รีวิว Ricoh GRIII ชื่อนี้คือตำนานของกล้องเล็กคุณภาพโคตรเจ๋งที่พกติดตัวได้ทุกวัน
Our score
8.8

Ricoh GRIII

จุดเด่น

  1. นี่มันสัตว์ร้ายที่อยู่ในคราบกล้องจิ๋วชัดๆ คุณภาพภาพดีเกินขนาดตัวกล้องไปไกล ไฟล์คมกริบ ไล่โทนแสงได้ดี
  2. มีโทนสีภาพให้เลือก 10 แบบ ซึ่งเป็นโทนสีที่ใช้ได้จริง ไม่ใช่มีไว้ขำๆ โดยเฉพาะโทนขาว-ดำที่ดีมาก
  3. ระบบป้องกันภาพสั่นไหวทำงานได้ดี สามารถหวังผลได้มากขึ้นเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ แถมเลียนแบบการทำงานของ AA Filter ได้ด้วย พร้อมมีระบบสลัดฝุ่นหน้าเซ็นเซอร์แล้ว
  4. มีจอสัมผัสที่ทำงานได้ดี ลื่นติดมือ ใช้สะดวกทั้งการเลือกจุดโฟกัสและดูรูป ซูมดูภาพด้วย 2 นิ้วได้เหมือนสมาร์ตโฟนเลย และถ้าไม่ใช้จอสัมผัสก็สามารถสั่งการกล้องด้วยมือขวาข้างเดียวได้
  5. โฟกัสทำงานได้รวดเร็วขึ้นกว่ารุ่นเดิม

จุดสังเกต

  1. ติดตั้งเลนส์ไพร์ม 28 mm f/2.8 ทำให้ซูมด้วยเลนส์ไม่ได้ ซูมเท้าลูกเดียว
  2. ไม่มีแฟลชในตัวแล้ว ต้องใช้แฟลชนอกอย่างเดียว
  3. ฟังก์ชั่นถ่ายวิดีโอมีไว้แก้ขัด ยังเก่งสู้กล้องปัจจุบันไม่ได้
  4. แหวนหน้าเลนส์หลุดหายง่ายในล็อตแรก ๆ ผู้ใช้ต้องระวังตัวเป็นพิเศษ
  • คุณภาพภาพนิ่ง

    9.5

  • คุณภาพวิดีโอ

    7.0

  • การควบคุม

    9.0

  • การออกแบบตัวกล้อง

    9.5

  • ความคุ้มค่า

    9.0

ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้ Ricoh GR อยู่ยืนยงมายาวนานกว่า 20 ปี เราว่าคำตอบคือชื่อ “GR” ครับ แม้ไม่เคยรู้ชัดเจนว่า GR นั้นมีความหมายว่าอะไร? หรือย่อมาจากคำว่าอะไร? แต่สำหรับช่างภาพหรือคนที่เคยได้สัมผัส Ricoh GR มาก่อน ชื่อ GR นั้นมีเสน่ห์อย่างประหลาด เพราะ Ricoh ได้ตอกย้ำความเป็น GR ซ้ำๆ ผ่านกล้องอีกหลายรุ่น ว่า Ricoh GR คือกล้องเล็กคุณภาพสูง คืออาวุธขนาดแค่ใส่กระเป๋ากางเกงแต่พร้อมให้ช่างภาพสร้างสรรค์ผลงานชั้นเลิศมาตลอด 23 ปี (กล้องฟิล์มรุ่นแรกออกปี 1996) และนี่คือ Ricoh GRIII กล้องตัวล่าสุดจากตระกูลที่สร้างชื่อเสียงมานาน ซึ่งกลับมาพร้อมให้เราสนุกกับการถ่ายภาพได้อีกครั้งครับ

ถ่ายรูปหมู่รวมตระกูล GR จากหน้าคือ Ricoh GR III, GR II และตัวขอบแดงคือ Ricoh GR

Ricoh GRIII ถ่ายภาพสวยแค่ไหน?

  • Ricoh GRIII ถ่ายภาพได้สวยมาก โทนภาพดี คมกริบ เป็นลักษณะภาพที่แตกต่างจากการใช้สมาร์ตโฟนถ่ายอย่างแท้จริง
  • โทนภาพมีให้เลือกหลากหลาย ซึ่งเป็นโทนที่ใช้ได้จริง โดยเฉพาะโทนขาว-ดำที่มีเอกลักษณ์มาก
  • ฟีเจอร์สนับสนุนการถ่ายภาพมีหลากหลาย เช่นจำลองฟิลเตอร์ Anti-aliasing ได้ หรือมี ND Filter ในตัว
Ricoh GRIII 1/30s f/2.8 ISO800, Positive Film

