Our score
8.7FiiO M11 Plus
จุดเด่น
- คุณภาพเสียงดีเยี่ยม ให้เสียงที่แตกต่างจากการฟังเพลงด้วยสมาร์ตโฟนชัดเจน แรงขับดี สามารถขับหูฟังใหญ่ได้
- หน้าจอขนาดใหญ่ ใช้งานได้เต็มตา
- มีช่องต่อหูฟังครบถ้วนทั้งแบบ Balanced 4.4 mm และ 2.5 mm พร้อมช่องหูฟังมาตรฐาน 3.5 mm
- ประสิทธิภาพเครื่องดี ใช้งานได้ไม่หน่วง ใช้ Android 10 แล้ว ทำให้รูปแบบการใช้งานทันสมัย
- เป็นได้ทั้งเครื่องเล่นเพลง, DAC ต่อคอมพิวเตอร์, ตัวรับ AirPlay, ตัวรับสัญญาณ์ Bluetooth
จุดสังเกต
- ขนาดใหญ่เทอะทะ น้ำหนักมากกว่าสมาร์ตโฟนเป็นเท่าตัว
- ถ้าเป็นไปได้ ไม่ควรฟังเพลงพร้อมเสียบชาร์จ เพราะเมื่อเสียบชาร์จจะมีเสียงฮัมเกิดขึ้นในหูฟังในบางกรณี
- ลงแอปที่ต้องใช้ความปลอดภัยสูงอย่าง Netflix ไม่ได้
-
ดีไซน์
9.0
-
ขนาด-น้ำหนัก
7.5
-
คุณภาพเสียง
9.0
-
ความสามารถพิเศษ
9.5
-
ความคุ้มค่า
8.5
ในยุคที่สมาร์ตโฟนทำได้ทุกอย่างแบบนี้ ตลาดเครื่องเล่นเพลงพกพาหรือ Digital Audio Player (DAP) ก็เป็นตลาดเฉพาะกลุ่มสำหรับคนรักเสียงดนตรีที่ต้องการเครื่องเล่นเพลงที่ให้รายละเอียดสูงกว่าสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ทั่วไปจะให้ได้ ซึ่ง FiiO M11 Plus รุ่นใช้ชิป ESS ที่เราจะรีวิวในวันนี้ก็ถือว่าเป็นเครื่องเล่นเพลงในระบบ Android สารพัดประโยชน์ที่ลงแอปจาก Google Play เพื่อใช้งานอื่นๆ ได้ด้วย
ที่มาของ FiiO M11 Plus ESS
ที่เครื่องเล่นเพลงรุ่นนี้ต้องมีรหัส ESS ตามท้ายเพราะ FiiO M11 Plus มีออกมาก่อนหน้านี้แล้ว 1 รุ่นคือ FiiO M11 Plus LTD เครื่องรุ่นแรกที่ออกเมื่อปี 2021 โดยใช้ชิป DAC (Digital to Analog Converter) AK4497EN 2 ตัว ซึ่งเป็นของบริษัท Asahi Kasei Microsystem (AKM) แต่ชิปตัวนี้มีจำนวนจำกัดเพราะโรงงานผลิตชิปของ AKM ในญี่ปุ่นไฟไหม้ไปเมื่อเดือนตุลาคม 2020 ทำให้ผลิต M11 Plus ที่ออกแบบไว้แล้วได้จำนวนจำกัดตามชิปที่มี จึงลงท้ายรหัสว่า LTD คือเป็นรุ่น Limited นั้นเอง ซึ่งปัจจุบันน่าจะขายหมดไปแล้ว เหลือแต่เครื่องรุ่นพิเศษที่ใช้บอดี้เป็นสแตนเลสที่ยังมีขายอยู่
FiiO จึงเอา M11 Plus กลับมาออกแบบใหม่อีกรอบโดยเปลี่ยนชิป DAC เป็น ES9068AS 2 ตัวของบริษัท ESS Technology จากอเมริกาแทน และขายในชื่อ FiiO M11 Plus ครับ ส่วน ESS เราเขียนเพื่อให้เข้าใจว่าเป็นรุ่นใหม่ที่ใช้ชิป ESS นั้นเอง
ซึ่งรายละเอียดเชิงเทคนิคของ FiiO M11 Plus กับ FiiO M11 Plus LTD นั้นแตกต่างกันอยู่นิดหน่อย ดูละเอียดได้ตามตารางนี้ครับ ส่วนเราสรุปสั้น ๆ มาให้ดังนี้ครับ
