รีวิว Google Pixel 7a : เรือธงในคราบเรือกลาง กับแบรนด์ที่ไม่เคยเข้าตลาดไทย แต่ทำไมหาให้ขวับ !
Our score
7.9

รีวิว Google Pixel 7a : เรือธงในคราบเรือกลาง กับแบรนด์ที่ไม่เคยเข้าตลาดไทย แต่ทำไมหาให้ขวับ !

จุดเด่น

  1. กล้องถ่ายภาพพร้อมสำหรับการ Point-and-Shoot ยกถ่ายและนำไปใช้ได้เลย
  2. หน้าจอที่คมชัด ภาพสวยงาม และมอเตอร์สั่น, สัมผัสการใช้งานที่ดี ดูพรีเมียมทั้งภายนอกและภายใน
  3. ชิปเซ็ตที่แรงระดับเรือธง สามารถใช้ทำงานได้ทุกอย่างที่เราโยนให้ทำ ในราคาเรือกลาง
  4. ซอฟต์แวร์แบบ Pure Android ที่ดีมาก ๆ มีฟีเจอร์ที่ไม่มากเกินไป แต่เป็นฟีเจอร์ที่ได้ใช่ และแตกต่างจาก Pure Android แน่นอน
  5. ลำโพงเสียงดีมาก สำหรับขนาดเครื่องที่เล็กเท่านี้ และรับ Codec ที่หลากหลาย

จุดสังเกต

  1. ไม่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย ถ้าจะนำเข้าอาจจะไม่มีประกัน
  2. หน้าจอที่ให้รีเฟรชเรตแค่ 90Hz ที่ไม่ได้เปิดก่อน ซึ่งถือว่าน้อยกว่าสมาร์ตโฟนในเรตราคาเดียวกัน
  3. ชิปเซตที่ร้อนง่าย และลดความเร็วลงเร็ว และมีหน่วยความจำแค่ 128GB แบบเพิ่มไม่ได้
  4. แบตเตอรี่ที่จัดว่าหมดเร็ว และชาร์จกลับค่อนข้างช้า ถือว่าน้อยที่สุดในสมาร์ตโฟนเรตราคาเดียวกัน
  5. กล้องที่ถ่ายวิดีโอได้ประสิทธิภาพด้อยลงเมื่อร้อน (โดยเฉพาะในอากาศประเทศไทย) ภาพบุคคลสวยแต่ต้องปรับเพิ่ม และเซลฟี่ที่อาจยังต้องแต่งต่อ
  • หน้าจอ

    8.0

  • กล้อง

    9.5

  • แบตเตอรี่

    5.0

  • ประสิทธิภาพ

    7.5

  • เสียง

    8.0

  • ดีไซน์

    8.0

  • ความคุ้มค่า

    9.0

‘2,455’ คือจำนวนวันที่ผ่านไปนับตั้งแต่สมาร์ตโฟนจากแบรนด์ Google เองอย่าง ‘Google Pixel’ ได้เปิดเผยโฉมสู่สาธารณชนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย และจำนวน 2,455 นี้แหละ คือจำนวนวันที่ผ่านไป และสมาร์ตโฟนแบรนด์นี้ ยังไม่เคยเข้าสู่ตลาดไทยอย่างเป็นทางการเลย

ผู้เขียนเองก็เคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับสมาร์ตโฟนจากแบรนด์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘บิดาแห่ง Android’ ในปัจจุบันอย่าง Google Pixel มาอย่างยาวนาน ทั้งเรื่องซอฟต์แวร์ที่ทำมาดีกว่า กล้องที่แม้จะใช้เซนเซอร์เก่าแต่ก็ยังเก๋า, แม้แต่รุ่นที่ประหยัดที่สุดในปีนั้น ก็ยังเอาชนะสมาร์ตโฟนเรือธงจากทั่วทุกมุมโลกได้อย่างไม่สนใจเรตราคาใด ๆ ในคลิป Blind Camera Test ของ MKBHD

ใช่ครับ เรากำลังพูดถึง ‘Google Pixel 6a’ สมาร์ตโฟนรุ่นล่างสุดในตระกูล 6 ของ Google เมื่อปีที่ผ่านมา

ตัดภาพมาวันนี้ ที่ Google Pixel 7a ได้เปิดตัวไปในงาน Google I/O 2023 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจขอให้พี่ที่ไปร่วมงานที่ไต้หวัน หิ้วเครื่องกลับมา

และนี่คือประสบการณ์การใช้งาน ‘Google Pixel 7a’ พร้อมหาคำตอบกันว่าทำไมสมาร์ตโฟนของ Google ที่แม้จะไม่เคยขายในประเทศไทยเลย แต่กลับมีคนไทยมากมายต่างพากันหากันให้ขวับ !

ดีไซน์

เริ่มต้นด้วยดีไซน์นอกเครื่องกันก่อน ต้องบอกว่า Google Pixel 7a เขามากับดีไซน์ที่ใช้คำว่า ‘เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง’ แล้วก็ว่าได้ ด้วยดีไซน์แบบเหลี่ยมรอบตัวเครื่อง พร้อมแถบกล้องด้านบนที่เหมือนกับในรุ่นพี่ ที่วางกล้องได้สวยงามไม่แพ้รุ่นพี่ที่อยู่ในระดับเรือธงเลย เอาจริง ๆ คือมันเหมือนเรือธงรุ่นพี่อย่าง Google Pixel 7 หรือ 7 Pro เลยแหละ ซึ่งลายคาดนี้ใช้วัสดุเป็น ‘satin-finished aluminum’ หรืออะลูมิเนียมด้าน แต่จะอยู่แยกกันกับกรอบข้างเครื่องที่เป็นอะลูมิเนียมเหมือนกันนะ ไม่ได้เป็นชิ้นเดียวกัน