แม้ว่าหน้าตาของ Ricoh GRIII จะเรียบมาก ดูเป็นกล้องคอมแพคเล็กๆ สีดำดูไม่มีพิษสงอะไร แต่ภายในนั้นบรรจุเซ็นเซอร์รับภาพความละเอียด 24 ล้านพิกเซล ขนาด APS-C ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์ขนาดเดียวกับกล้อง Mirrorless ระดับกลางในตลาดและมีขนาดใหญ่กว่าเซ็นเซอร์ของกล้องทั่วไป ตระกูล Sony RX100 หรือ Panasonic LX100 ก็ใช้เซ็นเซอร์ตัวเล็กกว่า GR หมดครับ

ส่วนเลนส์นั้นเป็น GR Lens f/2.8 มุมภาพเทียบเท่าระยะ 28 mmเหมือนเดิมแต่ปรับปรุงโครงสร้างเลนส์ใหม่ให้มี 4 กลุ่ม 6 ชิ้นเลนส์ ให้ภาพคมกริบยันขอบตั้งแต่ f/2.8 ยิ่งกว่าเดิม พร้อมระยะมาโครสั้นลงจาก 10 ซ.ม. เหลือแค่ 6 ซ.ม. เท่านั้น ทำให้ถ่ายวัตถุเล็กๆ ได้ใหญ่ขึ้น

Ricoh GRIII 1/200s f/3.5 ISO200, Positive Film
Ricoh GRIII, 1/320s, f/5, ISO 200, Vivid
Ricoh GRIII 1/640s, f/5.6, ISO 100, Vivid
Ricoh GRIII, 1/250s, f/2.8, ISO 200
Ricoh GRIII 1/250s, f/4, ISO 100
Ricoh GRIII 1/30s, f/2.8, ISO 3200, Normal Color
Ricoh GRIII 1/1600s, f/2.8, ISO 100, Hard B/W
Ricoh GRIII 1/30s, f/2.8, ISO 320, Hard B/W

ความคมของ Ricoh GRIII นั้นจัดว่าน่าทึ่งเลยสำหรับกล้องตัวเล็กๆ แบบนี้ จนรู้สึกว่าคมเกินไปสำหรับงาน Portrait ด้วยซ้ำ จุดสังเกตบนใบหน้านี่เห็นหมด ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเซ็นเซอร์เป็นแบบที่ไม่มีฟิลเตอร์ AA หรือ Anti-aliasing ด้วย ทำให้เก็บรายละเอียดภาพที่เล็กที่สุดออกมาได้ แต่กล้องที่ไม่มี AA Filter นี้จะมีปัญหาเวลาถ่ายวัตถุที่มีลวดลายละเอียดมากๆ เช่นลายผ้า หรือจอ LED บนเวทีจะเห็นลาย Moiré ชัดเจน แต่ Ricoh GRIII มีวิธีการแก้ไขเรื่องนี้ด้วยระบบป้องกันภาพสั่นไหวที่เซ็นเซอร์ ที่เมื่อเปิดโหมด AA Filter Simulator จะมีการสั่นเซ็นเซอร์เพื่อรับแสงในลักษณะเดียวกับฟิลเตอร์ AA และป้องกันการเกิด Moiré ขึ้นได้ แต่ความคมของภาพจะลดลงนิดหนึ่งนะ

เทสต์โหมด AA Filter Simulator สังเกตภาพ LED บนเวที

Ricoh GR3 เป็นกล้องตระกูล GR รุ่นแรกที่มีระบบ Shake Reduction ป้องกันภาพสั่นไหวแบบ 3 แกนที่เซ็นเซอร์ ซึ่ง Ricoh เคลมว่าสามารถชดเชยการสั่นไหวได้ 4 stop ทำให้เราสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ระดับ 1/10 หรือ 1/5 แล้วยืนนิ่งๆ อึดใจหนึ่งก็ยังได้ภาพที่คมชัดอยู่ นอกจากนี้ยังมาพร้อม ND Filter ในตัวที่ลดแสงได้ 2 Stop สำหรับใครที่ต้องการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ ในพื้นที่แสงเยอะ ก็ไม่ต้องหาฟิลเตอร์มาใส่หน้าเลนส์อีกครับ

Ricoh GRIII 0.3s, f/3.5, ISO 200 ไม่ใช้ขาตั้งกล้อง
Ricoh GRIII 0.3s, f/2.8, ISO 320 ไม่ใช้ขาตั้งกล้อง

นอกจากนี้ GRIII ยังใส่ระบบเขย่าหน้าเซ็นเซอร์เพื่อไล่ฝุ่นมาด้วย หลังจาก GR ตัวก่อนหน้านี้ผู้ใช้หลายคนบ่นว่าฝุ่นสามารถเข้าไปติดเซ็นเซอร์ได้ และจัดการยากมากเพราะมันไม่ใช่กล้องแบบเปลี่ยนเลนส์ได้ที่จะไขเลนส์ออกมาปัดฝุ่นหน้าเซ็นเซอร์ได้ ส่วนใหญ่ก็ต้องส่งศูนย์ทำความสะอาดให้