FiiO M11 Plus | FiiO M11 Plus LTD | |
---|---|---|
ชิป DAC | ES9068AS×2 | AK4497EQ×2 |
การตอบสนองความถี่ช่อง 3.5 mm โหมด Headphone | 20Hz~20kHz (-1dB) | 20Hz~80 kHz (-3dB) |
SNR ของช่อง 3.5 mm | ≥122dB | ≥120dB |
การตอบสนองความถี่ช่อง 2.5 mm และ 4.4 mm | 20Hz~80kHz (-1dB) | 20Hz~92kHz (-5dB) |
SNR ของช่อง 2.5 mm และ 4.4 mm | ≥126dB | ≥120.5dB |
อายุแบตเตอรี่ | 14 ชั่วโมง | 11.5 ชั่วโมง |
น้ำหนัก | 295 กรัม | 310 กรัม / 405 กรัมในรุ่นสแตนเลส |
ดีไซน์ของ FiiO M11 Plus
ถ้ามองในมุมผู้ใช้สมาร์ตโฟนแล้ว FiiO M11 Plus ถือเป็นอุปกรณ์พกพาที่ใหญ่และหนักเลยนะครับ แม้ว่าขนาดเครื่องจะไม่ต่างจาก iPhone 13 เท่าไหร่ด้วยขนาด 136.6 x 75.7 mm (ส่วน iPhone 13 คือ 146.7 x 71.5 mm) แต่ด้วยความหนาถึง 17.6 mm หนากว่า iPhone 13 ถึง 1 cm แล้วน้ำหนัก 295 กรัม ก็หนักกว่า iPhone 13 ที่หนัก 174 กรัมอยู่พอสมควร ก็ทำให้คนที่ไม่คุ้นเคยกับ DAP มาก่อนก็อาจจะรู้สึกว่ามันดูเทอะทะจัง
แต่ถ้าเทียบกับเครื่องเล่นเพลงเกรดดีทั่วไปแล้ว M11 Plus จัดว่าไม่ใหญ่และไม่หนักเกินไปครับ ยังมีใหญ่และหนักกว่านี้อีก
จุดเด่นของดีไซน์ FiiO M11 Plus อยู่ที่หน้าจอ 5.5 นิ้ว สัดส่วน 18:9 ความละเอียด 720p ครับ ซึ่งปกติ DAP จะไม่มีจอที่ใหญ่เต็มหน้าเครื่องขนาดนี้ คงเพราะคนฟังเพลงก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับหน้าจอมากนัก ทำให้ความรู้สึกในการใช้ M11 Plus นั้นใกล้เคียงกับการใช้สมาร์ตโฟนทั่วไป ซึ่งหน้าจอนี้ก็ให้สีสันได้ดี แต่ไม่ได้สดใสแบบที่จอสมาร์ตโฟนทำได้ และไม่มีเซนเซอร์ปรับเพิ่ม-ลดแสงหน้าจออัตโนมัติครับ ต้องเลื่อนปรับเอาเอง นอกจากนี้จอนี้ยังติดกระจกกันรอยมาให้เรียบร้อยแล้วด้วย
ฝาหลังของเครื่องก็เป็นกระจกที่ทำลวดลายเป็นโพลีกอน สะท้อนแสงสวยงาม ส่วนด้านข้างเครื่องก็เต็มไปด้วยปุ่มสำหรับการฟังเพลง ซึ่งดีไซน์ปุ่มเป็น 6 เหลี่ยมแบบรังผึ้ง เรียงลำดับจากบนลงล่างดังนี้
ฝั่งซ้าย
- ปุ่มเปิด-ปิด ล็อกจอ
- ปุ่มปรับระดับเสียงดีไซน์คาร์บอนไฟเบอร์
- ปุ่มฟังก์ชันพิเศษ
ฝั่งขวา
- ปุ่มย้อนกลับ
- ปุ่มเล่น-หยุดเพลง
- ปุ่มถัดไป
- สวิตซ์เลื่อนล็อกปุ่ม
