Our score
8.4Sony a6300
จุดเด่น
- คุณภาพภาพดีมาก ทั้งการถ่าย Jpeg และ Raw สู้กับ ISO สูงๆ ได้สบายๆ
- คุณภาพวิดีโอดีมาก สามารถถ่ายระดับ 4K จริงๆ ได้
- ปรับแต่งวิดีโอได้เยอะ
- โฟกัสเร็วมากและเชื่อถือได้
- รองรับเลนส์ได้หลายค่ายแถมรองรับโฟกัสอัตโนมัติด้วย มีหลายค่ายออกอแดปเตอร์แปลงให้
จุดสังเกต
- ไม่มีช่องต่อหูฟังสำหรับมอนิเตอร์เสียง (สำคัญสำหรับงานถ่ายวิดีโอ)
- มีปัญหา Rolling Shutter เวลาถ่าย 4K
- ไม่มีจอสัมผัส ทำให้เลือกจุดโฟกัสยากไปนิด
- เมนูที่เยอะยุบยับ ปัญหาอมตะของกล้องโซนี่
- ไม่มีระบบกันภาพสั่นในตัวกล้อง ต้องซื้อเลนส์ที่มีกันสั่นเท่านั้น
-
คุณภาพภาพถ่าย
8.0
-
คุณภาพวิดีโอ
9.0
-
การควบคุมกล้อง
7.0
-
คุณสมบัติพิเศษ (ใช้งานวิดีโอ, ความเร็วโฟกัส)
10.0
-
ความคุ้มค่า
8.0
ต้องบอกว่าระยะหลัง Sony มาแรงมากับกล้องดิจิทัลนะครับ นับตั้งแต่ความสำเร็จของกล้องตระกูล A7 ที่สร้างชื่อให้โซนี่ในวงการช่างภาพมืออาชีพ และโซนี่ก็นำความสำเร็จเหล่านี้กลับมาพัฒนากล้องในกลุ่มเซนเซอร์ APS-C ให้ดีขึ้น และ Sony α6300 ก็เป็นกล้องที่ดีที่สุดในกลุ่มนี้ตั้งแต่โซนี่เคยทำมา
สเปกคร่าวๆ ของกล้อง
- เซนเซอร์ Exmor ขนาด APS-C ความละเอียด 24 ล้านพิกเซล
- ช่องมองภาพ (EVF) แบบ OLED ความละเอียด 2.36 ล้านพิกเซล ให้ภาพที่สว่าง ชัดเจน
- หน้าจอขนาด 3 นิ้วที่ปรับองศาได้ (แต่บิดมาถ่าย Selfies ไม่ได้นะ) ความละเอียด 921,000 พิกเซล
- ISO 100 – 51,200
- ความเร็วซัตเตอร์ 1/4000 – 30 วินาที พร้อมซัตเตอร์ B
- มีแฟลชในตัว
- แบตเตอรี่ถ่ายได้ 400 ภาพ (ถ้าใช้ EVF จะเหลือ 350 ภาพ) ใช้จริงแล้วอึดใช้ได้ ถ่ายได้ทั้งวัน ทำถ่ายทอดสดก็อยู่ได้หลายชั่วโมง
- โครงสร้างแมกนีเซียมอัลลอยกันความชื้นและฝุ่น
- น้ำหนักบอดี้พร้อมแบต 404 กรัม ไม่หนักเกินไป พกพาง่าย
- ราคาบอดี้อย่างเดียว 39,990 บาท ราคาพร้อมเลนส์ 16-50mm f3.5-5.6 OSS 46,990 บาท
4D Focus โฟกัสที่เร็วที่สุดในโลก
เรื่องของการหาโฟกัสอัตโนมัติหรือ Auto-Focus หลายคนอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องเบสิกที่กล้องยุคนี้จะต้องทำได้อยู่แล้ว แต่ถ้าถามใจตัวเองจริงๆ ที่ผ่านมาเราก็มีกล้องอยู่เพียงหยิบมือที่สามารถฝากผีฝากไข้กับการโฟกัสต่อเนื่องอัตโนมัติได้ (AF-C) ส่วนใหญ่ก็กล้องตัวเป็นแสนขึ้นไป ช่างภาพหลายคนจึงมักใช้โหมดหาโฟกัสครั้งเดียว (AF-S) และโฟกัสที่จุดกลางภาพแล้วค่อยจัดเฟรมใหม่มากกว่า เพราะมั่นใจได้ว่าจุดที่ต้องการโฟกัสนั้นมันจะคมชัดจริงๆ แล้วเมื่อถึงเวลาที่ต้องโฟกัสวัตถุเคลื่อนไหวอย่างสัตว์เลี้ยงหรือเด็กๆ ก็ใช้วิธีโฟกัสล่วงหน้า รอวัตถุวิ่งเข้ามาในจุดที่โฟกัสไว้แล้วค่อยถ่าย หรือเสี่ยงใช้ AF-C ของกล้องที่มีโอกาสถ่ายได้ภาพบ้าง ไม่ได้ภาพบ้าง
แต่จุดขายหลักของ Sony a6300 คือระบบโฟกัสที่เรียกว่า 4D Focus ที่ประกอบด้วยจุดโฟกัสแบบ Phase Detection 425 จุด และแบบ Contrast Detection อีก 169 จุด ซึ่งครอบคลุมแทบจะ 100% ของเฟรมภาพ จากจำนวนจุดโฟกัสที่มากมายขนาดนี้ทำให้ระบบ AF-C ของ a6300 ทำงานได้ดีมาก แถมระบบโฟกัสตัวนี้ยังสามารถใช้กับเลนส์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ของโซนี่ได้ด้วย จนเรียกว่าเราหลงรัก Auto-focus ได้อีกครั้ง
จากจุดโฟกัสจำนวนมหาศาลของ a6300 ทำให้โซนี่สร้างทางเลือกในการโฟกัสให้ผู้ใช้เลือกใช้ตามความเหมาะสมมากมาย ตั้งแต่โหมดหลักอย่าง AF-S, AF-C, AF-A (กล้องจะเลือกให้เองว่าจะโฟกัสเป็น AF-S หรือ AF-C) MF และ DMF (Direct Manual Focus กล้องจะโฟกัสอัตโนมัติให้ก่อน แล้วเราค่อยหมุนเลนส์ปรับโฟกัสอีกที)
นอกจากโหมดหลักแล้ว a6300 ยังสามารถเลือกจุดโฟกัสได้อีกหลากหลายโหมดที่มีพื้นที่การหาโฟกัสเล็กใหญ่ต่างกันไปตามความต้องการ คือ
- Wide โฟกัสวัตถุที่เด่นในเฟรมอัตโนมัติ (พื้นที่โฟกัสใหญ่สุดเพราะหาทั้งเฟรมเลย)
- Zone เลือกโฟกัสวัตถุในโซนที่ต้องการ
- Center โฟกัสจุดตรงกลางภาพ
- Flexible Spot เลื่อนจุดที่ต้องการโฟกัสได้ และระบุได้ว่าจะให้จุดโฟกัสใหญ่ขนาดไหน
- Expand Flexible Spot
- Lock-on Focus โหมดสำหรับ AF-C โดยเฉพาะ ที่ให้ผู้ใช้เลือกโฟกัสจุดที่ต้องการแล้วกล้องจะแทร็กโฟกัสไปตลอด
- Eye AF โหมดสำหรับโฟกัสที่ตาโดยเฉพาะ เหมาะมากสำหรับการถ่ายภาพบุคคลที่จุดสำคัญคือดวงตาต้องคม โหมดนี้ใช้ได้โดยกำหนดปุ่มบนกล้อง (เช่นปุ่ม C1) ให้ใช้หา Eye AF โดยเฉพาะแล้วค่อยถ่ายภาพ
โฟกัสขั้นเทพ แต่ผู้ใช้ต้องศึกษา
จากการใช้งานจริง Sony a6300 สามารถโฟกัสติดตามวัตถุได้ดีมาก จนเชื่อใจได้ว่าการใช้โฟกัสอัตโนมัติแบบติดตามจะสามารถให้ภาพที่คมชัดได้ (ผู้ใช้ต้องตั้งความเร็วซัตเตอร์ที่เร็วพอด้วยนะ) ความเร็วในการโฟกัสระดับ 0.05 วินาที ทำให้ถ่ายภาพในจังหวะฉับพลันได้เป็นอย่างดี และการถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็วสูงสุด 11 ภาพต่อวินาทีกล้องก็ยังสามารถโฟกัสแบบติดตามได้ดีด้วย แต่ความสามารถขั้นเทพของกล้องก็ต้องการผู้ใช้ที่เข้าใจการทำงานของกล้องด้วย จึงจะใช้งานได้สมบูรณ์ครับ
คุณภาพภาพถ่าย
Sony a6300 เป็นกล้องที่ให้คุณภาพภาพถ่ายได้ดีทั้งการถ่ายในโหมด jpeg หรือ raw ครับ ที่ให้ Dynamic Range สูงกว่ากล้องกลุ่ม APS-C ทั่วไปอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมายขนาดเห็นได้ชัดเจน ส่วนตัวที่เน้นถ่าย jpeg ให้จบหลังกล้องเป็นหลักก็พอใจกับโหมด DRO และ HDR ที่สามารถปรับแต่งได้มาก ใช้ช่วยในซีนที่สภาพแสงมีความแตกต่างกันมากๆ ให้ดึงรายละเอียดกลับมาได้โดยไม่ต้องถ่าย raw แล้วมาจัดการในคอมพิวเตอร์ภายหลัง
นอกจากนี้โหมด Auto และ Superior Auto ที่เป็นจุดเด่นของกล้อง Sony ก็ยังทำงานได้ดีในกล้อง a6300 ตัวนี้ สามารถวิเคราะห์ซีนภาพที่ซับซ้อนและเลือกใช้การทำงานที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว ช่วยได้เยอะสำหรับผู้ใช้มือใหม่ และผู้ใช้ที่ตระหนกเลือกการทำงานของกล้องไม่ถูกในเวลารีบ ใช้โหมด Auto ก็เชื่อได้ว่าจะได้ภาพที่ดี
ในส่วนของการเลือก Creative Style สำหรับปรับโทนสีภาพ หรือ Picture Effect สำหรับการใส่ลูกเล่นภาพ ก็มีให้เลือกหลากหลาย แต่ยังไม่มีโหมดสีที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวเหมือนสีที่เลียนแบบฟิล์มของ Fujifilm หรือสีฟิล์มสไลด์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกล้อง Ricoh ครับ (ซึ่งถ้าใครเน้นถ่าย Raw เป็นหลักก็คงมองข้ามจุดนี้ไปได้)
ถ่ายภาพนิ่งได้เยี่ยม แต่วิดีโอก็ไม่ธรรมดา
ประเด็นเรื่องวิดีโอนี้เป็นเรื่องที่โซนี่ชูขึ้นมาเป็นหนึ่งในจุดเด่นของ a6300 เลยนะครับ เริ่มกันที่ระบบโฟกัสอัตโนมัติก่อน คือปกติช่างวิดีโอมืออาชีพนั้นจะใช้โหมดโฟกัสด้วยมือเป็นหลัก เพราะการโฟกัสอัตโนมัติของกล้องวิดีโอนั้นเสี่ยงที่จะหลุดโฟกัสระหว่างถ่ายทำกันง่ายๆ แต่ Sony a6300 ก็ทำหน้าที่ได้ดีในจุดนี้ ด้วยความเร็วในการโฟกัสและการติดตามโฟกัส ทำให้การถ่ายวิดีโอแบบโฟกัสอัตโนมัติด้วยกล้องตัวนี้ทำได้ง่ายกว่ารุ่นอื่นๆ สามารถเลือกความเร็วในการเคลื่อนโฟกัสและความไวในการตรวจจับโฟกัสได้ด้วย แต่ถ้าถามว่ามันแม่นยำเชื่อถือได้ตลอดไหม ก็ต้องบอกว่ามีโอกาสหลุดโฟกัสบ้างเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะการถ่ายวิดีโอซีนที่มีคนเยอะๆ ที่กล้องจะพยายามแทร็กโฟกัสใบหน้าหลายๆ คนพร้อมกันจนมีโอกาสโฟกัสหลุดได้ง่ายๆ ซึ่งก็ต้องอาศัยความเข้าใจการตั้งค่ากล้อง เซ็ตระบบโฟกัสให้เหมาะกับงานครับ