โทนสีทั้ง 10 ของ Ricoh GRIII

เสน่ห์ของ Ricoh GRIII คือโทนภาพที่ให้สีเป็นเอกลักษณ์ ผู้ใช้ GR ที่เข้าใจเอกลักษณ์ของโทนสีต่างๆ ก็สามารถจบภาพได้หลังกล้องแบบไม่ต้องถ่าย RAW มาแต่งต่อด้วยซ้ำ โดย Ricoh GRIII นั้นมีโทนภาพ 10 โทน และอีก 2 โทนที่ให้ผู้ใช้แต่งเองได้ (เรารีวิวจาก Firmware 1.10 นะ ในอนาคตอาจจะมีโทนเพิ่มขึ้นอีก) คือ

  • Standard โทนสีมาตรฐาน ให้สีสันเหมาะสม ไม่จัดเกินไป เหมาะสำหรับถ่ายภาพทั่วไป หรือภาพบุคคลเพราะให้สีผิวที่สวยงาม
  • Vivid โทนสีสดใส ให้สีสดขึ้น เหมาะสำหรับการถ่ายธรรมชาติ ทะเล ภูเขา ต้นไม้
  • Black/White โทนสีขาว-ดำมาตรฐาน เป็นภาพขาวดำที่เห็นทั่วไปจากการใช้กล้องดิจิตอล จะจืดๆ หน่อย
  • Soft Black/White โทนสีขาว-ดำที่ใส่ความฟุ้งเข้าไปในภาพ เหมาะสำหรับภาพคนขาว-ดำที่ต้องการให้ดูฟุ้งๆ
  • Hard Black/White โทนขาว-ดำตัวเทพที่ไม่ค่อยมีกล้องไหนมี ได้ภาพขาว-ดำเข้ม Contrast สูง สีผิวคนสว่าง ท้องฟ้าที่เป็นสีฟ้าจะกลายเป็นสีเข้ม พร้อมใส่ Grain ลงไปในภาพให้อารมณ์ภาพเหมือนถ่ายด้วยฟิล์ม ISO สูงๆ
  • Hi Black/White โทนขาว-ดำที่ให้ Contrast สูงที่สุด เหมาะสำหรับถ่ายวัตถุที่มีแสงตัดกันเยอะๆ
  • Positive โทนสีฟิล์มสไลด์ ให้ภาพสี Contrast สูง ให้ภาพโทนแดง เป็นอีกโทนที่คนใช้ GR ใช้กัน
  • Bleach Bypass โทนสีภาพคลาสสิก ชื่อนี้มาจากกระบวนการล้างฟิล์มแบบพิเศษที่ข้ามขั้นตอนการชะล้างฟิล์มออกไป ทำให้ผลึกเงินยังอยู่บนฟิล์ม ภาพที่ได้จึงเหมือนเป็นภาพขาว-ดำที่มีสี ภาพโดยรวมซีดลง อมเขียว
  • Retro โทนสีย้อนยุค เหมือนกล้องเก่า ฟิล์มเก่า
  • HDR โทนสี HDR ที่จำลองลักษณะภาพ HDR ที่ดึงรายละเอียดจากส่วนสว่างและมืดของภาพออกมา แต่เราไม่แนะนำให้เอาไปถ่ายคนนะ
  • (อัปเดต) ในเฟิร์มแวร์ตัวล่าสุดจะมี Negative เพิ่มขึ้นมา ซึ่งจะให้ภาพที่ Contrast ต่ำลง สีอมส้มนิด ๆ ถ่ายคนสวยเลย

ซึ่งโทนที่เราแนะนำให้จำให้ขึ้นใจว่าลักษณะภาพเป็นยังไง และสลับใช้กับสถานการณ์ที่เหมาะสมคือ Standard, Vivid, Hard Black/White และ Positive ครับ นี่คือเดอะเบสท์ของ GR เลย และทุกโทนสามารถปรับแต่งให้ถูกใจได้อีก เช่น เพิ่ม-ลด Contrast, ปรับ Hue ฯลฯ

เทียบ 4 โทนภาพขาว-ดำ

ในส่วนของ RAW File นั้นเราไม่ได้ทดสอบเยอะครับ เพราะคนเทสต์เป็นสาย JPEG จบหลังกล้อง (หรือเรียกอีกอย่างว่าสายขี้เกียจแต่งภาพ) จึงไม่ได้ถ่าย RAW มากนัก แต่ไฟล์ดิบของ Ricoh GRIII นั้นเป็นสกุล DNG แบบ 14-bit ครับ เก็บรายละเอียดภาพได้เยอะ ก็สามารถเอาเข้าไปแต่งต่อในโปรแกรมที่รองรับได้เลย

Ricoh GRIII ความไวแสงสูงสุด ISO 102400

ส่วนเรื่อง ISO ของ Ricoh GR3 รุ่นนี้สามารถปรับ ISO ได้ตั้งแต่ 100 – 102,400 ครับ ซึ่งเราว่าสามารถเลือกใช้ได้ถึง ISO 12800 ได้อย่างไม่ขัดเขินนัก คุณภาพภาพก็ยังดีอยู่มาก แต่ถ้าใช้ ISO ขึ้นไปแตะระดับ 51200 จะเห็น Noise ชัดเจนแล้ว ส่วนระดับสูงสุดที่ ISO 102400 ก็จะเห็นว่าสีสันของภาพดรอปลงไปด้วย ก็เอาไว้ใช้ในยามจำเป็นนะครับ

การถ่ายวิดีโอด้วย Ricoh GRIII

กล้องตระกูล Ricoh GR นั้นไม่เคยเน้นการถ่ายวิดีโอเลยนะครับ ฟังก์ชั่นวิดีโอในกล้องมีก็เหมือนเป็นฟังก์ชั่นเสริมเอาไว้ใช้แก้ขัดเท่านั้น แม้ว่าใน GRIII จะปรับปรุงความสามารถด้านการถ่ายวิดีโอไปเยอะ ทั้งระบบป้องกันภาพสั่นไหวที่ช่วยให้การถ่ายวิดีโอนิ่มจริงๆ หรือการใช้รูรับแสงที่กว้างขึ้น และปรับโทนภาพได้ แต่ GRIII ก็ยังสามารถถ่ายวิดีโอได้สูงสุดในระดับ 1080p 60 fps เท่านั้น ไม่ใช่ระดับ 4K ไม่สามารถต่อไมค์นอกได้ ใช้ได้เพียงไมค์หัวกล้องที่มี 2 ตัว L/R เท่านั้น และในโหมดวิดีโอยังไม่สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์หรือรูรับแสงได้อีกด้วย ต้องถ่ายในโหมด P เท่านั้น ซึ่งจากวิดีโอตัวอย่างจะเห็นว่าสีสันของวิดีโอและระบบป้องกันภาพสั่นไหวของ GR3 นั้นทำงานได้ดีเลย ไมค์ก็เก็บเสียงได้ชัดเจน แต่ความไวในการโฟกัสวิดีโอก็ยังต้องปรับปรุงอีกเยอะ เพราะตอนนี้ถ้าเดินถ่ายจะหลุดโฟกัสได้ง่ายมาก

ดีไซน์ของ Ricoh GRIII

  • ตัวเล็กลง พกพาง่ายกว่าเดิม แต่คงเอกลักษณ์การออกแบบของ GR ไว้
  • หน้าจอใหม่สว่างสดใส ทำงานได้นุ่มนวล
  • แต่ไม่มีแฟลชในตัวแล้ว เคืองตรงนี้ที่สุดแล้ว

Ricoh GRIII ยังคงเอกลักษณ์การออกแบบกล้องในตระกูลนี้ ชนิดที่ไม่ต้องมีตัว GR อยู่ด้านหน้าก็รู้ได้ทันทีว่านี่คือ Ricoh GR (แต่ถ้าจะดูว่าคือรุ่นอะไร ก็ต้องช่างสังเกตลักษณะประจำตัวของรุ่นนิดหนึ่ง อารมณ์เหมือนแฟนพันธุ์แท้) ซึ่งจุดเด่นของการออกแบบ Ricoh GRIII นั้นมีดังนี้ครับ

แป้นควบคุมด้านหลังของ Ricoh GRIII
  • ดีไซน์เป็นกล้องคอมแพคขนาดเล็ก สีดำเรียบไม่สะดุดตา หนักแค่ 257 กรัม เล็กพอที่จะใส่กระเป๋ากางเกงได้ โครงสร้างแข็งแรงทำจาก Magnesium alloy แต่ไม่กันน้ำนะ และอย่าให้ขนาดและความเรียบหลอกเรา ประสิทธิภาพมันใหญ่กว่าขนาดตัวเยอะ
  • ด้านขวาเป็นกริบมือจับขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับตัวกล้อง กริบตัวนี้เป็นดีไซน์เอกลักษณ์ของ GR มาทุกตัว ซึ่งปกติเราจะใช้นิ้วเกี่ยวกล้องตรงร่องระหว่างเลนส์นี้แหละเวลาถ่ายภาพ เวลาเกี่ยวกล้องออกจากกระเป๋าก็ง่าย
  • ด้านหลังเป็นปุ่มควบคุมกล้องที่ดีไซน์ให้สามารถควบคุมการทำงานได้แทบทุกอย่างด้วยมือเดียว ซึ่งก็เป็นเอกลักษณ์ของตระกูล GR ที่สั่งงานกล้องมือเดียวได้ แต่เนื่องจาก GRIII มีขนาดเครื่องสั้นกว่า GR และ GRII ปุ่มเหล่านี้จึงเข้ามาชิดขอบกล้องทางขวามากขึ้น คนมือใหญ่ๆ อาจจะต้องเกร็งนิ้วมากขึ้น
  • ปุ่มซัตเตอร์เป็นรูปเม็ดยา สัมผัสนุ่มนวล ดีไซน์เอกลักษณ์ของตระกูลนี้อีกแหละ
  • หน้าจอด้านหลังเป็นจอสัมผัสรุ่นแรกในตระกูล GR ขนาด 3 นิ้วเท่ารุ่นเดิม แต่ลดความละเอียดลงเหลือประมาณ 1 ล้านพิกเซลจากรุ่นเดิม 1.23 ล้านพิกเซล ทว่าหน้าจอกลับดีขึ้น สีสันของจอสดใสและปรับให้สว่างสู้แดดได้ ที่สำคัญคือภาพในจอนุ่มนวลขึ้น เพราะ Refresh Rate ของจอสูงขึ้นมาก
  • วงแหวนสีดำรอบเลนส์สามารถถอดเปลี่ยนเป็นสีอื่นได้เพื่อความเก๋ ตอนนี้มีให้หามาเปลี่ยนอีก 2 สีคือแหวนสีเทากับแหวนสีน้ำเงิน หรือใส่เลนส์เสริมเพื่อให้มุมภาพกว้างขึ้น
  • ในกล่องไม่มีแท่นชาร์จมาให้ มีแต่หัวชาร์จ 5V 1A กับสายชาร์จมาให้ โดยตัวกล้องมีพอร์ต USB-C ตัวเดียวในการชาร์ตและโอนข้อมูลด้วย
แป้นควบคุมด้านบนของ Ricoh GRIII

จุดสังเกตของดีไซน์ใหม่ของ Ricoh GRIII คือมันไม่มีแฟลชในตัวแล้วนะครับ ต้องต่อแฟลชนอกผ่าน Hot-shoe เท่านั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราเสียดายที่สุดในกล้องรุ่นใหม่ เพราะแม้ว่าเราจะไม่ได้ใช้แฟลชถ่ายรูปบ่อยๆ แต่ยามต้องใช้แฟลชแล้วไม่มีให้ใช้มันก็รู้สึกขาดๆ ครั้นจะไปซื้อแฟลชนอกมาเสียบ มันก็ทำให้ตัวกล้องใหญ่ขึ้นไปอีกครับ แม้จะเป็น Pentax AF201FG แฟลชตัวเล็กสุดของค่าย มันก็ยังแอบใหญ่ไปเมื่อเทียบกับขนาดตัวของ GRIII ครับ

แหวนสีน้ำเงินหล่อมาก

และสิ่งเล็กๆ ที่ Ricoh ควรต้องหาทางแก้ไขคือความแน่นของแหวนหน้าเลนส์ครับ กล้อง GRIII ที่เราได้มารีวิวนั้นเป็นกล้องล็อตแรกที่ผลิตเลย มีปัญหาว่าแหวนหน้าเลนส์มันหลวมไปหน่อย โดนอะไรนิดเดียวแหวนก็อาจจะหลุดหายไปได้ ที่รูปประกอบบทความเราใช้แหวนสีน้ำเงิน เพราะทำแหวนสีดำติดกล้องหายไปนี่แหละ!

ส่วนแหวนสีเทาเราซื้อมาเพิ่มในภายหลัง ร่วมกับแผนปิด Hot-Shoe โลหะเขียนว่า GR

การควบคุมกล้องของ Ricoh GRIII คล่องตัวขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัด

  • จอสัมผัสทำให้ควบคุมได้ง่ายขึ้น แตะโฟกัสง่าย ซูมรูปก็เร็ว
  • ปุ่มควบคุมต่างๆ ก็ยังสามารถสั่งงานได้จากมือเดียวเหมือนเดิม แถมมีวงแหวนหมุนด้านหลังเพิ่มด้วย
  • ปุ่มควบคุมส่วนใหญ่สามารถเปลี่ยนฟังก์ชั่นการทำงานได้ตามชอบใจ ยกเว้นบางฟังก์ชั่นที่เอาไปใส่ในปุ่มหรือเมนูลัดไม่ได้
หลังกล้องเรียบๆ ของ Ricoh GR III

เห็น Ricoh GRIII เป็นกล้องตัวเล็กๆ แบบนี้ แต่เรื่องการควบคุมนั้นไม่ธรรมดานะครับ อย่างที่เราเกริ่นไปแล้วว่าจุดเด่นของ GR นั้นคือสามารถควบคุมได้แทบจะสมบูรณ์ด้วยมือเดียว นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Ricoh GR จึงเป็นที่ถูกใจของช่างภาพสายสตรีทมาตลอด การควบคุม GR3 คร่าวๆ มีดังนี้