ดีไซน์แปลกที่สุดคือปุ่มปรับระดับเสียงครับ เพราะเราสามารถกดเพิ่มลดเสียงตามปกติเหมือนมือถือทั่วไปก็ได้ หรือจะแตะค้างแล้วลากขึ้นลงเพื่อปรับระดับเสียงก็ได้ ซึ่งจะมีเสียงตึด ๆ เวลาลาก ให้อารมณ์เหมือน Click Wheel บน iPod สมัยก่อน ซึ่งถ้าใช้แล้วไม่ชอบ มันลั่นง่ายไป ก็สามารถปรับ Setting ให้ต้องแตะ 2 ครั้งก่อนถึงจะลากปรับระดับเสียงก็ได้ครับ
ซึ่ง FiiO M11 Plus สามารถใส่ MicroSD ได้ 1 ใบ เพิ่มได้สูงสุด 2 TB ซึ่งก็เป็นเรื่องจำเป็นของนักฟังเพลง ที่ไฟล์เพลง Hi-Res ใหญ่ ๆ หนัก ๆ กันทั้งนั้น
ด้านล่างประกอบด้วยช่องสัญญาณเสียงแบบ Balanced 4.4 mm ที่ต่อหูฟังและ Line-Out ได้และช่องหูฟัง 2.5 mm นอกจากนี้ก็มีมีช่องสัญญาณเสียง 3.5 mm Unbalanced ที่เป็นได้ทั้งช่องหูฟัง / Line-out / Coaxial Out ได้ด้วย
ส่วนช่อง USB-C ที่ท้ายเครื่อง ก็สามารถใช้โอนเพลงเข้าเครื่อง ต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อเปลี่ยน M11 Plus ให้กลายเป็น USB-DAC หรือชาร์จเครื่องได้ โดยรองรับมาตรฐานการชาร์จไว Quick Charge 2.0/3.0 และ Mediatek PE สูงสุด 27 Watt แต่ในกล่องไม่มีหัวชาร์จแถมมาให้นะครับ ต้องหาหัวชาร์จมือถือมาใช้เอง
นอกจากตัวเครื่ิองแล้ว ในกล่องของ FiiO M11 Plus ประกอบด้วยเคสหนัง สายชาร์จ USB-C และสายแปลง 3.5 mm เป็น Coaxial ครับ
สเปกเครื่อง
FiiO M11 Plus นั้นใช้ Qualcomm Snapdragon 660 พร้อม RAM 4 GB และพื้นที่ในเครื่อง 64 GB ก็ถือว่าเป็นสเปกที่จัดจ้านสำหรับ DAP เลย ทำให้การใช้งานลื่นไหลมากเมื่อเทียบกับ DAP รุ่นอื่น ๆ ที่มักจะมีสเปกต่ำกว่านี้ นอกจากนี้ยังใช้งาน Android 10 แล้วด้วย ทำให้มี Dark mode และสามารถปิดปุ่มควบคุม 3 ปุ่มด้านล่าง มาใช้การสั่งงานแบบลากจากขอบจอล่างขึ้นบนเพื่อกลับหน้าโฮม หรือปัดจากขอบจอซ้าย-ขวาเพื่อแทนปุ่ม Back ได้เหมือนมือถือยุคใหม่ครับ
ส่วนแบตเตอรี่จัดมาเต็มมากที่ 6,000 mAh คือเปิดเครื่อง Stand-by ทิ้งไว้ได้หลายวันเลย และฟังเพลงต่อเนื่องได้ราว ๆ 14 ชั่วโมงครับ
ส่วนสเปกด้านเสียงก็จัดมาอลังการสมเป็น DAP ระดับกลาง คือมีชิป DAC 2 ตัวคือ ES9068AS แล้วยังมีภาค AMP จาก THX รุ่น AAA-78 มาให้อีก 2 ชุด รวมๆ แล้วทำให้รองรับไฟล์เพลง DSD512 ได้ รองรับเสียง PCM ได้ถึงระดับ 768 kHz (ปกติเสียงจาก CD คือ 44.1 kHz) พร้อม NDK Femtosecond ชิปคุมสัญญาณนาฬิกาอีก 2 ตัว สำหรับความถี่การสุ่มสัญญาณกลุ่มความถี่ 44,100 Hz และความถี่ 48,000 Hz เพื่อไม่ให้การถอดรหัสเสียงผิดเพี้ยน
