Our score
8.7B&O Beoplay EQ
จุดเด่น
- ให้เสียงละเมียดละไม กลมกล่อม ฟังเพลิน ฟังได้นาน
- เคสชาร์จมีขนาดเล็ก วัสดุเป็นอลูมิเนียมหรูหรา
- รองรับ aptX Adaptive ทำให้ใช้กับมือถือ Android รุ่นใหม่ๆ ได้ดี
- ใช้งานข้างเดียวได้ ใช้ข้างไหนก็ได้ สะดวกเวลาเอามาใช้คุยโทรศัพท์
จุดสังเกต
- เฟิร์มแวร์และแอปยังต้องปรับปรุงอีกเยอะ ทั้งถอดหูฟังเพลงไม่หยุดเอง, เปลี่ยนโหมดตัดเสียงจากในแอปไม่ได้, เปลี่ยนรูปแบบการสัมผัสควบคุมหูฟังไม่ได้
- เรียกใช้ Google Assistant หรือ Siri จากหูฟังไม่ได้
- การควบคุมแบบสัมผัส ลั่นง่ายเมื่อเอามือไปปรับการใส่หูฟัง แค่จับๆ หมุนๆ หูฟังในหูก็อาจจะสั่งงานได้
- ระบบตัดเสียงรบกวนมีความสามารถในระดับกลาง ไม่ได้เงียบลงมาก
- ราคาสูงกว่าหูฟัง TWS ตัวท็อปของค่ายอื่นๆ
-
คุณภาพเสียง
9.0
-
คุณภาพวัสดุ
9.5
-
ความคล่องตัวในการใช้
10.0
-
ความสามารถในการคุยโทรศัพท์
8.5
-
ความคุ้มค่า
6.5
เมื่อ Bang & Olufsen แบรนด์เครื่องเสียงสุดหรูจากเดนมาร์ก ปล่อย B&O Beoplay EQ หูฟัง True Wireless รุ่นใหม่ที่มาพร้อมระบบตัดเสียงรบกวนหรือ ANC เป็นรุ่นแรกของแบรนด์ #beartai ก็ไม่พลาดจับมารีวิวพร้อมเทียบรุ่นอื่นๆ ในระดับใกล้เคียงกันให้ดูครับ
เนื้อหาในรีวิว
ดีไซน์ตัวหูฟัง
B&O EQ ถือเป็นหูฟังที่ดีไซน์เคสได้เล็กเหลือเชื่อครับ คือขนาดตัวหูฟังนั้นก็เป็นหูฟังขนาดกลางๆ ไม่ได้เล็กมากแบบ AirPods แต่สามารถทำเคสได้เล็กกว่าเพื่อนเลย เป็นเคสที่แทบจะกำมิดในมือเดียว ทำให้สามารถพกพาออกไปใช้นอกบ้านได้ง่ายมากๆ ซึ่งวัสดุของเคสก็เป็นโลหะ Anodised Aluminium ซึ่งแข็งแรงทนทาน และให้สัมผัสที่พรีเมียมกว่าหูฟังรุ่นอื่นๆ
หูฟังรุ่นนี้มีให้เลือก 2 สี คือ Sand ที่เรารีวิววันนี้ ก็เป็นสีของทรายแบบทองๆ ครีมๆ ที่สวยงามเลย ส่วนอีกสีคือ Black สีเทาดำเข้มครับ
ตัวหูฟังนั้นดีไซน์ไม่แตกต่างจากหูฟังแบบ TWS ทั่วไปมากนักครับ ตัวหูฟังเป็นพลาสติก ส่วนแป้นสัมผัสด้านนอกเป็นโลหะพร้อมโลโก้ B&O ก็จัดว่าให้การสวมใส่ที่สบายครับ ถ้าหูไม่เล็กเกินไปจนใบหูชนกับตัวหูฟังมากนักก็จะใส่ได้ยาวๆ หลายชั่วโมง เพียงแต่ว่าน้ำหนักถ่วงของหูฟังจะอยู่ที่ตัวก้อนใหญ่ๆ ทำให้ถ้าเราใส่จุกยางที่ไม่เหมาะสม หรือไม่เกาะหูเราก็อาจจะทำให้หูฟังเลื่อนหลุดออกมาได้เมื่อใช้งานไปสักพักครับ