  • ในโหมด Manual วงแหวนด้านบนจะปรับรูรับแสง และก้านโยกด้านหลังจะปรับความเร็วชัตเตอร์ ส่วนโหมดอื่นๆ ก้านโยกจะใช้ปรับ ชดเชยแสงหรือค่า EV ซึ่งจุดนี้แตกต่างจาก GR ตัวก่อนๆ ที่จะมีปุ่มปรับ EV แยกต่างหาก ซึ่งหลังจากใช้จริงแล้วพบว่ายังใช้งานได้รวดเร็วเหมือนเดิม ไม่ต่างจากตอนมีปุ่มแยก
  • วงล้อเปลี่ยนโหมดกล้องด้านบนปรับจากรุ่นเดิมเยอะ ทำให้เรียบง่ายขึ้น มีแต่โหมดที่จำเป็นคือ P, Av, Tv, M และโหมดผู้ใช้ตั้งเองในชื่อ U1-3 แล้วตัดโหมด Auto ออก (ใช้โหมด P แทนนะ) ไม่มีโหมด TaV ด้วย (ใช้โหมด M พร้อม ISO Auto แทน) ตัดโหมดถ่ายวิดีโอออก ให้ไปเปลี่ยนโหมดวิดีโอจากปุ่มข้างกล้องแทน
  • การควบคุมกล้องแบบใหม่ที่ชอบมากคือวงแหวนด้านหลังบริเวณปุ่ม 4 ทิศทาง ที่ทำให้เลื่อนรูป เลื่อนเมนูต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถใช้หมุนเพื่อปรับโฟกัสในโหมด Manual Focus ได้ด้วย แม้ไม่ได้ดีเท่าปรับโฟกัสจากแหวนหน้าเลนส์เหมือนกล้องตัวใหญ่ แต่ก็ปรับได้ดีกว่า GR รุ่นก่อนๆ
  • โหมด Snap Focus ที่สายสตรีทชอบก็ยังอยู่ ในโหมดนี้เราสามารถกำหนดระยะโฟกัสไว้ก่อนได้ เช่นกำหนดให้โฟกัสที่ 2.5m เมื่อกดซัตเตอร์แบบเต็มแรงไม่ได้กดครึ่งหนึ่งเพื่อหาโฟกัสก่อน มันจะวิ่งไปโฟกัสภาพที่ระยะ 2.5m ทันที ทำให้ถ่ายภาพได้เลยโดยไม่ต้องรอกล้องหาโฟกัส ซึ่งโหมดนี้เราจะใช้ควบคู่กับ f-stop ที่เหมาะสมครับ เช่นตั้งเป็น f/4.0 หรือ f/5.6 เพื่อให้มีระยะชัดลึกที่ครอบคลุมวัตถุได้มากพอ หรือใช้ในยามแสงน้อยๆ ที่โฟกัสอัตโนมัติได้ช้า ก็ปรับระยะ Snap ให้เหมาะสม แล้วถ่ายเลย จะได้รูปที่หวังผลได้มากกว่า
  • ก้านโยกด้านบนยังใช้เข้าเมนูด่วน แค่กดลงไปครั้งหนึ่งก็จะเปิดเมนูเข้าถึงการปรับตั้งค่าได้ 5 อย่าง เช่น เปลี่ยนโทนภาพ, เลือกรูปแบบโฟกัส, ปรับชนิดไฟล์, ปรับความสว่างของจอหลัง ซึ่งสามารถเปลี่ยนการตั้งค่าให้เหมาะกับเราได้ด้วย เช่นเราไม่ค่อยเปลี่ยนรูปแบบการวัดแสง เราก็ปรับเมนูนี้เป็นปรับระยะ Snap Focus แทน
  • ปุ่มควบคุมแทบทุกปุ่มใน GRIII นั้นสามารถปรับได้จากเมนูว่าจะให้ทำหน้าที่อะไร ให้เหมาะสำหรับการใช้งานของแต่ละคน เช่นเราไม่ค่อยได้ใช้โหมดถ่ายวิดีโอ เราเลยปรับปุ่มเปลี่ยนโหมดวิดีโอด้านข้างกล้องเป็นปุ่มซูมภาพแบบ Crop แทน
  • แต่ที่ขัดใจนิดหนึ่งคือบางฟังก์ชั่นก็ไม่สามารถเซ็ตเข้าเมนูลัด หรือเซ็ตให้ปรับจากปุ่มต่างๆ ได้ เช่น AA Filter Simulator, Dynamic Range Correction, Noise Reduction ที่ต้องปรับผ่านเมนูหลักเท่านั้น ก็หวังว่า Firmware รุ่นถัดๆ ไปจะเพิ่มมาให้
เมนูของ Ricoh GR III ตัวทางซ้ายจะใหญ่กว่า GR II เพราะต้องออกแบบให้นิ้วกดได้ และจะเห็นว่าปุ่มของ GRIII จะอยู่ชิดกับขอบกล้องมากกว่า GRII ก็อาจจะต้องเกร็งนิ้วนิดหนึ่งสำหรับคนมือใหญ่