FiiO M11 Plus สามารถปรับ Gain ได้ 3 ระดับคือ Low-Mid-High ซึ่ง Low นี่คือต่ำจริง ๆ นะครับ สำหรับหูฟังแบบ In-Ear ตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ต้องใช้แรงขับเยอะ ส่วนระดับ High ให้กำลังสูงสุดบนช่องต่อ 2.5 / 4.4 mm ที่ 400mW @16ohm / 660mW @32ohm / 90mW @300ohm ซึ่งก็มากพอจะขับหูฟังตัวใหญ่ ๆ ขับยาก ๆ ได้ส่วนใหญ่เลย
5 โหมดการทำงานของ FiiO M11 Plus
FiiO M11 Plus เป็นเครื่องฟังเพลงสารพัดประโยชน์ครับ สามารถใช้งานได้ 5 แบบดังนี้
- Android Mode โหมดนี้ใช้งานเหมือนมือถือเลยครับ ลงแอปได้ ใช้งานแอปฟังเพลงอย่าง Spotify, Tidal, Apple Music และอื่น ๆ ได้ ดู Youtube ได้ แต่ลง Netflix ไม่ได้นะครับ ใครอยากใช้จอใหญ่ ๆ ฟังคอนเสิร์ตใน Netflix ต้องเสียใจด้วย
- Pure Music Mode เป็นโหมดที่ตัดความสามารถแอปภายนอกออก เหลือใช้แค่แอปเล่นเพลงของ FiiO เองเท่านั้น ก็เหมาะสำหรับคนที่เน้นฟังเพลงที่เก็บในเครื่อง ไม่ได้ฟังเพลงออนไลน์ครับ
- AirPlay คือเปลี่ยน M11 Plus ให้เป็นตัวรับสัญญาณเพลงแบบ Lossless ผ่าน AirPlay ของอุปกรณ์แอปเปิ้ลเพื่อต่อออกหูฟังหรือลำโพงผ่านสาย ให้เสียงเทพกว่าฟังบน iPhone/iPad/Mac ตรงๆ ซึ่งการใช้ AirPlay จะให้คุณภาพเสียงดีกว่าส่งผ่าน Bluetooth แต่ต้องอยู่ในวง Wifi เดียวกัน แล้วก็ใช้ได้เมื่อตัวส่งเป็นอุปกรณ์แอปเปิ้ลเท่านั้น
- USB DAC Mode สำหรับการต่อ M11 Plus ผ่านสาย USB-C เข้ากับคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อเปลี่ยน M11 Plus ให้กลายเป็นซาวน์การ์ดให้เสียงจากอุปกรณ์ของเราดีขึ้น
- Bluetooth Receiving Mode คล้ายๆ โหมด AirPlay แต่เปลี่ยนจากการทำงานบน Wifi มาใช้ Bluetooth แทน โดยรองรับ Codec เป็น SBC / AAC / LDAC ซึ่ง LDAC จะให้เสียงได้ใกล้เคียงกับ Lossless
- ส่วนถ้าเราใช้ M11 Plus เป็นตัวส่งสัญญาณ Bluetooth ไปที่หูฟังหรือลำโพง จะใช้ Codec ได้ 5 ตัวคือ SBC / AAC / APT-X / APT-X HD / LDAC
คุณภาพเสียง
มาถึงประเด็นสำคัญอย่างคุณภาพเสียงของ FiiO M11 Plus กันบ้างครับ เอาสั้น ๆ เลยคือเสียงดีตามที่จะคาดหวังได้จากเครื่องเล่นเพลงจริงจังที่ราคาระดับนี้ครับ โดยเราทดสอบการฟังทั้งหมดกับหูฟัง Sennheiser IE900 ด้วยสาย Balanced 4.4 mm นะครับ
เสียงของ FiiO M11 Plus นั้นเป็นระเบียบนะครับ เสียงแต่ละย่านไม่กวนกัน เสียงสูงให้รายละเอียดดีวิบวับ ถ้าฟังดี ๆ จะจับผิดรายละเอียดของเพลงที่บันทึกมาไม่ดี หรือคุณภาพไฟล์ไม่ดีได้เลย ส่วนเสียงกลางก็ได้ยินเสียงร้องที่ใสกระจ่าง แยกความแตกต่างของเสียงได้เป็นชั้นๆ ให้เสียงได้เป็นธรรมชาติ เสียงเบสก็หนักแน่น และคงรายละเอียดได้ ไม่นัวไม่มัว ฟังแล้วสนุกครับ
