รีวิว RAZER ORNATA V2 คีย์บอร์ดลูกผสมปุ่มยางและ Mechanical สัมผัสแตกต่างพร้อมไฟ RGB จัดเต็ม
Our score
8.1

RAZER ORNATA V2 - 3,690 บาท

จุดเด่น

  1. แม้ปุ่มจะเป็นลูกผสมระหว่างเมคานิคัลกับปุ่มยาง (MECHA-MEMBRANE) แตสัมผัสก็ออกมาดีเลยนะ ตอนพิมพ์นุ่มตอนจุ่มมิดปุ่มแน่น
  2. ปุ่มคีย์ลัดคือดีว์ ~ (เพิ่มลดเสียงแบบวงล้อ, ย้อนกลับ - เล่น/หยุด - ไปข้างหน้า)
  3. ระยะห่างของแต่ละปุ่มส่งเสริมสุขภาพนิ้วให้สบายมือ

จุดสังเกต

  1. ปุ่ม Spacebar มีความรู้สึกโหวง ๆ เสียวมันจะหลุดออกจากแป้น (ฮ่า ๆ)
  2. สิ่งที่อัปเดตเข้ามาในรุ่นนี้มีไม่มากนัก
  • ดีไซน์

    8.0

  • สัมผัสการกดปุ่ม

    8.0

  • ฟีเจอร์ปุ่มพิเศษ

    8.5

  • ความคุ้มค่า

    8.0

ก็คงปฎิเสธไม่ได้ละนะครับว่าหากพูดถึงอุปกรณ์เกมมิง RAZER ก็น่าจะอยู่ในใจของใครหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะด้วยดีไซน์โฉบเฉี่ยวทันสมัยแทนใจคนเล่นเกมหรือแม้กระทั่งคุณภาพของตัววัสดุที่นำมาประกอบ โดยล่าสุดนี้ RAZER ก็เพิ่งจะวางจำหน่ายคีย์บอร์ด RAZER ORNATA V2 ที่นอกจากจะมีราคาจับต้องได้แล้ว ก็ยังเป็นการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ ของพวกเขาใส่ลงไปอีกด้วย ตามไปดูกันดีกว่าครับ ว่าจะมีอะไรที่เจ๋งและมีอะไรที่เป็นจุดสังเกตกันบ้าง

สิ่งที่เพิ่มเข้ามาใน RAZER ORNATA V2 เมื่อเทียบกับรุ่นแรก

  • ปุ่ม Media Keys และ Digital Wheel
  • เปลี่ยนองศาของร่องใส่สายข้างหลังคีย์บอร์ดให้ตัวสายเลี้ยงขึ้นมาเป็นแนวตั้ง
  • ในด้านซอฟต์แวร์ได้เพิ่มแพทเทิร์นการแสดงผลของไฟ RGB มาอีก 3 แบบ ได้แก่ Ambient Awareness (เปลี่ยนสีตามซอฟต์แวร์ที่กำลังเปิดอยู่), Audio Meter (แสดงแพทเทิร์นของไฟตามจังหวะเพลง) และ Wheel (แสดงผลแสงสีเป็นเหมือนวงล้อ)
“Wheel” แพทเทิร์นแสดงไฟ RGB แบบใหม่

Design

ดีไซน์ภายนอกของ RAZER ORNATA V2 จะค่อนข้างสะอาดตา มีบอดี้เป็นพลาสติกใช้สีครอบคลุมทั้งหมดเป็นดำด้าน ด้านหลังของคีย์บอร์ดมีร่องให้เราใช้เก็บสายได้ 3 ทาง โดยหากลองวางมือไปยังแป้นดู จะพบว่าระยะห่างนั้นถือว่าเป็นมิตรต่อมือของเราใช้ได้เลย ส่วนเมื่อทำการต่อไฟแน่นอนว่าคีย์บอร์ดก็จะทำการแสดงผลของไฟ RGB ที่อยู่ใต้แป้นพิมพ์ โดยหากใครสังเกตดี ๆ จะเห็นได้ว่าคีย์แคปจะมีทรงเตี้ยถูกยกสูงลอยขึ้นมา และถ้ามองเข้าไปอีกนิดเราจะเห็นว่าที่รองเหล่าปุ่มทั้งหลายเป็นยาง

อันนี้ไม่ต้องแปลกใจอะไรครับ เพราะเป็นมาตั้งแต่รุ่นแรกแล้วนะ โดยมันเทคโนโลยีของทาง RAZER ที่เรียกว่า Mecha-Membrane คือ พื้นรองแฟ้นพิมพ์จะเป็น Rubber-dome (ปุ่มโดมยาง) ส่วนตัวคีย์แคปจะมีกลไกคล้าย ๆ Mechanical ซึ่งสัมผัสที่ออกมา “ก็จะสบายนิ้วมีแรงเด้งสู้ที่เป็นธรรมชาติ มีระยะกดที่ลึก พร้อมกับได้เสียงคลิกเพลินหู ๆ สไตล์คีย์บอร์ดแบบ Mechanical” ซึ่งด้วยความที่เป็นเช่นนั้น เราเลยไม่สามารถนำปุ่มแบบสวิตช์ต่าง ๆ มาใส่ได้และตัวกล่องเองก็ไม่มีอะไหล่เสริมมาให้ต้องซื้อแยกเพิ่มเอง

Media Keys 3 ปุ่มแรกใช้ในการกลอไปข้างหน้า ย้อนกลับ หยุด/เล่น และปุ่มวงล้อ (Digital Wheel)ใช้ในการเพิ่มลดและปิดเสียง