ส่วนคุณภาพวิดีโอต้องบอกว่าดีมาก แม้จะใช้ ISO สูงที่ 6400 คุณภาพวิดีโอก็ยังดีอยู่ สามารถถ่ายวิดีโอแบบ 6K แล้วนำมาแปลงลงเป็น 4K ทำให้ได้ภาพวิดีโอที่คมชัด เลือกรูปแบบการบันทึกไฟล์ได้หลากหลาย เลือกบิทเรทในการบันทึกสูงสุดที่ 100 Mbps โหมด 4K สำหรับงานวิดีโอที่ต้องการรักษารายละเอียดของภาพสูงสุด และสามารถถ่ายภาพ Slow Motion ได้ที่ 100/120 fps อีกด้วย
การถ่ายวิดีโอในโหมด S-Log ที่สามารถแก้ไขสีกลับมาได้มาก
และขึ้นชื่อว่าเป็น Sony ฟังก์ชั่นวิดีโอของ a6300 จึงยืดหยุ่นในระดับที่มืออาชีพใช้คือ
- สามารถเลือกโหมด P/S/A/M สำหรับการถ่ายวิดีโอได้ ผู้ใช้จึงสามารถควบคุม ISO/ความเร็วซัตเตอร์/รูรับแสง ของการถ่ายวิดีโอได้ทั้งหมด
- สามารถเลือกบันทึกวิดีโอในแบบ S-Log2 หรือ S-Log3 ได้ ซึ่งวิดีโอในโหมดนี้สีของภาพจะตุ่นๆ ไม่ขาวสุด ไม่ดำสุด แต่เก็บรายละเอียดของแสงได้มากกว่าเดิม ทำให้เวลานำไปตัดต่อสามารถดึงรายละเอียดภาพและการไล่เฉดสีกลับมาได้มากกว่าการถ่ายธรรมดา
- สามารถส่งสัญญาณภาพสดออกจากกล้องแบบ Clean HDMI ได้ ทำให้ภาพที่ส่งออกมาไม่มีข้อมูลการถ่ายภาพปรากฏบนจอ (เช่นความเร็วซัตเตอร์และรูรับแสง) และสามารถแสดงภาพที่กล้องพร้อมกับมอนิเตอร์ภาคนอกได้ ทำให้สามารถใช้ในงานถ่ายทอดสดอย่าง Facebook live ได้ และระหว่างที่ถ่ายทอดสดก็สามารถเสียบสายไฟชาร์จกล้องผ่าน MicroUSB ได้ด้วย
- สามารถทำงานกับระบบ Time Code ในงานโปรดักชั่นมืออาชีพได้
- รองรับการต่อไมโครโฟนภายนอก
แต่ข้อเสียของการถ่ายวิดีโอด้วย Sony a6300 ก็มีอยู่บ้างครับ คือการถ่ายวิดีโอในโหมด 4K นานๆ (เกิน 15 นาทีขึ้นไป) ก็มีโอกาสที่กล้องจะร้อนจนตัดการทำงานไปดื้อๆ และกล้องสามารถถ่าย 4K ได้สูงสุดไม่เกิน 30 นาทีต่อคลิปเท่านั้น นอกจากนี้ในบางกรณีโดยเฉพาะในโหมด 4K การแพนกล้องเร็วๆ จะมีปัญหา Rolling shutter หรืออาการเบี้ยวของภาพเหมือนเวลาเราเคลื่อนเยลลี่ ที่เกิดจากกล้องไม่สามารถดึงข้อมูลวิดีโอจากทั้งเซนเซอร์ได้ทัน (ดูในวิดีโอด้านบนได้ที่เวลาแพนกล้องเร็วๆ จะเห็นว่าแผงคีย์บอร์ดกลายเป็นเอียงตามการแพนกล้องซะงั้น) ก็พิจารณาการใช้งานตามความเหมาะสมนะครับ
การควบคุมกล้อง จะว่าดีก็ได้
สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหากับกล้องดิจิทัลของ Sony มาตลอดคือการควบคุมกล้องครับ เริ่มต้นจากข้อดีในส่วนของการควบคุมกันก่อน
- กริปจับกล้องลึกพอสมควร ทำให้จับสะดวกแม้ตัวกล้องจะเล็กกว่ากล้องในระดับเดียวกัน
- สามารถปรับแต่งได้ควบคุมได้หลากหลาย สามารถปรับการทำงานของปุ่มรอบกล้องได้ 9 จุด ให้เหมาะสำหรับการใช้งานของแต่ละคน
- สามารถปรับตั้งค่าเมนูของปุ่ม Fn ใส่คำสั่งเข้าไปอีก 10 ตัวที่ใช้บ่อยได้
- มีฟังก์ชั่นช่วยโฟกัสมือเยอะ ทั้ง peaking focus (จุดที่คมชัดจะเน้นสีขึ้นมา ทำให้ดูง่ายขึ้นว่าโฟกัสเข้าจุดรึยัง) หรือการซูมภาพช่วยหาโฟกัส
- ฟังก์ชั่นลึกลับอีกมากมายรอให้คุณค้นหาในเมนูที่จะทำให้ชีวิตการถ่ายภาพดีขึ้น เช่น
- Silent Shooting คือการถ่ายภาพแบบเงียบสนิท ไม่มีเสียงม่านซัตเตอร์ฉับๆ แต่ก็ทำให้บางฟังก์ชั่นหายไป เช่นการถ่าย HDR, หรือการถ่าย B
- ISO Auto Min SS ปรับความเร็วซัตเตอร์สปีดเวลาใช้ ISO Auto ให้ตรงใจขึ้น
- Finder Frame Rate ปรับให้ภาพใน View Finder เคลื่อนไหวสมูทขึ้นได้ แต่จะเสียความละเอียดของช่องมองภาพไปบ้าง
- สามารถส่งภาพและควบคุมกล้องผ่าน Wifi/NFC ได้
แต่ข้อสังเกตในการควบคุมก็มีอยู่ไม่น้อยนะครับ
- เมนูเยอะมว้าก ชนิดที่ใครไม่คุ้นกับกล้อง Sony หรือต้องตามหาฟังก์ชั่นที่ไม่ได้เซ็ตปุ่มลัดไว้ ต้องใช้เวลาหลายนาทีในการค้นหา (เช่นคำสั่ง Format การ์ด อยู่ในเมนูรูปกระเป๋า หน้าที่ 5 ตัวเลือกที่ 5 ถ้าจำไม่ได้ก็กดหาเข้าไปสิ)
- วงแหวนควบคุมที่ 2 (แป้นหมุนหลังกล้อง) อยู่ในตำแหน่งที่จับยาก การจะใช้นิ้วโป้งหมุนวงแหวนนี้จะจับกล้องไม่ถนัดมือ ต้องประคองกล้อง 2 มือ
- ควบคุมกล้องมือเดียวยาก โดยเฉพาะถ้าต้องการซูมภาพด้วยเลนส์ ก็ต้องใช้อีกมือจับที่เลนส์ อันนี้คนที่ใช้กล้องเล็กมาก่อนอาจจะรู้สึกแปลกๆ แต่ที่ใช้ DSLR มาก่อนก็ไม่รู้สึกแปลกอะไร
Sony a6300 กล้องตัวท็อปในฝั่ง APS-C จากโซนี่
จากการได้ทดสอบ Sony a6300 ยาวๆ ก็ต้องบอกว่าเลยเป็นกล้องที่คุ้มราคาค่าตัวมาก ถึงแม้หน้าตาและขนาดอาจจะทำให้โปรหลายคนตะขิดตะขวงใจกันบ้างว่ากล้องระดับ 4 หมื่นตัวนี้มันจะสู้กล้องตัวใหญ่ๆ ที่ราคาใกล้ๆ กันได้ไหม ก็ต้องบอกเลยว่าสู้ได้สบาย โดยเฉพาะในภาควิดีโอที่โดดเด้งเกินหน้าเกินตารุ่นพี่ไปมาก และระบบโฟกัสที่ทำงานเร็วและเชื่อใจได้