ซึ่งเราสามารถเปิดตัวเลข Sampling Rate ขึ้นที่ Status Bar ของเครื่องได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบรับรู้ว่ากำลังเล่นเพลงที่ความละเอียดเท่าไหร่ ซึ่งการใช้ Tidal แบบ Master ก็แสดงตัวเลขได้ถึง 96 kHz ตามที่ไฟล์ MQA ใน Tidal Master จะถอดรหัสขั้นพื้นฐานได้ ส่วนถ้าทดสอบกับ roon จะเห็น Signal Path มีการแปลงกลับลงมาที่ 48 kHz เพราะเป็นการเล่นเพลงผ่าน AAudio ระบบมิกซ์เสียงของ android ซึ่งก็ไม่ได้ให้สัญญาณในลักษณะ bit-perfect และ FiiO M11 Plus ก็ไม่ได้รับรอง roon ready มา
ในรูปด้านล่างจากซ้ายไปขวา
- การเล่นไฟล์ FLAC ปกติ แสดงความละเอียดเพลงบน Status Bar เป็น 44.1 kHz ปกติ
- การเล่นไฟล์ Master จาก Tidal ที่เป็น MQA ก็แสดงความละเอียดเพลงเป็น 96 kHz
- การเล่นเพลงผ่านแอป roon สัญญาณจะถูกดรอปลงมาที่ 48 kHz
นอกจากนี้ยังมีโหมดพิเศษ All to DSD เพื่อแปลงสัญญาณเสียงปกติแบบ PCM เป็น DSD ด้วย ซึ่ง FiiO บอกว่าจะทำให้คุณภาพเสียงดีขึ้นไปอีก แต่จะกินแบตเตอรี่เพิ่มอีกครับ ถ้าได้เครื่องไปก็ลองฟังดูได้ครับ ว่าควรเปิดไหมสำหรับหูของเรา
ส่วนความร้อนระหว่างการใช้งาน ก็เกิดขึ้นบ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะเมื่อเล่นเพลงความละเอียดสูงครับ นอกจากนี้การเสียบสายชาร์จพร้อมการฟังเพลง อาจทำให้เกิดเสียงฮัมขึ้นมาที่หูฟังได้ แต่เสียงฮัมนี้จะหายไปเมื่อเริ่มเล่นเพลง หรือเสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์แล้วเปิดโหมด DAC ก็เอาเป็นว่าถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ควรเล่นเพลงพร้อมเสียบชาร์จ เพื่อให้สัญญาณออกมาสะอาดที่สุด
สรุปความคุ้มค่า
FiiO M11 Plus ESS ตั้งราคาขายในไทยไว้ที่ 22,900 บาท ซึ่งเป็นราคาระดับกลางของกลุ่มเครื่องเล่นเพลงโดยเฉพาะนะครับ ซึ่งราคานี้ได้เครื่องเล่นเพลงที่มีจอใหญ่ พร้อมการเชื่อมต่อหูฟังครบๆ ทั้ง 3 รูปแบบ แถมใช้เป็น DAC ต่อคอมพิวเตอร์ก็ได้ รับ AirPlay, Bluetooth ได้ ก็ถือว่าคุ้มครับ แต่จุดที่อาจจะต้องคิดหน่อยคือขนาดและน้ำหนักครับ ซึ่งถ้าเราพร้อมจะพกพาเครื่องเล่นเพลงไซส์ใหญ่กว่ามือถือ ก็รับรองได้ว่าจะได้ประสบการณ์ทางดนตรีที่เหนือกว่าสมาร์ตโฟนแน่นอนครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส