Our score
8.3Nikon D5500
จุดเด่น
- คุณภาพภาพดี เก็บรายละเอียดในภาพได้เยอะ
- มี Wifi ในตัว สามารถควบคุมกล้องและส่งภาพเข้ามือถือได้
- จอสัมผัสช่วยให้การทำงานหลายอย่างง่ายขึ้น
- แบตเตอรี่ทนมาก อยู่ได้นานอย่างไม่น่าเชื่อ
- โฟกัสแบบ 3D Tracking ติดตามวัตถุได้แม่นยำ รวดเร็ว
จุดสังเกต
- ข้อจำกัดเดิมๆ ของกล้องรุ่นเริ่มต้น ไม่มีวงแหวนควบคุมที่สอง ควบคุมแฟลชไร้สายไม่ได้ โฟกัสอัตโนมัติกับเลนส์เก่าๆ ไม่ได้
- ไม่มี GPS เหมือนอย่างใน D5300
- Buffer มีน้อย ถ่ายภาพรัวได้ไม่มาก
- จอสัมผัสยังทำงานอยู่ แม้ว่าจะใช้ช่องมองภาพอยู่
-
คุณภาพภาพถ่าย
9.0
-
คุณภาพงานประกอบ
9.0
-
คุณภาพวิดีโอ
8.0
-
การควบคุมกล้อง
7.5
-
ความคุ้มค่า
8.0
ช่วงนี้ถ้าใครติดตามข่าวไอทีในประเทศจากเว็บแบไต๋จะเห็นว่าภาพถ่ายประกอบข่าวสวยขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนะครับ เพราะทาง Nikon ส่งกล้อง D5500 พร้อมเลนส์ 18-140 และแฟลช Speedlight SB-500 มาให้ทดลองใช้อยู่ร่วมสัปดาห์ ทีมข่าว 3 คนของเราก็สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันใช้ จนเมื่อยามต้องคืนกล้อง ทั้งที่ใจไม่อยากคืนเลย จึงเขียนเป็นรีวิวให้อ่านกันครับ
D5500 กล้อง DSLR สำหรับผู้เริ่มต้น
ตอนนี้ Nikon มี DSLR สำหรับผู้เริ่มต้นอยู่ 2 รุ่นนะครับ คือรุ่นล่างสุด ราคาประหยัดที่สุดอย่าง D3300 และรุ่นเหนือขึ้นมาหน่อย (ภาษาอังกฤษเรียกว่า Upper-entry) คือ D5500 ตัวที่เราได้มารีวิว ก่อนที่จะข้ามไปรุ่นกลางอย่าง D7200 ที่ปรับการควบคุมกล้องให้ดีขึ้น รองรับเลนส์เก่าๆ และโครงสร้างบอดี้แข็งแรงทนทานกว่ารุ่นเริ่มต้นครับ (ซึ่งก็ใหญ่และหนักขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา)
จากข่าวเดิมที่เว็บแบไต๋เคยพูดถึงไปแล้วนะครับว่า D5500 นั้นไม่ได้ปรับปรุงคุณภาพภาพจาก D5300 มากนัก ข้อแตกต่างในเรื่องคุณภาพภาพที่เห็นได้ชัดหน่อยก็แค่ปรับ ISO สูงสุดเป็น 25,600 จากเดิมที่สูงสุด 12,800 แล้วเร่งไป 25,600 แต่จุดที่ D5500 เน้นคือเรื่องการควบคุมครับ ที่เพิ่มจอสัมผัสเข้าไป ทำให้สามารถควบคุมกล้องได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง แล้วก็เรื่องแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น ในขณะที่น้ำหนักกล้องลดลงจาก D5300 ไป 60 กรัม
- ความละเอียดสูงสุด 6000 x 4000 px (24 ล้านพิกเซล) สัดส่วนภาพ 3:2
- เซนเซอร์แบบ CMOS ขนาด APS-C (23.5 x 15.6 mm)
- หน่วยประมวลผล Expeed 4
- ISO 100 – 25,600
- 39 จุดโฟกัส