ฝาหลังตัวเครื่องที่ได้มารีวิวนี้เรียกว่าสี ‘Sea’ หรือสีฟ้าน้ำทะเลนี่แหละครับ ซึ่งในซีรีส์ Pixel 7a นี้จะยังมีวางขายอีก 3 สีคือสีถ่าน (Charcoal) ซึ่งเป็นสีเทาเข้ม, สีขาวหิมะ (Snow) และสีส้มปะการัง (Coral) แต่สีนั้นจะขายแค่ที่ Google Online Store อย่างเดียว

ถ้ามองผิวเผิน ดีไซน์ตัวเครื่องถือว่าสวยงามไม่แพ้รุ่นพี่นัก แต่ความต่างมันเริ่มตั้งแต่รอบเครื่องแล้ว ! เพราะฝาหลังของ Google Pixel 7a เป็นพลาสติก ไม่ใช่กระจกแบบที่เห็นกันใน Pixel 7 หรือ 7 Pro ซึ่งความรู้สึกในการจับถือไม่ได้แตกต่างกับฝาหลังกระจกแต่อย่างใด เพียงแต่ว่า ฝาหลังพลาสติกจะมีโอกาสที่จะถูกขูดและเป็นรอยได้ง่ายกว่าเท่านั้น

แต่ต่อให้ใช้วัสดุฝาหลังเป็นพลาสติก แต่ Pixel 7a ก็กันน้ำและกันฝุ่น IP67 ด้วยนะ ! (1 เมตร, 30 นาที) สมาร์ตโฟนในเรตราคานี้ส่วนมากมักจะข้ามเรื่องพวกนี้ไป (ยกเว้น Samsung Galaxy A54 นะ เจ้านั้นทำกันน้ำมานานแล้ว)

ส่วนการวางปุ่มและพอร์ต เอาจริง ๆ ถือว่าอาจจะต่างกับเจ้าอื่น ๆ ที่เราเจอในไทยกันสักกหน่อย เพราะปุ่มเปิดจะอยู่ด้านบนฝั่งขวา เหนือปุ่มเพิ่มและลดเสียงไป ซึ่งเป็นการวางที่สลับกันกับที่เราจะคุ้นเคยกัน ตอนใช้นี่แอบกดผิดอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ถ้าคุ้นชินแล้วก็ไม่มีปัญหานะ แถมตัวปุ่มก็มั่นคงดีมาก สัมผัสดี ติดที่ว่าถ้ากดปุ่ม Power ค้างจะเจอ Google Assistant แทน ถ้าจะรีสตาร์ต หรือปิดเครื่อง ให้กดปุ่มเพิ่มเสียง + ปุ่มล็อกหน้าจอ 1 ครั้ง เมนูก็จะขึ้นมาเลย ถ้าจำได้ก็ถือว่าสะดวกดีนะ

ปุ่มเปิด-ปิดเครื่องที่อยู่ด้านบน และปุ่มเพิ่ม-ลดเสียงที่อยู่ด้านล่าง อาจทำให้สับสนได้บ้างในตอนแรก

ส่วนที่เหลือก็เกือบ ๆ เหมือนสมาร์ตโฟนทั่วไปครับ คือจะมีพอร์ต USB-C (3.2 Gen 2) ที่ถือว่าใหม่มาก ๆ มากกว่าหลาย ๆ แบรนด์ที่จะให้มาแค่ 3.1 หรือบางทีก็ให้แค่ 2.0 ด้วยซ้ำ กับไมค์ตัดเสียงรบกวนด้านบน ที่แปลกและคนไทยไม่ค่อยเจอในฝั่ง Android ตอนนี้คือช่องใส่ซิมที่ใส่ได้แค่ซิมเดียว และใส่ SD Card ไม่ได้นี่แหละครับ (เรือธงกระทั่งเรื่องนี้เลย ฮา)

เห็นดีไซน์แล้วคงพอเข้าใจแล้วว่าทำไมคนถึงได้มองว่า Pixel 7a คือสมาร์ตโฟนที่เหมือนเรือธง แต่ก็ยังมีบางอย่างที่ Cut-Corners (ลดฟีเจอร์บางอย่างเพื่อลดต้นทุน) ออกไปบ้าง เช่นฝาหลัง วัสดุที่ไม่เท่ากัน และอื่น ๆ ที่เรากำลังจะได้เจอกันเมื่ออ่านไปเรื่อย ๆ ครับ

หน้าจอ

เราเห็นดีไซน์รอบ ๆ เครื่องกันไปเยอะแล้ว มาดูด้านหน้าบ้างดีกว่า คือ Google Pixel 7a เขาให้หน้าจอมาอยู่ที่ขนาด 6.1 นิ้ว แบบ OLED 90Hz ความละเอียด FHD+ (1080×2400) ที่รองรับ HDR และครอบทับด้วยกระจก Corning Gorilla Glass 3 ครับ

จริง ๆ อ่านแค่นี้ก็พอจะมองออกแล้วว่าเขาตัดอะไรออกไปบ้าง เช่น จอที่เล็กลง, กระจกจอที่ไปใช้เวอร์ชันเก่า, หรือ Refresh Rate ที่ลดจาก Pixel 7, 7 Proเหลือแค่ 90Hz เท่านั้น แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ส่งผลให้การใช้งานรู้สึกแปลกไปแต่อย่างใดเลย คือด้วยจอที่แม้จะละเอียดแค่ FHD+ แต่เป็นจอ OLED แถมเป็นจอนุ่มที่ 90Hz ทำให้การใช้งานลื่นไหลมาก ๆ แถมสีสันสวยงาม ไม่รู้สึกซีดหรือสดเว่อจนเกินไปและถือเป็นการอัปเกรดใหญ่พอสมควร เพราะใน Pixel 6a ยังใช้จอ 60Hz อยู่ !

ติดอยู่ที่ว่า โหมดจอนุ่ม หรือโหมดจอ 90Hz นั้นไม่ได้เปิดมาตั้งแต่แรกนะครับ ! ถ้าเปิดจอมาครั้งแรกแล้วจอหน่วง ๆ ลองตั้งค่าก่อนว่าจอเราวิ่งที่ 90Hz แล้วหรือยัง ?

อีกอย่างที่รู้สึกว่าอาจจะใหญ่ไปเล็กน้อยคือขอบด้านข้างของจอที่ค่อนข้างเห็นชัดในขนาดจอที่เล็กลงแบบนี้ แต่ถือว่าอยู่ในขนาดที่ไม่ได้ใหญ่จนน่าเกลียด ด้วยจอที่เป็นแบบแบนด้วย (แต่พูดถึงถ้าเราใช้โหมดมืดก็ไม่น่าจะเป็นอะไรแล้วเหมือนกัน ฮา)

ซึ่งบนหน้าจอก็มีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบแสงบนหน้าจอด้วย จริง ๆ ตำแหน่งการวางอาจจะอยู่ในระดับกลาง ๆ บางคนอาจจะว่าสูงไป บางคนอาจจะว่ากำลังดี แต่ถือว่าอยู่ในระดับที่มั่นคงพอสมควรเช่นกัน แถมยังสแกนเร็วด้วย

กล้องถ่ายภาพ

มาถึงส่วนที่ใครหลาย ๆ คนรอคอยแล้ว ! นั่นคือเรื่องกล้องนั่นเอง ใครหลาย ๆ คนที่น่าจะได้ผ่านตารีวิวสมาร์ตโฟนจากเมืองนอกมา จะเห็นเลยว่า Google Pixel จะสามารถถ่ายภาพจากสมาร์ตโฟนได้ดีมาก ๆ โดยเฉพาะรุ่น 6a เมื่อปีที่แล้วที่ชนะ Blind Test กล้องสมาร์ตโฟนอย่างที่บอกไว้ตอนต้น

ปีนี้ Pixel 7a ถือว่าได้รับการอัปเกรดจากรุ่น 6a อยู่เยอะเหมือนกัน คือในรุ่น 6a จะใช้เซนเซอร์กล้องหลักเป็น Sony IMX363 ขนาด 12.2 ล้านพิกเซล ที่เป็นรุ่นจากในอดีต ใช้ใน Google Pixel หลายรุ่นมาก ๆ (โดยเฉพาะรุ่น a) กับกล้องมุมกว้างมากขนาด 12 ล้านพิกเซล แต่พอขยับมา Pixel 7a แล้ว เซนเซอร์ของกล้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดเลย โดยเปลี่ยนไปใช้กล้องหลักขนาด 64 ล้านพิกเซล f/1.9 ของ Sony IMX787 และใช้กล้องมุมกว้างมากขนาด 13 ล้านพิกเซล f/2.2 ของ Sony IMX712 กล่าวคือเปลี่ยนเซนเซอร์ใหม่ทั้งหมด และได้ความละเอียดที่มากขึ้น

ความละเอียดที่มากขึ้นจะทำให้การรับแสงของกล้องทำได้ดีขึ้นไปด้วย แต่สาเหตุที่ Google เลือกที่จะใช้เซนเซอร์เดิมในสมาร์ตโฟนตระกูล a มาโดยตลอด นอกจากจะเป็นเรื่องของราคาต้นทุนที่ถูกกว่าแล้ว ยังมีเรื่องของการปรับแต่งซอฟต์แวร์ที่ต้องใช้คำว่า ‘Google เขา Master’ เรื่องการปรับแต่งเซนเซอร์ที่ลงตัวแล้วเรียบร้อย การเปลี่ยนเซนเซอร์ทำให้ต้องปรับแต่งซอฟต์แวร์ใหม่ ซึ่งภาพจะเป็นอย่างไรต้องลองไปดูครับ

ดังนั้น ไม่พูดพร่ำทำเพลง ลองไปดูภาพกันเลย ! (อย่าลืมกดดูภาพใหญ่ด้วยนะ)

ภาพถ่ายทั่วไปเอาจริง ๆ ถือว่าให้แสง สีที่ดีมากสมคำร่ำลือของ Google เขาจริง ๆ ถ้าปกติ เราจะเห็นภาพถ่ายจากสมาร์ตโฟนที่สีสดเกินปกติ สีเพี้ยนออกไปทางเหลือง ๆ หรือฟ้า Google Pixel 7a จะถ่ายออกมาได้สีที่ออกมาไม่เอียงไปเหลืองหรือฟ้ากว่าปกติใด ๆ เลย คือถ้าภาพที่ถ่ายอยู่ในสภาพแสงปกติ ภาพที่ได้จะออกมาเพอร์เฟค สวยงาม White Balance ที่ดี และ Contrast ที่ไม่ผิดเพี้ยนด้วย

นับว่ากล้องของ Pixel 7a เป็นกล้องที่พร้อมสำหรับการ ‘Point-and-Shoot’ กล่าวคือพร้อมสำหรับการนำไปถ่ายได้เลย โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม แค่กดถ่ายก็พอ ! จะมีข้อสังเกตตรงที่ แม้กล้องจะ 64 ล้านพิกเซล แต่ภาพที่ถ่ายได้จะมีขนาด 16 ล้านพิกเซล (ซึ่งผ่านการ Pixel Binning) และไม่สามารถถ่ายในความละเอียดเต็ม 64 ล้านพิกเซลได้นะ

ทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณซอฟต์แวร์กล้อง ‘Google Camera’ (ที่คนต่างพากันเอาไป Port หรือแปลงโค้ดเพื่อใช้กับสมาร์ตโฟนของตัวเอง) ที่ถือว่าใช้งานง่ายมาก ๆ การตั้งค่าส่วนมากทำในปุ่มเฟืองด้านบนซ้ายของจอ รวมถึงตอนถ่าย ถ้าเราแตะโฟกัสที่จุดไหน กล้องจะล็อกโฟกัสที่วัตถุที่เราล็อกไว้ รวมถึงมีปุ่มสไลด์ให้เราปรับได้ทั้งอุณหภูมิสี, ความสว่าง และคอนทราสต์เลย ซึ่งทำให้ภาพจับโฟกัสได้ดีมาก เช่นเวลาเราถายวัตถุที่บาง เช่นขอบข้างเครื่องของสมาร์ตโฟน ก็ถ่ายได้แบบไม่ยากเย็นนัก

ภาพถ่ายมุมกว้างมาก

พอมาในมุมกว้างมาก ก็ถือว่าทำได้ดีไม่แพ้กล้องถ่ายภาพหลักเลย ความต่อเนื่องของสีทำได้ดี ต่อให้ใช้เซนเซอร์ที่เล็กกว่า ภาพถ่ายก็ยังออกมาสีสวย และเก็บรายละเอียดได้ดีด้วย ลองดูตัวอย่าง 2 ภาพเทียบกันดูได้เลย

ภาพถ่ายซูม

ที่น่าเสียดายเห็นจะเป็นภาพถ่ายซูม ที่เป็นจุดอ่อนของ Pixel 7a เลยก็ว่าได้ ด้วยความที่กล้องไม่ได้มีกล้องถ่ายภาพซูมใด ๆ ภาพถ่ายซูมจึงต้องทำผ่านซอฟต์แวร์ล้วน ๆ จึงทำให้ซูมได้สูงสุดแค่ 8 เท่าเท่านั้น อย่างน้อยที่สุดที่จะซูมและหวังผลได้ จะอยู่ที่ 2 เท่า ซึ่งใช้การครอปจากกล้องถ่ายภาพหลักแทน ซึ่งถือว่าทำได้ดีมากสำหรับสมาร์ตโฟนที่ไม่มีกล้องถ่ายภาพซูมแยกนะ (ภาพตัวอย่างเลื่อนดูได้นะ)

ภาพบุคคล

ภาพถ่ายบุคคลคืออีกอย่างที่เรียกได้ว่าเป็น ‘จุดเด่น’ ของสมาร์ตโฟนฝั่ง Google Pixel กันมาอย่างยาวนาน ตรงนี้ผู้เขียนค่อนข้างคาดหวังมากเป็นพิเศษ จึงขออธิบายแยกเป็นสองส่วน คือภาพถ่ายบุคคลที่ 1x และ 2x

ในการถ่ายภาพบุคคลขนาด 1 เท่า ถือว่าทำออกมาได้สวยงามมาก ๆ มีการจัดการสกินโทนที่ดี ไม่ผิดเพี้ยนและไม่แตกต่างจากที่ตาเราเห็นมากนัก อาจจะถือว่าเป็นภาพที่ไม่ได้สวยงามสำหรับบางคน เนื่องจากไม่ได้มีการปรับแต่งเรื่องสีผิว, ความเนียนของผิว หรือกระทั่งการปรับรูปทรงหน้า (กล้องบางรุ่นทำหน้าเรียวให้เลยตั้งแต่ถ่ายนะ !) ดังนั้น ภาพถ่ายที่ได้เลยจะออกไปในทางสวย แต่ไม่เน้นแต่งมากนัก

ถ้าจะให้มีข้อสังเกตเล็กน้อย คือการถ่ายภาพบุคคลจะผ่านการครอปภาพมาแล้วตั้งแต่แรก จากการสังเกต ระยะของภาพโหมดนี้ จะเป็นระยะที่โดนซูมมาเล็กน้อยแต่แรก

แต่พอเป็น 2 เท่า ภาพบุคคลที่ถ่ายออกมาได้กลับออกมาแปลกกว่าที่คิดไว้ หลัก ๆ เป็นไปได้ว่าจะมาจากการที่ Pixel 7a ไม่มีกล้องซูมแยกเหมือนเดิม ซึ่งจะทำให้รายละเอียดของภาพนั้นไม่ดีเท่าแบบ 1 เท่า โดยปกติภาพถ่ายบุคคล 2 เท่ามักจะใช้ถ่ายภาพบุคคลที่อยู่ระยะไกล หรืออยากถ่ายให้ได้รายละเอียดของตัวบุคคลที่มากขึ้น ผู้เขียนเองได้ลองถ่ายภาพบุคคล 2 เท่าโดยใช้กิจกรรม ‘World Boss’ จากในงาน CAF 2023 เป็นตัวอย่าง ซึ่งภาพที่ออกมานั้นถือว่ายังมีการเก็บรายละเอียดที่ไม่ดีนัก อยู่ในระดับที่แอบไม่น่าพอใจ หากจะถ่ายภาพบุคคล แนะนำให้ถ่ายที่ 1 เท่าจะดีกว่า

ภาพถ่ายกลางคืน

ส่วนการถ่ายภาพกลางคืนสามารถถ่ายออกมาได้สว่าง สวยงาม และใช้เวลาไม่นานมากนักครับ ตามสไตล์ของกล้อง Google ที่จะเป็นกล้องที่เหมาะกับการยกมาถ่ายแล้วใช้ได้เลย แถมสียังออกมาดีมาก เหมาะจะนำไปเที่ยวได้ทุกที่ทุกเวลาจริง ๆ

เซลฟี่

ส่วนการถ่ายภาพกล้องหน้า หรือเซลฟี่นั้น ด้วยกล้องหน้าที่ความละเอียด 13 ล้านพิกเซล f/2.2 ก็ทำออกมาได้สวยงาม และ ‘เรียล’ ค่อนข้างมาก อาจจะเหมาะกับสายที่ชอบถ่ายภาพให้ออกมาสมจริง แต่อาจจะไม่เหมาะกับสายพร้อมลง เพราะภาพออกมาค่อนข้างเก็บรายละเอียดได้ดีมาก กล่าวคือไม่มีการใช้ซอฟต์แวร์ปรับแต่งภาพใด ๆ เพิ่มเติม แต่ถือว่าเก็บรายละเอียดได้ดีไปพร้อมกันด้วย เรื่องนี้แล้วแต่ผู้ที่ใช้งานเลยครับ

วิดีโอ

การถ่ายวิดีโอถือว่าทำออกมาได้ดูดีไม่แพ้ภาพนิ่งเลย แต่อาจจะไม่ได้ดีมากถึงขั้นพร้อมนำไปถ่ายงานขนาดนั้น แต่เรื่องการเก็บรายละเอียด สี ภาพ และเสียง คือพร้อมนำไปใช้ลงโซเชียลเน็ตเวิร์คแน่นอน ส่วนการถ่ายวิดีโอด้วยกล้องมุมกว้างมาก ต้องถ่ายที่ความละเอียด 1080P เท่านั้น

จะเป็นปัญหาก็อยู่ตรงที่ เมื่อเจออุณหภูมิประเทศไทย กล้องก็เกิดอาการร้อน จนลดเฟรมเรตเหลือ 30FPS เอง ! (โดยที่ผู้เขียนไม่รู้ แล้วผู้เขียนก็พูดว่า 60FPS ไปแล้ว) ถือเป็นข้อสังเกต และขออภัยในความผิดพลาดมา ณ ที่นี้ด้วย

ซึ่งในภาพรวมแล้ว กล้องถ่ายภาพของ Pixel 7a ถือว่ายังทำมาได้แข็งแกร่งราวเรือธงอยู่ ปัญหาที่เจอจริง ๆ จะอยู่ที่ปริมาณของกล้องถ่ายภาพที่น้อยกว่ากล้องในสมาร์ตโฟนเรือธงมากกว่า เช่นกล้องถ่ายภาพซูม (Telephoto) ที่จะหายไป แต่ในโหมดอื่น ๆ ผู้เขียนขอสรุปสั้น ๆ ได้แค่ว่า ‘หายห่วง’ แน่นอนครับ โดยเฉพาะกับในราคาแค่นี้

สเปก ประสิทธิภาพ และการเล่นเกม

สมัยก่อน ถ้าพูดถึงสเปกภายในของสมาร์ตโฟน Pixel จะนึกถึง Qualcomm Snapdragon มาตลอด แต่ช่วง 2 ปีมานี้ Google ตัดสินใจใช้ชิปเซตที่ผลิตเอง อย่าง ‘Google Tensor’ ซึ่งตอนนี้ก็ได้มาถึงรุ่นที่ 2 แล้ว โดย Pixel 7a ก็ได้ใช้ชิปเซต Google Tensor G2 เหมือนกับใน Pixel 7, 7 Pro เลยด้วย ดังนั้น สเปกภายในด้านชิปเซตและการ์ดจอก็จะเท่ากันกับในรุ่นพี่ด้วย ด้านแรมภายในเครื่องก็ได้ให้มาเพิ่มเป็น 8GB LPDDR5, หน่วยความจำขนาด 128 GB UFS 3.1 ซึ่งมากกว่าในรุ่นก่อนเหมือนกัน

ก่อนจะพูดถึงประสิทธิภาพจริง ๆ เรามาลองดูคะแนนกันก่อน

ถ้าทดสอบด้วย Geekbench 6.1.0 จะได้คะแนน Single Core ที่ 1411 คะแนน และ Multi Core ที่ 3306 คะแนน ถามว่าคะแนนนี้อยู่ในระดับไหน ถ้าตอบตามตรงคือไล่เลี่ยกันกับ Snapdragon 8 Gen 1 นี่แหละ ในขณะที่ การทดสอบบน 3D Mark ชุด Wild Life Stress Test ที่ปกติแบไต๋เราชอบเอามาทดสอบประสิทธิภาพกัน จะได้คะแนนสูงสุดอยู่ที่ 5,965 คะแนน และนิ่งที่ 58.1 % เท่านั้น

ซึ่งเอาจริง ๆ จากการที่ลองทดสอบมา จะพบได้เลยว่าตัวเครื่อง ‘ร้อนเร็ว’ แบบเห็นได้ชัดมาก ๆ เพราะปกติ หลาย ๆ สมาร์ตโฟนที่เคยทำการทดสอบมา ถ้าทดสอบแค่ Geekbench จะไม่ค่อยเกิดอาการร้อน แต่ใน Pixel 7a คือเริ่มอุ่นแล้ว หรือใน 3D Mark ก็ร้อนตั้งแต่รอบที่ 10 ได้เลย

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสามารถสรุปได้ก็คือ นี่เป็นสมาร์ตโฟนที่ร้อนเร็วอย่างที่ใคร ๆ เคยได้ยินกันมา อาจจะด้วยการประมวลผลต่าง ๆ ทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง และอื่น ๆ ไปจนถึงการเจออากาศแบบประเทศไทยด้วยเช่นกัน

และอีกเรื่องก็คือ Pixel 7a ไม่ได้เกิดมาเป็นสมาร์ตโฟนสำหรับเล่นเกมเลย

จากคะแนน 3D Mark ก็แอบบอกแล้วว่า คะแนน 3D Mark ที่ไม่ถึง 6,000 ดีนี้คงไม่เหมาะจะเล่นเกมหนักแน่นอน ถ้าเอาไปเล่น Genshin Impact ที่แม้จะใช้ชิปเซตระดับเรือธง (เท่าตัวท๊อปสุดในตอนนี้) แต่ไม่สามารถปรับสุดเล่นได้ 60 FPS แต่อย่างใด จะต้องมีจังหวะกระตุก ค้าง หรือแลคบ้าง จนอาจจะเล่นไม่ได้ ถ้าจะให้เล่นได้ต้องตั้งค่าไว้ที่ต่ำแทน (ซึ่งก็ไม่สามารถเล่นได้นิ่งเกิน 40 FPS ได้เลย) แต่จากการลองเล่นมา ตัวเครื่องจะร้อนเร็วมาก ๆ แค่โหลดแพทช์ก็ร้อนแล้ว