และถ้าเขยิบตามองไปมุมขวาบนบริเวณ Numpad ก็จะพบกับปุ่มฟีเจอร์พิเศษที่รุ่นนี้ใส่เข้ามาซึ่ง โดยกลุ่มแรก จะไว้ใช้ในการกด ย้อนกลับ (Rewind), หยุด/เล่น (Play/Pause) และไปข้างหน้า (Fast Foward) โดยมีชื่อเรียกว่า Media Keys ส่วนปุ่มที่เป็นลูกกลิ้งซึ่งจะใช้ในการเพิ่ม/ลดหรือว่ามิวท์เสียงได้จะเรียกว่า Digital Wheel ซึ่งถามว่าปุ่มเหล่านี้มีแล้วดีไหม? ก็ต้องตอบแบบตรง ๆ ว่ามีดีกว่าไม่มีนั่นแหล่ะ ฮ่า ๆ เราสามารถใช้แทนที่เมาส์ได้ประมาณหนึ่ง นอกจากนี้ในกล่องยังจะมีที่รองข้อมือที่แถมมาให้โดยตัววัสดุเป็นพลาสติกแบบเดียวกัน แต่ด้านบนจะเป็นเหมือนหมอนหนังเทียมรองรับข้อมือให้การกดคีย์บอร์ดยังคงเพลิน ๆ แบบต่อเนื่อง

ชมมาก็เยอะละ จริง ๆ ก็มีข้อสังเกตอยู่นะ ซึ่งมันก็เป็นผลพวงมาจากการที่ปุ่มมาในรูปแบบของ Mecha-Membrane นั่นคือปุ่ม “Spacebar ที่ให้ความรู้สึกโหวง ๆ” คือถ้าถอดออกมาดู มันก็ดูแน่นดีแหล่ะครับ แต่ในแง่ความรู้สึกอันนี้ก็อดเสียวไม่ได้จริง ๆ ก็เอาเป็นว่าถ้าไม่ได้กดแรงเน้นอารมณ์มากก็ไม่มีปัญหาอะไรนะ ก็แนะนำให้เคาะในความแรงปกติละกัน

Performance

ถัดมาคือเรื่องของประสิทธิภาพการใช้ โดยเราจะว่ากันที่การใช้ปุ่มต่าง ๆ ในสถานการณ์จริงก่อนละกันครับ โดยหากนำไปใช้เล่นเกม การวางตำแหน่งของปุ่มทั้งหลายจะค่อนข้างส่งเสริมเกมแนว FPS (เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง) ปุ่ม Shift และ Ctrl จะมีความกว้างกว่าปกติ ในขณะที่เกมประเภทอื่น ๆ เองเราคงต้องดูกันที่ความรวดเร็วในการตอบสนองของปุ่ม ซึ่งก็ถือว่าทำออกมาได้มาตรฐานของ RAZER ส่วนหากพูดถึงการนำไปใช้งานด้านต่าง ๆ ก็ดีไม่ต่างกัน อย่างที่บอกว่าระยะห่างของปุ่มนั้นเกลี่ยมาได้ดีและตัวคีย์แคปเองที่มีทรงเตี้ยทำให้ไม่มีจังหวะที่เราต้องพยายามเอื้อมนิ้วไปกดปุ่ม

เรื่องถัดมาคือการตั้งค่าปุ่มลัดทั้งหลายผ่าน Razer Synapse ซอฟต์แวร์ขึ้นชื่อลือชาด้านความละเอียดที่สามารถตั้งค่าปุ่มต่าง ๆ ได้แบบเฉพาะเจาะจง ไล่ตั้งแต่ การตั้งค่าปุ่ม Macros, การเปลี่ยนคำสั่งของปุ่มต่าง ๆ ทั้งแบบ Global (ไม่ว่าจะอยู่ในซอฟต์แวร์หรือเกมไหนปุ่มนั้น ๆ จะมีฟังก์ชั่นเดียว) หรือจะเฉพาะกับแต่ละโปรแกรม

และคุณพระ “RGB” การตั้งค่าแสงสีถือได้ว่าทำได้รายละเอียดยิบ เราสามารถตั้งค่าปุ่มบนคีย์บอร์ดได้ทุกปุ่มว่าจะให้แสดงสีสันอะไรในแพทเทิร์นแบบไหน เช่น ซีกของตัวหนังสือปรับการแสดงผลสีแบบ Starlight ในขณะซีกของปุ่มฟังก์ชันใช้เป็น Fire ส่วนบริเวณ Numpad ใช้เป็น Spectrum Cycle เป็นต้น พูดง่าย ๆ เลยนะครับว่า “นี่คือซอฟต์แวร์ของอุปกรณ์เกมมิงที่เจ๋งมาก ๆ ตัวหนึ่งเลยนะ”

Conclusion

โดยภาพรวม RAZER ORNATA V2 เป็นอีกหนึ่งคีย์บอร์ดเกมมิงที่น่าสนใจนะครับ ให้ประสบการณ์แปลกใหม่ด้วยเทคโนโลยีการกดปุ่มแบบลูกผสมระหว่างปุ่มยางและ Mechanical ที่นุ่มสบายนิ้วแต่จุ่มได้ลึกและเสียงคลิกมันส์ ๆ , ดีไซน์ที่ดูเรียบหรูหมดยุคแล้วกับการโชว์เหลี่ยมมุมดุดัน และปิดท้ายด้วยซอฟต์แวร์ของทาง RAZER ที่รอให้คุณมาดัดแปลงปุ่มและแสงสีทั้งหลายที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวคุณได้แบบสุด ๆ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส