาก รวมถึงเรื่องประสิทธิภาพของเครื่อง และการออกแบบที่ใส่ใจสำหรับคนทำงานด้านนี้ อีกเรื่องที่ไม่ได้พูดถึงไปคือเสียงที่ออกจากตัวเครื่อง ก็ถือว่าใช้ได้ในระดับของโน้ตบุ๊กนะครับ ตัวลำโพงอยู่ใต้เครื่อง ให้เสียงสะท้อนพื้นโต๊ะขึ้นมา ก็ดีในระดับที่ฟังลื่นหูอยู่
แต่ประเด็นที่สำคัญ ในเมื่อจัดจอสเปกเทพมาขนาดนี้ ประสิทธิภาพเครื่องก็ไม่ใช้เล่นๆ SSD ความจุ 512 GB ด้วย ราคาจึงกระโดดไปอยู่ที่ 94,990 บาท ซึ่งก็ถือว่าสมน้ำสมเนื้อสำหรับเทคโนโลยีของเครื่องครับ แถมยังได้ประกันยาวนาน 3 ปีแบบ Premium Support เรียกช่างไปบริการเปลี่ยนซ่อมอุปกรณ์ได้ถึงที่ และสามารถโทรศัพท์คุยกับฝ่ายบริการลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงด้วย
แต่ถ้าต้องการตัวเลือกที่ประหยัดกว่านี้ ก็ยังมี Dell XPS รุ่นอื่นๆ เช่น XPS 13 ที่มีราคาต่ำกว่านี้ให้เลือกอยู่นะครับ