แม้สมาร์ตโฟนตระกูล Pixel จะไม่สามารถใช้เล่นเกมได้ดีนัก แต่ซอฟต์แวร์ก็พอจะมีเกี่ยวข้องกับเกมอยู่บ้าง คือ Google มีการเพิ่มซอฟต์แวร์ที่ชื่อ ‘Game Dashboard’ ครอบทับมา ให้สามารถแสดงผล FPS ในเกม หรือ Optimize เครื่องให้เหมาะกับเกมนั้น ๆ ได้ (แต่ Genshin Impact ยังไม่มีนะ)

แต่คุณผู้อ่านเชื่อไหมครับว่า สเปกที่จัดมาเต็มขนาดนี้มีเพื่อ ‘ประสบการณ์การใช้งาน’ ต่างหาก

ประสบการณ์การใช้งาน

ถ้าพูดถึงการใช้งานจริง ผู้เขียนอยากใช้คำว่า นี่เป็นสมาร์ตโฟนที่เน้นเรื่องการวางตัวเองเป็นสมาร์ตโฟนที่ One-Fit-All ไม่ได้ แต่สิ่งที่มันทำได้ คือการเป็น ‘สมาร์ตโฟนที่เหมาะกับคนทั่วไปทุกคน’

การจะสร้างประสบการณ์การใช้สมาร์ตโฟนที่ดีได้ จะต้องมาจากหลายส่วนประกอบกัน สเปกภายในก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของ ‘ซอฟต์แวร์’ หลาย ๆ คนน่าจะพอรู้แล้วว่าซอฟต์แวร์ของ Google Pixel นั้นดีในหลายด้านมาก ทั้งเรื่องการใช้งาน และการอัปเดตที่รวดเร็ว แต่สิ่งที่ผู้เขียนเจอจากที่ได้ใช้มาระยะใหญ่ ๆ นั้นก็คือ ‘เรื่องเล็ก ๆ’ ที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่เคยสังเกต แต่กลายเป็นว่ามีประโยชน์มาก

เช่น ฟีเจอร์การตรวจจับเพลง (Now Playing) ที่เล่นอยู่แบบอัตโนมัติตอนผู้เขียนได้ยิน (จากผู้ใช้ Pixel ที่รู้จักกัน) ครั้งแรกคือชอบมาก ๆ เพราะมันจะต้องมีหลายจังหวะมาก ๆ ที่เวลาเราเดินอยู่ที่ใดสักที่แล้วได้ยินเพลงดังมา แล้วเราอยากรู้ว่าเล่นเพลงอะไรอยู่ และตัวเครื่องยังจับไม่ได้ แค่เรากดในหน้าล็อกหน้าจอให้เครื่องตั้งใจฟังมากขึ้น เพลงก็มาในหน้าล็อกหน้าจอเลย นอกจากจะสะดวกแล้ว ยังรวดเร็วอีกต่างหาก เสียดายแค่อย่างเดียวคือ ฟีเจอร์นี้ยังไม่รองรับเพลงไทยนะ ถ้าจะหาเพลงไทยต้องใช้แอปฯ อื่นไปก่อน

หรืออย่างการปรับแต่งหน้าจอหลัก ที่เมนูส่วนมากที่เราชอบเปลี่ยนจะอยู่ใกล้ แค่กดค้างบนภาพพื้นหลังเท่านั้น ก็จะเปลี่ยนภาพหน้าจอให้ได้ทันที หรือจะเป็นเมนูธีมที่แม้จะไม่มีธีมน่ารัก ๆ ให้ดาวน์โหลดเพิ่มเติม แต่ Google เลือกที่จะขายความเรียบง่ายด้วยสี Accent และ ‘Themed Icons’ ที่จะเปลี่ยนสีไอคอนของแอปฯ (ส่วนมาก) ให้เป็นสี และธีมเดียวกันทั้งหมด แม้จะยังไม่รองรับทุกแอปฯ แต่ส่วนตัวของผู้เขียนค่อนข้างชอบมากเลยทีเดียว

และด้วยความที่สมาร์ตโฟนเป็นของ Google เอง ทำให้ทุกแอปฯของเครื่อง มีดีไซน์ สี Accent และการใช้งานที่คล้ายกันเกือบทั้งหมด เช่น แอปฯ โทรศัพท์, Photos, Files, Messages ไปจนถึงแอปฯ Recorder (อัดเสียง) และแอปฯ การตั้งค่า ซึ่งทำให้ทุกแอปฯ ดูเป็นส่วนเดียวกันหมด (แบบที่คนใช้ iOS เจอกัน)

นอกจากนั้น ประสบการณ์การใช้งานโดยรวมอยู่ในระดับที่ดีมาก ตัวแอปฯ มีการแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่อง ไม่ดีเลย์, มอเตอร์สั่นที่ดี สัมผัสดี หนักแน่น, การเข้า-ออกแอปฯ ที่ไม่เกิดอาการกระตุก หรือหน่วงมากนัก และที่สำคัญคือแอปฯติดเครื่องที่แทบจะมีแต่ของ Google เท่านั้น ทำให้ใครที่มีความต้องการสมาร์ตโฟนที่ได้แอปฯ ติดเครื่องมาน้อย Google Pixel ถือเป็นอีกรุ่นที่ตอบโจทย์เลยก็ว่าได้

หรือกระทั่งเรื่องเสียงที่มีลำโพงคู่ด้านบน-ล่างตัวเครื่องที่เสียงดี แน่นเกินขนาดตัว และรองรับ Codec อย่างครบถ้วน ทั้ง SBC, AAC, aptX, aptX HD, LDAC, LC3 และ Opus ซึ่งพร้อมสำหรับการเชื่อมต่อหูฟังบลูทูทให้ได้รายละเอียดเสียงที่คมชัดได้แน่นอน