- จอ LCD แบบสัมผัสหมุนได้ ความละเอียด 1,037,000 พิกเซล
- ช่องมองภาพกำลังขยาย 0.82x
- ความเร็วซัตเตอร์สูงสุด 1/4000s ต่ำสุด 30s
- Flash X sync 1/200s
- ถ่ายต่อเนื่อง 5 ภาพต่อวินาที
- รองรับการถ่ายวิดีโอ 1080p 60 fps พร้อมโปรไฟล์สีแบบ Flat
- ถ่ายภาพได้ 820 ภาพต่อการชาร์จ 1 ครั้ง
- มี Wifi ในตัว
- ไม่มี GPS ในตัว (แต่รุ่น D5300 มี GPS ในตัว)
การควบคุมด้วยจอสัมผัส เปลี่ยนกล้องให้ใช้งานเหมือนสมาร์ทโฟน
จุดเด่นหลักของ D5500 คือมันเป็น DSLR รุ่นแรกที่นิคอนใส่จอสัมผัสเข้ามาครับ ซึ่งสำหรับคนที่ใช้งาน DSLR จนคล่อง สั่งงานด้วยแป้นหมุนกับปุ่มมานาน อาจคิดว่าจอสัมผัสนี้ไม่จำเป็นเท่าไหร่ แต่พอได้ลองใช้งานจริง จอสัมผัสที่ปรับหมุนได้นี้ช่วยให้การถ่ายรูปในหลายสถานการณ์ง่ายขึ้นเยอะครับ เช่นการถ่ายภาพมุมสูง ก็สามารถถือกล้องขึ้นเหนือหัว แล้วกดเลือกตำแหน่งโฟกัสพร้อมถ่ายภาพจากจอสัมผัสได้เลย หรือโฟกัสแบบติดตามวัตถุ (3D Tracking) ก็เลือกจุดที่จะโฟกัสง่ายๆ จากจอสัมผัส แล้วกล้องจะเกาะตำแหน่งโฟกัสนั้นไปเรื่อยๆ แม้ว่าวัตถุจะเคลื่อนที่ ทำให้มีโอกาสที่ได้ภาพคมชัดมากขึ้นครับ ซึ่งถ้าไม่มีจอสัมผัส การโฟกัสในโหมด Live View นี้จะยุ่งยากขึ้นอีกหน่อยครับ
https://vine.co/v/ebBLMIpUiPU
นอกจากเรื่องการถ่ายภาพแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถใช้จอสัมผัสในควบคุมกล้องได้ด้วย เช่นอยู่ในโหมด M ก็สามารถแตะจอเพื่อปรับรูรับแสงกับความเร็วซัตเตอร์ได้ (แม้ว่าใช้วงแหวนหลังจะปรับค่าพวกนี้ได้ไวอยู่แล้วก็เถอะ) แถมยังปรับการตั้งค่าของกล้องอื่นๆ ได้ เช่น ปรับ ISO, รูปแบบการโฟกัสอัตโนมัติ, ลักษณะการวัดแสง, ชดเชยแสงของกล้องหรือของแฟลช, ปรับ Picture Control, ปรับ White Balance ซึ่งการปรับผ่านจอสัมผัสได้ ก็เหมาะสำหรับกล้องที่ปุ่มควบคุมไม่ได้เยอะมากอย่าง D5500 นะครับ เพราะการควบคุมบางอย่างที่ไม่ได้เซ็ตปุ่มเฉพาะไว้ ผู้ใช้ก็สามารถปรับผ่านจอสัมผัสได้รวดเร็วพอสมควร
https://vine.co/v/ebB9YqQ0mvg
ส่วนในเรื่องของการดูภาพผ่านจอสัมผัส ก็ได้อารมณ์เหมือนการดูภาพในสมาร์ทโฟนครับ คือใช้นิ้วปัดเลื่อนรูปได้ ใช้ 2 นิ้วบีบเข้าเพื่อดูหลายๆ ภาพ หรือใช้ 2 นิ้วถ่างออกก็เป็นการซูมภาพ
https://vine.co/v/ebBLQQt7Bbm
คุณภาพภาพ ทำได้ดีสมราคา