Ricoh GRIII เป็นกล้องตระกูลนี้รุ่นแรกที่มีจอสัมผัส ตอนแรกเราก็ไม่ได้ตื่นเต้นกับจอสัมผัสตัวนี้มากจนได้มาใช้จริง “มันดีมาก” คือเป็นจอสัมผัสที่ทำงานได้ลื่นไหลเหมือนจอสมาร์ตโฟน เวลาดูรูปก็สามารถปัดรูปได้ ใช้ 2 นิ้วซูมดูรูปได้ ใช้ปัดเลือกเมนูได้ ที่สำคัญคือเวลาถ่ายภาพก็สามารถแตะจอเพื่อโฟกัสได้เลย ซึ่งสามารถกำหนดรูปแบบการทำงานได้หลายแบบ ค่ามาตรฐานคือแตะเลือกจุดโฟกัสแล้วค่อยกดชัตเตอร์เพื่อให้กล้องโฟกัสและถ่าย แต่ก็สามารถปรับเป็นแตะแล้วโฟกัสเลย หรือแตะแล้วโฟกัสและถ่ายทันทีก็ได้ แล้วแต่ความต้องการครับ

ระบบโฟกัสของ Ricoh GRIII ก็ปรับปรุงจากรุ่นเดิมไปเยอะ ด้วยการเพิ่มระบบโฟกัสแบบ Phase Detect เข้าไปทำงานควบคู่กับ Contrast Detect ซึ่งก็ทำงานได้รวดเร็วขึ้นกว่ากล้องรุ่นเดิมมากจริงๆ โฟกัสเข้าเป้าได้เร็วและติดตามวัตถุได้ดีกว่ารุ่นเดิมเยอะ ซึ่งระบบโฟกัสนี้น่าจะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นผ่านการอัปเดต Firmware ในอนาคตด้วย เพราะตอน Firmware 1.00 เจ้า GRIII นั้นโฟกัสในที่แสงน้อยได้ช้ามากครับ แต่หลังจากอัปเป็น 1.10 แล้วก็ประสิทธิภาพดีขึ้นเยอะมาก

อายุแบตเตอรี่และการชาร์จไฟของ Ricoh GRIII

Ricoh GRIII ชาร์จไฟผ่านพอร์ต USB-C แต่ช่องพอร์ตนี้แกะยากมาก ต้องใช้เล็บจิกนิดหนึ่ง

อย่างที่หลายคนรู้กันว่า Ricoh GR3 นั้นมีสเปกถ่ายภาพได้แค่ 200 ภาพต่อการชาร์จ 1 ครั้งเท่านั้น เมื่อเทียบกับ GR2 ที่สามารถถ่ายได้ 320 ภาพต่อการชาร์จ 1 ครั้ง แม้ว่าทาง Ricoh จะเปลี่ยนไปใช้แบตเตอรี่ DB-110 ความจุ 1350 mAh ที่ความจุมากกว่าแบต DB-65 ความจุ 1250 mAh ของรุ่นเดิมก็ยังถ่ายรูปต่อการชาร์จ 1 ครั้งได้น้อยกว่าเดิม เหตุผลก็น่าจะมาจากระบบป้องกันภาพสั่นไหวที่เพิ่มขึ้น หรือหน้าจอสัมผัสพร้อมแสดงภาพเฟรมเรตสูง หรือระบบอื่นๆ ที่กินไฟมากกว่าเดิม

แล้ว Ricoh GRIII อึดพอที่จะถ่ายภาพทั้งวันไหม เราก็ไม่เคยใช้กล้องจนแบตหมดใน 1 วันตลอดช่วงการทดสอบนะครับ ก็พอจะตีความได้ว่าก็อึดพอสำหรับการใช้งานทั่วไปแหละ ซึ่งถ้าไม่ได้ใช้กล้องต่อเนื่องตลอดก็สามารถเอา Power Bank มาเสียบชาร์จกล้องได้เรื่อยๆ แต่ถ้าใครที่ต้องใช้กล้องเยอะๆ หรือต้องการความคล่องตัวระหว่างการใช้งาน ซื้อแบตเตอรี่เสริมอีกก้อนก็เป็นทางเลือกที่ดีครับ

แบตของ Ricoh GR III คือก้อนสีเงินทางขวา ที่มีความจุมากกว่าของ Ricoh GR สีดำทางซ้าย แต่รุ่นใหม่ดันถ่ายรูปได้น้อยกว่า

การเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟน ฟังก์ชั่นที่ต้องรอการพัฒนา

ตัวกล้อง Ricoh GRIII นั้นมาพร้อมกับความสามารถด้านการเชื่อมต่อทั้ง Wifi และ Bluetooth แต่ฟังก์ชั่นการเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนนั้นยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาครับ คือเมื่อตอนที่เราได้กล้องมาครั้งแรกใน firmware 1.00 ตอนนั้นยังไม่สามารถโอนภาพไปยังสมาร์ตโฟนได้ จนหลังอัปเดตเป็นรุ่น 1.10 ก็สามารถใช้แอป Image Sync ของ Ricoh เพื่อโอนภาพผ่าน Wifi ได้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถใช้เป็นรีโมทควบคุมกล้องจากมือถือได้ หรือโอนรูปอัตโนมัติผ่าน Bluetooth ก็ยังทำไม่ได้ ก็ต้องรอซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ต่อไปครับ

การโอนรูปจาก Ricoh GRIII มายังสมาร์ตโฟนนั้นก็ทำได้ง่ายดี แค่เปิด Wifi ที่กล้อง แล้วเอาสมาร์ตโฟนเชื่อมต่อกับ Wifi ที่กล้องปล่อยออกมา ใส่รหัสผ่านที่รู้จากกล้อง แล้วก็เปิด Image Sync เลือกโอนภาพได้เลย แต่ที่อยากให้ปรับปรุงอีกหน่อยคือน่าจะมีฟีเจอร์เลือกลดขนาดภาพที่โอนมา เพราะตอนนี้กล้องจะโอนรูปขนาดเต็มมาให้ ซึ่งรูปจาก GRIII นี่ใหญ่ระดับ 10 MB ต่อรูปขึ้นไปทั้งนั้นครับ ตอนนี้ก็โอนรูปมา อัปโหลดขึ้น facebook แล้วลบรูปทิ้งจากมือถือกันไปก่อนนะครับ

ส่วนถ้าใช้กล้องจนเมมเต็ม หรือลืมเสียบเมมให้กล้อง Ricoh GRIII มีอาวุธลับอยู่ที่ในตัวกล้องมีหน่วยจำความในตัวให้ถึง 2 GB! ซึ่งใหญ่มาก ก็น่าจะพอสำหรับการถ่ายภาพสักวันหนึ่งโดยไม่ต้องใส่เมมนะครับ

สรุป Ricoh GRIII กล้องคู่ใจที่ติดตัวได้เสมอ

GR Lens สุดคมพร้อมรูรับแสงกลมๆ

กล้องตระกูล Ricoh GR นั้นสร้างชื่ออย่างมาในฐานะกล้องชั้นเลิศสำหรับช่างภาพสาย Street จนบางทีเราอาจลืมไปว่ามันคือกล้อง Compact ตัวเล็กที่ใครๆ ก็ถือได้ ใครๆ ก็พกใส่กระเป๋าติดตัวไปทุกวันได้ Ricoh GRIII จึงเหมาะสำหรับคนที่รักการถ่ายภาพทุกคน ที่อยากมีกล้องชั้นเลิศติดตัวไปถ่ายรูปในชีวิตประจำวันเสมอ เหมือนที่ผู้เขียนทึ่งทุกครั้งเมื่อเมื่อดูรูปสมัย 4-5 ปีที่แล้วจาก Ricoh GR ตัวแรก ความทรงจำในชีวิตช่วงนั้นๆ ของเราก็ยังคงชัดเจนอยู่เสมอผ่านการบันทึกของ GR ครับ

Ricoh GRIII เปิดตัวมาด้วยราคา 32,990 บาท (ปัจจุบันขยับเป็น 36,990 บาทแล้ว) ซึ่งก็ไม่ใช่ราคาที่ทุกคนยอมจ่ายเพื่อกล้องตัวเล็กๆ แน่ครับ แล้วยิ่ง GRIII มีความอินดี้เฉพาะตัวหลายอย่าง ทั้งซูมไม่ได้ ถ่ายวิดีโอก็ไม่เก่ง แต่ถ้าคุณหลงไหลการถ่ายภาพนิ่ง หรือหลงไหลการบันทึกความทรงจำ นี่คือเครื่องมือที่ดีที่สุดตัวหนึ่งเลย

ตัวอย่างภาพถ่ายเพิ่มเติมจาก Ricoh GRIII

ถ่ายภาพต่อเนื่อง 4 ภาพต่อวินาที

ตัวอย่างภาพขาว-ดำ

Ricoh GRIII 1/500s, f/5.6
Ricoh GRIII 1/800s, f/5.6, ISO 100, Hard B/W