ที่จะให้เป็นข้อสังเกตอีกหน่อย ก็คือทุก ๆ แอปฯที่มีการใช้ AI เข้าช่วย เช่นการถอดเทปฯ จากเสียงอัดอัตโนมัติ จะได้แค่ภาษาอังกฤษและอีกบางภาษาเท่านั้น ยังไม่รองรับภาษาไทย แต่ Google Lens สามารถอ่านภาษาไทยได้ปกตินะ

ไหน ๆ พูดถึง AI แล้ว สิ่งที่ชิป Google Tensor ทำได้ดีมากก็เห็นจะเป็นเรื่องของ AI นี่แหละ เราน่าจะเห็นตัวอย่างชัดเจนที่สุดในแอปฯ Photos ที่สามารถแต่งภาพโดยใช้ AI เข้าช่วยได้เยอะ อย่างเช่น

  • การแนะนำการแต่งเพิ่มเติมว่าควรแต่งอะไร
  • Magic Eraser ที่สามารถเลือกลบคนในพื้นหลังให้ได้แบบอัตโนมัติ
  • Unblur ที่สามารถแก้การเบลอของภาพที่เราถ่ายแล้วอาจจะสั่นมาได้แบบอัตโนมัติ (เพิ่ม-ลดเองได้)
  • Portrait Blur ที่จะเปลี่ยนภาพถ่ายคนธรรมดาให้เป็นภาพ Portrait หน้าชัดหลังเบลอได้แบบอัตโนมัติ (เพิ่ม-ลดเองได้)
  • Color Focus ที่จะดันสีของพื้นหลังให้ค่อย ๆ หม่นลง (100 คือขาว-ดำ) เพื่อให้คนในภาพเด่นขึ้นมาก็ได้เช่นกัน

ฟีเจอร์เหล่านี้จะเป็นฟีเจอร์ Pixel-Exclusive คือเป็นส่วนที่ Google ทำขึ้นมาเพื่อใช้กับสมาร์ตโฟน Pixel โดยเฉพาะ และหลาย ๆ ฟีเจอร์ในนี้ คนหลายคนน่าจะได้ใช้แน่ ๆ แค่มีเวลาแต่งเล็กน้อย (หรือไม่ต้องก็ได้ เพราะ AI ก็ปรับค่าให้เองได้เหมือนกัน !)

โดยรวมแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าสมาร์ตโฟน Pixel จะให้ ‘ประสบการณ์’ หลาย ๆ อย่างที่สมาร์ตโฟนแบรนด์อื่นอาจจะให้ไม่ได้ ด้วยความเป็นซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้เน้นแต่งให้แตกต่าง แต่เน้นสร้างประสบการณ์มากกว่านั่นเอง

แต่ประสบการณ์หนึ่งที่มั่นใจได้แน่ ๆ คือมันร้อนง่ายเหลือเกิน (ฮา)

5G ที่หายไปจากสมาร์ตโฟน Pixel !?

เรื่องประหลาดที่สุดที่ผู้เขียนเจอ โดยเฉพาะที่ผู้เขียนได้ไปสิงกลุ่ม Google Pixel Thailand Club มาก็คือเรื่องของ 5G ในประเทศไทยที่หายไป ! ก่อนหน้านี้ถ้าเราใส่ซิม 5G ลงไปในสมาร์ตโฟน Google Pixel ก็จะเห็นว่าตัวเครื่องรองรับแค่ 4G เท่านั้น ! แต่หลังจากอัปเดตซอฟต์แวร์เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ตัวเครื่องก็ขึ้นว่ารองรับ 5G แล้ว

ซึ่งการรองรับ 5G ในประเทศไทยทำให้มีคนพูดถึงเรื่องนี้ในกลุ่มจำนวนมาก แต่นั่นก็นำไปสู่การถกเถียงกันว่า สรุปแล้วนี่คือ 5G แท้หรือเปล่า เพราะจากการทดสอบความเร็ว กลับไม่ได้เร็วเท่า 5G ในสมาร์ตโฟนรุ่นอื่น ๆ

จากการตรวจสอบของผู้เขียน และทางกองบรรณาธิการเรื่องการรองรับ 5G ใน Google Pixel ก็พบว่า ตัวเครื่องยังคงรองรับการเชื่อมต่อแค่ 4G อยู่ ไม่ว่าจะตรวจสอบด้วยแอปฯ ‘NetMonster’, ‘nPerf’ หรือดูใน Phone Info (ผ่านการกด *#*#4636#*#* ในโทรศัพท์) ก็จะบอกว่าเชื่อมต่อ LTE อยู่ สรุปนี่คือ 5G ปลอมเหรอ ?

โมเดลที่ผู้เขียนใช้ทดสอบนี้คือเครื่องที่ซื้อจากไต้หวัน (โมเดล GHL1X) ซึ่งเชื่อมต่อคลื่นความถี่ย่าน n41 (2500 – 2600MHz) อยู่ และพยายามเชื่อมต่อ 5G NSA (ใช้เสา 4G ให้ความเร็วไปถึง 5G) แต่เชื่อมต่อไม่ได้ ทำให้เชื่อมต่อได้แค่ 4G เท่านั้น จากความเห็นของผู้เขียนมองว่า เป็นไปได้ว่าตัวเครื่องยังไม่รองรับการเชื่อมต่อ 5G NSA จากคลื่น 2,500 MHz เพราะจากสมาร์ตโฟนหลักของผู้เขียน (Samsung Galaxy S22 Ultra) ก็สามารถเชื่อมต่อ 5G แบบ NSA และ SA จากคลื่น 2,500 MHz ได้ ทำให้ปัญหาน่าจะอยู่ที่ตัวเครื่องนั่นเอง เป็นไปได้ว่าอาจจะต้องรอการอัปเดตเพิ่มเติม เพื่อให้เครื่องรองรับคลื่นความถี่ย่านนี้ด้วย ถึงจะสามารถใช้งานได้

Disclosure : ขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ Google Pixel 7a ใช้ซอฟต์แวร์เป็น Android 13, Build Number TQ3A.230605.012 ฟีเจอร์ในตัวเครื่องอาจเพิ่มหรือลดได้ในอนาคต

แบตเตอรี่

และด้วยความที่ตัวเครื่องร้อนค่อนข้างง่าย และด้วยแบตเตอรี่ตัวเครื่องที่ให้มาแค่ 4385 mAh อาจจะคาดหวังอายุการใช้งานแบตเตอรี่ที่ดีมากไม่ได้ ซึ่งจากการใช้งานมา ถ้าชาร์จแบตเต็มที่ 100% เวลา 7.30 น. และใช้งานผ่าน 5G แบบไม่เล่นเกม แค่ทำงาน ถ่ายภาพ ไถโซเชียลยาวนานจนถึง 21.30 น. (13 ชั่วโมงครึ่ง) (Screen On Time 3 ชั่วโมง) แบตเตอรี่จะเหลืออยู่ที่ 30% ได้ ซึ่งเอาจริง ๆ สำหรับใครที่เป็น Power User และเปิดหน้าจอบ่อยกว่านี้ คงจะไม่พอแน่นอน แต่ถ้าเป็นคนทั่วไปที่ไม่ได้ใช้สมาร์ตโฟนบ่อย อาจจะพอจบวันไหวอยู่นะ จะติดก็แค่ ในเรตราคานี้แบรนด์อื่นเขาไปหลัก 5,000 mAh แล้วนี่แหละ ! ให้น้อยไป (ไม่) หน่อยแล้วนะ !

แต่ที่ไม่น่าจะไหวสำหรับปี 2023 นี้ คือเรื่องการชาร์จแบตเตอรี่ครับ เพราะตัวเครื่องรองรับการชาร์จแบตเตอรี่ได้เร็วที่สุดแค่ ‘18W’ ใช่ครับ 18 วัตต์ และต้องใช้หัวชาร์จเร็ว 30W ของทาง Google เองด้วย (ใช่ครับ ไม่แถมมาให้ มีแค่สายกับหัวแปลงเป็น USB-A เท่านั้น) โดยส่วนตัวของผู้เขียนใช้หัวชาร์จเร็ว 90W ของ Aukey อยู่ ก็ขึ้นว่า ‘Charging Rapidly’ อยู่ แต่บอกได้เลยว่ายังช้ากว่าหลาย ๆ สมาร์ตโฟนในเรตราคาเดียวกัน โดยเฉพาะแบรนด์ OPPO, vivo, OnePlus, Realme หรือ Xiaomi ที่ในราคานี้บางรุ่นสามารถชาร์จได้ถึง 100W แล้ว แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าเราชาร์จ Pixel 7a แบบข้ามคืนตอนหมดวันก็คงไม่ได้ทำให้เสียประสบการณ์การใช้งานมากนัก

สรุปส่งท้าย

แม้ Google Pixel 7a จะไม่ใช่สมาร์ตโฟนที่มีความเด่นในด้านการเล่นเกม ชาร์จก็อาจจะช้า หรือเครื่องร้อนง่าย แต่อย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า Google Pixel 7a และสมาร์ตโฟนตระกูล Pixel ทั้งหลาย จะให้ประสบการณ์การใช้งานที่แตกต่างกับสมาร์ตโฟนแบรนด์อื่น ๆ ในตลาดอยู่บ้างแน่นอน

โดย Google Pixel 7a ซึ่งเป็นสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ที่สุดของ Google ณ เวลาที่เขียนอยู่นี้ ก็จะเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่สร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่า ในประเทศไทยตอนนี้ สมาร์ตโฟนของ Google ยังไม่มีการนำเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ มีเพียงร้านรับหิ้ว และเดินทางไปซื้อต่างประเทศเองเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ตัวเครื่องสามารถซื้อได้ในราคาประมาณ 17,000 บาท

และเรื่องของประสบการณ์นี่แหละ ที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนถูกใจ และตัดสินใจซื้อ Google Pixel มาใช้เป็นสมาร์ตโฟนส่วนตัว แม้จะเป็นสมาร์ตโฟนที่ต้องหิ้ว, ยังไม่มี 5G แท้ ๆ ให้ใช้, หรือประกันที่คาดหวังได้ยากว่าจะยังมีประกันอยู่ แต่ผู้เขียนยืนยันได้เลยว่าเมื่อใช้งานแล้ว แม้จะเป็นสมาร์ตโฟนที่ราคาอยู่ในระดับกลาง แต่ใช้แล้วจะทำให้รู้สึกว่าเป็นสมาร์ตโฟนระดับเรือธงได้เลย !แม้ในราคา 17,000 บาทนี้อาจจะให้สมาร์ตโฟนที่ดีกว่าในด้านอื่น ๆ เช่นการเล่นเกม หรือแบตเตอรี่ที่ใช้ได้ยาวนานกว่า แต่ Google Pixel 7a รุ่นนี้จะให้ประสบการณ์ที่ดีพอที่ผู้เขียนจะอยากแนะนำให้กับคนที่อยากได้ สมาร์ตโฟนที่ใช้งานทั่วไป ทำงานได้ ถ่ายภาพดี อย่างแน่นอน

เรื่องน่ารู้ : ภาพประกอบที่ถ่าย Google Pixel 7a ในรีวิวนี้ (ยกเว้นอุปกรณ์ในกล่อง) ถ่ายจากกล้อง Hasselblad X2D 100C ที่แบไต๋จะมีรีวิวให้ดูต่อไปด้วยนะ ! ติดตามอ่านกันได้เลย