คนที่ซื้อกล้อง DSLR แบบนี้ย่อมต้องการคุณภาพภาพที่ดีกว่ากล้องมือถือหรือกล้องคอมแพกอยู่แล้วใช่ไหมครับ ถึงแม้ว่าคุณภาพภาพจาก D5300 และ D5500 จะไม่ได้ต่างกันมาก แต่ก็ถือว่าภาพที่ได้จากกล้องนั้นมีคุณภาพดีมากครับ ด้วยเซนเซอร์ 24 ล้านพิกเซลที่ไม่มี Low-pass filter ทำให้ภาพคมที่สุดเท่าที่เลนส์จะทำได้ (ยิ่งเลนส์ดี ภาพยิ่งสวย อันนี้เป็นที่รู้กัน) แล้วถ้าใครที่ชอบถ่ายแบบ RAW ก็สามารถเลือกไฟล์ RAW ที่เก็บรายละเอียดได้สูงสุด 14 bit ทำให้ใช้โปรแกรมอย่าง Lightroom เวอร์ชั่น 6 ขึ้นไป ขุดรายละเอียดภาพที่อยู่ในโซนมืดได้มากมาย ถ่าย RAW ภาพเดียวเอามาทำ HDR ได้ง่ายๆ
นอกจากนี้เซนเซอร์ของ D5500 ยังให้ Noise น้อยพอที่จะไม่ต้องกังวลเวลาต้องดัน ISO ขึ้นไปสูงๆ ช่างภาพสามารถใช้งานที่ ISO 3200 ได้สบายๆ แถมโหมด Auto ISO ก็ฉลาดพอที่จะดันความเร็วซัตเตอร์ให้สูงขึ้นตามระยะซูมเลนส์ที่มากขึ้น (ตามกฏความเร็วซัตเตอร์ที่ถือกล้องถ่ายได้ต้องไม่ต่ำกว่า 1/ทางยาวเลนส์ เช่นใช้เลนส์ 18-140 แล้วซูมจนสุด ความเร็วซัตเตอร์ไม่ควรต่ำกว่า 1/ (140 x 1.5) หรือ 1/210s ครับ) แถมยังสามารถปรับความไวของ Auto ISO ให้เหมาะสมกับความนิ่งของมือช่างภาพได้ด้วย ทำให้ลดปัญหาภาพเบลอจากความเร็วซัตเตอร์ไม่พอ และลดความพะว้าพะวังของช่างภาพ ที่ต้องคอยปรับ ISO และความเร็วชัตเตอร์ให้เหมาะสมกับสภาพแสง
และในส่วนของเลนส์คิท 18-140 mm f/3.5-5.6 ที่เราได้มาทดสอบก็ให้คุณภาพภาพโอเคครับ เป็นเลนส์ที่ครบจบในตัวเดียว ทั้งช่วงเลนส์ที่กว้างพอ และซูมได้มากพอ เหมาะสำหรับใช้ในงานข่าวที่ต้องถ่ายรูปหมู่กว้างๆ และต้องซูมเจาะขึ้นไปบนเวที ถึงแม้ว่ารูรับแสงของเลนส์ชุดนี้จะไม่ได้กว้างแบบเลนส์เกรดโปรหนักๆ แต่ก็ชดเชยด้วยระบบป้องกันภาพสั่นไหวในเลนส์ครับ
SB-500 แฟลชตัวน้องราคาคุ้มค่า
ในชุดที่เราได้มาทดสอบในครั้งนี้มีแฟลช SB-500 ติดมาด้วยนะครับ ซึ่งถึงจะเป็นแฟลชรุ่นเล็กแต่ประสิทธิภาพก็เพียงพอสำหรับการทำงานแล้ว
จุดเด่นของแฟลชตัวนี้คือขนาดเล็กเมื่อเทียบกับรุ่นพี่อย่าง SB-700, SB-900 ครับ ทำให้พกพาง่ายกว่า ใช้ถ่าน AA แค่ 2 ก้อน ก็ทำให้น้ำหนักเบาลงไปเยอะ เหมาะมากสำหรับงานที่ต้องการความคล่องตัว แต่ถึงตัวเล็กความสามารถพื้นฐานก็ยังครบ ผู้ใช้สามารถปรับทิศทางของหัวแฟลชให้ยิงขึ้นเพดาน หรือบิดซ้ายบิดขวาก็ยังได้นะครับ
ในแง่ของประสิทธิภาพ SB-500 มี Guide Number ที่ 24 m/ISO 100 แสงแฟลชครอบคลุมความกว้างของเลนส์ 24 mm ในแบบ Fullframe และ 16 mm ในแบบ APS-C ซึ่งถ้าเลนส์กว้างมากๆ ระดับ Ultra Wide ก็จะมีปัญหาแสงแฟลชไม่ครอบคลุม และ SB-500 นั้นไม่สามารถซูมหัวแฟลชได้ ทำให้มันไม่สามารถบีมรวมแสงไปยังจุดเดียวเวลาซูมภาพเหมือนแฟลชรุ่นใหญ่ ทำให้เวลาต้องถ่ายวัตถุที่อยู่ใกล้มากๆ แสงแฟลชอาจจะยิงไม่ถึงได้ครับ
