เลนส์ Telephoto หรือเลนส์เทเล ถือเป็นเลนส์อีกหนึ่งช่วงที่ช่างภาพ ไม่ว่าจะเป็นมือสมัครเล่นหรือมืออาชีพก็อยากจะซื้อหากันไว้ใช้ เพราะนอกจากมันจะสามารถขยายภาพวัตถุที่อยู่ไกลให้เหมือนอยู่ใกล้ได้แล้ว เลนส์เทเลยังให้ทัศนมิติหรือ Perspective ของภาพที่แคบ จึงตัดสิ่งรบกวนในฉากหลังได้ แล้วยังทำให้ฉากหลังละลายง่ายมากด้วย เราจึงเห็นหลายคนนำเลนส์เทเลมาถ่ายภาพบุคคลกันครับ
เลนส์ Telephoto คือเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสเทียบเท่า 70 mm ขึ้นไป
ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาทีมงานแบไต๋ได้ทดลองเลนส์เทเลใหม่ของ Nikon 2 ตัวสำหรับกลุ่มผู้ใช้ที่แตกต่างกัน ซึ่งวันนี้เราจึงขอเล่าประสบการณ์ในการใช้ให้ฟังกันครับ
Nikon AF-S NIKKOR 70-200mm f/2.8E FL ED VR
ตัวแรกนี้จัดว่าเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ประสิทธิภาพระดับท็อปของนิคอนเลย โดยเลนส์ 70 – 200 mm รุ่นล่าสุดของนิคอนตัวนี้ ปรับปรุงจากเลนส์รุ่นก่อน (70-200mm f/2.8 VR II) ไปหลายจุด ตั้งแต่น้ำหนักที่เบาลงไป 1 ขีด เหลือราวๆ 1.4 kg แล้วยังโฟกัสได้ใกล้สุดในระยะแค่ 1.1 เมตรเท่านั้นจากรุ่นเดิมที่ได้ใกล้สุดที่ 1.4 เมตร ทำให้การใช้งานสะดวกขึ้นมากครับ เอาแหละ มาดูความสามารถที่เรารู้จากชื่อเลนส์ก่อนเลย
AF-S SWM NIKKOR 70-200mm f/2.8E FL ED VR IF
- AF-S และ SWM – มอเตอร์โฟกัสภาพแบบเงียบ (Silent Wave Motor) โฟกัสได้เร็วและไม่มีเสียง
- E – Electronic diaphragm รูรับแสงควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ต้องใช้กับกล้องที่ออกหลังปี 2007 ถึงจะปรับรูรับแสงได้
- FL – ชิ้นเลนส์ Fluorite ช่วยเสริมความคมชัด
- ED – ชื้นเลนส์ Extra-low Dispersion ลดความคลาดของสี ทำให้ภาพคมชัด
- VR – ป้องกันภาพสั่นไหว
- IF – Internal focusing โฟกัสภายในตัวเลนส์ ไม่มีชิ้นส่วนไหนเคลื่อนไหวภายนอกเลนส์
- N – Nano Crystal Coat (อันนีเขียนไว้ใต้เลนส์) เคลือบผิวเลนส์แบบพิเศษ ลดแสงสะท้อนกลับไปกลับมาในเลนส์
หมุนดูเลนส์รอบตัวได้เลย!
จากสารพัดตัวอักษร เราสัมผัสได้ถึงความคมที่นิคอนพยายามจะบอกเราครับ 555 ซึ่งก็คมจริงจังอย่างที่ว่านั้นแหละครับ ภาพที่ได้จากเลนส์ตัวนี้คมมาก แม้จะเปิดรูรับแสงกว้างสุดที่ f/2.8 และภาพใสมาก ทีมงานเอาไปใช้ทั้งถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี ให้สีสันที่ดีชนิดเอาไปใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องตกแต่งต่ออีก นอกจากนี้ความเร็วโฟกัสยังดีเยี่ยม เมื่อใช้กับกล้องที่มีระบบโฟกัสติดตามดีๆ ก็ถ่ายแบบหวังผลได้เลย
รอบๆ ตัวเลนส์ 70-200 mm
จุดสังเกตของเลนส์ 70-200 mm คือเป็นเลนส์ที่มีสวิทซ์เยอะรุ่นหนึ่งเลยนะครับ มีสวิทซ์ให้เลื่อนข้างเลนส์ดังนี้
- สวิทซ์ปรับโหมดการโฟกัส A/m คือให้ความสำคัญกับโฟกัสอัตโนมัติ โดนวงแหวนโฟกัสบ้างเลนส์จะยังไม่ปรับเป็นโฟกัสมือ ในขณะที่ M/a คือแม้หมุนแหวนโฟกัสนิดเดียว จะเปลี่ยนเป็นโฟกัสมือทันที ส่วน M ก็คือโฟกัสมือนั้นเองครับ
- สวิทซ์ปรับช่วงโฟกัส โดย Full คือหาโฟกัสครบทุกช่วง กับ ∞ – 5 m คือหาโฟกัสตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไป เพื่อลดปัญหาโฟกัสวืด
- สวิทซ์ปรับโหมด VR ตั้งแต่ปิดระบบช่วยป้องกันภาพสั่นไหวสำหรับการถ่ายภาพบนขาตั้ง โหมด Normal สำหรับการถ่ายที่ผู้ถ่ายอยู่นิ่งๆ และโหมด Sport สำหรับผู้ถ่ายที่เคลื่อนไหว เช่นอยู่บนรถ
- สวิทซ์ปรับหน้าที่ของ 4 ปุ่มบนเลนส์ ซึ่งเป็นจุดพิเศษของเลนส์ 70-200 mm ตัวนี้เลยนะครับ โดยถ้าเลือกเป็น AF-L เมื่อกดปุ่มที่เลนส์ ก็จะล็อกโฟกัส ส่วนถ้าเลือกเป็น AF-ON เมื่อกดปุ่มที่เลนส์ ก็จะวิ่งหาโฟกัสทันที (สำหรับช่างภาพอาชีพจะใช้โหมดแบบนี้ เพื่อโฟกัสรอจะได้ไม่พลาดโอกาสสำคัญ) ซึ่งการที่เลนส์มีปุ่มก็ทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้นมากครับ
สุดท้ายข้อเสียอย่างเดียวของเลนส์นี้อาจจะอยู่ที่ราคาครับ เลนส์เทพตัวนี้มีราคาแสนกว่าบาท แสนนิดๆ เกินแสนไปหน่อยๆ ก็ถ้าใช้งานจริงจังในระดับช่างภาพอาชีพก็คุ้มอยู่นะครับ ช่วยลดขั้นตอนในการทำงานลงมาก ถ้าทำงานที่ใช่ เงินถึง ก็ซื้อเลยครับ เชียร์! 555
Nikon AF-P DX NIKKOR 70-300mm f/4.5-6.3G ED VR
สำหรับใครที่มองหาเลนส์เทเลราคาประหยัด คุณภาพหวังผลได้ เราก็ได้เลนส์ AF-P DX NIKKOR 70-300mm f/4.5-6.3G ED VR มาลองใช้ด้วยนะครับ ด้วยค่าตัวราว 14,000 บาท ต่างจาก 70-200 เกือบ 10 เท่า เราหวังอะไรจากเลนส์ตัวนี้ได้บ้าง เอาแหละมาดูความสามารถจากชื่อเลนส์กันก่อนครับ
AF-P DX NIKKOR 70-300mm f/4.5-6.3G ED VR
- AF-P – มอเตอร์โฟกัสแบบใหม่ที่เรียกว่า Stepper Autofocus โฟกัสเงียบและเร็ว แต่ยังไม่เนี๊ยบเท่า AF-S ที่ใช้ Silent Wave Motor (อ่านรายละเอียดที่นี้)
- DX – เลนส์สำหรับกล้องที่ใช้เซนเซอร์ขนาด APS-C (หรือที่นิคอนเรียกว่า DX Format) เท่านั้น ใช้กับ Full Frame แล้วภาพจะถูกครอป
- ED – ชื้นเลนส์ Extra-low Dispersion ลดความคลาดของสี ทำให้ภาพคมชัด
- VR – ป้องกันภาพสั่นไหว
- f/4.5 – 6.3 รูรับแสงช่วงปลายแคบไปหน่อย น่าจะสัก 5.6
ซึ่งจากการทดลองใช้งาน เราก็สรุปจุดเด่น จุดสังเกตของเลนส์ตัวนี้ได้ดังนี้ครับ
- ความเด่นอันดับต้นๆ ของเลนส์ 70-300 นี้คือ น้ำหนักเบาแค่ 415 กรัม ถือเป็นเลนส์ช่วงนี้ที่เบามาก พกพาง่าย ทำให้เวลาที่ต้องไปถ่ายภาพแนวสปอร์ตแอคชั่น ไม่ต้องอาศัยขาตั้งกล้องอย่างเลนส์ใหญ่อื่นๆ สามารถถือได้นาน
- ความคมของภาพที่ได้ ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี (คือเราโดนเลนส์ 70-200 ตัวข้างบนสปอยตาไปแล้ว)
- มอเตอร์โฟกัสนิ่มมาก ถ่ายภาพได้เร็ว และเสียงเงียบ
- เวลาแพนตามวัตถุด้วยมือ ได้ภาพไม่สั่นไหว ได้ภาพที่คมชัด
- โฟกัสใกล้สุดที่ 1.1 เมตร ใช้ถ่ายมาโครได้ระดับหนึ่ง
- แต่มีปัญหาเรื่องโฟกัสนิดหน่อย อย่างตอนถ่ายชอตต่อเนื่อง (อย่างรวดเร็ว) จะมีจังหวะเบลอบางภาพ แม้ว่าจะกดชัตเตอร์เลือกโฟกัสแต่แรกแล้ว และโฟกัสยังไม่เร็วเท่ามอเตอร์ SWM
- เมาท์เลนส์เป็นพลาสติก ก็ทำให้รู้สึกว่าเป็นเลนส์ราคาถูก
- ไม่มีสวิทซ์ใดๆ บนตัวเลนส์เลย ทั้งเปลี่ยนโหมดโฟกัส เปิด/ปิด VR ทุกอย่างสั่งงานจากตัวกล้องหมด บนตัวเลนส์มีแค่วงแหวน 2 วง เอาไว้ปรับโฟกัสและปรับช่วงซูม