โดย B&O EQ มีจุกหูฟัง 5 คู่มาให้ในกล่อง เป็นจุกซิลิโคนที่สีเข้าคู่กับตัวหูฟัง 4 คู่ในขนาด XS, S, M, L และจุกโฟมที่เรียกว่า Comply tips ขนาด M อีก 1 คู่ ซึ่งผู้ใช้แต่คนก็จะเหมาะกับจุกหูฟังที่แตกต่างกันไป อย่างผู้เขียนปกติหูฟังรุ่นอื่น ๆ จะใช้จุกซิลิโคนขนาด M แต่จุกซิลิโคนของ B&O ใส่แล้วลื่นเกินไปเมื่ออยู่ในหู เลยเปลี่ยนมาใช้จุกโฟมแทน ก็ให้การยึดเกาะกับหูที่ดีกว่าจุกซิลิโคน แถมจุกโฟมนี้นุ่มมากครับ ใส่แล้วไม่เจ็บหูเหมือนจุกโฟมหลายๆ ตัวที่เคยใส่มา แถมทิปสำหรับการใส่จุกโฟมนิดหนึ่ง คือการใส่ให้กระชับ เราต้องบีบจุกโฟมให้ขนาดเล็กลงก่อนใส่เข้าไปในหูนะครับ ให้มันไปคลายตัวในหู จุกโฟมจะเข้าลึกขึ้น และอยู่แน่นหนาในหูมากขึ้น
แต่จุกโฟม Comply นี้ใหญ่ไปสักหน่อยเวลาเก็บในเคสชาร์จครับ จุกโฟมจะไปดัน ๆ ขอบเคสจนเราต้องมองดี ๆ เวลาเก็บหูฟังว่าเข้าล็อกแม่เหล็กดีแล้วหรือยังครับ ซึ่งถ้าใช้จุกซิลิโคน ก็จะเก็บง่ายกว่า เข้าล็อกแม่เหล็กง่ายกว่า
การใช้งานหูฟัง
การเชื่อมต่อ B&O Beoplay EQ นั้นจะต้องเอาหูฟังออกมาจากเคสก่อนนะครับ ถึงจะเริ่มเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟน ไม่ใช่ระบบแค่เปิดฝาเคสก็เริ่มเชื่อมต่อเหมือนหูฟังไร้สายบางรุ่น ซึ่งทำให้การเชื่อมต่อเกิดขึ้นช้านิดหนึ่ง แต่หูฟังรุ่นนี้สามารถใช้งานแค่ข้างเดียวได้ ข้างไหนก็ได้ ไม่ได้เป็นแบบ Master/Slave เหมือนหูฟังบางรุ่นที่จะต้องใช้หู Master เป็นหลักเท่านั้น เอาหูข้างที่เป็น Slave มาใช้ช้างเดียวไม่ได้
B&O EQ นั้นควบคุมด้วยระบบสัมผัสนะครับ โดยมีรูปแบบการควบคุมดังนี้
การสั่งงาน | ใช้งานฟังเพลง | ใช้งานโทรศัพท์ |
---|---|---|
แตะ 2 ครั้งที่หูขวา | เล่นเพลง/หยุดเพลง | รับสาย/วางสาย |
แตะ 2 ครั้งแล้วค้างที่หูขวา | เร่งเสียง | – |
แตะ 2 ครั้งที่หูซ้าย | เปลี่ยนโหมดตัดเสียง | เปลี่ยนโหมด Own Voice |
แตะ 2 ครั้งแล้วค้างที่หูซ้าย | ลดเสียง | – |