จากที่ลองใช้ในงานข่าว เมื่อต้องถ่ายบุคคลที่อยู่บนเวทีที่อยู่ไกลพอสมควร SB-500 ก็ยังทำงานได้ดี ให้แสงที่เหมาะสมกับการถ่าย แต่ที่อาจเป็นปัญหาบ้างคือ Cycle ของ SB-500 ที่ไม่สามารถยิงติดกันได้ ต้องใช้เวลาชาร์จแฟลชอึดใจหนึ่ง ใครที่ใช้แฟลชรุ่นนี้ก็ต้องจำข้อจำกัดเรื่องนี้ไว้ให้ดีนะครับ
แต่สิ่งที่ดีงามของ SB-500 คือมันมีไฟ LED อยู่ด้านหน้าครับ ใช้สำหรับการถ่ายวิดีโอหรือการจัดแสงเล็กๆ ที่ไม่ต้องการไฟแรงระดับแฟลช แต่ต้องการแสงที่สาดออกมาอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้สามารถเลือกระดับความแรงได้ 3 ระดับ ซึ่งความสามารถนี้แฟลชรุ่นใหญ่อย่าง SB-700, SB-900 ยังไม่มี นอกจากนี้ SB-500 ยังสามารถทำงานได้ระบบ Nikon Creative Light System หรือ CLS ได้อย่างสมบูรณ์ เป็นได้ทั้งตัว Slave และ Commander เอาไว้สั่งงานแฟลชตัวอื่นๆ ให้ทำงานแบบไร้สายได้ ซึ่งเป็นความสามารถที่จำเป็นสำหรับ D5500 เพราะ Nikon กั้กไม่ให้ DSLR สำหรับผู้เริ่มต้นมีความสามารถในการสั่งงานแฟลชไร้สายได้ครับ ต้องซื้อระดับ D7200 ขึ้นไปถึงจะไม่ต้องใช้แฟลชแยกในการสั่งงาน เมื่อเทียบประสิทธิภาพกับราคา 9200 บาท ก็จัดว่าคุ้มค่าอยู่นะครับ
จุดอ่อนของ D5500
จากการใช้งานมาราวๆ 2 สัปดาห์ D5500 ก็มีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่บ้างนะครับ เริ่มจากเรื่องพื้นฐานที่เป็นจุดอ่อนจากการเป็นกล้องระดับผู้เริ่มต้นก่อน ตั้งแต่บอดี้กล้องขนาดเล็ก มีวงแหวนควบคุมแค่วงเดียว ทำให้ควบคุมกล้องได้ช้ากว่ารุ่นที่มี 2 วง รวมถึงไม่รองรับ Autofocus ในเลนส์รุ่นเก่าที่ต้องใช้มอเตอร์ในตัวกล้อง และไม่สามารถใช้แฟลชหัวกล้องทำงานในโหมด Commander เพื่อสั่งงานแฟลชแบบไร้สายได้ สำหรับใครที่มีปัญหาในส่วนนี้ก็ต้องขยับไปเล่นกล้องรุ่นใหญ่อย่าง D7200 ขึ้นไปนะครับ Nikon คงไม่เสริมความสามารถเหล่านี้ให้กล้องระดับผู้เริ่มต้น แม้ว่าจะเป็นรุ่นถัดไปก็ตาม
ส่วนจุดอ่อนของ D5500 จริงๆ เท่าที่พบก็เป็นเรื่องของการสั่งงานจอสัมผัส ที่แม้เวลาใช้งาน Viewfinder จนจอดับไป แต่ระบบสัมผัสก็ยังทำงานทำให้หลายครั้งเวลาจมูกไปโดนจอ กล้องก็จะปรับ ISO เอง ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้อาจจะเป็นฟีเจอร์ก็ได้ที่นิคอนต้องการให้ผู้ใช้ปรับ ISO ง่ายๆ เวลาที่ใช้ Viewfinder แต่เวลาใช้งานจริงกลับทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ นอกจากนี้ก็เป็นเรื่อง Buffer เวลาถ่ายภาพรัวๆ ที่เต็มเร็ว รัวได้ไม่เท่าไหร่ความเร็วก็ลดแล้ว