การสั่งงานด้วยระบบสัมผัสนี้ก็แม่นยำดีครับ เพราะพื้นที่สั่งงานที่ตัวหูฟังนั้นค่อนข้างใหญ่เลย แตะยังไงก็โดน เพียงแต่ว่าหูฟังจะไม่พูดว่าเปลี่ยนโหมดเป็นอะไรนะครับ จะมีเสียงสัญญาณบอกให้เราจำเอาว่าเสียงนี้คือโหมดอะไร และจะมีปัญหานิดหน่อยเวลาขยับหูฟังให้เข้าที่เข้าทางในหู มันก็มีโอกาสที่นิ้วจะเฉียดไปโดนแป้นโลหะจนเป็นการสั่งงานหูฟังไป คือพื้นที่สั่งงานมันใหญ่ไปจนแม้เราจะจับที่ขอบหูฟัง แต่ก็มีโอกาสที่นิ้วเราจะไปโดนแผ่นโลหะจนสั่งงานอยู่ดี ก็ต้องใช้ความคุ้นเคยนิดหนึ่งในจุดนี้ครับ นอกจากนี้การควบคุมเหล่านี้ยังปรับเปลี่ยนไม่ได้นะครับ ตัวแอปไม่มีตัวเลือกเปลี่ยนคำสั่งการแตะเป็นอื่นๆ และยังไม่มีปุ่มลัดสำหรับเรียกใช้งานผู้ช่วยอัจฉริยะอย่าง Siri หรือ Google Assistant ครับ
ในเฟิร์มแวร์ 5.2.7 ที่เราได้มาทดสอบนี้ตัว B&O EQ ยังไม่สามารถหยุดเพลงเองได้เมื่อถอดหูฟังออกจากหูนะครับ เพียงแค่หยุดส่งเสียงในหูฟังข้างที่ถอดออกจากหูเท่านั้น ก็ต้องรออัปเดตจากทาง B&O ต่อไปครับ
ส่วนการควบคุมในสมาร์ตโฟนผ่านแอป B&O เวอร์ชัน 3.16 ที่เราทดสอบนี้ รูปแบบการควบคุมหูฟังยังมีไม่เยอะนักครับ คือ
- ดูแบตเตอรี่ของหูฟังทั้ง 2 ข้างและเคสได้
- ปรับ EQ ได้ แต่ไม่ได้ปรับแบบ 5-band, 10-band นะครับ เลือกเอาตาม Preset หรือหมุนๆ ในวงกลมเอา
- เปิด-ปิดการใช้งาน Adaptive ANC ซึ่งถ้าเปิดใช้โหมดนี้ แล้วหูฟังเราอยู่ในโหมดตัดเสียงรบกวน Active Noise Cancelling หูฟังจะตรวจจับเสียงรอบตัวแล้วปรับการทำงานของระบบตัดเสียงรบกวนให้อัตโนมัติ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเปลี่ยนโหมดตัดเสียง ANC <-> Off <-> Transparency ได้จากแอปนะครับ ต้องกดเปลี่ยนโหมดจากหูฟังเท่านั้นในตอนนี้ครับ
- เปิดโหมด Automatic Standby ได้
- ใช้อัปเดตเฟิร์มแวร์ของหูฟัง
ซึ่งในอนาคตก็น่าจะมีการอัปเดตเฟิร์มแวร์และตัวแอปเพื่อเสริมฟังก์ชันการใช้งานให้ครอบคลุมมากขึ้นครับ
ส่วนการเชื่อมต่อหูฟังใหม่ (Pairing) ของ B&O EQ จะแปลกกว่ารุ่นอื่นๆ นิดหน่อย คือหลังจากเปิดเคสแล้วให้รอจนไฟที่เคสดับ แล้วแตะที่แป้นโลหะของหูฟัง 2 ข้างพร้อมกันจนเคสขึ้นไฟสีน้ำเงิน ถึงจะเริ่มเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ใหม่ได้ครับ ซึ่งหูฟังรุ่นนี้สามารถเชื่อมกับอุปกรณ์ได้แค่ครั้งละ 1 ตัวนะครับ ไม่มีความสามารถ Multipoint เชื่อม 2 อุปกรณ์ได้พร้อมกัน
คุณภาพเสียง
สเปกด้านเสียงของ B&O Beoplay EQ นั้นน่าสนใจครับ ทาง Bang & Olufsen ก็อัดเทคโนโลยีล่าสุดที่มีตอนนี้ลงไปในหูฟังไร้สายรุ่นนี้เลย
- ไดรเวอร์แบบ Electro-dynamic ขนาด 6.8 mm
- รองรับความถี่ 20 – 20,000 Hz
- รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth 5.2
- รองรับ Codec เสียง: SBC, AAC, aptX Adaptive
ไฮไลต์ของสเปกคือการรองรับ Codec เสียงตัวใหม่อย่าง aptX Adaptive พร้อมรองรับย้อนกลับไปที่ aptX รุ่นมาตรฐานด้วย ถ้าเราใช้กับสมาร์ตโฟน Android รุ่นใหม่ๆ ที่รองรับ aptX Adaptive ก็จะให้คุณภาพเสียงดีที่สุด และใช้อัตราการส่งข้อมูลน้อยลงด้วย ทำให้มีโอกาสเกิดเสียงกระตุกในย่านที่มีคลื่นไร้สายหนาแน่นอย่างในห้างสรรพสินค้าได้ ส่วน iPhone ก็ใช้ AAC ตามปกติครับ
ซึ่งลักษณะเสียงของ B&O Beoplay EQ จะกลมๆ มนๆ ละมุนละไม ไม่กระแทกกระทั้น ฟังได้นาน ๆ ไม่ล้าหู
- เสียงเบส: ลูกกลาง ๆ ไม่หนา มีแรงกระแทกพอประมาณ แต่รายละเอียดในเบสดี
- เสียงกลาง-แหลม: ให้รายละเอียดดี เสียงร้องหวาน แหลมสดใส แต่ไม่ถึงระดับเป็นประกาย ปลายเสียงทู่นิดหน่อย
- Soundstage: โปร่งกว้าง ไม่อึดอัด
การจะรีวิวเสียงของ B&O EQ นั้นค่อนข้างยากนิดหนึ่งครับ คือเสียงในช่วงแรกหลังจากได้รับหูฟังมาจะค่อนข้างจืดเลย เป็นเสียง Flat ที่เรียบสนิท เมื่อใช้ไปสักพักให้หูฟังได้เบิร์นตัวเอง เสียงเบสก็เริ่มมามากขึ้น แม้ว่าจะไม่ใช่หูฟังที่เน้นด้านเบส แต่ในจังหวะที่เพลงต้องการเบส หูฟังรุ่นนี้ก็สามารถขับได้ในระดับที่เพลงกลมกล่อม อย่างเพลง Begin (feat. Wales) ของ shallou ที่ดำเนินไปด้วยเบส ก็สามารถบรรเลงได้อย่างมีอรรถรส หรือเพลง See you in Life ของ Valentina Ploy ก็ให้เสียงร้องได้หวานไพเราะ
ความสามารถในการตัดเสียงรบกวน
B&O EQ เป็นหูฟัง True Wireless รุ่นแรกจาก Bang & Olufsen ที่มีความสามารถ ANC หรือการตัดเสียงรบกวนแบบ Active ซึ่งก็ตัดได้ดีในระดับหนึ่งครับ สามารถจัดการเสียงรบกวนต่ำ ๆ พวกเสียงลม เสียงหึ่ม เสียงฮัมต่าง ๆ ออกไปได้ แต่เสียงพูดนี่ตัดออกไปได้น้อยหน่อย ก็เป็นระดับที่แตกต่างจากเบอร์ต้นในตลาดอย่าง Sony WF-1000XM4 หรือ Devialet Gemini ที่ตัดเสียงภายนอกได้หมดจดกว่าครับ
ส่วนการดึงเสียงภายนอกหรือโหมด Transparency ก็ทำได้ใกล้เคียงกับเสียงที่ได้ยิน แยกทิศทางเสียงได้ เพียงแต่จะไม่ได้ใสเท่าเสียงที่ได้ยินผ่านหูจริง ๆ ครับ ซึ่งความใสนี้ยังสู้โหมด Transparency ของ Devialet Gemini ไม่ได้ครับ ที่แทบจะเหมือนไม่ใส่หูฟังเลย
ความแลคของเสียง
หูฟัง True Wireless สมัยใหม่เวลาดูวิดีโอจาก Netflix หรือ Youtube เสียงจะไม่มีแลคหรือดีเลย์แล้วนะครับ เพราะสามารถซิงก์บัฟเฟอร์จนเสียงพูดออกมาตรงกับปากทั้งหมด เพราะฉะนั้นเรื่องความแลคของเสียงเราจึงไปวัดกันที่เกมหรือแอปที่ให้เสียงแบบ Real-time ที่ไม่มีการบัฟเฟอร์ครับ ซึ่งเราทดสอบความแล็กด้วยแอป Earbuds Delay Test บน OPPO Reno6 Pro ที่เชื่อมต่อระบบเสียงด้วย aptX Adaptive ก็วัดความดีเลย์ของเสียงได้รา วๆ 300 ms ซึ่งก็้เป็นค่ามาตรฐานของหูฟังแบบ True Wireless ทั่วไปครับ คือถ้าเอาไปเล่นเกม จะรู้สึกว่าเสียงออกช้ากว่าภาพนิดหน่อยแบบพอรู้สึกตัวครับ
เสียงไมโครโฟน
B&O EQ นั้นมีไมโครโฟนข้างละ 3 ตัวรวมเป็น 6 ตัวนะครับ ซึ่งแต่ละข้างก็มีไมค์ Beamforming เพื่อรับเสียงพูดที่ปาก 1 อัน ส่วนอีก 2 อันใช้รับเสียงจากภายนอกมาหักล้างเพื่อตัดเสียงรบกวนทั้งเวลาฟังเพลงและเวลาพูดสายสนทนาครับ ซึ่งเวลาใช้ไมโครโฟนในห้องเงียบ ๆ เสียงไมค์ชัดเจนดีมากครับ ใช้งานไม่มีปัญหาเลย ส่วนถ้าใช้ในสถานที่ที่มีเสียงรบกวนเยอะ ๆ เป็นอย่างไร ลองฟังคลิปเสียงที่อัดจากมือถือกันครับ
ระหว่างที่คุยสาย เราสามารถแตะ 2 ครั้งที่หูฟังข้างซ้ายเพื่อเปลี่ยนโหมดตัดเสียงรบกวนได้นะครับ ซึ่งเราแนะนำให้ใช้โหมดดึงเสียงภายนอกหรือที่ B&O เรียกว่า Own Voice เพื่อให้การคุยเป็นธรรมชาติขึ้น ตัดเสียงรบกวนภายนอกได้ดีขึ้น เสียงพูดของเราที่ก้องในหัวจะน้อยลง (เป็นธรรมชาติของการใช้หูฟังแบบ In-ear คุยโทรศัพท์ครับ ที่เวลาพูดจะรู้สึกว่าเสียงก้อง) หรือจะใช้หูฟังแค่ข้างเดียวเพื่อคุยสายก็ได้ครับ เสียงก้องในหัวก็จะลดลง
อายุแบตเตอรี่
B&O EQ นั้นสามารถชาร์จได้ 2 วิธีครับ วิธีแรกเสียบชาร์จผ่านพอร์จ USB-C ด้านหลังเคส จะชาร์จเต็มใน 1 ชั่วโมง 40 นาที แต่ชาร์จเพียง 20 นาทีก็ใช้งานได้ 2 ชั่วโมงแล้ว ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือชาร์จไร้สาย โดยด้านล่างของเคสจะเป็นพลาสติกเพื่อใช้ชาร์จไร้สายได้ ซึ่งใช้เวลาชาร์จจนเต็ม 1 ชั่วโมง 50 นาทีครับ
ส่วนอายุแบตเตอรี่ ถ้าเปิด ANC จะสามารถใช้งานต่อเนื่อง 6.5 ชั่วโมง ส่วนถ้าปิด ANC ก็จะใช้ได้ต่อเนื่อง 7.5 ชั่วโมง และเอาไปชาร์จผ่านเคสได้สูงสุดอีก 20 ชั่วโมงครับ
เทียบกับหูฟังรุ่นอื่นๆ
- เทียบกับ Devialet Gemini (ราคา 10,990 บาท)
- เสียงต่างจาก B&O EQ แบบคนละโทน ในขณะที่เสียงของ EQ จะกลมๆ มนๆ ละมุนละไม แต่เสียงของ Gemini คือเบสหนักกว่า แรงปะทะมากกว่า แต่ยังมีรายละเอียดในเบส เสียงแหลมเป็นประกาย ปลายแหลมพุ่ง ซึ่งน่าจะแยกกลุ่มผู้ใช้จากลักษณะเสียงที่ต่างกันมากได้เลย
- การตัดเสียงรบกวนและโหมดดึงเสียงภายนอก Gemini ทำได้ดีกว่า แอปเก่งกว่า
- ตัวหูฟัง Gemini มีขนาดเล็กกว่า ใส่สบายกว่า แต่เคสใหญ่กว่า พกยากกว่า
- ไมโครโฟน Gemini ดีกว่านิดหน่อย
- เทียบกับ Sony WF-1000XM4 (8,990 บาท)
- โทนเสียงใกล้เคียงกับ B&O EQ แต่ Sony WF-1000XM4 ให้เสียงที่หนากว่า โทนหนักกว่าเสียงของ B&O EQ ที่โปร่งกว่า
- การตัดเสียงและดึงเสียงภายนอก Sony ทำได้ดีกว่า
- แอปและระบบอัจฉริยะของ Sony คือดีที่สุดในตลาดแล้ว มีระบบปรับเสียงอัตโนมัติ ระบบเสียงรอบทิศทางในตัวหูฟัง
- ตัวหูฟัง Sony มีขนาดใหญ่กว่า ทำให้ B&O EQ ใส่สบายกว่า ส่วนเคสของ Sony ใหญ่กว่านิดหน่อย
- ไมโครโฟนพอๆ กับ B&O EQ
- เทียบกับ Sennheiser Momentum True Wireless 2 (ราคา 11,990 บาท)
- โทนเสียงใกล้เคียงกัน แต่ Sennheiser ให้เสียงโทนทึบ หนักแน่นกว่า B&O ที่ให้เสียงได้โปร่งสว่างกว่า
- ระบบตัดเสียงภายนอกทำได้ดีพอๆ กัน แต่โหมดดึงเสียงภายนอก B&O ทำได้ดีกว่า
- แอปของ Sennheiser เก่งกว่า ปรับแต่งได้เยอะกว่า
- ตัวหูฟังมีขนาดพอๆ กัน ความรู้สึกในการสวมใส่ใกล้เคียงกัน ขนาดเคสใหญ่กว่านิดเดียว
- ไมโครโฟนใกล้เคียงกับ B&O EQ
สรุป B&O Beoplay EQ คุ้มไหม
B&O EQ เปิดตัวด้วยราคา 15,900 บาท จึงจัดว่าเป็นหูฟังกลุ่มพรีเมี่ยมของตลาดเลยนะครับ ราคาสูงกว่าหูฟังจากแบรนด์เครื่องเสียงอย่าง Devialet หรือตัวท็อปของ Sony ไปหลายพัน ซึ่งถ้านับการออกแบบ คุณภาพวัสดุที่ดูดีกว่าคู่แข่ง รวมถึงคุณภาพเสียงที่ให้รายละเอียดได้ดี เป็นเสียงที่ฟังได้เพลิน ก็เหมาะสมกับตัวอยู่ครับ แต่จุดที่ยังต้องปรับปรุงอีกมาก ๆ คือเรื่องของเฟิร์มแวร์และแอปที่ความสามารถยังตามหลังคู่แข่งที่ราคาถูกกว่าอยู่เยอะ และเรื่องการตัดเสียงรบกวนภายนอกที่ยังไม่เด่นนัก ก็หวังว่าทาง B&O จะปรับปรุงผ่านการอัปเดตเฟิร์มแวร์ได้ต่อไปครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส